หนังสือพิมพ์แห่งอนาคต

หนังสือพิมพ์แห่งอนาคต

 


โดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์
E-mail: dr.mana@hotmail.com
Twitter: @dr_mana

พูดถึงสื่อหนังสือพิมพ์จัดว่าเป็นสื่อมวลชนดั้งเดิม เกิดขึ้นมาก่อนสื่อมวลชนอื่น ทั้งวิทยุและโทรทัศน์

ถ้ากล่าวเฉพาะในสังคมไทย ผู้คนมักเริ่มต้นนับหนึ่งกันตรงหนังสือพิมพ์“บางกอกรีคอร์เดอร์” (The Bangkok Recorder) หรือ “หนังสือจดหมายเหตุ” ซึ่งเป็นผลงานของมิชชันนารีชาวอเมริกัน ชื่อ หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley)

โดยถือกันว่า ฉบับปฐมฤกษ์ของหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2387 คือการปักหมุดแรกของประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทย

แต่ในทางประวัติศาสตร์การพิมพ์คงต้องถือว่า สังคมไทยอิมพอร์ตกิจการการพิมพ์จากโลกตะวันตกมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว คือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ถ้านับต่อเนื่องถึงวันนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ไทยได้ฟันฝ่าอุปสรรคมากว่า 2 ศตวรรษ ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยก็ฮึดสู้มาได้ถึง 165 ปี

แล้วในยุคสมัยต่อไปละครับ...สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ยังจะสามารถยืนหยัดเป็นสื่อมวลชนอันทรงพลังทางความคิด เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหมือนเช่นอดีตหรือไม่ และรูปโฉมของหนังสือพิมพ์แห่งอนาคตจะเป็นไปในรูปลักษณ์ใด นี่เป็นคำถามที่ท้าทายยิ่งนัก ?!?

การก้าวเข้ามาของสื่ออินเตอร์เนทเปรียบเสมือนการปฎิวัติครั้งยิ่งใหญ่ของการสื่อสาร เหมือนเมื่อครั้งนายโจฮันน์ กูเต็นเบิร์ก (Johannes Gutenberg) ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1439

การเกิดขึ้นของแท่นพิมพ์ทำให้องค์ความรู้ต่างๆซึ่งเดิมถูกจำกัดอยู่ในมือของชนชั้นนำเพียงกลุ่มเล็กๆ กลายเป็นองค์ความรู้สาธารณะ

เนื่องเพราะหนังสือที่เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ต่างๆในยุคสมัยนั้น เดิมใช้การคัดลอกทีละเล่มแล้วส่งต่ออยู่ในแวดวงจำกัด เมื่อมีแท่นพิมพ์ซึ่งสามารถผลิตสำเนาต้นฉบับได้ครั้งละมากๆ ย่อมทำให้องค์ความรู้เหล่านี้กระจัดกระจายสู่ผู้คนวงกว้างมากขึ้น อันนำมาซึ่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมในมิติอื่นๆต่อเนื่องตามมา

การเกิดขึ้นของสื่ออินเตอร์เนทก็เช่นเดียวกันครับ ย่อมก่อผลกระทบต่อเนื่องตามมา แต่จะเป็นไปในมิติใดบ้างคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในวันนี้คือการทำให้สื่อดั้งเดิม (Traditional Media)  อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ฯลฯ จำต้องปรับตัวก้าวสู่โลกดิจิตอลอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ทุกวันนี้เราเห็นคนรุ่นใหม่เลือกเสพรับสื่อได้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถเลือกสรรเนื้อหาข้อมูลข่าวสารได้ตามใจชอบ (Content-on-demand)

อาทิ ถ้าอยากฟังเพลงบรรเลงเปียโนก็ไม่จำเป็นต้องรอรายการวิทยุใดนำเสนอเพลงดังกล่าวให้ฟัง แต่ผู้บริโภคสามารถดาว์นโหลดเลือกสรรเพลงเก็บไว้ในเครื่องเล่นแบบพกพาส่วนตัว เปิดฟังที่ไหน เมื่อใดก็ได้ หรือนึกอยากชมรายการโทรทัศน์เรื่องโปรด ก็สามารถดาว์นโหลดเก็บเอาไว้ดูเมื่อไหร่ก็ได้

นั่นเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่านของสื่อดั่งเดิมกลายเป็นสื่อใหม่ (New media)

ทีนี้มาพูดถึงเฉพาะสื่อดั่งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์กันบ้าง ดูว่ามีการปรับตัวเข้าสู่ยุคสื่อใหม่อย่างไร     ที่ผ่านมาเราเห็นแต่สื่อหนังสือพิมพ์ขยับตัวก้าวสู่โลกออนไลน์ด้วยการเปิดเวบไซด์ข่าวของตนเอง บางค่าย บางฉบับอาจจะย่อส่วนหนังสือพิมพ์จริงลงในโลกดิจิตอล บางค่าย บางฉบับอาจจะผลิตข่าวสารข้อมูลบางอย่างเป็นการเฉพาะสำหรับผู้บริโภคในโลกอินเตอร์เนทเพียงอย่างเดียว หรืออาจจะนำข้อมูลข่าวสารของตนไปนำเสนอในโทรศัพท์มือถือในรูปแบบของ SMS และ MMS

แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการนำเสนอหนังสือพิมพ์ในรูปแบบของ การให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสรรข้อมูลข่าวสารได้เองตามใจชอบ หรือที่เรียกกันว่า Customized Newspaper หรือ Individuated Newspaper หรือ Personalized newspaper

ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงหนังสือพิมพ์จริงๆที่จับต้องได้ในรูปแบบส่วนตัว ผู้บริโภคแต่ละคนสามารถเลือกอ่านเนื้อหาข่าวสารได้อย่างใจชอบ

หนังสือพิมพ์แบบส่วนตัวอย่างนี้แหละครับคือต้นร่างของหนังสือพิมพ์แห่งอนาคต

แนวคิดหลักของหนังสือพิมพ์แบบนี้ เกิดขึ้นจากการทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อหนังสือพิมพ์ในซีกโลกตะวันตกพบว่า ปกติคนเราจะอ่านข่าวสาร หรือคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวันโดยเฉลี่ยคนละ 4-8 เรื่องเท่านั้น ในขณะที่มีเรื่องราวข่าวสารในหนังสือพิมพ์รายวันมากถึง 50-100 เรื่องต่อวัน

นั่นหมายความว่า คนธรรมดาทั่วไปมักเลือกอ่านข่าวสาร คอลัมน์ เฉพาะที่ตนเองชอบหรือสนใจเท่านั้น

คำถามคือ แล้วทำไมผู้บริโภคจำต้องเสียเงินเพื่อได้ข่าวสาร ข้อมูลส่วนอื่นๆที่เขาไม่สนใจละครับ เป็นไปได้ไหมที่ผู้บริโภคจะเลือกเฉพาะข่าวสาร คอลัมน์ในส่วนที่เขาสนใจเท่านั้น

อันที่จริง แนวคิดหนังสือพิมพ์แห่งอนาคตเช่นนี้ถูกคิดและทดลองใช้มาแล้วในสถาบันการศึกษา MIT (Massachusetts Institute of Technology) เมื่อปี ค.ศ. 1994 หรือ 15 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังเป็นไปในรูปแบบของหนังสือพิมพ์เสมือนจริง (The virtual daily newspaper) ยังไม่ใช่หนังสือพิมพ์จริง เนื่องด้วยเทคโนโลยี่การพิมพ์ในระยะเวลานั้นไม่สามารถรองรับแนวคิดดังกล่าว

แต่วันนี้เทคโนโลยี่การพิมพ์ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ระบบการถ่ายโอนข้อมูลการพิมพ์พัฒนาก้าวไกล เช่นเดียวกับระบบการพิมพ์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

พูดได้ว่า ทุกอย่างพร้อมสำหรับการผลิตหนังสือพิมพ์แห่งอนาคต

ตอนนี้ หลายประเทศได้เริ่มนับหนึ่งสำหรับหนังสือพิมพ์แบบ “ตามใจผู้บริโภค” ไปแล้วนะครับ ยกตัวอย่างเช่นในบราซิล หนังสือพิมพ์ O Estado De S. Paulo แห่ง Sao Paolo ได้ร่วมกับแคมเปญโฆษณาของนิสสัน (Nissan) ตีพิมพ์เชิญชวนให้ผู้อ่านเลือกข่าวและรูปภาพที่เขาต้องการในเวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ในวันอาทิตย์ผู้อ่านเหล่านั้นจะได้รับหนังสือพิมพ์มีภาพและข่าวตามที่เขาได้เลือกสรร แน่นอนครับ...รวมทั้งโฆษณาขนาดบิ๊กเบิ้มของนิสสัน ในฐานะของสปอนเซอร์ใหญ่

ทีนี้มาดูในโซนประเทศทางยุโรปกันบ้างครับ เมื่อปีที่แล้ว ทาง Swiss Post ซึ่งให้บริการทางด้านการรับส่งสินค้า ได้จับมือกับ Syntops บริษัทเทคโนโลยีซอฟแวร์ทางการพิมพ์ของเยอรมัน ทำโปรเจคหนังสือพิมพ์ข่าวส่วนตัวขึ้น (Personal News Project)

โปรเจคนี้ทดลองจัดทำขึ้นให้กับผู้อ่านในเขตซูริก (Zurich) สวิตเซอร์แลนด์เป็นการเฉพาะ โดยคนอ่านสามารถเลือกข่าวสารข้อมูลได้จากหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ ซึ่งมีทั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของสวิตเซอร์แลนด์ และหนังสือพิมพ์ระดับบิ๊กของอเมริกา อย่าง The Washington Post เป็นต้น 

คนอ่านสามารถเลือกส่วนการเมืองของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แล้วเลือกอ่านหน้าข่าวกีฬาจากอีกหนังสือพิมพ์หนึ่ง และเลือกอ่านข่าวเศรษฐกิจจากอีกฉบับก็ได้ตามใจชอบ

ระบบการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์แห่งอนาคตในรูปแบบนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ในเครือข่ายทั้ง 7 แห่งจัดหน้าหนังสือพิมพ์ของตนเองเสร็จก็จะส่งไฟล์ PDFs มาให้กับ Swiss Post รวบรวมให้กับ Syntops แยกพิมพ์แล้วส่งกลับให้ Swiss Post จัดส่งหนังสือพิมพ์ถึงมือผู้อ่านเป็นการเฉพาะ นอกจากนั้นยังมีการส่งไฟล์ดิจิตอลถึงคนอ่านทางออนไลน์ด้วย

หนังสือพิมพ์แห่งอนาคต นอกจากจะมีข่าวและคอลัมน์ที่ผู้บริโภคต้องการแล้ว ยังมีข่าวสารกลางที่กองบรรณาธิการจัดทำให้กับผู้อ่านทุกคนเหมือนกันอีกด้วย

นั่นหมายถึง หนังสือพิมพ์ในอนาคตไม่ใช่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางเดียวจากกองบรรณาธิการ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนนายทวารข่าวสาร (Gatekeeper) ตามกรอบทฤษฏีด้านนิเทศศาสตร์อีกต่อไป

หากแต่เป็นการทำงานร่วมของทั้งกองบรรณาธิการ ในฐานะผู้ผลิตเนื้อหาข้อมูลข่าวสารและผู้บริโภคในการคัดเลือกข้อมูลข่าวสารตามใจชอบ

ในสหรัฐอเมริกา แนวคิดเรื่องหนังสือพิมพ์ตามใจผู้บริโภคเช่นนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงว่าจะเป็นอีกโมเดลธุรกิจหนึ่งสำหรับหนังสือพิมพ์ในอนาคตได้หรือไม่

โดยเมื่อปีที่แล้วเหล่ากูรูด้านสื่อจำนวนหนึ่งได้จับมือกันจัดการประชุมหารือกับเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ค่ายยักษ์หลายแห่ง ใช้ชื่อการประชุมว่า The Global Conference on Individuated Newspaper  การประชุมดังกล่าวยังจัดต่อเนื่องอีกหลายครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการหนังสือพิมพ์รูปแบบใหม่

ในปีนี้  สื่อค่ายยักษ์อย่าง MediaNews Group วางแผนทดลองผลิตหนังสือพิมพ์แห่งอนาคตขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาที่เมือง Los Angeles ภายใต้ชื่อโปรเจคว่า "Individuated News" หรือ “I-News”

Vin Crosbie นักกลยุทธ์สื่อมือพระกาฬระบุไว้ว่า หนังสือพิมพ์แบบผู้บริโภคสามารถเลือกสรรข้อมูลข่าวสารได้เองตามใจเช่นนี้จะช่วยให้สื่อหนังสือพิมพ์มีคุณค่ามากขึ้น และแน่นอนครับว่ามันทำให้บริษัทโฆษณาสามารถเจาะถึงกลุ่มเป้าหมายของตนเองได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย

ด้านผู้บริโภคก็สามารถเลือกคัดสรรโฆษณาตามที่ต้องการได้เช่นกัน

ดังนั้นหนังสือพิมพ์ในอนาคตนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสถาบันผู้นำทางความคิดของผู้คนเหมือนเดิมแล้ว ยังทำหน้าที่เสมือนไดเร็กเมล์ตอบสนองความต้องการของคนอ่านอีกประการหนึ่งด้วย
ว่าแต่เมืองไทย เมื่อไหร่ถึงจะเริ่มนับหนึ่งกับหนังสือพิมพ์แบบนี้ละครับ

 

URL:  http://www.youtube.com/watch?v=PVKfpvDV1xQ