การประกวดบทความเรื่อง สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร-รางวัลชมเชย

รางวัลชมเชย
การประกวดบทความเรื่อง สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร
เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2553
โดย นางสาวปิยธิดา พนมฤทธิ์


  สื่อในแต่ละแขนงในประเทศไทยได้ถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลมาอย่างยาวนาน ทำให้สิ่งที่ประชาชนได้รับรู้บิดเบือนไปจากความเป็นจริง อันเป็นสาเหตุอันก่อให้เกิดการแตกแยกทางความคิดและความไม่สามัคคีปรองดองกันของคนในชาติ โดยเฉพาะช่วยบั่นทอนให้ความเป็นประชาธิปไตยค่อยๆเลื่อมสลาย บ้านเมืองเกิดความไม่สงบสุข ผู้ที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนทั้งหลายตลอดจนประชาชนทุกคนมีส่วนช่วยให้เกิดสื่อเสรีขึ้นได้หากพวกเราร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง

       การที่สื่อในประเทศไทยได้ถูกแทรกแซงจากหลายฝ่าย อาทิ จากทางภาครัฐ กลุ่มนักการเมือง หรือกลุ่มนายทุน มีผลทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ในสิ่งที่ถูกต้องและความเป็นจริงกลับต้องถูกปิดกั้นและถูกบิดเบือนไป ทำให้ไม่เพียงแต่ประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง ยังทำให้เข้าใจในสื่อกระแสหลักนำ เสนอแบบผิดๆ การที่มีผู้มีอิทธิพลครอบงำสื่ออยู่นั้นการนำเสนอก็จะเป็นไปเพื่อนำเสนอในมุมมองที่ดีๆของผู้มีอิทธิพล โดยไม่ได้นำเสนอในสิ่งที่เป็นผลเสีย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม อีกทั้งยังไม่มีความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือแม้กระทั่งปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางในการแสวงหาอำนาจต่อไปแบบไม่รู้จบ และยังใช้สื่อเป็นช่องทางในการแสวงหากำไรให้กับฝ่ายของตน ทำให้ประชาชนทั้งหลายถูกละเมิดสิทธิในการที่จะได้รับฟังข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด กลับเข้าใจในสิ่งต่างๆบิดเบือนไปตามที่ผู้สื่อต้องการจะสื่อสารเท่านั้น

       การที่สื่อสาธารณะจะเป็นสื่อเสรีได้นั้นจะต้องเป็นสื่อที่ปลอดจากอิทธิพลของรัฐและกลุ่มนายทุน และไม่ใช้สื่อที่จะแสวงหาผลกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง การที่สื่อเสรีจะเกิดขึ้นได้ต้องมาตรการและแนวทางดำเนินงานที่เหมาะสม แนวทางที่ภาครัฐและผู้ผลิตสื่อสามารถดำเนินการเพื่อให้เกิดสื่อเสรีได้ อาทิ

       1.สนับสนุนให้มีการเพิ่มช่องทางสื่อเสรีให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ สถานีวิทยุ สื่อสิงพิมพ์ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคสื่อตามความสมัครใจของผู้บริโภคเอง มิได้ถูกยัดเหยียดข่าวสารจากสื่อที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นหากสามารถพัฒนาสื่อของเราให้หลากหลายและมีคุณภาพไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ต่อยอดองค์ความรู้ทางสังคม แต่สื่อทั้งหลายจะสามารถเป็นเครื่องมือที่ทางประสิทธิภาพในการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในทุกกลุ่มคนของสังคม

       2.สร้างดัชนีชี้วัดคุณภาพของสื่อแต่ละสื่อเพื่อป้องกันการมุ่งสร้างรายได้จากการโฆษณา หรือบิดเบือนความเป็นจริงเพื่อมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ โดยละเลยการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

       3.สร้างระบบตรวจสอบผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ วิทยุหรือและผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อให้เกิดการบริหารอย่างโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อการนำเสนอข่าวสารและเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิด

       4.เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาสาระและการนำเสนอของสื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยสื่อสามารถเปิดช่องทางต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต จดหมาย โทรศัพท์ ฯลฯ ให้ผู้บริโภคสามารถติดต่อกับสื่อเพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็นได้

       หากสื่อสาธารณะได้เป็นสื่อเสรีอย่างแท้จริงแล้ว อาจจะมีคำถามต่อมาว่าแล้วสื่อเสรีจะสามารถร่วมสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้อย่างไร แท้ที่จริงสื่อทุกแขนงรู้ดีว่าการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และนำเสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนย่อมจะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลเดียวกันซึ่งทำให้นอกจากจะไม่ละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับรู้เรื่องราวต่างๆตามความเป็นจริงแล้วยังทำให้ประชาชนไม่มีการแตกแยกทางความคิดอันเนื่องมาจากการรับสารอันบิดเบือนมาจากสื่อบางแขนงที่ถูกกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่มครอบงำ หากจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้างก็เป็นความคิดเห็นหลากหลายที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์สังคม ปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ที่สื่ออาจไม่ทราบได้แต่อยู่ที่วิธีการดำเนินงานของสื่อ สิ่งที่สื่อแต่ละแขนงสามารถที่จะทำได้เพื่อก่อให้เกิดสื่อเสรีและสร้างสันติภาพให้เกิดในสังคมได้อย่างแท้จริงนั้นมีหลายประการ

       1.สื่อแต่ละแขนงต้องมีใจเป็นกลาง ไม่ยอมถูกครอบงำด้วยผู้มีอิทธิพลฝ่ายใด นำเสนอข่าวสารอย่างเป็นธรรมในทุกแง่มุมของทุกฝ่าย เพื่อที่จะให้ประชาชนที่รับข่าวสารได้รู้ข้อเท็จจริงครบทุกองศา และต้องกล้าที่จะหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมมาตีแผ่ให้สังคมรับรู้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและให้ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินจึงจะเป็นแนวทางแห่งความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง

 2.สื่อแต่ละแขนงต้องยอมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ได้นำเสนอ รวมถึงยอมให้มีการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสื่อ เพื่อเป็นการรับรองว่าสื่อที่ออกสู่ผู้บริโภคนั้นเป็นสื่อที่ไม่เป็นอันตรายในการรับรู้ของผู้บริโภคและเป็นสื่อที่จรรโลงสังคมไทยให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์

 3.สื่อทั้งหลายต้องร่วมใจกันต่อต้านการใช้อิทธิพลครอบงำสื่อ หากสื่อแขนงใดถูกผู้มีอิทธิพลแทรกแซงจะต้องช่วยกันเปิดโปงพฤติกรรมที่เลวร้ายนี้ให้กับสาธารณะชนได้รับรู้ เพราะเป็นสิ่งที่บั่นทอนความเป็นประชาธิปไตยและความสามัคคีของคนในชาติบ้านเมือง ถ้าปล่อยให้ครอบงำสื่อตลอดไปก็จะเป็นเหมือนสิ่งที่คอยบั่นทอนความเข้มแข็งของสังคม ประชาชนก็จะเหมือนถูกปิดหูปิดตา ชักจูงไปโดยไม่รู้ตัว

 4.ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาที่สื่อได้นำเสนอเพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ พร้อมทั้งสามารถร้องเรียนการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่บิดเบือนไปยังภาครัฐได้อย่างเสรี การที่มีประชาชนคอยร่วมตรวจสอบนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะประชาชนเป็นผู้ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ย่อมจะมีความเป็นกลางที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าที่จะให้เพียงภาครัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อเท่านั้นเป็นผู้ตรวจสอบ

 เมื่อสื่อเป็นเสรีอย่างแท้จริงแล้วย่อมจะร่วมสร้างสันติภาพให้เกิดได้เพราะการที่ประชาชนได้รับข่าวสารสาระที่ไม่บิดเบือนจากความเป็นจริง ความรู้สึกนึกคิดหรือความคิดเห็นก็ย่อมจะอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่ได้รับรู้มานั้น ความคิดเห็นที่แตกต่างย่อมเกิดขึ้นได้แต่ไม่ใช่ความแตกแยกที่จะเป็นเหตุความสงบสุขและสันติภาพได้มลายหายไป เพียงเพราะเข้าใจผิดจากข้อเท็จจริงหรือถูกชักจูงไปในทางที่ผิดเพราะความคิดได้ถูกหล่อหลอมจากข้อมูลอันเป็นเท็จที่มีผู้จงใจถ่ายทอดออกมาเพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวกโดยที่ไม่ได้สนใจประชาชนผู้รับฟังข่าวสารแต่อย่างใด

 ถึงเวลาแล้วที่สื่อในทุกแขนงจะร่วมอุดมการณ์กันเป็นสื่อเสรีอย่างแท้จริงเพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ของชาติบ้านเมืองที่แตกความสามัคคีกันในยามนี้ให้กลับมาเป็นประเทศไทยที่มีความสงบสุข เพื่อคนในชาติจะได้อยู่กันอย่างสันติ และเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา พวกเราคงไม่อยากเห็นเศรษฐกิจของประเทศต้องเสียหายไปมากกว่านี้ หากสันติภาพกลับมาประเทศไทยที่รักยิ่งของพวกเราจะพัฒนาก้าวไกลกว่าที่เป็นอยู่นี้อีกมาก