การขยายอิทธิพลของวิทยุปักกิ่ง

การขยายอิทธิพลของวิทยุปักกิ่ง
วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เวลา 13:09:00 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share  

 

คอลัมน์ ณ ริมคลองประปา โดย ประสงค์ วิสุทธิ์ prasong_lert@yahoo.com
ในการไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของคณะผู้แทนจากสมาคมนักข่าวนัก หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กับสมาคมนักข่าว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากไปดูงานหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์เมืองต่างๆในมณฑลซานตงและเหลียวหนิงแล้ว

ช่วง 2 วันสุดท้ายบนแผ่นดินใหญ่ คณะของเราเลือกดูงานที่สถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (CHINA RADIO INTERNATIONAL - CRI) ภาคภาษาไทยหรือที่คนรุ่นเก่าๆ รู้จักกันดีในชื่อ วิทยุปักกิ่ง ซึ่งในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ ก่อนปี 2516 (ฟังผ่านวิทยุคลื่นสั้น) วิทยุปักกิ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ โจมตีรัฐบาลไทยและจักรวรรดินิยมอเมริกา

แต่คุณลู่ หยงเจียง ผู้อำนวยการ CRI ภาคภาษาไทยยืนยันด้วยภาษาไทยชัดแจ๋วว่า นั่นเป็นเรื่องของอดีต แต่ปัจจุบันหลักการของ CRI คือ การรายงานเรื่องของจีนสู่ชาวโลก เรื่องของโลกสู่ประชาชนจีน และเรื่องของโลกสู่ชาวโลก เพิ่มพูนความเข้าใจและกระชับมิตรภาพระหว่างชาวจีนกับโลก

ในพิธีเปิดสถานีวิทยุ CRI เอฟเอ็ม ซึ่ง CRI ก่อตั้งขึ้นที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อ 4 ปีก่อน หู จิ่น เทา ประธานาธิบดีจีนกล่าวสุนทรพจน์ว่า การออกอากาศของสถานีวิทยุแห่งนี้เป็นเสมือนสะพานใหม่ที่เพิ่มพูนความเข้าใจและกระชับมิตรภาพระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนลาว

เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า CRI จะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีนานาประเทศอีกต่อไป แต่ก็มิได้หมายความว่า CRI ไม่ได้ถูกใช้เป็นกระบอกเสียงของทางการจีน

จากการศึกษาของชาติณรงค์ วิสุตกุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเคยปฏิบัติงานที่ CRI ภาคภาษาไทยระบุว่า นโยบายของ CRI มาจากรัฐบาลโดยตรง มุ่งเน้นเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์จากจีนไปสู่ทั่วโลก แม้แต่ละภาคภาษาจะมีอิสระในการคัดเลือกข่าวที่นำเสนอได้เอง แต่ด้วยนโยบายหลักที่ส่งตรงมาจากส่วนกลางภายใต้การกำกับของรัฐบาล สะท้อนถึงทิศทางข่าวที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของรัฐ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ลักษณะพิเศษของ CRI คือ ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล 100% แตกต่างจากสื่อมวลชนจีนอื่นๆ เช่น หนังสือพิมพ์ซีซีทีวี (China Central Television) ที่แม้รัฐบาลเป็นเจ้าของเหมือนกัน แต่ต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง
การทุ่มเทงบประมาณสนับสนุน CRI จำนวนมากโดยมีผู้ปฏิบัติงานถึง 2,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศถึง 1,700 คน (มากที่สุดในจีน) แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับสถานีวิทยุแห่งนี้อย่างมากจนเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541 ปัจจุบันเป็นวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ออกอากาศเป็นภาษาต่างๆ ถึง 61 ภาษา วันละกว่า 2,600 ชั่วโมง มีผู้ฟังใน 161 ประเทศ

ขณะที่วิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America - VOA) ที่เคยครองความยิ่งใหญ่ ออกอากาศเป็นภาษาต่างๆ 44 ภาษา วันละ 1,500 ชั่วโมง คาดว่ามีผู้รับฟังทั่วโลก 125 ล้านคน

แม้มีการกระจายเสียงภาษาต่างๆ จนครอบคลุมเกือบทั่วโลกแล้ว แต่รัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าที่จะเปิดสถานีวิทยุ CRI ในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น และก่อตั้งสำนักงานประจำ 30 ประเทศ โดยในภูมิภาคนี้มีการก่อตั้งสถานีวิทยุในประเทศลาว กัมพูชา ฯลฯ

แต่สำหรับไทยนั้น รัฐธรรมนูญห้ามต่างชาติเป็นเจ้าของสื่อสารมวลชน แต่ทาง CRI ใช้วิธีการการร่วมผลิตรายการวิทยุของสถาบันการศึกษา คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มอ.หาดใหญ่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อย่างไรก็ตาม CRI มีโครงการที่จะขยายสำนักงานในประเทศไทยให้เป็นศูนย์ระดับภูมิภาคและยังหา ช่องทางในการมีคลื่นวิทยุของตนเองในประเทศไทย แต่เมื่อดูกฎหมายแล้วคงจะยาก นอกจากวิธีการร่วมทุนและจัดตั้งเป็นบริษัทสัญชาติไทย จากนั้นจึงขอจัดสรรคลื่นจากคณะกรรมการองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการ ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นความพยายามในการขยายอิทธิพลของจีนผ่านระบบสื่อสาร มวลชน ซึ่งประเทศตะวันตกใช้วิธีการดังกล่าวมานานหลายทศวรรษแล้ว

สำหรับ CRI ภาคภาษาไทยนั้นมีเจ้าหน้าที่ 27 คน เป็นชาวจีน 23 คนซึ่งทุกคนสามารถพูดภาษาไทยได้ เป็นคนไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย 3 คน

เมื่อคณะของเราเดินเข้าไปในแผนก เสียงทักทายและพูดคุยภาษาไทยกันอึ้งมี่

ปัจจุบัน CRI ใช้สื่อมัลติมีเดียครอบคลุมทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ตและสื่อรูปแบบใหม่อย่างครบถ้วนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ