การปรับตัวของหนังสือพิมพ์ในประเทศจีน

 

การปรับตัวของหนังสือพิมพ์จีน

วันที่ 04 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เวลา 20:00:00 น.

แบ่ง ปันข่าวนี้บน facebook Share

โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์  prasong_lert@yahoo.com

(ที่มา คอลัมน์ ณ ริมคลองประปา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2553)

ทิวทัศน์ยามเย็นที่เมืองเผิงไหล มณฑลซานตง

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้นำคณะผู้แทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยไปเยือน สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 10 วันในโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กับสมาคมนักข่าวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งดำเนินติดต่อกันมาเป็นเวลา 11 ปี

ในการเยือนแต่ละปี ทางสมาคมนักข่าวจีนได้จัดสถานที่เปลี่ยนไปทุกครั้ง ตั้งแต่ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ครั้งล่า สุดไปที่เมืองชิงเต่า เหวยไห่ เยียนไถ ในมณฑลซานตง และเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียว หนิง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออก ด้านเหนือนครเซี่ยงไฮ้ ใกล้กับประเทศเกาหลี

ทั้งสองมณฑลไม่ได้อยู่ในเส้นทางของทัวร์ไทย ทั้งๆ ที่มีเป็นเมืองที่เจริญในอันดับต้นๆ ของจีนเนื่องจากเป็นเมืองท่า มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามและอากาศดี การที่คนไทยไปเที่ยวน้อยคงมีหลายเหตุปัจจัย

แต่ที่สำคัญประการหนึ่ง น่าจะมาจากไม่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ต้องบินไปลงกรุงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) จากนั้นต่อสายการบินภายในประเทศ ทำให้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

การไป เยือนจีนครั้งนี้ ได้ความรู้อย่างหลากหลาย ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าขนาดใหญ่ ความพยายามของจีนในการก้าวขึ้นมาประเทศชั้นนำในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของโลก การเนรมิตชนบทพื้นที่ 50 ตร.กม.ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเมืองขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับคนได้ 100,000 คนภายใน 5 ปี

นอกจากก้าวไปข้างหน้าแล้ว เนื่องจากมณฑลซานตงเป็นเมืองท่าและจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงเป็นที่หมายปองของมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น ผู้นำจีนได้ใช้ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดที่ถูกรุกรานโดยญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เข่นฆ่าคนจีนตายเป็นเบือ มาเป็นบทเรียนที่ปลุกเร้าให้เกิดความรักชาติและมีความสามัคคี

แน่นอน ที่ขาดไม่ได้คือ การไปดูงานด้านหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนในเมืองชิงเต่า เยียนไถและต้าเหลียน

ประเด็นที่น่าสนใจของหนังสือพิมพ์จีนที่มี ลักษณะร่วมกันคือ รูปแบบการทำธุรกิจที่นอกจากหนังสือพิมพ์ซึ่งมีรายได้หลักจากการโฆษณาแล้ว ยังทำธุรกิจอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหนังสือพิมพ์ เช่น มีโรงแรมและภัตตาคารเป็นของตัวเอง ในกรุงเป่ยจิง หนังสือพิมพ์เป่ยจิงรายวันมีธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่และหรูรา บางฉบับมีธุรกิจจัดหางาน ธุรกิจจัดหาคู่ ฯลฯ

แม้หนังสือ พิมพ์จะเป็นของรัฐบาล แต่มีนโยบายชัดเจนว่า ต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง แต่ละฉบับจึงต้องพยายามทำธุรกิจที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ตัวเอง

อย่าง ไรก็ตาม เนื่องจากทางการจีนเห็นว่า หนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ละแห่งจึงต้องมีหนังสือพิมพ์หลักฉบับหนึ่งที่นำเสนอข่าวของทางการ

ที่ เหลืออาจจะมีหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า ฉบับบ่ายที่เสนอข่าวบันเทิง สังคมหรืออาจนำเสนอข่าวสารเฉพาะด้านอื่น ๆ เช่น หนังสือเกี่ยวกับผู้สูงอายุ สตรี หรือเยาวชน

ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ได้พบปะ กัน แม้จะบอกว่า ได้รับผลกระทบในเรื่องยอดจำหน่ายจากสื่ออินเตอร์เน็ตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไม่มากนัก แต่ทุกฉบับพยายามพัฒนาเว็บไซต์ข่าว บางแห่งทำเป็นช่องข่าวทีวีทางอินเตอร์เน็ตโดยแยกเป็นบริษัทออกมาต่างหาก เพื่อความคล่องตัวในการบริหารและการหารายได้

ในจำนวนนี้ หนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจคือ เยียนไถรายวัน แม้เป็นหนังสือพิมพ์ในเมืองไม่ใหญ่นักมีประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน แต่ก็มีรายได้ในปี 2552 ถึง 350 ล้านหยวนหรือประมาณ 1,750 ล้านบาท

เพื่อ รับกับการเปลี่ยนแปลงของสื่ออินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ในเครือ 10 ฉบับ นิตยสาร 3 ฉบับ และ เว็บไซต์ 5 เว็บ ได้จัดตั้งสำนักข่าวขึ้นมา มีผู้สื่อข่าวประมาณ 70 คน

ขณะ เดียวกันได้ใช้เวลาในการพัฒนานักข่าวคนเดียวให้สามารถทำงานได้ครบเครื่อง ทั้งการทำข่าวหนังสือพิมพ์ โทรศัพท์เคลื่อนที่และกล้องดิจิตอล จากนั้นให้ส่งข่าวให้แก่สำนักข่าวซึ่งหนังสือพิมพ์ในเครือสามารถนำไปใช้ได้ แต่เพื่อป้องกันมิให้ข่าวซ้ำกันในแต่ละฉบับ ต้องมีการวางแนวหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ชัดเจน และยังสามารถมอบหมายให้สำนักข่าวไปทำ"ข่าวเดี่ยว"ให้แต่ละฉบับได้อีกด้วย

ผู้ อำนวยการหนังสือพิมพ์เยียนไถบอกว่า แม้สื่ออินเตอร์เน็ตยังมีรายได้ไม่มากนัก แต่ก็เห็นว่า มีความสำคัญมากในอนาคต จึงได้ร่วมกับหนังสือพิมพ์ในมณฑลซินเจียง สำนักข่าวซินหัวร่วมกันก่อตั้งบริษัททางด้านสื่ออินเตอร์เน็ตที่จะนำเข้าจด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นช่องทางใหม่ๆ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์อย่างกว้างขวาง