สมาชิกซีเอเจตบเท้าถกหาวิธีรับมือแก้ไขวิกฤติข่าวปลอม เห็นพ้องส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ-สร้างกลไกระดับอาเซียน

สมาชิกซีเอเจตบเท้าถกหาวิธีรับมือแก้ไขวิกฤติข่าวปลอม  
เห็นพ้องส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ-สร้างกลไกระดับอาเซียน

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ซีทีเจ) ในฐานะประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน (ซีเอเจ) ได้จัดการประชุมโต๊ะกลม ในหัวข้อ อาเซียนควรต่อสู้กับข่าวปลอมข่าวลวงอย่างไร โดยมีตัวแทนจากองค์กรสมาชิกซีเอเจเข้าร่วมโดยพร้อมเพียงได้แก่ ตัวแทนจากสมาคมนักข่าวเวียดนาม สมาคมนักข่าวกัมพูชา สมาคมนักข่าวลาว สมาคมนักข่าวฟิลิปปินส์ สหภาพแรงงานสื่อมวลชนมาเลเซีย สหภาพผู้พิมพ์สิงคโปร์ สมาคมนักข่าวอินโดนีเซีย รวมทั้งกรรมการบริหารองค์กรสมาชิกสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยด้วย

ที่ประชุมวันนี้ได้มีการพูดคุยต่อยอดจากเวทีเสวนาระดับภูมิภาคในหัวข้อ “The Rise of Fake News and How to Handle with It” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้  ซึ่งในวันนี้ตัวแทนองค์กรสมาชิกซีเอเจ ต่างช่วยกันหยิบยกมาตรการ แนวทาง วิธีการต่างๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวที่ถูกใช้เพื่อการจัดการกับการแพร่ขยายของข่าวปลอม ข่าวลวงในละแต่ละประเทศ  

โดย นายเดวิด เตย์ ตัวแทนจากสิงคโปร์ กล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์เห็นความสำคัญของปัญหานี้อย่างมาก และคิดว่า การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนก็คือการส่งเสริมให้ผู้เสพสื่อมีความรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำตั้งแต่ในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ก็มีหลักสูตรเฉพาะในเรื่องนี้ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาหาข้อมูลได้  

เช่นเดียวกับ นายโฆเซ่ จูเนียร์ ตอร์เรส ตัวแทนจากฟิลิปปินส์ ที่ได้เสนอเพิ่มเติมว่านอกจากระดับโรงเรียนแล้ว ในส่วนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนก็ต้องเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ ฝึกอบรมให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีความรู้เท่าทันสื่อด้วยกันเองเช่นกัน ขณะที่ สิ่งที่ตัวแทนฟิลิปปินส์มองว่าเรื่องข่าวปลอม ข่าวลวงนั้นมีประเด็นที่น่าเป็นอันตรายมากก็คือ บางครั้งสิ่งนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการโปรโมตตนเอง หรือทำลายคู่แข่งฝ่ายตรงข้าม

ด้าน นางมาลัยเวียง วงจันดี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว โทละพาบแห่งชาติ สปป.ลาว กล่าวว่า สถานการณ์ข่าวปลอมข่าวลวงในลาวทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงข่าวสารต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ได้มากขึ้น และบางครั้งอาจจะสร้างโดยไม่ตั้งใจ แค่ต้องการแชร์สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่สังคม ซึ่งเรื่องนี้ ผู้นำรัฐบาลลาวให้ความสำคัญมาก  

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากลาวยอมรับว่า สื่อกระแสหลักในลาวยังขาดประสบการณ์ เช่นกรณีเขื่อนแตก เกิดน้ำท่วมก่อนหน้านี้ เป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนตื่นตระหนัก แม้ว่าสื่อกระแสหลักจะรายงานข่าวทุกชั่วโมก็ยังไม่ตอบสนองความต้องการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ทำให้พวกเขาเข้าหาช่องทางออนไลน์ที่มีข้อมูลมากมาย แต่ก็เต็มไปข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง หรือแม้แต่กระทั่งสื่อท้องถิ่นเองก็ยังไม่รู้ว่า การนำรูปผู้เสียชีวิตมาเผยแพร่นั้นขัดต่อหลักจริยธรรมสื่อมวลชน  

อีกกรณีหนึ่งที่ ผอ.ข่าวโทละพาบลาว ได้ใช้โอกาสนี้หยิบยกก็คือ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมอัตตะปือ มีคนไทยจำนวนมากต้องการเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย  แต่มีการพูดกันว่าเข้าไปไม่ได้ ลาวไม่ต้องการความช่วยเหลือ หรือจะเข้าไปต้องจ่ายเงิน ซึ่งจริงๆ แล้ว รัฐบาลลาวไมได้ปฏิเสธความช่วยเหลือ และยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ เพียงแต่การเข้าเมืองนั้นต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่นเดียวกันกับสื่อมวลชนไทยที่เข้าไปทำข่าว ต้องมีการลงทะเบียนให้ถูกต้อง เพราะพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่อันตราย ก็อาจจะต้องมีเจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพาเข้าไป

ส่วนนายชิน ซุง ชิว เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนมาเลเซีย เตือนว่า สิ่งที่ต้องระวังคือการแก้ปัญหาข่าวปลอมข่าวลวงของรัฐบาล จากกรณีรัฐบาลมาเลเซียชุดที่แล้วของนายนาจิบ ราซัค ที่ออกกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมออกมา นั่นเป็นความพยายามของรัฐบาลชุดนั้นที่จะควบคุมการวิจารณ์จากสื่อ ก็ถือเป็นโชคดีที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง และผู้นำรัฐบาลใหม่ได้ให้คำมั่นจะทบทวนเรื่องนี้

ต่อประเด็นข่าวปลอมข่าวลวงนั้น นายชินซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในสื่อสิ่งพิมพ์มานาน 18 ปีกล่าวว่า ตนคิดว่าถึงอย่างไรสื่อสิ่งพิมพ์แม้จะไม่รวดเร็วเท่าช่องทางออนไลน์ แต่ในแง่ของความน่าเชื่อถือถือว่ามากที่สุด เพราะไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดอยากตีพิมพ์ข่าวที่ผิด และต้องมาตีพิมพ์แก้ไขใหม่ เพราะเรื่องนี้กระทบกับชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมา หากเกิดกรณีนั้นก็ยากที่จะได้รับความไว้ใจจากคนอ่านเหมือนเดิม  

ในโอกาสนี้ ตัวแทนมาเลเซียยังได้ชักชวนให้บรรดาองค์กรสมาชิกซีเอเจ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เก่าแก่ของภูมิภาค และมีเครือข่ายสมาชิก เป็นสื่อชั้นนำในทุกประเทศจัดตั้งกลไก หรือวางกรอบความร่วมมือที่จะแก้ไขปัญหาข่าวปลอมข่าวลวง และป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมข่าวลวงอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับตัวแทนจากอินโดนีเซียคือนายออกุส ซูดิเบียว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการสื่อสารสาธารณะเข้าร่วมการหารือ ซึ่งเขายอมรับว่าในอินโดนีเซีย ข่าวปลอมข่าวลวงมีมากมายมหาศาล ส่วนมากแล้วมักจะเกี่ยวกับการเมือง และศาสนา ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างวิธีที่จะช่วยกลั่นกรองให้สังคมรู้ว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่จากกรณีของสำนักข่าวอันตาราของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเซคชั่นข่าวลวงประจำวันโดยเฉพาะ ใครที่อยากทราบว่าวันนี้มีเรื่องไม่จริงอะไรแพร่เป็นกระแสก็เข้าไปตรวจสอบได้

เช่นเดียวกับหลายๆ ตัวแทนจากสมาคมนักข่าวอินโดนีเซีย เห็นด้วยกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ว่าเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมกันตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา อย่างที่สมาคมฯ ทำได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ทำเป็นโครงการ “Journalists go to School” สอนให้เยาวชนรู้ว่าสื่อมวลชนที่ดีเป็นอย่างไร เพราะนักเคลื่อนไหวทางสื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่ถือว่าเป็นสื่อมวลชน  

ประเด็นสำคัญที่นายออกุสย้ำอีกครั้งสืบเนื่องจากเวทีเมื่อวานนี้ก็คือ การจะดำเนินการเรื่องนี้ไม่เพียงแต่สื่อมวลชน รัฐบาล และผู้ให้บริการช่องทางออนไลน์ขนาดใหญ่จำเป็นต้องเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบด้วย จะต้องช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำหน้าที่สื่อวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้อินโดนีเซียกำลังมีการคุยกันเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสื่อออนไลน์อยู่ แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักเพราะต้องแน่ใจด้วยว่ากฎหมายจะไม่ไปกระทบต่อเสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการแสดงออก

ขณะที่ นายเล ก๊วก มิญ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวเวียดนาม ตัวแทนจากสมาคมนักข่าวเวียดนาม ได้หยิบยกกรณีตัอย่างของการแพร่กระจายของข่าวปลอม ข่าวลวง โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวหลัก หรือองค์กรภาครัฐ ด้วยการแอบอ้าง ก็จะง่ายต่อการทำให้ผู้เสพสื่อหลงเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญมาก มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาเทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อเชื่อมั่นว่า เมื่อข่าวปลอมข่าวลวงถูกสร้างขึ้นมาโดยเทคโนโลยี การจะจัดการกับเรื่องนี้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่าเข้ามา  

ด้าน นายเปญ โบนา ประธานสมาคมนักข่าวกัมพูชา มองประเด็นสาเหตุที่คนจึงเชื่อข่าวปลอมง่ายนั้นมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะเชื่อในสิ่งที่สนุก เชื่อข่าวด้านลบ นี่เป็นเหตุที่ทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งบรรณาธิการพีเอ็นเอ็นทีวี เห็นด้วยกับเรื่องที่จะต้องสร้างเกราะป้องกันให้คนเสพสื่อด้วยการให้การศึกษาเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ว่าจะตรวจสอบว่าข่าวนี้จริงหรือไม่ได้อย่างไร แต่ก็เป็นงานระยะยาวที่ต้องใช้เวลา และทรัพยากร ขณะที่ระยะสั้นเขาบอกว่าต้องเริ่มต้นที่ตัวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเองก่อน เพราะบ่อยครั้งสื่อกระแสหลักเองก็เข้าไปเล่นกับข่าวปลอม จนไปตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่แพร่กระจายข่าวปลอมเหล่านั้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าในฐานะสื่อกระแสหลักหากใช้ช่องทางของตนที่มีอยู่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ผู้รับข่าวก่อน ก็จะช่วยกรองเอาข่าวปลอมออกไปจากสังคมข่าวสารได้