News Media in Transition

News Media in Transition
ดร. สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

การศึกษาเรื่อง  News Media in Transition ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า Journalism ว่าไม่ได้หมายถึงเพียงแค่สื่อหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ Journalism คือการบันทึก คือกระบวนรวบรวม เขียน บรรณาธิกรและนำเสนอออกมาในรูปของข่าวและบทบรรณาธิการ ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสารข่าว ข่าวโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต

Journalism – the keeping of a journal or diary, --process of collection, writing, editing, and publishing news --the production of news reports and editorials through media such as newspapers, magazines, radio, television and the Internet
เพียงแต่ว่าหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่เก่าแก่ที่สุดที่นำเสนอข่าว  หนังสือพิมพ์กลายเป็นสถาบันหนึ่งที่ทรงอิทธิพลของสังคมมาเนิ่นนาน การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดกับสถาบันที่เก่าแก่ย่อมส่งผลถึงความรู้สึกของคนทั้งที่อยู่ในกระบวนการผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากกระบวนการผลิต



นักวิชาการต่างประเทศได้ศึกษาเกี่ยวกับทิศทางและการดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์  เช่น Philip Meyer ได้ศึกษาโมเดลอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ ของ Hal Jurgensmeyer ซึ่งได้ตั้งสมมติฐานว่าถ้าหนังสือพิมพ์มีคุณภาพก็น่าจะประสบความสำเร็จด้านธุรกิจด้วย นั่นคือคุณภาพของเนื้อหาทำให้เกิดความน่าเชื่อถือซึ่งก็จะทำให้หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลทางสังคม และนำไปสู่ยอดขายและผลกำไรด้วย Meyerพบว่าคุณภาพมีความสัมพันธ์กับรายได้จนถึง ณ จุดหนึ่ง ซึ่งเป็นอิ่มตัวก็จะเริ่มสู่ภาวะถดถอยเป็นไปตามธรรมชาติ (Law of Diminishing Return)


ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ธรรมชาติของการบริโภคสื่อก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้รับสารมีลักษณะเป็น Multitasking ที่ทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมๆกัน เช่นอ่านหนังสือไปพร้อมกับฟังรายการทางวิทยุ หรือดูทีวีไปพร้อมๆกับเล่นคอมพิวเตอร์และทานอาหารจานด่วนไปด้วย สมาธิที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งน้อยลง ต้องการข้อมูลแบบฉับไวมากขึ้น ถ้ามองจากมุมนี้จะพบว่าสื่อออนไลน์และออฟไลน์จะเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับหนังสือพิมพ์กระดาษแน่นอน เพราะตอบสนองจริตของ “คนรุ่นใหม่” ได้ตรงกว่า มีความรวดเร็ว ฉับไว เลือกบริโภคเนื้อหาได้ตรงตามความสนใจ รวมทั้งก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่อีกด้วย เพราะสามารถรับข่าวสารโดยตรง หรือ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่วันนี้ได้กลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของคนทั่วๆไปแล้ว


นักวิชาการอย่าง Flavian & Gurrea (2009) ได้ศึกษาแรงจูงใจในการบริโภคข่าวออนไลน์และข่าวจากสื่อดั้งเดิม พบว่าถ้าบุคคลมีแรงจูงใจคือนิสัยชอบอ่านข่าวหรือเพื่อความบันเทิง สื่อเดิมหรือสื่อออนไลน์ก็ใช้แทนกันไปมาได้ เพราะแม้สื่อเก่าหายไปก็ไม่เป็นไร สื่อใหม่ก็แทนกันได้ แต่ถ้าต้องการอัพเดทข้อมูลหรือค้นหาเรื่องราวเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ บุคคลจะไม่สนใจสื่อเก่าแต่จะหันไปสื่อใหม่โดยตรง และการที่มีสื่อใหม่นั้นความสนใจของคนก็สั้นๆจะทำเฉพาะๆ เช่นการค้นหาข้อมูลในเรื่องที่ตัวเองสนใจในเว็บไซต์ จะไม่เดินทั้งป่าเพื่อหาดอกไม้ดอกเดียว


ในแวดวงวิชาการวิชาชีพในสหรัฐอมริกาก็ได้จับมือกันตรวจสอบสถานการณ์สื่อวารสารศาสตร์อย่างใกล้ชิดอย่าง PEW RESEARCH CENTER’S PROJECT FOR EXCELLENCE IN JOURNALISM ได้ทำวิจัยอย่างต่อเนื่องและสรุปสถานการณ์สื่อประจำปี ในปี2009 พบแนวโน้มที่น่าสนใจ 6 ประการ ได้แก่
1)    มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเรื่องทางการเงินหรือที่มาของรายได้ของสื่อวารสารศาสตร์ ซึ่งมีข้อเสนอแนะมากมาย อาทิ
•    ประยุกต์ใช้ระบบการบอกรับเป็นสมาชิกแบบเคเบิ้ล ผู้อ่านจ่ายค่าสมาชิกข่าว
•    สร้างระบบร้านค้าย่อยๆ ออนไลน์ (Online retail mall) ในเว็บข่าวให้เชื่อมต่อกลุ่มธุรกิจรายย่อยไปยังกลุ่มลูกค้า  รายได้จะมาจากค่าธรรมเนียมการซื่อขายนอกเหนือจากการโฆษณา และให้บริการข่าว
•    พัฒนาผลิตภัณฑ์ข่าวที่เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้รับสารวิชาชีพ ชนชั้นสูง (Elite Professional Audience) ในรูปแบบการบอกรับเป็นสมาชิก
2)   ภาวะอำนาจจะเคลื่อนตัวจากองค์กรข่าวหรือสถาบันข่าว ไปยังนักข่าวที่เป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น แม้ยังไม่ชัดเจนนักแต่ก็มีวี่แววให้เห็นว่านักข่าวอาจออกมาทำงานแบบอิสระมากขึ้น มีเว็บไซท์ของตนเอง รับทำงานให้กับหลากหลายแหล่ง แบบเดียวกับช่างภาพอิสระที่ทำงานให้กับนิตยสารใหญ่ๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังสามารถหานักข่าวอิสระที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องในพื้นที่อีกด้วย
3)    องค์กรข่าวต้องพยายามผลักดันเนื้อหาให้แพร่กระจายออกไปทางช่องทางต่างๆ แทนที่จะเน้นการดึงผู้อ่านเข้าหาองค์กร สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของสื่อใหม่ๆที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้อ่าน Social Network เช่น Twitter Facebook /podcast /RSS feeds/ email
4)    องค์กรสื่อต้องหันไปจับมือกับองค์กรอื่นๆในฐานะหุ้นส่วน (Partnership) แทนการเป็นคู่แข่ง เช่น ABC จับกับ FOX news แบ่งปันวิดีโอภาพข่าว  CBS ร่วมมือกับ AOL และ Yahoo หนังสือพิมพ์ในฟลอริด้าใต้ร่วมมือกับหนังสือพิมพ์ในเท็กซัส เป็นต้น
5)    ข่าวการเมืองยังมีอนาคต จะเห็นได้ว่าเคเบิ้ลทีวีประสบความสำเร็จอย่างมากมายกับการรายงานข่าวนาทีต่อนาทีข่าวการเมืองช่วงเลือกตั้งโอบามา
6)    รายงานข่าวแบบสืบสวนสอบสวนมีน้อยลง
PEW RESEARCH CENTER เชื่อว่าวัฒนธรรมการบริโภคข่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคข่าวต้องการข่าวลักษณะ ON DEMAND หรืออย่างที่สรุปไว้ด้วยประโยคง่ายๆว่า “People increasingly want the news they want when they want it,” หมายความว่าคนจะต้องการข่าวอย่างที่เขาอยากได้ในเวลาที่เขาต้องการเท่านั้น โดยช่วงที่ผ่านมาสื่อที่เติบโตมากในเชิงโครงสร้างคืออินเตอร์เน็ต ส่วนเคเบิ้ลทีวีได้รับความนิยมมากเมื่อเวลามีเหตุการณ์เฉพาะกิจเกิดขึ้น ในประเด็นนี้เคเบิ้ลเป็นที่นิยมเพราะผังรายการที่ยืดหยุ่น เกาะติดสถานการณ์ได้ดีกว่าโทรทัศน์ที่มักมีผังรายการตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ส่วนหนึ่งมาจากการขายโฆษณาล่วงหน้า
นอกจากการยุบตัวของผู้อ่าน การแข่งขันกับสื่อใหม่ที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนยุคใหม่มากขึ้น อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ในอเมริกายังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ รายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการโฆษณา Suzanne M. Kirchhoff   ได้จัดทำรายงานเสนอรัฐสภาอเมริกันเมื่อ กรกฏาคม 2009  ในรายงานได้สรุปว่าในช่วงปีที่ผ่านมามีธุรกิจหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ประกาศล้มละลายถึง 7 กลุ่มได้แก่ 1) เครือ Tribune ( Chicago Tribune, Los Angeles Times, Bultimore Sun และนสพ.รายวันเมืองใหญ่อีก 5 ฉบับ) 2)เครือ Philadelphia (Philadelphia Inquirer Philadelphia Daily News) 3) Sun-Times Media Group ( Chicago Sun Timesและนสพ.ท้องถิ่นอีกหลายฉบับ)  4) Star Tribune Holdings (Star Tribune of Minneapolis)  5) Journal Register ( New Haven Register) 6) American Community Newspapers (Stillwater Gazette, Plano Star Courier) 7) Creative Loafing (Chicago Reader, Washington City Paper) ส่วนที่ยังคงอยู่ก็มียอดจำหน่าย และรายได้จากโฆษณาลดลงมาก อย่างไรก็ตามยอดผู้อ่านเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเว็บไซท์ข่าว อาทิ Wall Street  Journal Online ยอดผู้อ่านในเดือนเมษา 2009 เพิ่มจากเมษาปีที่แล้วถึง 160%  ในขณะที่มหาวิทยาลัย Missouri –Columbia สำรวจหนังสือพิมพ์ชุมชนประจำปี พบว่าผู้อ่านในเมืองเล็กยังคงมีความจงรักภักดีต่อหนังสือพิมพ์กระดาษสูงกว่าผู้อ่านในเมืองใหญ่
รายงานของ Kirchhoff  ได้ระบุถึงข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับการตรวจสอบของหนังสือพิมพ์ที่อาจไม่เข้มข้นเท่าเดิมโดยเฉพาะการรายงานข่าวนโยบายสาธารณะ และการรายงานข่าวแบบสืบสวนสอบสวนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และเสนอว่ารัฐสภาควรหาทางช่วยเหลือ อาทิ พักการชำระการเสียภาษี เข้มงวดกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือสนับสนุนทางการเงินสำหรับรายการเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือแปลงองค์กรไปเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะจาก มหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่าง  Harvard ที่ได้นำปรากฏการณ์หนังสือพิมพ์เข้าสู่ภาวะวิกฤตไปใช้เป็นกรณีศึกษาและเสนอว่าเพื่อความอยู่รอดหนังสือพิมพ์อาจจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจไปเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit Organization) เพื่อให้สามารถลดหย่อนเรื่องภาษีได้ (Fremont-Smith, 2009)  
นอกจากนี้ Phillip Meyer ได้นำแนวคิดเรื่อง Competitive Advantage ของ Michel Porter มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจหนังสือพิมพ์ โดยเสนอกลยุทธ์การแข่งขันทางการตลาดที่สามารถปรับใช้กับสื่อหนังสือพิมพ์ ไว้ 4 แนวทาง คือ


1)    หาทางผนึกกำลังกับพันธมิตรในธุรกิจใกล้เคียงกัน อาทิ กลุ่มนิตยสาร หรือผู้ผลิตกระดาษ เพื่อปกป้องตลาดของตัวเองที่มีอยู่ให้ได้นานที่สุด ซึ่งในที่นี้อาจเน้นกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน คุณค่าของสิ่งพิมพ์
2)   หนังสือพิมพ์จะต้องปรับกลยุทธ์การตลาด การมองหา หรือ เจาะตลาดแบบ Segmentation เช่นในต่างประเทศหันไปทำหนังสือพิมพ์แจกฟรี ซึ่งก็มีให้เห็นในประเทศไทยด้วย หรือบางฉบับเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ ซึ่งขนาดของตัวหนังสือจะใหญ่เพราะว่าคนรุ่นเก่าเกิดและเติบโตมากับหนังสือพิมพ์ยังคงมีความจงรักภักดีต่อการอ่านหนังสือพิมพ์อยู่
3)    หนังสือพิมพ์ต้องเข้าแข่งขันในตลาดคู่แข่งออนไลน์ด้วยการผลิตหนังสือพิมพ์ออนไลน์เองเลย ไม่ต้องรอให้เว็บอื่นๆนำเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ไปแพร่กระจายหาผลประโยชน์เอง และ
4)    หนังสือพิมพ์จะต้องรีบตักตวงผลประโยชน์ ณ ปัจจุบันให้มากที่สุดในตอนนี้ แล้วค่อยๆชิงปิดตัวก่อนที่จะล้มละลาย ซึ่งเชื่อได้ว่าธุรกิจหนังสือพิมพ์ก็คงไม่เลือกแนวทางนี้
หนังสือพิมพ์ซึ่งเคยชินกับการนำเสนอเรื่องราวเพื่อผู้รับสารทั่วๆไป  (General Audience) เพื่อ”ผู้อ่าน” ที่เป็นมวลชนจำนวนมากๆ (Mass) อาจต้องปรับตัวไปสู่การเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แคบลง (Niche Audience) ตอบสนองความต้องการเฉพาะเจาะจงลงไปตามความสนใจมากขึ้น   มีเนื้อหาเจาะเฉพาะกลุ่ม เฉพาะท้องถิ่น หรือภูมิภาค   อาจไม่จำเป็นต้องเป็นรายวัน และที่สำคัญเนื้อหาสั้น กระชับ เช่นหนังสือพิมพ์บางฉบับในยุโรปเลือกเจาะไปที่ตลาดผู้สูงอายุซึ่งยังคงชอบอ่านหนังสือพิมพ์ เพิ่มขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น เนื้อหาสั้นลง และสอดคล้องกับวิถีผู้สูงอายุมากขึ้น  บางฉบับก็ปรับขนาด ลดหน้าและแจกฟรีซึ่งในเมืองไทยก็มีบ้างแล้ว
เมื่อองค์กรข่าวกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ นักข่าวก็ต้องปรับตัวมากเช่นกันรวมทั้งกระบวนการผลิตนักข่าวด้วย ทิศทางที่ปรากฏต้องการนักข่าวที่ปรับตัวได้ดี มีความสามารถหลากหลาย จากห้องข่าวที่แยกกันชัดเจนระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันเรากำลังก้าวสู่ภาวะ การหลอมรวมกันของสื่อ (Media Convergence) นั่นหมายถึงทั้งในแง่ของเทคโนโลยีที่ใช้ องค์กรสื่อที่ขยายครอบคลุมธุรกิจสื่อหลายประเภทในเวลาเดียวกัน การร่วมมือกันระหว่างองค์กรในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน และงานข่าวที่มีเนื้อหาออกหลากหลายช่องทาง Gannett องค์กรสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกาที่เริ่มไหวตัวเมื่อสองปีที่ผ่านมาปรับ “ห้องข่าว” (Newsroom) ให้กลายเป็น “ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร” (Information Center) โดยแบ่งส่วนงานเป็น 7 โต๊ะ (Wilkinson, Grant & Fisher, 2009) ได้แก่
1)   Digital – หัวใจของห้องข่าวใหม่ ที่ดูแลความเร็วและปริมาณข่าวออกสู่ช่องทางดิจิตัลและสิ่งพิมพ์
2)   Local – ส่วนนี้ใกล้เคียงห้องข่าวเดิมมากที่สุด ที่เน้นข่าวท้องถิ่น คล้ายเนื้อหาข่าวของพวก โมโจ (MoJos- Mobile Journalist) –ข่าวโทรศัพท์มือถือของหนังสือพิมพ์แถบฟลอริด้า
3)   Data –  มีหน้าที่ในการสร้างสรรค์ข่าวและนำเสนอข่าวรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับปฏิทินความสนใจของสังคม
4)   Multimedia – รับผิดชอบการสื่อสารทางสายตาหรือภาพในทุกช่องทางสื่อ ช่างภาพจะถูกฝึกฝนให้ทำงานเพื่อป้อนสื่อทุกประเภท
5)   Custom Content – รับผิดชอบศึกษากลุ่มลูกค้าเป้าหมายและหาทางตอบสนองให้โดนใจที่สุด แนวทางคล้ายนิตยสารที่ตอบสนองวิถีชีวิต และประเด็นที่เป็นกระแส
6)   Public Service – เน้นการทำหน้าที่สื่อในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรายงานข่าวในรูปแบบของนักข่าวพลเมือง และใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามามีบทบาทในการช่วยทำงานข่าว การตีความ แง่มุมของประเด็น เช่นเดียวกับการเปิดโปงคดีทุจริตการจัดซื้อยาที่มีแพทย์และเภสัชกรเข้ามามีส่วนร่วมในการรายงานข่าว
7)    Community Communication – เพิ่มพื้นที่บทบรรณาธิการและหน้าความคิดเห็นออกไปยังสื่อใหม่ๆ เช่น Blog ดึงชุมชนเข้ามาร่วมนำเสนอความคิดเห็น ถกเถียงประเด็นที่ชุนชนสนใจ       
ปกตินักข่าวจะชินกับการเก็บข้อมูลเฉพาะเนื้อหา โดยมีฝ่ายภาพแยกต่างหาก แต่ตอนนี้นักข่าวทำข่าวชิ้นหนึ่งต้องจินตนาการไปพร้อมๆกันว่าจะนำเสนอออกหลากหลายช่องทางอย่างไร  ต้องใช้ภาพ เสียง กราฟิกประกอบ รวมใช้เทคนิคการเล่าเรื่องอย่างไร  เหมือนนักข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์และอีกหลายองค์กรข่าวในต่างประเทศที่ทำได้หลายอย่างในตัวคนเดียว  นอกจากนี้ยังต้องทำงานให้ได้เร็วอีกด้วย เพราะผู้รับสารยุคใหม่อยากเห็นข่าวนั้นมีความอัพเดทอย่างต่อเนื่องและแน่นอนที่สุดเมื่อต้องเลือกความรวดเร็ว ความรอบคอบและความถูกต้องย่อมน้อยลง นักข่าวจึงควรเป็นคนฉับไว รอบรู้และมีไหวพริบ มีทักษะของการค้นคว้าตรวจสอบข้อมูลได้เร็ว ตัดสินใจได้ดี   ดังนั้น “นักข่าวยุคใหม่จะไม่ใช่เป็นแค่นักข่าว แต่เป็นเอดิเตอร์และโปรดิวเซอร์ไปพร้อมๆกัน ” การเรียนการสอนทางวารสารศาสตร์จึงต้องปรับวิธีการเรียนการสอน เนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการแห่งอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ปรากฏการณ์มาถึง เพราะการผลิตบัณฑิตที่ดีเพื่อไปเป็นนักข่าวที่ดีหนึ่งคนใช้ระยะเวลานานหลายปี