องค์กรสื่อหารือหมอประเวศแนวทางพัฒนาสื่อมวลชน

 

 

องค์กรสื่อหารือหมอประเวศแนวทางพัฒนาสื่อมวลชน

ถกแนวคิดยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศ

 

สมาคมนักข่าว - ราษฎรอาวุโสหารือองค์กรสื่อ ถกแนวคิดโครงการยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศ หารือการตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพสื่อมุ่งเป้าผลิตสื่อมวลชนคุณภาพอิสระจากอิทธิพลทุนและการเมือง 1,000 คนใน 3 ปี

 

เมื่อวันพุธที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้บริหารองค์กรสื่อ ประกอบด้วย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้าพบและหารือกับ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยนำแนวคิดให้องค์กรสื่อการทำเวทีระดมสมองให้เกิดยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในด้านต่าง ๆ เพื่อรับกับบริบทสื่อในสังคมยุคโซเชี่ยล สื่อเพื่อสังคมไทยเกิดองค์ความรู้เชิงนโยบาย เกิคคลังสมอง มากกว่าเพียงองค์ความรู้เชิงโครงสร้างอำนาจ พร้อมหารือแนวทางให้ตั้งเป็นโครงการยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศ

 

“อยากให้สมาคมนักข่าวจัดฟอรัมอาทิตย์ละครั้ง เชิญคนมาระดมสมองพูดเรื่องนโยบายด้านต่าง ๆ เช่น คมนาคม พลังงาน เกิดเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยในบ้านเราสอนแต่เรื่องวิชาการ ไม่ทำเรื่องนโยบายเลยอย่างมหาวิทยาลัยมีชื่อที่สิงคโปร์ หรืออังกฤษทำ” นพ.ประเวศกล่าว

 

นอกจากนี้วงหารือยังได้แลกเปลี่ยนปัญหาและบริบทของสื่อมวลชนที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อไปสู่การปฏิรูปสื่อ โดยมีแนวคิดที่จะจัดตั้งสถาบันพัฒนาคุณภาพสื่อมวลชนที่เป็นมืออาชีพและมีความอิสระปลอดจากอิทธิพลเพื่อเป็นแบบอย่างและวางหลัการสื่อสารมวลชนที่สร้างสรรค์ในอนาคต

 

นพ.ประเวศกล่าวว่า ถ้าประเทศไทยมีนักข่าวเก่ง ๆ สักพันคน มีความรู้เสาะแสวงหาข้อมูลอย่างรอบด้าน และมีความเป็นอิสระไม่อยู่ใต้ข้อจำกัดของทุนในสังกัด ประเทศไทยจะมีความเปลี่ยนแปลง มีแนวคิดว่าน่าจะหาแหล่งทุนตั้งสถาบันฝึกหัดนักข่าวเก่ง ๆ สักพันคน

 

นพ.ประเวศกล่าวถึงการใช้โซเชี่ยลมีเดียในทุกวันนี้ว่า มักเป็นการสื่อสารตามอารมณ์ สื่อความไม่จริงและเผยแผ่ออกไปด้วยความเร็วสูง ในอนาคตสังคมจะเชื่อมต่อกันหมดด้วยเทคโนยีการสื่อสาร เคยพยายามผลักดันสถาบันอุดมศึกษาให้มี “Knowledge center” เอาความจริง ความรู้ ความมีเหตุผลเข้าไปเจือในข้อมูลที่ล้นทะลักยู่ในโซเชี่ยล เพื่อไม่ให้สังคมเกิดปัญหาโรคประสาทเพราะความทุกข์ที่เกิดจากการคิดเอาเอง หรือหวาดกลัวกับข้อมูลที่ไม่จริงจนเกินเหตุ หากทำได้จะช่วยเยียวยาคนได้ทีละเป็นร้อยเป็นล้านคน

 

“ควรจี้รัฐบาลให้ตั้งสถาบันที่มีความเป็นอิสระ ต้องช่วยกันคิดกลไกไม่ให้แหล่งทุนเข้ามาครอบงำสถาบันดังกล่าว โดยคิดว่าอาจต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ราว 4 – 500 ล้านบาท” ราษฎรอาวุโสกล่าว

 

นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาบทบาทสื่อถูกตั้งคำถามเรื่องความรับผิดชอบ การสร้างสรรค์ โซเชี่ยลก็มุ่งเล่นงานสื่อกระแสหลักอย่างขาดการวิเคราะห์ รัฐบาลก็นำเอามาเป็นแรงหนุนเพื่อหวังจะควบคุมสื่อ จนสื่อกระแสหลักถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา จึงจำเป็นที่คนในวงการสื่อต้องสร้างพันธมิตรกับฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสังคม มากกว่าแค่เพื่อความอยู่รอด แค่การรายงานข่าวไปวันต่อวันเท่านั้น

 

“ตอนที่เริ่มปฏิรูปสื่อเราคาดหวังให้มีสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุที่เสรี เพื่อนำสังคมไปสู่ภูมิปัญญา มีความหลากหลาย มีความเข้าใจเหตุการณ์สังคมมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงกลับกัน กลับเป็นการขยายข้อมูลที่ซ้ำซากไร้สาระมากขึ้น” นายเทพชัยกล่าว

 

“การใบ้หวย การเอาเรื่องไร้สาระในสังคมมาขยายในสื่อตอกย้ำให้สังคมตั้งคำถามกับสื่อมากยิ่งขึ้น ขณะที่สื่อเชื่อว่าเป็นทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น พอแตะเรื่องการเมืองก็ถูกมองว่าหวือหวาไร้สาระไปด้วย” นายเทพชัยกล่าวย้ำ

 

การหารือและแนวคิดข้างต้นเกิดขึ้นภายใต้ความเคลื่อนไหวของความพยายามปฏิรูปสื่อ โดยองค์กรสื่อ ภาคประชาสังคม ภาคนักวิชาการที่ร่วมสนับสนุน โดยมีข้อตกลงว่าจะมีการหารือในรูปแบบนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีโครงการที่มีรูปธรรมเกิดขึ้น เช่นการตั้งเป้าพัฒนาสื่อมวลชนคุณภาพอย่างน้อยหนึ่งพันคน รวมทั้งสำนักข่าวที่เป็นอิสระในทุกภูมิภาคของประเทศภายใน 3 ปีเป็นต้น