นักข่าวจีนยันพันธกิจ ประเทศต้องมาก่อน โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 14 ก.ค. 2558 05:01

โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทย-จีน เป็นไปอย่างมิตรภาพ

ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สื่อมวลชนจีนมาเยือนไทย 5 คน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายกฯวันชัย วงศ์มีชัย ให้การต้อนรับพร้อมจัดเจ้าหน้าที่พาเข้าดูงานสื่อ แถมลงพื้นที่ดูวิถีชีวิตไทยในจังหวัดเชียงรายและระยอง

หัวหน้าคณะคือ นายถาง หยวน เจี๋ย แห่งหนังสือพิมพ์รายวัน หนง หมิง เดลี่ หรือ “Farmer’s Daily” ได้เปิดใจให้ความรู้เกี่ยวกับสื่อมวลชนจีน นายถางทำข่าวมาแล้ว 33 ปี บอกว่าหนังสือพิมพ์ที่สังกัดเสนอข่าวเกษตรกร ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างชาวนากับรัฐบาล เมื่อชาวนามีปัญหาอะไร หนังสือพิมพ์จะทำหน้าที่สื่อสารให้รัฐบาลและสังคมได้รับรู้

เมื่อถามว่า ทำไมเลือกมาเป็นนักข่าว คำตอบคือเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะเรียนจบมาทางด้านธุรกิจการเกษตร เมื่อสมัครเข้าทำงานด้านวิจัยทางการเกษตร ปรากฏว่าสมัครไม่ทัน เลยหันเข้าสมัครเป็นนักข่าว แรกๆก็ไม่ชอบ แต่เมื่อได้สัมผัสชีวิตนักข่าวก็หลงรัก และเห็นข้อดีหลายอย่าง อาทิ ได้แสดงความคิดเห็นของตนเองและสังคมให้เกียรติ

“ภาระของหนังสือพิมพ์แตกต่างจากภาระของคนทั่วไป นักหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดชอบต่อสังคมสูง มีส่วนผลักดันประเทศให้ก้าวหน้า ขจัดความเน่าเฟะของสังคม เผยแผ่ความดีงามของสังคม แม้จะมีอิสระในตัวตนค่อนข้างสูง แต่อาชีพนักข่าวก็ไม่มีเวลาตายตัว เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ นั่นคือเวลาเริ่มงาน”


เส้นทางนักข่าวจีนไม่เหมือนของไทย เพราะคนที่จะสมัครเป็นนักข่าวต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเป็นข้าราชการก่อน แล้วค่อยสอบบัตรนักข่าว เงินเดือนของนักข่าวจีน “ผมว่าอยู่ในระดับกลางๆ ค่อนลงมาทางล่างๆ แต่ละปีจะได้เงินเดือนประมาณ 400,000 บาท แม้เงินเดือนจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ แต่เป็นอาชีพที่น่าภูมิใจ และคนในสังคมให้ความเคารพสูง”


นายถางบอกว่า นักข่าวในประเทศจีนไม่เหมือนประเทศอื่น อย่างหนังสือพิมพ์ชาวนาที่ทำอยู่ ข่าวสารที่นำเสนอเป็นปัญหาของเกษตรกร แม้จะเป็นปัญหามานานนับ 1,000 ปี แต่ทั่วโลกก็มีเหมือนกัน แล้วก็มีอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน
“ผมขอปูพื้นฐานก่อนว่า จีนมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง แม้รัฐบาลจะแก้ปัญหาเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ก็ยังมีอยู่ เพราะจีนมีชนกลุ่มน้อยมาก ทำให้รัฐบาลไม่สามารถปรับให้เป็นทิศทางเดียวกันได้ ถึงกระนั้นเราก็เจริญไม่น้อยหน้าอเมริกา”


ส่วนที่ “เราไม่เจริญก็มี แสดงให้เห็นว่ายังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก ประชากรจีนจบปริญญาเอกมากมาย ขณะที่คนยังไม่รู้หนังสือก็มี”

การทำงานของรัฐบาล “ต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารเพื่อหาทางแก้ไข นักข่าวเป็นผู้ส่งสาร รายงานปัญหาให้กับรัฐบาลทราบ เพื่อให้รัฐบาลได้รู้และแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ดังนั้นนักข่าวต้องเป็นผู้มีวิจารณญาณ เล็งเห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม สิ่งใดที่ทำแล้วไม่ส่งผลดีต่อสังคม ก็ไม่ทำ”


ตัวอย่างเช่น “โรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งปล่อยสารพิษ
ออกมา ข่าวนี้ถ้าเป็นประเทศต่างๆในยุโรปจะต้องลงข่าวอย่างทันที แต่ในประเทศจีนไม่ใช่ เพราะถ้าลงข่าวไปจะเป็นเรื่องใหญ่โตและคนก็จะเหมาว่าเป็นไปทั้งหมด กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา ทั้งๆที่เกิดขึ้นในโรงงานเดียว รัฐบาลจีนมีนโยบายว่า ข่าวที่ลงไปแล้ว


ส่งผลกระทบต่อความดีงามของประเทศจะต้องถูกลงโทษ ทำให้นักข่าวต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม”
และ “นักข่าวจีนจะต้องมีวิจารณญาณในการเสนอข่าวเพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองต่อประเทศชาติ และต้องรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่เกิดอะไรขึ้นก็เสนอไป”


เมื่อถามถึงปัญหาโครงสร้างของสังคม นายถางบอกว่า แม้จีนจะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แต่ก็มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ หลังจากเปิดประเทศจีนก็นำเอาวัฒนธรรมต่างชาติมาปรับใช้อย่างศาสนาพุทธมาจากอินเดีย จีนก็ยังเจริญก้าวหน้า ขณะที่อินเดียแทบไม่มีศาสนาพุทธแล้ว

การมาเยือนไทยได้เห็นอะไรบ้าง นายถางบอกว่า ได้เห็นตามที่รับรู้ก่อนมาและไม่ตรงกับการรับรู้ เรื่องที่ตรงกับการรับรู้ เช่น เมืองไทยยังเป็นเมืองแห่งรอยยิ้ม มีมิตรไมตรีและเป็นเมืองพุทธ ชีวิตของคนไทยเกาะเกี่ยวอยู่กับพุทธศาสนา เห็นจากคนไทยกว่า 70 ล้านคน มีพระภิกษุสงฆ์ถึง 3 แสนรูป


ในแง่ของความเจริญ จีนยกให้ไทยเป็น 1 ใน 4 มังกรน้อย ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาตนเองได้เร็วมาก และมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนเสมอมา จีนเองเป็นมิตรประเทศที่ดีไม่ว่าไทยจะมีวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใด จีนก็เข้าช่วยเหลือ อย่างเมื่อไทยประสบวิกฤติฟองสบู่แตก จีนก็เข้าช่วยเหลือ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ดี นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนก็เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเป็นอันดับ 1


ส่วนที่ผิดจากที่คิดไว้เช่น ความสัมพันธ์ไทย–จีน ที่เป็นไปอย่างแน่นแฟ้นมากกว่าคิดไว้ และอีกประการหนึ่งพบว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับจนในประเทศไทยมีมาก จากที่เดินทางไปเชียงราย ระยอง และกรุงเทพฯ พบว่าคนจนกับคนรวยห่างกันมาก ปัญหาเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อประเทศ


หลังการเยือนชุมชนจีนอพยพที่ตำบลประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แล้วถามว่าเห็นคนจีนด้วยกันย้ายถิ่นฐานมาทำกินในประเทศไทยแล้ว มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร นายถางบอกว่า การย้ายถิ่นทำมาหากินเป็นการตัดสินใจของเขา เห็นมาอยู่กันมากก็คิดว่าเขาคงมีความสุขดี


สำหรับการอยู่ยั้งยืนยงของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศจีนเป็นอย่างไรนั้น นายถางบอกว่าเครื่องมือสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้า ไม่ว่าอย่างไรสื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังอยู่ แต่เป็นการอยู่ท่ามกลางการสื่อสารที่มีหลายช่องทาง สื่อสิ่งพิมพ์ไม่อาจสู้รบกับสื่อออนไลน์ได้ในเรื่องของความรวดเร็ว อย่างการสัมภาษณ์ใครสักคน อย่างเร็วก็ต้องวันรุ่งขึ้นถึงจะได้อ่าน แต่สื่อออนไลน์คนทั้งโลกเห็นได้เกือบจะทันที


“สื่อสิ่งพิมพ์แม้จะถูกกระทบแต่ก็อยู่ได้ การเสนอข่าวถ้าปรับไปเป็นการเสนอข่าวเชิงลึกก็จะส่งผลให้คนเสพสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าตามเว็บไซต์ เพราะอย่างไรคนก็ยังเคยชินกับการเสพสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ดี”
สำหรับในประเทศจีน “สื่อสิ่งพิมพ์จีนไม่เหมือนยุโรปและอเมริกาที่สื่อออนไลน์เข้ามากดดันจนหลายสำนักต้องปิดตัวไป ขณะที่ญี่ปุ่นกลับยังมีคนอ่านหนังสือพิมพ์และไม่ค่อยส่งผลกระทบเท่าไหร่ อาจเพราะคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแกร่งนั่นเอง”


ก่อนจะขึ้นเครื่องกลับจีน นายถางเสนอว่า สื่อมวลชนจีนกับไทย “น่าจะคิดหัวข้อดีๆ นำมาพูดคุยกัน และหัวข้อนั้นควรนำมาทำข่าวได้ด้วย เพื่อกระชับสัมพันธ์อันดีต่อกัน”

ที่มา

นักข่าวจีนยันพันธกิจ ประเทศต้องมาก่อน - ข่าวไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/511237