รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสมัยที่ ๒๐/๒๕๖๒

รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสมัยที่ ๒๐/๒๕๖๒

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๒๐ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๒ -๔ มีนาคม ๒๕๖๓ ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ ๒ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์หลักที่ ๑ พัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน ให้เห็นโอกาส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวิชาชีพด้วยการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทันกับภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนแปลง  แต่ไม่ทิ้งหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และการใช้เสรีภาพให้อยู่บนความรับผิดชอบ  ยุทธศาสตร์หลักที่ ๒ พัฒนาและสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนทั้งประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสวงหาความร่วมมือ องค์ความรู้ รูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพร่วมกัน

ในปี ๒๕๖๒ คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ข้างต้น โดยแบ่งออกเป็น ๕ คณะอนุกรรมการ ดังนี้

๑) คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

๒) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

๓) คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์

๔) คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

๕) คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

๑. คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

ในปี ๒๕๖๒ คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน โดยมุ่งเน้นเรื่อง เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพประชาชน ทำให้สื่อมวลชนและ ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปสื่อสารมวลชน โดยยึดหลักการกำกับดูแลกันเอง ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการสร้างเครือข่าย และแนวร่วมของภาคีสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนร่วมกัน  แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงานดังนี้

๑.๑ กลุ่มงานรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพ

๑.๑.๑ โครงการวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ ๓ พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก ตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๔๓ โดยในปี ๒๕๖๒ สมาคมฯงดจัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ได้มีการประกวดคำขวัญภายใต้แนวคิด "เสรีภาพบนความรับผิดชอบ" มีผู้ส่งคำขวัญเข้าประกวดจำนวน ๔๔ ข้อความ จากการตัดสินของคณะกรรมการมีมติเลือก “สกัดกั้นข่าวปลอม หล่อหลอมความจริง” ของ นายหรรษมนัส ปัตภี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เป็นคำชวัญชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล ๕,๐๐๐ บาท พร้อมของที่ระลึกจากสมาคมนักข่าวฯ

๑.๑.๒ สนับสนุนการดำเนินการของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนด้าน สวัสดิการนักข่าว โดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๖๒ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๒ ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีมติไว้วางใจนางสาวอัญชลี อับดุล  วอยซ์ทีวี ให้ดำรงประธานคนที่สอง ต่อจากนายสุเมธ สมคะเน (ทะเบียนจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานเลขทะเบียนที่ กธ.๑๑๑๔ เมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๕)

๑.๒ กลุ่มงานส่งเสริมทักษะวิชาชีพข่าว ในปี ๒๕๖๒ คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๒ หลักสูตร

๑.๒.๑ อบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติ รุ่น ๑๐ Safety Training)” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การรายงานข่าวในสถานการณ์ ความรุนแรงและภัยพิบัติ” ขึ้นเพื่อให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ จากสื่อหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์และวิทยุ ได้เรียนรู้เรื่องการทำข่าวอย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง สามารถรายงานข่าวภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเนื้อหาการอบรมประกอบด้วย การเรียนรู้การบริหารจัดการความเสี่ยงในการเข้าพื้นที่ความขัดแย้งและภัยพิบัติ , เรียนรู้ภาษาและการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง , เรียนรู้โครงสร้างความขัดแย้ง , ฝึกการทำข่าวทางน้ำให้ปลอดภัย , และ เรียนรู้การช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเชิงยุทธวิธี เป็นต้น จัดระหว่างวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ - วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๒  ณ หน่วยจัดการต้นน้ำเนินหอม จ.นครนายก  มีสื่อมวลชนเข้าร่วมการอบรมจำนวน ๒๘ คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ๑.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ๒.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ๓.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ๔. สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ๕.บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ๖.บริษัท เทรนด์ วีจี ๓ จำกัด หรือ ไทยรัฐออนไลน์  ๗. สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี  ๘.อาสาสมัครกู้ภัยใจถึงใจ และได้รับการสนับสนุนสถานที่จัดการอบรมจาก “หน่วยจัดการต้นน้ำเนินหอม” จังหวัดนครนายก

๑.๒.๑ อบรมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต” ๕ องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต" เป็นหนึ่งในโครงการถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน : จริยธรรมของสื่อ" ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๒ – วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ จอมเทียนพัทยา และ ค่ายมหาเจษฎาราชเจ้า จ.ชลบุรี เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับสื่อมวลชนด้วยการจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อดูประกอบการอบรมว่าหากมีคู่มือดังกล่าวแล้วจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของสื่อมวลชนหรือไม่ในภาวะวิกฤติ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ แต่อีกมิติคือการคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติที่สื่อมวลชนจะต้องไม่เป็นอุปสรรคและภาระในการทำงานของเจ้าหน้าที่เช่นกัน

สำหรับรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการมีสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวกับภาวะวิกฤตเข้าร่วมจำนวน ๑๐๐ คน ในการฝึกและสังเกตการณ์ ใช้ทีมวิทยากรจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จากโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ( Safety training) ที่ฝึกอบรมสื่อมวลชนครบ ๑๐ ปีในปีนี้ ใช้รูปแบบการจำลองการปฏิบัติงานจริง(Drill Exercise)สถานการณ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุทำให้เกิดน้ำท่วม ที่สื่อมวลชนต้องลงพื้นที่ทำข่าว ถ่ายภาพ สัมภาษณ์ เขียนข่าว รายงานข่าว

๒. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

ในปี ๒๕๖๒  คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ภราดรภาพ ความร่วมมือ สวัสดิการ และการเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาชีพแก่มวลสมาชิก ส่งเสริมทักษะ วิชาชีพ (ติดอาวุธ) ให้นักข่าว ภายใต้นโยบายประหยัด ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสื่ออื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ และติดตาม มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปสื่อ เฝ้าระวังปรากฎการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนการใช้เสรีภาพสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ แบ่งงานออกเป็น ๕  กลุ่มงาน คือ

๒.๑. กลุ่มงานส่งเสริมทักษะวิชาชีพข่าว สมาคมฯ ได้จัดทำโครงการด้านการฝึกอบรมจำนวน ๔  หลักสูตร คือ

๒.๑.๑ การอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวใหม่กับการคุ้มครองผู้บริโภค” ภายใต้โครงการบูรณาการการคุ้มครองผู้บริโภคกับสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จัดการ อบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวใหม่กับการคุ้มครองผู้บริโภค” ขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้กับสื่อมวลชนสาขาต่างๆ เพื่อนำความรู้ความเข้าใจ ด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ถูกต้องครบถ้วน ไปถ่ายทอดให้แก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้อย่าง มีประสิทธิภาพและกว้างขวาง โดยแบ่งการจัดกิจกรรมเป็น ๓ ช่วง ดังนี้

ช่วงแรก วันอาทิตย์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ อบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ โครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนช่วงบ่ายจะเรียนรู้เทคนิคการทำข่าวคุ้มครองผู้บริโภคในแบบนักข่าวเชิงข้อมูล หรือ Data Journalism รวมถึงเรียนรู้กระบวนการทำงานข่าวแบบ Design Thinking

ช่วงที่สอง วันเสาร์ที่ ๑๐ - วันอาทิตย์ที่ ๑๑  สิงหาคม ๒๕๖๒ ลงพื้นที่ ทำข่าวในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีการบรรยายสรุปจากหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อผลิตผลงานข่าว มีผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมนักข่าวฯ และสคบ. ร่วมวิพากษ์และตัดสินผลงาน

ช่วงสุดท้าย วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผู้เข้าอบรมร่วมจัดเวที “ราชดำเนินเสวนา” ซึ่งเป็นเวทีสาธารณะของสมาคมนักข่าวฯ ในหัวข้อ “ผ่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ สังคมได้อะไร”

๒.๑.๒  การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “นักเล่าเรื่องดิจิทัลด้วยมือถือ (Digital Storyteller by Mobile Phone) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และ บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “นักเล่าเรื่องดิจิทัลด้วยมือถือ (Digital Storyteller by Mobile Phone) โดยมีอาจารย์กุลพัฒน์ จันทร์ไกรลาส (อ.ต่อง) เป็นวิทยากรหลัก เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมให้บุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชน มีความพร้อมรับมือกับบริบทใหม่ของสังคมทั้งในด้านความรู้ทั่วไป และการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสื่อดิจิทัล ตลอดจนเทคนิคการรายงานข่าวโดยใช้อุปกรณ์มือถือ เพื่อให้ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่นักสื่อสารมวลชนที่ดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นการเสริมทักษะที่จะช่วยให้การทำงานของผู้สื่อข่าวในปัจจุบันง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีสื่อมวลชนเข้าร่วมอบรม ๕๔ คน  เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ  ห้อง ๑๑๑๑C ชั้น ๑๑  อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม

๒.๑.๓ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่น ๒๒ เป็นโครงการต่อเนื่องจัดขึ้นเป็นปีที่ ๒๒  ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมกว่า ๑,๐๐๐ คนแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์  (Professional Development) ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility)  และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างสถาบันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักข่าวรุ่นพี่ที่ทำงานทั้งในภาคสนาม และในส่วนของผู้บริหารงานข่าว อันเป็นการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่วิชาชีพ นอกจากนี้ยังเป็นกระบวนการปลูกฝังอุดมคติให้กับนักศึกษาด้วย

ในรุ่นที่ ๒๒  มีนักศึกษาที่เรียนด้านหนังสือพิมพ์จากสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมจำนวน ๒๕  คน จาก  ๒๓  สถาบัน จัดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ –วันเสาร์ที่ ๙  พฤศจิกายน  ๒๕๖๒  ณ โรงแรมวิค๓ กรุงเทพ  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน  ในการอบรมครั้งนี้ได้เพิ่มกระบวนการฝึกฝนนักศึกษาในการเขียนข่าวเพิ่มขึ้นอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยนักศึกษาทุกคนจะ ต้องส่งผลงานข่าวเข้าร่วมโครงการ TJA  Cyber Reporter อย่างน้อยคนละ ๒  ชิ้นงาน และมีการประกาศผลรางวัลในวันพุธที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๓

๒.๑.๔ Data Journalism Camp Thailand ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ) ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) จัดกิจกรรม Data Journalism Camp Thailand ถือเป็นภาคต่อ ขยายผลจากโครงการ​อมรมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนานักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก (Data Journalism Workshop) เพื่อปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมให้กับนักข่าวก่อนจะเริ่มลงมือปฏิบัติงานได้จริง นับเป็นครั้งแรกของการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือ ​ “นักข่าว” และ “Developer”  เพื่อเป้าหมายการผลิตชิ้นงานข่าวข้อมูลเชิงลึกสู่สาธารณะ โดยจัดระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๕ – วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ นครริมขอบฟ้ารีสอร์ท เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

ช่วงเริ่มต้นของแคมป์เพื่อปูพื้นฐานสำหรับฝั่ง Developer  โดย ดร.เอกพล เธียรถาวร ประธานชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า Data Journalism คือ การนำเสนอข่าว​ โดยมี “ข้อมูล” เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง รวมทั้งใช้​วิธีการสกัดข้อมูลแบบมีโครงสร้าง และ นำเสนอข้อมูลในเชิงประจักษ์

การทำงานด้านข้อมูลนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่ Hacking/Scraping  Data Cleaning Data Mining ก่อนจะผ่านการประมวลผลและออกแบบการนำเสนอเป็น Visualization

หลังจากนั้นขั้นตอนสำคัญคือการจับกลุ่มระหว่างนักข่าว และ Developer เพื่อร่วมผลิตข่าว โดยเลือกจับกลุ่มตามความสนใจที่ตรงกัน ซึ่งมี ๕ กลุ่ม ดังนี้ ๑. “เปิดขุมทรัพย์ ๗ แสนล้าน รอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น”  ๒. “วิเคราะห์ข้อมูล ภาวะสมองเสื่อม ขาดความเข้าใจ ขาดแพทย์ วิกฤตชาติ” ๓.ต้นไม้ใหญ่ ใครอนุรักษ์? ร่วมปักหมุดข้อมูล ต้นไม้ใหญ่เพื่อกฎหมายคุ้มครองมรดกสีเขียว” ๔.”ความสัมพันธ์ดาต้า ๓๐ ปี แหล่งเก็บน้ำ กับอุณหภูมิแปรปรวนทั่วไทย” และ ๕. “เจาะตัวเลขปัญหาคนล้นคุก และนักโทษติดซ้ำ”  โดยมีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะไปเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๒ ณ อาคารจามจุรีสแควร์

กิจกรรมในโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จํากัด (มหาชน) บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)

๒.๒ กลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ ได้มีการจัดทำโครงการในกลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ จำนวน ๓ กิจกรรม ดังนี้

๒.๒.๑ ราชดำเนินเสวนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๒๑  ซึ่งเป็นความริเริ่มจากสมัยที่นายกวี จงกิจถาวร เป็นนายก สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการทำงานข่าวให้มีคุณภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง  โดยมีการเชิญแหล่งข่าวมาพบปะพูดคุยและตอบคำถามนักข่าว เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในปี พ.ศ.  ๒๕๖๒  ได้จัดราชดำเนินเสวนาไปจำนวน ๔ ครั้ง สามารถติดตามเนื้อหาราชดำเนินเสวนาได้ที่ www.tja.or.th

๑) วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ หัวข้อ “หยุดแบ่งขั้ว! ฟังเสียงประชาชนก่อนจัดตั้งรัฐบาล” จัดร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

๒) วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ หัวข้อ “ส่องสาระ-ประเด็นร้อน ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๓๔”

๓)  วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ หัวข้อ “ผ่าพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ สังคมได้อะไร”

๔)  วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ หัวข้อ "จุดกึ่งกลางการจัดการปัญหา Fakenews"

๒.๒.๒. รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับสำนักข่าวไทยและบริษัท อสมท. จำกัด มหาชน ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท.  FM ๑๐๐.๕ Mhz ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ รวมทั้งเป็นเวทีในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนให้สาธารณชนได้ รับทราบ รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงทิศทางข่าวในสัปดาห์ต่อไป โดยเน้นความหลากหลายของประเด็นข่าว ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และอื่นๆที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น

สำหรับนักจัดรายการประจำปี  ๒๕๖๒ มีจำนวน ๑๒ คนคือ ๑. นายมงคล  บางประภา ๒.นายวสวัตต์ โอดทวี ๓.นายจีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง ๔.นางสาวดารากาญจน์  ทองลิ่ม ๕.นายสิทธิชน  กลิ่มหอมอ่อน ๖.นายธนัชพงศ์  คงสาย  ๗.นางสาวพิมพ์นารา  ประดับวิทย์   ๘.นางสาวนันทพร  ทาวะระ   ๙.นายบัญชา  จันทร์สมบูรณ์ ๑๐.นางสาวดารินทร์  หอวัฒนกุล  ๑๑.นางสาวรัชดาภรณ์  ม่วงทำ ๑๒. นางสาวเยมิณ  แหวนเครือ    ติดตามฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ที่  www.tja.or.th

๒.๒.๓ www.tja.or.th เป็นเวบไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารต่างๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรม,รายงานกิจกรรม,กฎหมายที่เกี่ยวข้อง,ประวัติความ เป็นมา จุดยืนและท่าทีของสมาคมฯต่อสถานการณ์ต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบันทึกผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ  และเป็นชุมชนออนไลน์ของนักวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในการแลกเปลี่ยนทัศนะของนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อสารมวลชน

๒.๒.๔ เพจจุลสารราชดำเนินออนไลน์ https://www.facebook.com/rajdamnernbook/  มีวัถตุประสงค์  เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าว  และวิชาการสื่อมวลชนรวมถึงวิชาชีพสื่อที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน  เพื่อเป็นกลไกสร้างความเข้าใจระหว่าง นักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการด้านสื่อและประชาชนผู้บริโภคสื่อ เป็นการตรวจสอบซื่งกันและกัน   เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของสมาคม และข่าวสารการปรับตัวของสื่อในประเทศและต่างประเทศ จัดทำโดยทีมงานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๒.๓ กลุ่มงานหนังสือ ในปี   ๒๕๖๒  ฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำหนังสือ ๑  เล่ม

๒.๓.๑ หนังสือวันนักข่าว  “นวัตกรรม (สื่อ) เปลี่ยนโลก”  กับสภาวะธุรกิจสื่อ และพฤติกรรมการบริโภคสื่อในยุคปัจจุบัน”  หนังสือวันนักข่าวเป็นหนังสือรายงานประจำปีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าวและหนังสือพิมพ์  ตลอดจนรายงานกิจกรรมของสมาคม  และทำเนียบรายชื่อนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่เป็นสมาชิกสมาคม  เนื้อหาหลักในปีนี้เน้นเรื่อง  “นวัตกรรม (สื่อ) เปลี่ยนโลก”  กับสภาวะธุรกิจสื่อ และพฤติกรรมการบริโภคสื่อในยุคปัจจุบัน” มีนายวรพล กิตติรัตวรางกูร เป็นบรรณาธิการ และนายธนพล บางยี่ขัน เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ

๒.๔. กลุ่มงานเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน เครือข่ายที่นักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันและประสบการณ์ระหว่างด้านวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อสารมวลชน โดยนำเอาประเด็นทางวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่น่าสนใจและมีผลกระทบต่อ ประโยชน์สาธารณะมาแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้การจัดสัมมนายุทธศาสตร์วารศาสตร์แห่งอนาคต   โดยในปี ๒๕๖๒ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ๑ กิจกรรม  ดังนี้

๒.๔.๑ สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๑๕ หัวข้อ “นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย คณะทำงานวารสารศาสตร์แห่งอนาคต  และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จัดสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๑๕ หัวข้อ “นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕  พฤศจิกายน  ๒๕๖๒ ณ ห้องคอนเวนท์ชั่น ฮอลล์  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย-ส.ส.ท.(สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

๒.๕. กลุ่มงานประกวดข่าว

๒.๕.๑ การประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๖๒ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ให้ดำเนินการจัดการประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกและนักหนังสือพิมพ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาย ใต้กรอบจริยธรรม โดยดำเนินการจัดการประกวดมาตั้งแต่ ปี ๒๕๑๕ สำหรับในปี ๒๕๖๒  มีผลงานงานข่าวส่งเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจำนวน  ๕ ข่าว จากหนังสือพิมพ์  ๒ ฉบับ และส่งผลงานภาพข่าวเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทภาพข่าวยอดเยี่ยมจำนวน   ๔๐  ภาพ จากหนังสือพิมพ์  ๕ฉบับ

๒.๕.๒ การประกวดรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒ ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวด ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ซึ่งจัดการประกวดมาตั้งแต่ปี  ๒๕๓๒ สำหรับในปี ๒๕๖๒ มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๔  ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๔ ฉบับ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บมจ. บางจาก

๒.๕.๓ การประกวดรางวัลพิราบน้อยและรางวัลริต้า ปาติยะเสวี ประจำปี ๒๕๖๒ เป็นการประกวดผลงานฝึกปฏิบัติของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการทำ หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น ๒ รางวัล ๗ ประเภท คือ รางวัลพิราบน้อย ประกอบด้วย  ๑.ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ๒. ประเภทข่าวฝึกปฏิบัติ ๓.ประเภทข่าวและสารคดีเชิงข่าวสิ่งแวดล้อมฝึกปฏิบัติ ๔.ประเภทข่าวออนไลน์ฝึกปฏิบัติ ๕. ประเภทบรรณาธิกรหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ  ๖.ประเภทนิตยสารฝึกปฏิบัติ  และ ๗.ประเภทสารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติ (รางวัลริต้า ปาติยะเสวี)

เริ่มจัดการประกวดตั้งแต่ปี พ.ศ.   ๒๕๓๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำหนังสือพิมพ์และการทำข่าวของ นิสิตนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์  ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษา  กับสมาคมฯ    ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน ในปี ๒๕๖๒ มีผลงานส่งเข้าประกวดดังนี้

๑. หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติและบรรณาธิกรหนังสือพิมพ์  จำนวน ๕  ฉบับ จากสถาบันการศึกษา ๕ สถาบัน

๒. นิตยสารฝึกปฏิบัติ    จำนวน  ๒  ฉบับ  จากสถาบันการศึกษา ๒ สถาบัน

๓. สารคดีเชิงข่าว     จำนวน ๙  ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๕ ฉบับ สถาบันการศึกษา  ๕  สถาบัน

๔. ข่าวฝึกปฎิบัติ   จำนวน  ๑๑ ข่าว จากหนังสือพิมฑ์ ๕ ฉบับ สถาบันการศีกษา ๕ สถาบัน

๕. ข่าวสิ่งแวดล้อม   จำนวน ๑๒ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๕ ฉบับ สถาบันการศึกษา ๕ สถาบัน

๖. ข่าวออนไลน์    จำนวน  ๘  ข่าว จากสถาบันการศึกษา ๕  สถาบัน

๗.บรรณาธิกรหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ  จำนวน ๕  ฉบับ จากสถาบันการศึกษา ๕ สถาบัน

๓ คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์

ในปี ๒๕๖๒ คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวฯ  ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการสมาชิก และขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ไปยังองค์กรวิชาชีพสื่ออื่น ๆ แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงาน คือ

๓.๑ กลุ่มงานสมาชิกสัมพันธ์

๓.๑.๑ จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพสมาชิก จำนวน ๓ หลักสูตร ดังนี้

๑) การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร SME Online สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร SME Online   เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านการขายผ่านระบบออนไลน์ แอพพลิเคชั่น Shoppee เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓  ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ RMUTT Innovation & Knowledge Center ชั้น ๗ อาคารบางซื่อจังซั่น มีสื่อมวลชนเข้าร่วมการอบรม ๒๐ คน 

๒) การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำอินโฟกราฟฟิกสำหรับสื่อมวลชน” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำอินโฟกราฟฟิกสำหรับสื่อมวลชน”   ซึ่งการทำอินโฟกราฟฟิกเป็นที่นิยมของสื่อออนไลน์ ทำให้คอนเทนต์มีความน่าสนใจเข้าใจง่ายมากขึ้น จัดขึ้นระหว่างวันศุกร์ที่ ๑๙ – วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ RMUTT Innovation & Knowledge Center ชั้น ๗  ศูนย์การค้าบางซื่อจังชั่น มีสื่อมวลชนและนักวิชาการเข้าร่วมอบรม ๓๕ คน

๓) การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรกาแฟสร้างอาชีพสำหรับสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และชมรมเพื่อเพื่อน โดยการสนับสนุนจากบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “กาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน”  โดยเนื้อหาหลักสูตรแบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎีเป็นการบรรยายหัวข้อ “ทำร้านกาแฟอย่างไรให้ยั่งยืน”  โดย นายอาทร นาคพนม ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย CP GROUP ส่วนภาคปฏิบัติมีการฝึกปฏิบัติการทำกาแฟร้อนและกาแฟเย็นโดยวิทยากรรับเชิญพิเศษ  จัดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมชั้น ๑ อาคารโอกาส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด

๔) สนับสนุนการดำเนินงานของชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส โดยในปี ๒๕๖๒ มีการจัดกิจกรรม ๒ ครั้งคือ ครั้งที่ ๑ งาน "สื่ออาวุโสสัมพันธ์" ณ วังรีรีสอร์ท จังหวัดนครนายก ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๕-วันอาทิตย์ที่๒๖ กันยายน ๒๕๖๒ และครั้งที่ ๒ ทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณและเมืองโบราณ เมื่อวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ สนับสนุนโดยบมจ.วิริยะประกันภัย

๓.๒ กลุ่มงานสวัสดิการสมาชิก

๓.๒.๑ ทุนการศึกษา สมาคมฯ มอบทุนการศึกษาให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก โดยแบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นการให้ทุนแบบรายปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนการศึกษาเพื่อบุตร-ธิดา สมาชิกสมาคมฯ มีผู้ได้รับการอนุมัติทุนการศึกษาจำนวน ๘๒ ทุน ทุนละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๔๑๐,๐๐๐ บาท มีการจัดพิธีมอบเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๒ และ ๒) ทุนต่อเนื่อง เป็นทุนที่มอบให้แบบต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-ระดับปริญญาตรี โดยได้รับการอนุเคราะห์ทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี ปีละ ๑๐ ทุน ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๒ ปัจจุบันมีผู้รับทุนแล้ว ๑๒๔ คน

๓.๒.๒ การมอบสินไหมมรณกรรมและการร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพ สมาคมฯได้จัดทำประกันชีวิตกลุ่ม ให้กับสมาชิกที่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปีกับ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด

๓.๒.๓ การมอบเงินสวัสดิการช่วยเหลือสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดพิธีมอบเงินสวัสดิการช่วยเหลือสื่อมวลชนทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกที่สังกัดหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และได้รับผลกระทบจากการปิดหนังสือพิมพ์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒

๓.๒.๔ โครงการบริจาคโลหิต สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมการบริจาคโลหิตขึ้นเป็นประจำทุกสามเดือน โดยในปี ๒๕๖๒ จัดเมื่อวันอังคารที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ (ครั้งที่ ๑๔) วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ (ครั้งที่ ๑๕) และวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ (ครั้งที่ ๑๖) ณ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์

๓.๒.๕ คนข่าวมาขายของครั้งที่ ๓ ๗ องค์กรวิชาชีพสื่อประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ชมรมนักข่าวกองปราบปราม กลุ่มนักข่าวบันเทิง ร่วมกับ MBK Group จัดงาน “คนข่าวมาขายของครั้งที่ ๓ “ ขึ้นเพื่อช่วยเหลือพี่น้องสื่อมวลชนที่ได้รับความเดือดร้อน ในภาวะวิกฤติ ที่มีสื่อมวลชนตกงานจำนวนมาก และตกอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยจัดระหว่างวันพุธที่ ๑๑ วันศุกร์ที่ ๑๓กันยายน ๒๕๖๒ ณ ชั้น ๔ โซนดี ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ มีสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนสินค้าจำนวน ๘๐ บูท

๓.๒.๖ ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน ๒ ทุน จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันการจัดการโดยคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ได้คัดเลือกนางสาวนันทพร ทาวะระ และนายจักรพงษ์ โกไศยกานนท์ สมาชิกสมาคมฯ เป็นผู้รับทุนการศึกษา  หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารเชิงนวัตกรรมเพื่อองค์กรสมัยใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

๔. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

ในปี ๒๕๖๒ คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานกับองค์กรสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียนและองค์กรสื่อมวลชนนานาชาติ และพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนในการทำหน้าที่เพื่อให้มีทักษะ และมีองค์ความรู้รอบด้านเพื่อให้สามารถเข้าใจบริบทที่หลากหลายของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันดี แบ่งงานออกเป็น ๓ กลุ่มงาน คือ

๔.๑ กลุ่มงานสร้างเครือข่ายวิชาชีพต่างประเทศ

๔.๑.๑ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-เวียดนาม นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจำนวน ๘ คน ประกอบด้วย  นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อและเลขาธิการ นายดำรงเกียรติ มาลา กรรมการฝ่ายต่างประเทศ นายธนพล บางยี่ขัน    แอดมินเพจจุลสารราชดำเนิน   นางสาวบุศรินทร์ วรสมิทธิ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ในฐานะประธานค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อย และนางสาวขนิษฐา สุโกมล    ผู้ช่วยผู้จัดการ สมาคมนักข่าวฯ  เดินทางเยือนประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามระหว่างวันพุธที่ ๑๔ – วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวเวียดนาม (Vietnam Journalists Association: VJA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือในระดับสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนบัตรโดยสารจากสายการบินแอร์เอเชีย

๔.๑.๒ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-ลาว นายมงคล บางประภา นายกสมาคมฯ เป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจำนวน ๘ คน ประกอบด้วย  นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ อนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ นางธนิดา ตัณศุภผล อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯและบรรณาธิการหนังสือคู่มือสื่อมวลชนไทยลาว นายนิรันดร์ เยาวภาว์ กรรมการบริหาร สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายธิติ ปลีทอง กรรมการบริหาร ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม นายพีรพัฒน์ ดิลกกัลยากุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมฯ และนายศิลป์ฟ้า ตันศราวุฒิ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว (Laos Journalists Association-LJA) ระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๐-วันอังคารที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๒  โดยไปเยือนแขวงคำม่วน และเวียงจันทน์

๔.๑.๓ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนกัมพูชา-ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากประเทศกัมพูชา นำโดย นายเปญ โบนา นายกสมาคมนักข่าวกัมพูชา (Club of Cambodian Journalists) พร้อมด้วยคณะผู้แทนรวมจำนวน ๕ คน ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๐ - วันพุธที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ ได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกโครงการจากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐทีวี  บริษัท ซีพีแรม จำกัด สวนเสือศรีราชา เทศบาลเมืองพัทยา อัลคาซ่าร์ คาบาเร่ต์ โรงแรมเซนทารา วอเตอร์เกต และบมจ.ซีพีออลล์

๔.๑.๔ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนจีน-ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย Mr. Xiang Zeying (เซี่ยง เจ๋อยิ่ง), President of Chongqing Daily Group พร้อมด้วยผู้แทนสื่อมวลชนจากจีนรวมจำนวน ๖ คน ระหว่างวันจันทร์ที่ ๙ - วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ ได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกโครงการจากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ห้างสรรพสินค้า MBK สวนเสือศรีราชา เทศบาลเมืองพัทยา อัลคาซ่าร์ คาบาเร่ต์ และบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร

๔.๒ กลุ่มงานความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนนานาชาติ

๔.๒.๑ Southeast Asian Press Alliance (SEAPA)

๑) ผู้แทนสมาคมฯ ใน SEAPA Board of Trustees สมาคมฯ ได้แต่งตั้งนายศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศสมาคมฯ ได้รับการเลือกตั้งจากองค์กรสมาชิกในการประชุมใหญ่สามัญ เมื่อปี ๒๕๖๒ ให้เข้าไปดำรงตำแหน่ง ประธาน SEAPA

๔.๒.๒ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Confederation of Thai Journalists) นายมงคล บางประภา  นายกสมาคมฯ ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๒ให้เป็นประธานสมาพันธ์ฯ ต่อจากนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ซึ่งหมดวาระในการดำรงตำแหน่ง โดยมีนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมฯ เป็นเลขาธิการสมาพันธ์ฯ

๔.๓. กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพนักข่าว ในปี ๒๕๖๒ คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๑หลักสูตร

๔.๓.๑ โครงการมองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ ๒ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ China Radio International-CRI  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย จัดทำโครงการมองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ ๒  ระหว่างวันเสาร์ที่  ๓๑ สิงหาคม  – วันเสาร์ที่ ๗  กันยายน  ๒๕๖๒  ณ โรงแรมอโนมาแกรนด์  ถนนราชดำริและสาธารณรัฐประชาชนจีน (ณ เมืองหางโจวและนครเซี่ยงไฮ้  มณฑลเจ้อเจียง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑.ให้ข้อมูลสื่อมวลชนไทยเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจจีนในยุคใหม่ในมิติต่างๆ อันจะนำไปสู่การรายงานข่าวสารเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนรอบด้าน  ๒.เสริมสร้างกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนรวมทั้งหน่วยงานต่างๆจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และ๓.เพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันกับสื่อมวลชนไทยและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

กิจกรรมในหลักสูตรประกอบด้วย ๑.เวทีสาธารณะ (public forum) การเสวนาเพื่อความเข้าใจและรู้จักจีนในยุคใหม่  วิทยากรประกอบด้วย คุณโจ ฮอร์น พัทธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัทStrategy ๖๑๓ และ ผศ. ดร.ปิติ  ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒.การจัดบรรยายให้ความรู้เป็นวงปิดเฉพาะสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมโครงการ วิทยากรประกอบด้วย นายณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม  นายกสมาคมดิจิตัลไทย และผู้ร่วมก่อตั้ง TeC : Thailand e-business centre ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น และ ๓.การเดินทางไปดูงานที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองหางโจวและนครเซี่ยงไฮ้  มณฑลเจ้อเจียง  ระหว่างวันจันทร์ที่ ๒- วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๒ (๔ วันดูงาน ๒ วันเดินทาง)

มีสื่อมวลชนจากทุกแขนงเข้าร่วมโครงการจำนวน ๒๒ คน

๕. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

ในปี ๒๕๖๒ คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นการประสานความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อและกิจกรรมที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงานดังนี้

๕.๑ กลุ่มงานระดมทุน

๕.๑.๑ ดินเนอร์ทอล์ค สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานดินเนอร์ทอล์คขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๕ มีนาคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ งานดินเนอร์ทอล์คประจำปี ๒๕๖๒ จัดเมื่อวันอังคารที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ ห้องอโนมาแกรนด์  โรงแรมอโนมา แกรนด์ ราชดำริ มีการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง”โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้าโลก” โดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

๕.๑.๒ หนังสือวันนักข่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำหนังสือวันนักข่าว ซึ่งเป็นหนังสือรายงานประจำปีเผยแพร่ทุกวันที่ ๔ มีนาคม นอกจากจะเป็นการรายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ แล้ว ยังได้รวบรวมผลการประกวดข่าวประเภทต่างๆ ของสมาคมฯ เอาไว้ด้วย สมาคมฯ ได้มอบหมายให้บริษัท นักทุ่งเที่ยว จำกัด เป็นผู้ดำเนินการการจัดหาโฆษณา

๕.๒ กลุ่มงานบริหารจัดการ

๕.๒.๑ การบริหารบัญชีเงินฝาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีกองทุนต่างๆ อยู่จำนวน ๕ กองทุนประกอบด้วย ๑. กองทุน ๖๐ ปี สมาคม ๒. กองทุนเพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ ๓. กองทุนเหยี่ยวปีกหัก ๔. กองทุนการศึกษาบุตรธิดานักข่าว และ ๕. กองทุนเงินสะสมพนักงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มเติมจากแต่ละกองทุน จึงได้มีการบริหารกองทุน โดยการจัดสรรงบประมาณไปซื้อสลากออมสินและลงทุนในกองทุนเปิด บลจ.ธนชาติ จำนวน ๙ ล้านบาท

๕.๒.๒ ปรับปรุงระบบบัญชีสมาคมฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างสำนักงาน เอ็นแอนด์เค การบัญชีและตรวจสอบ วางระบบบัญชีและจัดทำบัญชีของสมาคมฯ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงานเป็นปีที่สาม

๕.๒.๓ การจัดจ้างผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมีมติจ้างนายศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ เป็นผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยมีระยะทดลองงาน ๔ เดือน (นายศิลป์ฟ้า ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒)

๕.๓ สัมมนายุทธศาสตร์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนายุทธศาสตร์ ประจำปี ๒๕๖๒ โดยมีคณะกรรมการบริหาร คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานจากสมาคมฯ ร่วมการสัมมนาเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายและแผนงานต่างๆ ของสมาคมฯ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ - วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ นครริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

๕.๔ สัมมนาเชิงปฏิบัติการระดมแนวทางเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลกันเอง ในยุคดิจิทัล หรือ “Road To TJA 2020” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดมแนวทางเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลกันเอง ในยุคดิจิทัล หรือ “Road To TJA 2020“ ซึ่งเป็นสัมมนาภายในของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่มีการเชิญกรรมการบริหารสมาคมฯ เจ้าหน้าที่สมาคม และคณะทำงานชุดต่างๆของสมาคม ระดมสมอง นำปัญหาพร้อมเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของสมาคมฯ ให้ตอบโจทย์กับวิชาชีพมากยิ่งขึ้น  เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔-วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ เดอะเลจเจนด์ แม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม