ผลกรรมแห่งชัยชนะและอำนาจ-โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

ผลกรรมแห่งชัยชนะและอำนาจ

คอลัมน์ ณ ริมคลองประปา  หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 ธันวาคม 2553

โดย ประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์

ต้าเหลียน(Dalian) เป็นเมืองสุดท้ายก่อนที่คณะของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยไปเยือนก่อนเดินทางเข้ากรุงเป่ย์จิง (ปักกิ่ง)

แม้เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ของมณฑลเหลียวหนิง (แต่เมืองเอกของมณฑลคือ เฉิ่นหยาง) และมีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน จนได้รับการขนานนามเป็น ฮ่องกงแห่งจีนเหนือ แต่คนไทยทั่วไปมักไม่รู้จัก ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ได้อยู่ในเส้นทางของทัวร์ไทย

ใครยังนึกไม่ออกว่า ต้าเหลียนอยู่บริเวณไหน ให้เปิดแผนที่ประเทศจีน จะเห็นเมืองนี้อยู่ทางตะวันออกใกล้กรุงเป่ย์จิง และใกล้เกาหนีเหนือ มีลักษณะเป็นแหลมมีทะเลป๋อไห่อยู่ทางตะวันตก ทะเลเหลืองอยู่ทางตะวันออก

เนื่องจากเป็นเมืองท่า มีภูมิศาสตร์ที่เป็นอ่าวธรรมชาติ จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่นแผ่อิทธิพลเข้ายึดครองในปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เมืองหลี่ซุ่นใกล้ๆ กับต้าเหลียน (เคยเป็นเมืองเดียวกัน แต่แยกเป็นเมืองต่างหากในภายหลัง) ซึ่งเนฐานทัพเรือของจีนในปัจจุบัน เป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียอย่างดุเดือด ทิ้งศพทหารไว้เกลื่อนกลาดไม่ต่ำกว่า 60,000 ศพ

หลังจากที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนในปลายสมัยราชวงศ์ชิง (แมนจู) และเข้ายึดครองหลี่ซุ่น ต่อมารัฐบาลจีนได้ร่วมมือกับรัสเซียใช้กำลังยึดคืนจากญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1894 จากนั้น รัสเซียได้สร้างป้อมปราการและบังเกอร์หิน อย่างแข็งแกร่งเพื่อป้องกันการบุกจากญี่ปุ่น

 

 

 

แต่หลังจากนั้นอีก 10 ปี วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1904 ญี่ปุ่นได้จมเรือรบรัสเซียปิดปากอ่าวที่เป็นฐานทัพเรือ และยกพลขึ้นบกโจมตีเมืองหลี่ซุ่นที่มีเนื้อที่ 50 ตรกม. ใช้เวลาต่อสู้กันาน 329 วัน ก็สามารถยึดเมืองคืนจากรัสเซียได้ จากนั้นญี่ปุ่นก็ยึดครองเมืองนี้เรื่อยมาจนแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945  รัสเซียจึงเข้ามายึดเมืองนี้คืนและ ถอนกำลังออกไปในปี ค.ศ. 1955

ญี่ปุ่นได้ทุ่มเทกองทัพเข้าโจมตีกองทัพรัสเซียในสมรภูมิอย่างหนัก เฉพาะเนิน 203 (เป็นจุดยุทธศาสตร์) ที่เดียวทหารญี่ปุ่นตายกว่า 13,000 นาย  ขณะที่รัสเซียสูญเสียทหารกว่า 6,000 นาย

หลังจากได้รับชัยชนะ ญี่ปุ่นได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้อย่างน้อย 2 แห่ง แห่งแรกเป็นอนุสาวรีย์ที่ ประกาศชัยชนะ (ดูภาพประกอบ) อีกแห่งเป็นจุดสู้รบที่มีนายพลรัสเซียเสียชีวิต

ทางการจีนเปิดให้หลี่ซุ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีการปรับภูมิทัศน์ต่างๆ และนำปีใหญ่ของรัสเซียมาตั้งไว้ด้วยแน่นอนว่าได้ รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นและรัสเซียมากเป็นพิเศษ

นอกจากถ่ายรูปตามจุดต่างๆแล้ว คณะของนักข่าวไทยเกือบทุกคนต้องถ่ายรูปกับอนุสาวรีย์ แต่ได้รับการปฎิเสธและบอกว่า จะไปถ่ายรูปคู่กับปืนใหญ่ของรัสเซียแทน

ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีนแสดงให้เห็นชัดว่า ยังคงมึนตึงต่อญี่ปุ่นที่เคยรุกรานและเข่นฆ่าชาวจีนอย่างโหดร้ายทารุณหลายแสนคนในช่วงก่อนและช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ไก๊ด์ชาวจีนอธิบายว่า หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งไปเยือนหลี่ซุ่นสั่งไม่ให้ทำลายอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของญี่ปุ่น รวมทั้งอนุสาวรีย์ที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นเยาะเย้ยรัสเซียการตายของนายพลรัสเซีย (ทั้งๆ ที่ครุสซอผซึ่งต่อมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต และเดินทางไปพร้อมกับโจวเอินไหลขอให้ทำลายทิ้ง) โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่า ญี่ปุ่นเคยรุกรานจีน

ว่ากันว่า โจวเอินไหลต้องการให้ความเจ็บปวดในอดีตเป็นบทเรียนสำหรับอนุชนรุ่นหลัง ขณะเดียวกันเป็นการสร้างสำนึกให้แก่ผู้รุกรานที่ต้องการเพียงเพื่อชัยชนะ ก็ใช้อำนาจอย่างโหดเหี้ยมและไร้ศีลธรรมซึ่งผลกรรมจากการกระทำดังกล่าวยังคงหลอกหลอนชาวญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้

หลังจากเข้ายึดหลี่ซุ่นแล้ว ญี่ปุ่นได้สร้างและต่อเติมเรือนจำที่รัสเซียสร้างไว้ จากนั้นใช้เป็นที่คุมขังชาวจีนและเกาหลีที่ต่อต้านญี่ปุ่นได้ถึง 2,000 คน มีการใช้แรงงานและทรมานนักโทษอย่างทารุณ ทำให้นักโทษล้มตายจำนวนมากที่จนบัดนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่ตายเป็นใคร

เฉพาะช่วงปี ค.ศ. 1942-1945 มีการประหารนักโทษด้วยการแขวนคอไปถึง 700 คน

เรือนจำแห่งนี้เป็นอนุสรณ์แห่งความเจ็บปวดที่ทางการจีนยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี