รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2544

2544 ปีแห่งการทดสอบความแข็งแกร่ง
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในโอกาสครบรอบ 2 ปีของการรวมกันระหว่างสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยและสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อใหม่ว่า “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ก็เป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีการบอกกล่าวเล่าถึงสิ่งที่คณะกรรมการบริหารได้ดำเนินการไปในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนายกสมาคม และกรรมการบริหารชุดนี้ส่วนใหญ่เคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารชุดแรกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นโยบายการทำงานจึงไม่แตกต่างจากนโยบายเดิมดังนี้

  1. พัฒนาความเป็นปึกแผ่นของ องค์กรวิชาชีพหลังการรวมสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกับสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  2. ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจรรยาบรรณ และเป็นกลางเพื่อให้เกิด การยอมรับและน่าเชื่อถือในวิชาชีพต่อสังคม
  3. พัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด
  4. สร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคม ฯ สมาชิก องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศ

จากนโยบายดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมายการทำงาน ไว้ดังนี้

  1. จัดหารายได้ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร
  2. บูรณะอาคารสำนักงานของสมาคม ฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
  3. ลดกรณีการประพฤติผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ
  4. พัฒนาทักษะความรู้ทางวิชาชีพและวิชาการแก่บุคลากรสมาชิกในปี 2544-2545 ไม่ต่ำกว่า 100 คน
  5. ดำเนินกิจกรรมด้านข่าวสารข้อมูลการประชุม สัมมนากับองค์กรวิชาชีพ และองค์กรพัฒนาในต่างประเทศ และส่งเสริมบทบาทการนำในฐานะสมาคมวิชาชีพระดับชาติในต่างประเทศ ตลอดจน การประสานความร่วมมือทางวิชาชีพและวิชาการ
  6. ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กิจกรรมของสมาคม ฯ แก่มวลสมาชิกทุก 1 เดือน

ต่อไปนี้ คือรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารว่าได้ทำงานให้เป็นตามนโยบายและเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด โดยจะใช้วิธีเรียบเรียงจากเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน

งานบูรณะอาคารสมาคม : ไม่ง่ายอย่างที่คิด

เรื่องที่คณะกรรมการบริหารชุดนี้ ถูกถามไถ่มากที่สุด และคงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ นั่นก็คือ “งานการบูรณะซ่อมแซมที่ทำการสมาคม ฯ” ที่ถนนสามเสน ซึ่งวางเป้าหมายไว้ว่าจะดำเนินการปรับปรุงให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1 ปี หรือภายในวันที่ 4 มีนาคม 2545

เมื่อเข้ารับหน้าที่ใหม่ ๆ คณะกรรมการบริหารก็ได้เร่งดำเนินการคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อดำเนินการซ่อมแซมตามแบบที่ได้ว่าจ้างออกแบบไว้แล้ว ตั้งแต่คณะกรรมการบริหารชุดก่อน แต่ปรากฏว่าวงเงินที่ผู้รับเหมา ฯ แต่ละรายยื่นเข้ามาประกวดราคา ล้วนสูงกว่าราคากลางที่ตั้งไว้มาก คณะกรรมการ ฯ จึงตัดสินใจปรับลดขนาดของแบบที่จะทำการปรับปรุงจากเดิมจำนวน 8.5 ล้านบาท มาให้อยู่ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายสถาปนิกได้ปรับปรุงแบบเรียบร้อยแล้ว มีการเรียกบริษัทรับเหมาเดิมมาเสนอราคาใหม่ ปรากฏว่าทุกรายยังคงเสนอราคาสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ทั้งสิ้นล่าสุด คณะกรรมการบริหารสมาคม ฯ ได้เชิญผู้รับเหมารายใหม่ ๆ ยื่นประกวดราคาเพิ่มเติม ก่อนจะมีการต่อรองราคากับผู้รับเหมา โดยหวังว่าจะสามารถคัดเลือกผู้รับเหมาและเซ็นสัญญาการก่อสร้างก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2545

ต้องยอมรับว่างานการซ่อมแซมสมาคมนั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ ทั้งนี้ เพราะคณะกรรมการบริหารชุดนี้ต้องการให้การประกวดราคาและว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมา เป็นไปด้วยความโปร่งใสและเกิดประโยชน์กับมวลสมาชิกมากที่สุด ความล่าช้าในการทำงานเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

รายได้ของสมาคม : งานหนักของคณะกรรมการทุกชุด

จากการขยายตัวด้านกิจกรรมของสมาคม พร้อมทั้งการทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการให้กับองค์กรสื่อมวลชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สมาคมต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและสาธารณูปโภคปีละค่อนข้างมาก แม้ว่าในโครงการต่าง ๆ ที่สมาคมได้ดำเนินการไปแล้วล้วนแต่มีผู้สนับสนุนโครงการทั้งสิ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ ยังคงเป็นภาระของสมาคม

ดังนั้น รายได้จากโฆษณาในหนังสือประจำปี “วันนักข่าว” ที่ออกเป็นประจำทุกวันที่ 4 มีนาคม จึงยังคงเป็นรายได้หลักรายการเดียวที่มาหล่อเลี้ยงให้สมาคมดำเนินการต่อไปได้ ในขณะที่ช่องทางในการหารายได้อื่น ๆ ยังคงเป็นโจทย์ที่คณะกรรมการทุกชุด รวมทั้งชุดต่อ ๆ ไป จะต้องคิดคำนึงมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว สถานะการเงินของสมาคมอาจจะยากลำบากกว่านี้ในอนาคต

เสริมเขี้ยวเล็บความรู้ทางวิชาชีพ : เดินหน้าตามเป้า

ด้วยความเป็นภารกิจหลักสำคัญอย่างหนึ่งของสมาคม ฯ ในรอบหลายปีที่ผ่านมาการอบรมเพิ่มพูนทักษะทางวิชาชีพแก่นักข่าวและอนาคตนักข่าว จึงยังคงเดินหน้าไปตามเป้าหมาย

เริ่มจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พิราบน้อย” รุ่นที่ 4 แก่นิสิตนักศึกษาด้านวิชานิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.-1 ก.ค. 2544 สนับสนุนโดยบริษัท เทเลคอมเอเชียคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

  • ตามด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าววิทยุจากส่วนกลาง ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย. 2544 โดยใช้งบประมาณคงเหลือจากการสนับสนุนโครงการอบรมในลักษณะเดียวกันเมื่อปี 2543
  • จากนั้น เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นร่วมกับสำนักข่าวประชา-ธรรม เมื่อวันที่ 27-30 ก.ย. 2544 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทและและมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์
  • ต่อมาเป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เนตเพื่องานข่าวสำหรับนักข่าวและนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์จุฬา ฯ เมื่อวันที่ 19-20 ต.ค. 2544 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายข่าวสารและประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย
  • การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าววิทยุจากส่วนภูมิภาค ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ 16-19 พ.ย. 2544 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท
  • สุดท้าย เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวใหม่เมื่อวันที่ 14-16 ธ.ค. 2544 โดย การสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารโลก องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย และมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์

นอกจากนี้ สมาคม ฯ ยังคัดเลือกนักข่าวไทยอีกจำนวน 7 คน ไปร่วมเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ประเทศฟิลิปปินส์ระหว่างวันที่ 10-14 มิ.ย. 2544 รวมทั้งการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสร้างระบบติดตามและประเมินผลโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค” สำหรับนักข่าวสายสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26-27 พ.ค. 2544 โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

ประชุมใหญ่ IFEX : งานรวมพลคนรักสื่อเสรี

เมื่อมาว่ากันด้วยเรื่องการดำเนินงานด้านการจัดประชุม สัมมานาต่าง ๆ ของสมาคมในรอบ 1 ปีที่ ผ่านมา คงต้องเน้นไปที่การจัดการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์กรเครือข่ายด้านเสรีภาพสื่อนานาชาติ คือ International Free Expression exchange (IFEX) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพร่วมกับ Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) เมื่อวันที่ 2-8 มิ.ย. 2544 เพราะเป็นงานระดับโลกที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกทวีปกว่า 80 คน ซึ่งสามารถลุล่วงไปด้วยดี จากความร่วมมือของกรรมการและอาสาสมัครทุกคน

นอกจากนี้ ยังมีรายการจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารของ SEAPA เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนธันวาคม 2544 รวม 2 ครั้ง พร้อมกับช่วยเหลือ The Freedom Forum จัดการสัมมนา Asia Media Forum เมื่อวันที่ 19-20 เม.ย. 2544

สำหรับรายการจัดการประชุมสัมมนาในประเทศ เป็นการจัดในนามของคณะกรรมการความร่วมมือวิชาชีพสื่อมวลชน (กวส.) รวม 4 ครั้ง ส่วนรายการ “เสาร์เสวนา” ยังคงมีการดำเนินการอยู่ แต่ลดความถี่ลงเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์โดยจัดไปทั้งหมด 7 ครั้ง

ส่วนงานด้านความร่วมมือกับต่างประเทศอื่น ๆ นั้น ในรอบปีที่ผ่านมา สมาคม ฯ ได้ส่งคณะผู้แทนไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวลาว ระหว่างวันที่ 7-13 พ.ย. 2544 และส่งคณะผู้แทนไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวจีน เมื่อวันที่ 24 พ.ย.-4 ธ.ค. 2544 พร้อมทั้งให้การต้อนรับคณะผู้แทนสื่อมวลชนจีนระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-8 ก.พ. 2545

เมื่อรัฐท้าทายเสรีภาพสื่อ : องค์กรวิชาชีพต้องยืนหยัด

ปี 2544 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2545 ซึ่งเป็นยุคของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้เกิดพฤติกรรมการพยายามเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนของรัฐ ด้วยการกำจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลการเตือนและห้ามการนำเสนอข่าวที่ไม่สร้างสรรค์แก่รัฐบาล และล่าสุดคือ ความพยายามในการจัดตั้งศูนย์อำนวยการทำความเข้าใจกับประชาชน หรือ ศขป. พร้อมทั้งยังมีความพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อเอกชนอีกด้วย การนำเสนอแนวคิดในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักภาพการทำงานของสื่อมวลชน ทำให้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สมาคม ฯ ได้ไปมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการออกแถลงการณ์ และยื่นหนังสือประท้วงพฤติกรรมดังกล่าวหลายครั้ง (ดูรายงานสถานการณ์สื่อมวลชน ปี 2544

นอกจากการทำงานด้านการเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในเชิงรับแล้วสมาคม ฯ ยังร่วมมือกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเครือข่ายองค์กรเอกชนที่ติดตามการปฏิรูปสื่อจัดเวทีรณรงค์ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ใน 9 อนุภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันตก (ราชบุรี) ภาคตะวันออก (จันทบุรี) ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก) ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) ภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา) ภาคใต้ตอนบน (สุราษฎร์ธานี) ภาคอีสานตอนบน (มหาสารคาม) ภาคอีสานตอนล่าง (บุรีรัมย์) และ กทม. ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในด้านการสร้างเครือข่ายนักวิชาการและนักวิชาชีพ เพื่อช่วยกันผลักดันการปฏิรูปสื่อต่อไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท

งานดูแลสมาชิก : ประเพณีที่สืบสาน

นอกเหนือไปจากงานโครงการต่าง ๆ มากมาย ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว คณะกรรมการบริหาร ฯ ยังมีภาระงานตามประเพณีในการดูแลสวัสดิการของสมาชิกที่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด นับตั้งแต่การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาของสมาชิก การช่วยเหลือด้านสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และการประกันชีวิตและอุบัติเหตุแก่สมาชิก ที่ได้ดำเนินการมาอย่างไม่บกพร่อง

บทสรุป : ปีแห่งการทดสอบความแข็งแกร่ง

การทดสอบความแข็งแกร่งที่กำลังพูดถึง คงไม่ได้เป็นเพียงความแข็งแกร่งของคณะกรรมการบริหารสมาคม ฯ เท่านั้น แต่ตลอดปีที่ผ่านมา ยังเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งมวลในการยืนหยัดต่อสู้กับผู้ที่ไม่หวังดีต่อวิชาชีพ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็น “คนข่าว”

ทั้งนี้ การต่อสู้เพื่อทดสอบความแข็งแกร่งดังกล่าว จะมองว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติของสมาชิกและผองเพื่อนร่วมวิชาชีพ

แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ งานต่าง ๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จะประสบความสำเร็จไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ รวมทั้งเพื่อนร่วมวิชาชีพทั้งหลายที่คอยให้กำลังใจ รวมทั้งติติงการทำงานของคณะกรรมการบริหารชุดนี้ตลอดมา

จึงขอถือโอกาสขอบคุณทุก ๆ คนและทุก ๆ ฝ่ายมา ณ โอกาสนี้