“โอมิครอน” เขย่าโลก พัฒนาการ สายพันธุ์โควิด

“เราผ่านเชื้อโควิดมา 4 ซีซั่น 4 ตัวแล้ว เราจะต้องผ่านไปได้ บางคนที่มีความเข้าใจอันดีก็จะรู้ว่า โอมิครอนยังไม่รุนแรง ยังมีตัวยาที่ใช้ได้เหมือนเดิมและมีมาตรการต่างๆที่เป็นระบบปิด”

​เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยนั้น สิริธร พัฒน์ตระกูลชัย ผู้สื่อข่าวสังคม สำนักข่าวไทย ประจำกระทรวงสาธารณสุข พูดคุยกับรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า

ไม่อยากให้กลัวหรือกังวลมากเพราะเราผ่านมา 4 ระลอกหลายซีซั่นแล้ว ตั้งแต่อู่ฮั่น อัลฟ่า เดลต้าและเราก็กำลังเข้าสู่โอมิครอน วิธีการป้องกันยังเหมือนเดิม คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ยังเป็นเครื่องมือชั้นดีในการป้องกันโรคต่างๆที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด ถ้าสังเกตปีนี้คนที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่มีจำนวนลดลง โรคระบบทางเดินหายใจก็ค่อยๆลดลงด้วย แม้กระทั่งขณะนี้อากาศเย็นลง มีฝุ่น PM2.5 ถ้าบางคนสวมหน้ากากอนามัย ก็สามารถป้องกันได้

​การเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส ไม่ได้ผิดแปลกไปจากปกติ แม้ความน่ากลัวจะแพร่เร็วมาก แต่ถ้าแพร่เร็วแล้วสมมุติว่า ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก บอกถึงทิศทางอัตราความรุนแรงลดลง ถ้าลดลงก็แสดงว่ามีแนวโน้มจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งนพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข

กรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค ระบุว่า ไม่จำเป็นที่เชื้อพัฒนาและกลายพันธุ์ จะต้องน่ากลัวทุกครั้ง บางครั้งการพัฒนาและกลายพันธุ์ ถ้าแพร่เร็วก็อาจจะทำให้อ่อนกำลังลง และอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ขณะเดียวกันถ้าแพร่เร็วและแรง ถ้าเราไม่ไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้าน ไม่เจอผู้คนก็ทำให้การแพร่ระบาดได้น้อยลง แต่หากติดเชื้ออ่อนๆแล้วเราไปทำกิจกรรมข้างนอก พบคนจำนวนมากโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง ก็จะติดกันง่าย

​แนวโน้มโอมิครอนจะเข้ามา แทนเชื้อไวรัสเดลต้า และสุดท้ายกลายเป็นโรคประจำถิ่นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ต้องรอการยืนยันก่อน เพราะเราเพิ่งรู้จักเชื้อชนิดนี้ไม่กี่วัน แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าโอมิครอน น่าจะมีการระบาดหรือแพร่มาแล้วตั้งแต่ช่วง 1 -2 เดือน

แต่ถ้าจะเจอก็ไม่แปลกอะไรเพราะโรคมากับตัวคน ตราบใดที่เรายังมีการเดินทาง พบปะกันโอกาสความเสี่ยงย่อมมีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ถ้าปิดประเทศเกินไปคนก็จะตึงเครียด รายได้ลดลง แต่ถ้าสมมุติว่าเราสามารถ ป้องกันการระบาดหรือติดเชื้อในระดับต่ำควบคุมกันได้ ทำกิจกรรมด้วยความระมัดระวังได้ ยังคงพยุงอยู่ได้ ดีกว่าถ้าเราติดแล้วคนล้นระบบ ล้นเตียง นำมาสู่เรื่องของการปิดประเทศ เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

​ส่วนการฉีดวัคซีนก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยให้โรคที่จะรุนแรงลดลง ดีกว่าที่จะไม่มีเกราะป้องกันอะไรเลย แม้การพัฒนาสายพันธุ์ของไวรัสเป็นธรรมด าที่จะทำให้วัคซีนแต่ละตัวอ่อนกำลังลง แต่กำแพงภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสก็ต้องพัฒนาสายพันธุ์ไปด้วย ปกติการผลิตวัคซีนต้องใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะนำมาใช้ อย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป แต่เราคิดค้นวัคซีนเพียงปีเดียวก็ต้องนำออกมาใช้แล้ว ซึ่งวัคซีนชนิดหนึ่งใช้ได้ดีกับช่วงเวลา ณ ขณะนั้น

ทำให้ต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ถึงจะมาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเราได้ โดยเฉพาะเป็นการปกป้องเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะปกติวัคซีนจะไม่ฉีดให้กับเด็กเล็ก รวมทั้งการตรวจ ATK ถ้าต่างคนต่างตรวจก็ปลอดภัยทั้งคู่ เพื่อลดความเสี่ยงกันและกันได้

“เราผ่านเชื้อโควิดมา 4 ซีซั่น 4 ตัวแล้ว เราจะต้องผ่านไปได้ บางคนที่มีความเข้าใจอันดีก็จะรู้ว่าโอมิคอนยังไม่รุนแรง ยังมีตัวยาที่ใช้ได้เหมือนเดิมและมีมาตรการต่างๆที่เป็นระบบปิด หรือคนที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศ หากฉีดวัคซีนเข้ามาก่อน ก็น่าจะเป็นเครื่องป้องกันที่ดี ในอนาคตถ้าโรคนี้เป็นกันเยอะขึ้น แน่นอนก็จะต้องไม่เป็นการตีตราประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะฉะนั้นการระวังตัวเองและวัคซีนยังคงสำคัญ อยากให้พิจารณาดูว่า ถ้าครอบครัวไหนมีเด็กเล็ก หรือมีคนที่มีโรคประจำตัว หรือกลุ่มเสี่ยง ให้พิจารณาและไตร่ตรองเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อที่จะได้ไม่เสียใจภายหลัง”

​ ส่วนมาตรการต่างๆของรัฐที่วางไว้ ทั้งการปิดด่านชายแดน เพื่อป้องกันในเรื่องของการเดินทางเข้าออกถือว่า มาตรการดีอยู่แล้ว ถ้าเข้ามาโดยอยู่ในสถานที่กักตัว หรือเข้าช่องทางสายการบินก็ไม่มีปัญหาเพราะอยู่ในระบบ แต่ถ้าลักลอบเข้าประเทศเป็นสิ่งที่น่ากลัว

เพราะการแพร่ระบาดที่ผ่านมาจากนอกระบบ ขณะนี้เรากำลังเปิดประเทศ ต้องมีแรงงานต่างด้าวมาหางานทำ ดังนั้นทั้งตำรวจและฝ่ายปกครองต้องร่วมกันเฝ้าระวังด่านชายแดนเป็นอย่างดี นายจ้างเองก็ต้องจ้างแรงงานที่ถูกกฎหมาย และฉีดวัคซีนให้เขาครบตามจำนวนด้วย

ติดตามรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5 ร่วมแสดงความเห็นผ่าน Line @ไอดี : @news1005fm และ Facebook Live : MCOT News FM 100.5