2มีค52-จีจีนิวส์ปิดคลื่น อ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจนักข่าวตกงานทันที “ดนัย” ยอมจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมาย

ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / 2 มี.ค. 2552
จีจีนิวส์ปิดคลื่น อ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจนักข่าวตกงานทันที “ดนัย” ยอมจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมาย


สืบเนื่องจากกรณีที่นายนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีจีนิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้บริหารคลื่นข่าว "บิซิเนส เรดิโอ" เอฟเอ็ม 98.0 ออกมาเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ 28 ก.พ. 2552 ว่าบริษัทได้ยกเลิกสัญญาเช่าคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 98.0 กับกองทัพบก โดยให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตั้งแต่กลางปี 2552 เป็นต้นมา  ซึ่งคำสั่งปิดคลื่นดังกล่าวเป็นเหตุให้มีพนักงานตกงานเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดนายดนัย ได้ออกมาเปิดเผยอีกครั้งว่า บริษัทจีจีนิวส์ได้ทำงานมาเป็นระยะเวลานานและประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยบริษัทยิ่งเข้าสู่ภาวะวิกฤต เราจึงจำเป็นต้องตัดสินใจยุติการทำงาน โดยได้จ่ายค่าชดเชยกฎหมายแรงงานทุกอย่างคือคนที่ทำงานเกิน 1 ปีก็จะได้ค่าชดเชย 3 เดือนพร้อมค่าตกใจ 1 เดือน ส่วนพนักงานที่ทำงานยังไม่ครบปีก็ได้ค่าชดเชยตามลำดับที่กฎหมายแรงงานกำหนด

ด้านน.ส. พรทิพย์ พลสิทธิ์ อดีตบรรณาธิการข่าวบริษัทจีจีนิวส์เน็ตเวริ์กกล่าวว่า สัญญาในการเลิกจ้างของบริษัทมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมาซึ่งหลังจากสัญญาเลิกจ้างมีผลนั้นทำให้พนักงานของบริษัทจีจีนิวส์หลายสิบคนต้องกลายสภาพเป็นคนตกงานโดยปริยาย ซึ่งในส่วนของฝ่ายข่าวนั้นตนได้พยายามหาทางช่วยเหลือให้ทั้งหมดได้มีงานทำ โดยขณะนี้ได้มีบริษัทที่เป็นคลื่นวิทยุเหมือนกันติดต่อให้ความช่วยเหลือฝ่ายข่าวบางคนอยู่ ซึ่งรายละเอียดนั้นยังไม่ได้คุยกันอย่างชัดเจนว่าเขาจะช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

น.ส.พรทิพย์กล่าวอีกว่า เท่าที่ผ่านมาตนและทีมงานหลายคนได้ทราบถึงสถานการณ์ของบริษัทมาตั้งแต่เริ่มต้นว่าเป็นอย่างไร และหากใครที่เคยทำสื่อวิทยุจะทราบได้ว่าธุรกิจนี้จะต้องอาศัยงบจากสปอนเซอร์ที่จะเข้ามาโฆษณาผ่านช่วงต่าง ๆ ของคลื่น และหลายปีที่ผ่านมาเราก็เห็นอยู่ว่าสถานการณ์ของเราเป็นอย่างไรโฆษณาก็ไม่ค่อยมี จนล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2551 ที่ผ่านมาบริษัทโพสต์ พับลิชชิง ได้เข้ามาลงทุนร่วมกับบริษัทตนก็คิดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่เหตุการณ์ปิดคลื่นวิทยุก็เกิดขึ้นเสียก่อน

“ตอนนี้เราทุกคนก็เหมือนเคว้งและบางคนก็ไม่รู้ว่าออกไปแล้วจะทำอะไร เราเองก็คิดว่าไม่วันใดวันหนึ่งเหตุการณ์นี้ก็จะต้องมาถึง แต่เราก็ไม่คิดว่าจะมาถึงเร็วแบบนี้ เราเองก็คงจะต้องไปหางานทำใหม่ห่วงก็แต่บางคนที่เขามีครอบครัว บางคนก็มีลูก บางคนก็ยังตั้งท้องอยู่ บางคนก็อยู่ทำข่าวด้วยกันมานาน ก็อยากฝากเพื่อน ๆ ในวงการสื่อหรือใครก็ตามที่ต้องการจ้างงานสามารถติดต่อมายังอดีตพนักงานจีจีนิวส์ได้”อดีตบรรณาธิการข่าวบริษัทจีจีนิวส์เน็ตเวริ์กกล่าว

อย่างไรก็ตามบริษัทบริษัท จีจีนิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัดได้ประชุมด่วนพนักงานบริษัททั้งหมดในวันที่ 26-27 ก.พ. ที่เพื่อแจ้งกับพนักงานอย่างเป็นทางการว่าบริษัทต้องปิดตัวลงทำให้พนักงานทุกคนต่างตกใจไปตามกัน ๆ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมนายดนัยได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการปิดคลื่นทำให้ไม่สามารถจ้างพนักงานจำนวนมากให้ทำงานต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลของการปิดคลื่นดังกล่าว ได้ทำให้พนักงานฝ่ายผลิตข่าวและรายการข่าวที่ถูกเลิกจ้างรวมทั้งสิ้น 23 คน ประกอบด้วย ผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการข่าว  14 คน พนักงานธุรการข่าว 1 คน ฝ่ายรายการวิทยุ  2 คน  ฝ่ายสร้างสรรค์ 1 คน(ผลิตสปอตและสารคดี ) ช่างเทคนิค 5 คน  ทั้งนี้ยังมีพนักงานที่ถูกเลิกจ้างแล้วยังไม่ได้ติดต่อเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ตามกฎหมายแรงงาน นั้น กรณีการเลิกจ้างแบบกะทันหันซึ่งตามกฎหมายแรงงานได้กำหนดเรื่องการจ่ายค่าชดเชยไว้ในหมวด 11 มาตรา 118 (2)ว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวัน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานซึ่งคำนวณเป็นหน่วย อย่างไรก็ตามกรณีของบริษัทจีจีนิวส์ที่บอกเลิกจ้างกะทันหันต้องบวกค่าตกใจไป ด้วยอีก 1 เดือน

บริษัท จีจีนิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด  ได้เข้าร่วมหุ้นกับบริษัทโพสต์ พับลิชชิง  โดยบริษัทโพสต์ พับลิชชิงได้ขยายธุรกิจด้วยการเข้าไปถือหุ้นใน บริษัท แฟลช นิวส์ จำนวน 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยบริษัท แฟลช นิวส์ เป็นผู้บริหารสถานีวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 98 ภายใต้ชื่อ บิสซิเนส เรดิโอ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2551 เป็นต้นมา

ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่าทางสมาคมนัก ข่าวฯได้เฝ้าระวังเรื่องการเลิกจ้างนักข่าวในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด และมีความเป็นห่วงเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ต้องมาตกงาน อย่างไรก็ตามทางสมาคมก็ได้แต่หวังว่าการเลิกจ้างนักข่าวในช่วงนี้จะไม่ รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับการเลิกจ้างช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งในช่วงเลานั้นสมาคมนักข่าวฯได้จัดกิจกรรมเปิดท้ายขายของเพื่อหาทุนช่วย เหลือนักข่าวให้ประคับประคองชีวิตในช่วงวิกฤติ