ประวัติสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association - TJA

538/1 ถนนสามเสน ดุสิต กทม. 10300 โทร. 02-668-9422 โทรสาร 02-668-7505

E-mail : tjareporter@gmail.com  http://www.tja.or.th

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาชีพของสื่อมวลชนซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2543 โดยการรวมกันของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2498 - พ.ศ.2543) กับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (พ.ศ.2508 - พ.ศ.2543) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้สามารถทำหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาชีพ และจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น

วิสัยทัศน์ เป็นสถาบันหลักของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน

นโยบายในการดำเนินงาน

  1. พัฒนาความเป็นปึกแผ่นขององค์กรวิชาชีพหลังการรวมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยและสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  2. ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจริยธรรมและความเป็นกลาง เพื่อให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือในวิชาชีพต่อสังคม
  3. พัฒนาการประกอบวิชาชีพ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด
  4. สร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคมฯ สมาชิก องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศ

การบริหารงาน

คณะกรรมการสมาคมมีทั้งหมด 15 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 1 ปี โดยเป็นผู้แทนมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ที่มีสมาชิกสมาคมสังกัดอยู่ และได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สมาชิกสมาคมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี สมาคมฯ มีสำนักงานเลขาธิการซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำทำงานเต็มเวลา จำนวน 8 คน

สมาชิกภาพ

เดิมสมาคมมีสมาชิกที่เป็นเฉพาะนักหนังสือพิมพ์จากหนังสือพิมพ์ข่าวทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน และได้เริ่มขยายขอบเขตของสมาชิกโดยการรับนักข่าวจากวิทยุและโทรทัศน์เข้าร่วมเป็นสมาชิกวิสามัญในปี 2540 โดยสมาชิกจะต้องชำระค่าบำรุงปีละ 300 บาท

กิจกรรม

กิจกรรมด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ สมาคมเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรณรงค์เคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนและสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน เช่น การรณรงค์ให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ การเรียกร้องต่อรัฐบาลในการเปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณางบประมาณประจำปี การติดตามการทำงานของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการ ฯลฯ

กิจกรรมด้านการฝึกอบรม เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวงการสื่อสารมวลชน สมาคมดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมทั้งในระดับของนักศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ อาจารย์ที่สอนวิชาการหนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์ทั้งในระดับประเทศและนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ตลอดจนมีการจัดอบรมเฉพาะทางสำหรับนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ด้วย

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังจัดกิจกรรมในการเปิดโอกาสให้นักข่าวได้พบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับแหล่งข่าว ซึ่งนอกจากนักข่าวจะได้ประเด็นข่าวที่จะรายงานต่อประชาชนแล้ว ยังได้ความรู้ในแต่ละประเด็นอย่างลึกซึ้งอีกด้วย นักข่าวทั่วไปรู้จักกิจกรรมนี้ในนามของ เสาร์เสวนา เป็นอย่างดี เพราะสมาคมได้ริเริ่มจัดอย่างต่อเนื่องทุก ๆ วันเสาร์

กิจกรรมด้านสวัสดิการสมาชิก สมาคมมีบทบาทในการดูแลสมาชิกครอบคลุมทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาล ประกันชีวิต คลอดบุตร ทุนการศึกษาบุตร สวัสดิการมรณกรรม และดูแลนักข่าวอาวุโสโดยการจัดตั้งกองทุน เหยี่ยวปีกหัก เพื่อให้ความช่วยเหลือ

กิจกรรมด้านต่างประเทศ สมาคมฯ เป็นองค์ผู้ร่วมก่อตั้ง International Freedom of Expression eXchange (IFEX) และ South East Asian Press Allian (SEAPA) ซึ่งทำงานด้านการรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียน โดยสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกสมทบของ International Federation of Journalists (IFJ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการประสานเครือข่ายนักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก รวมทั้งการมีบทบาทในการสนับสนุนนักข่าวไทยเข้าอบรมและสัมมนาร่วมกับนักหนังสือพิมพ์ในระดับนานาชาติ

กิจกรรมด้านการจัดประกวดข่าว สมาคมฯ จัดกิจกรรมประกวดข่าวเป็นประจำทุกปี แบ่งการประกวดเป็น 5 ประเภท คือ การประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล การประกวดข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดเยี่ยม และการประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา รางวัลพิราบน้อย และนอกจากนี้ยังมีส่วนสนับสนุนการจัดประกวดข่าวโทรทัศน์ของมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ ด้วย

กิจกรรมด้านการส่งเสริมจริยธรรม สมาคมฯ ส่งเสริมให้มีการตรวจสอบและควบคุมจริยธรรมระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง โดยที่ประชุมใหญ่สมาชิกของสมาคมจะเลือกตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมจำนวน 5 คน เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลจรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์ให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของสมาชิกสมาคม และยังทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการเป็นของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วย

การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

สมาคม จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่สำหรับสมาชิกและผู้สนใจใน 4 รูปแบบ

  1. หนังสือวันนักข่าว เผยแพร่ปีละ 1 ฉบับ ทุกวันที่ 4 มีนาคม
  2. เพจจุลสารราชดำเนิน , เพจสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  3. ไลน์ออฟฟิชเชียล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  4. การเผยแพร่ทางสื่ออิเลกทรอนิกส์ www.tja.or.th
  5. รายการวิทยุ Fm 100.5 "ช่วยกันคิดทิศทาง"  ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.

จริยธรรมของวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

  1. ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของการเสนอข่าวและความคิดเห็น
  2. ให้ประชาชนได้ทราบข่าวเฉพาะที่เป็นจริง การเสนอข่าวสารใด ๆ ออกพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ ถ้าปรากฏว่าไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องรีบจัดการแก้ไขให้ถูกต้องโดยไว
  3. ในการได้มาซึ่งข่าว ภาพ หรือข้อมูลอื่นใดมาเป็นของตน ต้องใช้วิธีการที่สุภาพและซื่อสัตย์เท่านั้น
  4. เคารพในความวางใจของผู้ให้ข่าว และรักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว
  5. ปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยมุ่งหวังต่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือหมู่คณะใด ๆ โดยไม่ชอบธรรม
  6. ไม่กระทำการอันเป็นการบั่นทอนเกียรติหรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ

ประวัติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาชีพของสื่อมวลชนซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2543 โดยการรวมกันของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (ก่อตั้ง พ.ศ.2498 - พ.ศ.2543) กับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ก่อตั้ง พ.ศ.2508 - พ.ศ.2543) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้สามารถทำหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาชีพ และจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น

โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2498 เนื่องจากได้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นกับสมาคมหนังสือพิมพ์ที่มีมาแต่เดิม คือสมาชิกได้วอล์กเอ้าต์จากห้องประชุม จนเกือบหมดในการประชุมสามัญประจำปี ด้วยความไม่พึงพอใจ ในการแถลงงบดุลอย่างคลุมเครือประการหนึ่ง และด้วยเป็นที่ประจักษ์ว่า สมาคมนั้นถูกครอบงำโดยอำนาจ ทางการเมืองอีกประการหนึ่ง ไม่กี่วันต่อมาได้มีนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งจับกลุ่มกันคิดที่จะก่อตั้งสมาคมใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์ตรงกับ อุดมการณ์ของตนใช้ชื่อว่าสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

ส่วนสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2508 เนื่องจากคนในวิชาชีพต้องการจะก่อตั้งสถาบันที่มาแก้ไขความเสื่อมโทรมในวงการวิชาชีพที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น โดยใช้ชื่อสถาบันว่า “สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

อิศรา อมันตกุล ได้รับเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวคนแรกและเป็นติดต่อกันถึง 3 สมัย (พ.ศ. 2499 – 2500 – 2501) โดยมี สนิท เอกชัย (ค่ายสี่พระยา), ชลอ อาภาสัตย์ (ค่ายสีลม), และ เลิศ อัศเวศน์ แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมเพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มยังเตอร์กในวงการข่าวเวลานั้น

การชุมนุมของกลุ่มนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยการชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นที่ ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี มี ชาญ สินศุข หนังสือพิมพ์สยามนิกร แห่งค่ายสีลม เป็นประธานการประชุมภายหลัง เลิศ อัศเวศน์ ชี้แจงในเบื้องต้นแล้ว

คณะผู้ก่อตั้งสมาคมนักข่าวในเวลานั้นมี 15 คน ได้แก่ โชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ, และเลิศ อัศเวศน์

ที่ทำการของสมาคมนักข่าวฯ ในระยะแรกเริ่มใช้ที่ทำการของหนังสือพิมพ์ต่างๆ จนในเวลาต่อมาได้ใช้พื้นที่บนอาคารโรงหนังเฉลิมกรุง และภายหลังเมื่อหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ย้ายจากที่ทำการอาคารถนนราชดำเนิน ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในเวลานั้น ให้เข้าใช้อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน นับแต่นั้นมา

อิศรามีความถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีคะแนนยอดเยี่ยมทางภาษาอังกฤษในระดับประเทศ ผลงานคอลัมน์การใช้ภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกา “แฟรงค์ ฟรีแมน นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้ว เขาก็คล้ายกับเพื่อนรักกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่นิยมเสนอความคิดทางการเมืองในรูปแบบงานประพันธ์และวรรณกรรม

ผลงานด้านการประพันธ์ทั้งเรื่องสั้น และเรื่องยาวหลายชิ้นมีการนำเสนอความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, นาถยา – สถาพร ผู้กลับมา และข้าจะไม่แพ้

อิศราชอบทำงานอิสระของตนเองมากกว่าที่จะเข้าสังกัด ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ – ประชามิตร ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ มาลัย ชูพินิจ และได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ ร่วมกับทองเติม เสมรสุต (เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวในครั้งนั้น), วิน บุญอธึก, สว่างวงศ์ กรีบุตร, เสนีย์ เสาวพงศ์ และวิตต์ สุทธเสถียร

ภายหลังได้ทำหนังสือพิมพ์อีกหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน, หนังสือพิมพ์เอกราช, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์

อิศราถูกอำนาจเผด็จการยุคนั้นจับกุมไปคุมขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระโดยไม่มีการฟ้องร้องศาลแต่อย่างใด ภายหลังได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์

ชีวิตการต้อสู้ของอิศรา เป็นแบบอย่างการทำข่าวเจาะ และเขาเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัดในหลักจริยธรรมวิชาชีพ จนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นำชื่อมายกย่องตั้งเป็นชื่อ “รางวัลอิศรา” ให้กับผลงานข่าว – ภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี อิศราคือผู้ที่กล้าประกาศว่า

“หนังสือพิมพ์ในสายตาของคนทั่วไปอาจเป็นเศษกระดาษ ซึ่งเมื่ออ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป หรืออย่างดีก็เก็บเอาไว้ชั่งกิโลขายเจ๊ก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมอยากจะกล่าวว่าหนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์สันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปี นั่นเอง หนังสือพิมพ์วันนี้ ย่อมจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันหน้าไปอย่างแน่นอนมิพักต้องสงสัย”

อิศรา ถึงแก่กรรมเมื่อ 14 มีนาคม 2512 ด้วยโรคมะเร็ง แต่ แบบอย่างที่งดงามในความหนักแน่นต่อหลักจริยธรรม ความรักในเสรีภาพ และการต่อสู้ต่ออำนาจเผด็จการแม้แลกด้วยอิสระภาพของตนเอง เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมวงการหนังสือพิมพ์ เสริมศรี เอกชัย (เรือใบ) เขียนถึงเขาไว้ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม ชื่อบทความ “อิศรา ตัวตายแต่ชื่อยัง”

สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว แหล่งเพาะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์มีบทบาทในยุคต่อมา

ปี 2500 สำนักพิมพ์เอเดียนสโตร์ และสำนักพิมพ์ก้าวหน้า เริ่มผลิตหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คขนาดมาตรฐาน รวมเรื่องสั้นราคา 6 บาท ต่อมาปี 2508 อาจินต์ ปัญจพรรค์ ตั้ง “สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว” พิมพ์เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ออกจำหน่ายจนมีชื่อเสียงมาก

หลังจากนั้น เกิดนักเขียน “กลุ่มก้าวหน้า” เช่น รมย์ รติวัน, เจญ เจตนธรรม, นเรศ นโรปกรณ์, ลาว คำหอม และไพฑูรย์ สุนทร นำเสนอเนื้อหาแนวสะท้อนสังคม ซึ่งบางท่านในกลุ่มนี้ได้มีบทบาทในวงการหนังสือพิมพ์ไทยยุคต่อมา

พระจันทร์เสี้ยว – หนุ่มเหน้าสาวสวย

กลุ่มนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้มีบทบาทสำคัญในวงการหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย

ปี 2510 เกิดการรวมตัวของนักเขียน “กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว” ประกอบด้วย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วิทยากร เชียงกูร (นักวิชาการผู้เป็นเจ้าของบทประพันธ์ “ฉันจึงมาหาความหมาย”, สุรชัย จันทิมาธร (น้าหงา วงคาราบาว ที่ชื่อเสียงโด่งดังถือเป็นต้นแบบของศิลปินนักร้องเพลงเพื่อชีวิต), นิคม รายวา (นักเขียนรางวัลซีไรท์ เรื่องสั้นตลิ่งสูงซุงหนัก), วิสา คัญทัพ, ตั๊ก วงศ์รัฐ, มงคล วัชรางค์กูล, ทะนง เป็นต้น

ในปีเดียวกันเกิดนักเขียน “กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย” ได้แก่ สุจิตต์ วงศ์เทศ (เจ้าของบทกวี กูเป็นนิสิตนักศึกษา), ขรรค์ชัย บุนปาน, ณรงค์ จันทร์เรือง, สุวรรณี สุคนธา, มนัส สัตยารักษ์, ประเสริฐ สว่างเกษม, เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, บรรณ วีรวรรณ เป็นต้น รวมทั้ง มีนักเขียน “กลุ่มคลื่นลูกใหม่” โดย เสถียร จันทิมาธร และสมาชิกบางคนจากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวและกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวยรวมกัน

สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เฉลิม วุฒิโฆสิต – เสฐียร พันธรังษี กับการก่อตั้ง สมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ

การก่อตั้งสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในครั้งแรกมีนักหนังสือพิมพ์ประจำการประมาณ 50 คน มี เฉลิม วุฒิโฆสิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ชาวไทย เป็นหัวหน้า พบปะกันที่หนังสือพิมพ์ชาวไทย เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2508

ผู้เริ่มก่อตั้งที่มีชื่อในการจดทะเบียน 3 คน คือ เฉลิม วุฒิโฆสิต, ไชยยงค์ ชวลิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย และ เสลา เลขะรุจิ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หลักเมือง สำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 9 / 2509 กำหนดให้วันที่ 20 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของสมาคม

ต่อเมื่อมา เสฐียร พันธรังษี หนังสือพิมพ์ ชาวไทย เป็นนายกสมาคมคนต่อมา ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มอบที่ดินของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ ถนนสามเสน ซึ่งเป็นบ้านพักของผู้แทนราษฎร์อยู่ เพื่อเป็นที่ก่อสร้างที่ทำการของสมาคมฯ

ในปี พ.ศ. 2512 เสฐียร พันธรังษี เป็นนายกสมาคมฯ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการของสมาคม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2512

นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมในปี พ.ศ. 2508 จนถึงการรวมกับสมาคมนักข่าวฯ สมาคมนักหนังสือพิมพ์มีนายกสมาคม ดังนี้ เฉลิม วุฒิโฆสิต, เสฐียร พันธรังษี, ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, เสริมศรี เอกชัย, โชติ มณีน้อย, สมบูรณ์ วรพงษ์, กิตติ ชูพินิจ, พอใจ ชัยเวฬุ, ศุภเกียรติ ธารณกุล, ไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์, บัณฑิต รัชวัฒนะธานินทร์, เชาว์ รูปเทวินทร์, สุทิน กาญจนไพบูลย์, สมาน สุดโต, สุวัฒน์ ทองธนากุล

โชติ มณีน้อย กับการประกาศศักดิ์ศรีกรณีนักการเมืองกล่าวหานักหนังสือพิมพ์รับอามิสสินจ้างให้โจมตี

โชติ มณีน้อย แห่งหนังสือพิมพ์ ชาวไทย เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ (5 สมัยเว้นช่วงเวลา) ปี พ.ศ. 2514 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี พันเอกถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

พันเอกถนัด ได้ให้สัมภาษณ์ว่ามีนักหนังสือพิมพ์บางคนรับอามิสสินจ้างจากต่างชาติให้โจมตีนโยบายของตน แต่เมื่อถูกถามให้ระบุชื่อที่แน่ชัด เพราะการกล่าวเช่นนั้นทำให้วงการหนังสือพิมพ์มีมลทินมัวหมอง แต่พันเอกถนัด ปฏิเสธที่จะระบุชื่อ

กำแหง ภริตานนท์ แห่งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นายกสมาคมนักข่าวฯ พ.ศ. 2524- 2525 เขียนเล่าถึงปฏิกิริยาหนังสือพิมพ์ไว้ว่า สมาคมวิชาชีพในเวลานั้น คือ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย เรียกประชุมกรรมการบริหาร ณ ที่ทำการสมาคมนักข่าว (ในเวลานั้นตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน)

ที่ประชุมมอบกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วย นเรศ นโรปกรณ์, มานิจ สุขสมจิตร, สมบูรณ์ วรพงษ์, ประสาน มีเฟื่องศาสตร์, ละเอียด พิบูลสวัสัดิ์, ชิต วิภาสธวัช, ปรีชา พบสุข, เฉลียว จงเจริญ และ มารุต บุนนาค ที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมนักข่าวฯ เขียนร่างแถลงการณ์ตอบ

หลังจากนั้นพันเอกถนัด ได้เชิญผู้แทนสมาคมทั้ง 4 เข้าพบเพื่อทำความเข้าใจและออกแถลงการณ์ว่ารัฐมนตรียังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของนักหนังสือพิมพ์ แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีก็ยังก้าวร้าวเช่นเดิม หนังสือพิมพ์ก็ “คว่ำบาตร” จนทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องเชิญทุกฝ่ายทำความเข้าใจ และให้รัฐมนตรีถอนแจ้งความ

ต่อสู้กับ คำสั่ง ปร. 42 ยุคมานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์มือกฎหมาย

มานิจ สุขสมจิตร แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นนายกสมาคมนักข่าวใน พ.ศ. 2517 - 2518 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองเพิ่งจะสงบลงจากเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 หนังสือพิมพ์มีความคึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

วงการหนังสือพิมพ์ได้รับความคาดหวังไปให้อยู่ข้างประชาชน ไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องให้จัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ขึ้นมาควบคุมจริยธรรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์

ในเวลานั้น ฝ่ายผู้มีอำนาจได้ใช้อำนาจตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 โดยมีอำนาจสั่งปิดหนังสือพิมพ์

มานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์ มือกฎหมาย นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ให้ความสำคัญมาตลอด นับตั้งแต่รัฐบาลดำเนินการออกคำสั่งฉบับนี้

การรณรงค์ให้มีการยกเลิก ปร. 42 มาสำเร็จใน พ.ศ. 2533 ยุคที่สมาคมนักข่าวฯ มีนายกสมาคมฯ คือ ไพฑูรย์ สุนทร แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ร่วมค่ายกับมานิจ สุขสมจิตร นั่นเอง

ในเวลานั้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี สมาคมนักข่าวฯ เป็นแกนกลาง ในการประสานงานกับผู้ประกอบวิชาชีพข่าวทั่วประเทศ เพื่อเคลื่อนไหวในนาม “สมัชชานักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” จนได้รับการยกเลิก รวมเวลาคำสั่ง ปร.42 ใช้บังคับนานถึง 14 ปี

วิภา สุขกิจ แบบฉบับนักข่าวหญิงแกร่ง ขึ้นชั้นนายกหญิงคนแรกของสมาคมนักข่าวฯ

วิภา สุขกิจ เป็นชื่อจริงของเจ้าของฉายานาม “เจ๊วิภา” ที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังเรียกขานด้วยความเคารพรัก ทั้งยังเกรงในความแกร่งของนักข่าวหญิงผู้นี้ ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่ หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ในปี พ.ศ. 2498 ปีเดียวกันกับการก่อตั้งสมาคมนักข่าวฯ โดยการชักชวนของ ทวีป วรดิลก บรรณาธิการ ผู้เป็นเตรียม มธก. รุ่นพี่

ก่อนที่จะฝากชีวิตนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่งดงามให้รุ่นหลังได้เป็นแบบอย่างที่ หนังสือพิมพ์มติชน ตามคำชักชวนของพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร แห่งหนังสือพิมพ์มติชน (นายกสมาคมนักข่าวฯ พ.ศ.2521) เคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ และสุดท้ายเป็นที่ปรึกษา

ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวถึง เจ๊วิภา เจ้าของนามปากกาคอลัมน์สังคม ชื่อ “หญิงเล็ก” ว่า “เหล็กน้ำพี้ยังแสยง”

วิภา สุขกิจ เป็นนักข่าวหญิงรุ่นบุกเบิกทีทำงานเคียงข้างนักข่าวชายอย่างทรหดอดทน ไม่เกรงกลัวต่อภัยอันตรายใดๆ เป็นผู้ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ของบ้านเมืองมามากมาย รายงานข่าวนายกรัฐมนตรีมาแทบทุกสมัย และต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆอย่างกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว

ได้รับยกย่องจากมูลนิธิศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ผู้หญิงคนแรก ในปี พ.ศ. 2528 - 2529

สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชนท่ามกลางเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ นำโดยบัญญัติ ทัศนียะเวช

ในปี พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองเข้าสู่ความสบสน สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกปิดกั้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนประเภทวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อของหน่วยงานภาครัฐ ในเวลานั้นประชาชนได้รับข่าวสารที่สนับสนุนรัฐบาลเพียงด้านเดียว

บัญญัติ หรือที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์กล่าวถึงด้วยความเคารพว่า “เจ๊ญัติ”เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ระหว่าง พ.ศ. 2534 – 2535 อันเป็นช่วงที่สมาคมนักข่าวในฐานะองค์กรวิชาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ต้องประกาศอุดมการณ์หนังสือพิมพ์ท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง “พฤษภาทมิฬ” ใน พ.ศ. 2535

บัญญัติ ทัศนียะเวช เป็นนักข่าวหญิงรุ่นบุกเบิก เริ่มต้นชีวิตหนังสือพิมพ์ที่ สยามนิกร และย้ายมาอยู่ที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จนปัจจุบัน บัญญัติ เป็นต้นแบบของนักข่าวหญิงที่เด็ดเดี่ยว และยึดหลักจริยธรรมอีกผู้หนึ่ง ได้รับการยกย่องให้เป็นกรรมการจรรยาบรรณของสมาคมนักข่าวมาตลอด

กลุ่มนักข่าวหญิงรุ่นบุกเบิก นอกจากบัญญัติ, วิภา แล้วก็มี สมศรี ตั้งตรงจิตร, เสริมศรี เอกชัย, อนงค์ เมษประสาท, จิรภา อ่อนเรือง, ผุสดี คีตะวรนาฏ, คณิต นันทวาณี, ยุวดี ธัญญสิริ, ชุติมา บูรณะรัชดา เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ยุคธุรกิจหนังสือพิมพ์ (พ.ศ. 2535 – 2540)

ยุคทองของหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจ-การเมือง

หนังสือพิมพ์ในยุคธุรกิจหนังสือพิมพ์นี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคการเมืองที่เศรษฐกิจเพื่องฟู และได้เติบโตต่อเนื่องมา กล่าวคือ ผลจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ในช่วงปลายปี 2530 ส่งผลเรื่อยมา

ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้มีหนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้นหลายฉบับ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ยุคทองของหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจการเมือง” (Economic – Political Newspaper) เลยทีเดียว

เปิดฉากสมาคมนักข่าวฯ ยุคริเริ่มโครงการใหม่ๆ ในยุคปราโมทย์ ฝ่ายอุประ

ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬสิ้นสุดลง ประเทศไทยมีนายอานันท์ ปันยารชุณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการเลือกตั้ง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการผสมหลายพรรคการเมือง เช่นเดียวกับในช่วงเวลาต่อมาในสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และนายบรรหาร ศิลปอาชา

ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ระหว่างพ.ศ. 2536 – 2537 มีนโยบายสำคัญในการปรับปรุงให้ที่ทำการของสมาคมนักข่าวฯ ในยุคที่ตั้งอยู่ที่อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน มีลักษณะเป็นแหล่งพบปะชุมนุมของนักข่าว เรียกว่า “เพรสคลับ” หรือ “Press Club”

กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ สมัยนี้ที่เป็นนักข่าวรุ่นหลัง เช่น ภัทระ คำพิทักษ์, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี, ดิสทัต โรจนาลักษณ์, สันชาย จันทราวัฒนากุล เข้ามามีบทบาทนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ให้กับโครงการของสมาคมนักข่าวฯ ที่ดำเนินการมาจนปัจจุบันหลายโครงการ เช่น โครงการเพรสคลับ, โครงการอบรมนักข่าวใหม่, โครงการสัปดาห์อิศรา อมันตกุล, โครงการประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันการศึกษา, โครงการพิราบน้อย เป็นต้น

ช่วยเหลือนักข่าวประสบภาวะวิกฤติและคัดค้านการออกกฎหมายควบคุมหนังสือพิมพ์ ยุคชุติมา บูรณะรัชดา

ชุติมา บูรณะรัชดา เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลา “ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก” (bubble economy) ทำให้นักข่าวต้องประสบกับภาวะวิกฤติไปด้วย

ผลจากภาวะเศรษฐกิจวิกฤติเศรษฐกิจทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องปิดตัวเองลง หรืออย่างน้อยก็มีการปรับเปลี่ยนองค์กรภายใน มีการจัดโครงการอาสาสมัครลาออก (early retire) ในหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ เป็นผลให้ในช่วงนั้น มีผู้สื่อข่าวตกงานมากถึงกว่า 3,000 คน นับเป็นประวัติการณ์ครั้งสำคัญในวงการหนังสือพิมพ์ไทย ในช่วงเวลานี้ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้มีโครงการช่วยเหลือนักข่าวมากมายหลายโครงการ

ตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสำเร็จ

เหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายของยุคนี้คือ การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองของวงการหนังสือพิมพ์ได้สำเร็จ เมื่อ 4 กรกฎาคม 2540 เป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

มานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโสจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคนแรก ต่อมา พ.ศ. 2545 สมชาย กรุสวนสมบัติ เจ้าของคอลัมน์ “ซอกแซก โดยซูม” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธานคนที่สอง

ปัจจุบัน พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร แห่งหนังสือพิมพ์มติชน อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ พ.ศ. 2521 เป็นประธานฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการควบคุมจริยธรรมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มีองค์กรสมาชิก 36 องค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์จากทั่วประเทศ

หนังสือพิมพ์ยุคปฏิรูปสื่อ (พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน)

รวมสมาคมนักข่าว + สมาคมนักหนังสือพิมพ์ ขยายความร่วมมือกับองค์การวิชาชีพในต่างประเทศ ยุคกวี จงกิจถาวร

หลังจากนักหนังสือพิมพ์อาวุโสในวงการหนังสือพิมพ์ไทยมีความเห็นตรงกันในรวมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”

กวี จงกิจถาวร แห่งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์คนแรก ใน พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2543, 2544

คณะกรรมการบริหารชุดแรก กำหนดนโยบายการทำงานไว้ 4 ประการ คือ พัฒนาความเป็นปึกแผ่นขององค์กรวิชาชีพหลังจากรวมสมาคม, ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจรรยาบรรณ และเป็นกลาง เพื่อให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือในวิชาชีพต่อสังคม,

พัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ผู้นำทางความคิด และเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคม สมาชิก องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศ

กรรมการบริหารได้วางแผนการดำเนินงานในแต่ละนโยบายอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงการย้ายที่ทำการจากอาคาร 8 ถนนราชดำเนิน มารวมกันที่อาคารสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ เดิมที่ถนนสามเสน

งานของกรรมการยุคนี้ จึงเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางวัตถุและทางการบริหาร เพื่อรองรับกิจกรรมในอนาคต ที่สมาคมจะต้องรองรับหน้าที่สำนักงานเลขาธิการขององค์กรทางด้านสื่อมวลชนต่างๆ อีกด้วย

หลังจากนั้น วีระ ประทีปชัยกูร แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เป็นนายกสมาคมคนที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2545 – 2546 ปัจจุบัน ผุสดี คีตะวรนาฏ แห่งหนังสือพิมพ์ภาษาจีน ซิงจงเอี๋ยน เป็นนายกสมาคมฯ

ในยุคนี้หนังสือพิมพ์ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรต่างๆ มากมาย รวมทั้ง จากประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ จึงเชื่อว่าน่าจะมีส่วนเอื้อประโยชน์ให้นักข่าวนักหนังสือพิมพ์สามารถทำหน้าที่เป็นคุณต่อสังคมโดยยึดหลักจริยธรรมวิชาชีพได้มากขึ้นกว่าในอดีตจนเป็นที่ยอมรับจากสังคมในที่สุด