สมาคมนักข่าวฯ เชิญนักกฎหมาย-นักวิชาการ ถกบทบาทของสื่อในประเด็น “ม็อบปฏิรูป”

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปรากฎการณ์ ‘ม็อบปฏิรูป’ กับขอบเขตการรายงานข่าวของสื่อมวลชน” ทางออนไลน์ มีวิทยากรจากหลากหลายวิชาชีพมาร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ดร. พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินรายการโดยนายธีรนัย จารุวัสตร์  อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ 

นายธีรนัยกล่าวเปิดงานเสวนาโดยเท้าความเหตุที่มาของการพูดคุยว่า สืบเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน สื่อจำนวนมากไม่แน่ใจว่าสามารถรายงานข่าวได้มากน้อยแค่ไหน อะไรบ้างที่รายงานได้หรือไม่ได้ ต่อมาในวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในประเด็นการชุมนุมปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ทำให้สื่อยิ่งกังวลอีกว่าจะสามารถรายงานการชุมนุมในประเด็นดังกล่าวโดยไม่เข้าข่ายกระทำผิดซ้ำได้หรือไม่ และล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พ.ย. มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญผู้แทนสื่อจำนวนหนึ่ง เพื่อขอความร่วมมือให้งดหรือละเว้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นบรรยากาศที่คลุมเครือและสับสนขึ้นมากว่าเดิม ซึ่งจริงๆแล้วสมาคมฯได้เชิญ กสทช. ให้มาร่วมงานเสวนาวันนี้ด้วย แต่น่าเสียดายที่ กสทช. ไม่ได้ส่งตัวแทนมา 

นายวสันต์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น สามารถวิจารณ์ได้ แต่ต้องเป็นไปในเชิงวิชาการ และสุจริต บางครั้งศาลรัฐธรรมนูญท่านอาจจะพิจารณาคดีในสถานการณ์ที่เรียกว่า “ไฟลนก้น” มีเวลาทบทวนนิดเดียว อาจจะมีข้อผิดพลาดได้ แต่สื่อต้องวิจารณ์อย่างสุจริต สื่อต้องสุจริตก่อน สื่อบางคนก็มีอคติ เลือกข้าง สื่อต้องทำตัวร่มๆ ยอมรับความเห็นต่างก่อน 

กรณีที่มีคนสงสัยว่า การรายงานของสื่อจะต้องถือว่าผิดในโทษฐานผลิตซ้ำเสมอไปหรือไม่ ตนขอยกตัวอย่างกรณีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เคยเอามาพูดบนเวทีว่าฝ่ายตรงข้ามมีการหมิ่นหรือจาบจ้วงสถาบันฯอย่างไรบ้าง ตอนแรกคุณสนธิก็ไม่อยากจะพูด แต่ผู้ชุมนุมคาดคั้นให้พูด เพราะอยากรู้ว่ามีคนพูดไว้อย่างไร คุณสนธิเลยพูดบนเวที ต่อมาก็โดนดำเนินคดีในมาตรา 112 แต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง เพราะเป็นการพูดเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเท่านั้น ดังนั้น ศาลดูเจตนาประกอบด้วย แต่ถ้าเลี่ยงได้ ก็ควรเลี่ยง เหมือนเวลาคนด่ากัน เราไม่จำเป็นต้องเอาคำด่ามาพูดต่อทุกอย่าง 

เมื่อถามว่า อย่างข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อของผู้ชุมนุม สื่อสามารถรายงานได้หรือไม่ ตนมองว่าก็ต้องไปดูว่ามีรายละเอียดใดที่จาบจ้วงหรือละเมิดไหม? ถ้าไปจาบจ้วง ก็ต้องตัดออก เพราะมีความเสี่ยง การเป็นจำเลยนั้นไม่มีใครอยากเป็น การขึ้นโรงขึ้นศาลมันเหนื่อย ต่อให้สุดท้ายศาลตัดสินว่าเราไม่ผิด แต่กว่าจะถึงจุดนั้น มันเหนื่อยนะครับ แล้วจะเสี่ยงทำไม บางเรื่องอย่าเสี่ยงดีกว่า

ด้านดร. พรรษาสิริ แสดงความเห็นว่า ในฐานะพลเมือง ตนก็อยากให้มีสื่อคุณภาพที่สามารถรายงานข้อเท็จจริง (inform) กับประชาชน ให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและสามารถตัดสินใจได้ และเป็นการสื่อสารที่ไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มใดๆ ในการเมืองนั้น มีการช่วงชิงอำนาจและแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ไม่แปลกที่เรามักจะไปโฟกัสที่ตัวบุคคล ใครไม่ถูกกับใคร ใครขึ้นใครลง แต่ถ้าเราโฟกัสเฉพาะเรื่องการชิงอำนาจแบบนี่้อย่างเดียว โดยที่ไม่รู้ว่าเขาถกเถียงกันอย่างไร ก็ตะกลายเป็นการผลิตวาทกรรม “อย่าไปสนใจการเมืองเลย ปากท้องสำคัญกว่า” สื่อจึงควรโฟกัสว่าประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นกระทบกับประชาชนอย่างไร ตั้งแต่การชุมนุมจนไปถึงวัคซีน เราพูดไม่ได้เลย เพราะพูดแล้วจะชิ่งไปโดนอะไรบ้าง ซึ่งน่าเสียดาย 

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นการปะทะกันทางความคิดระหว่างกลุ่มต่างๆ ถ้าไม่รายงาน ประชาชนก็จะไม่ทราบได้เลยว่า เห็นด้วยเรื่องใด ไม่เห็นด้วยเรื่องใด มีจุดร่วมเรื่องใดได้บ้าง มันมีมิติที่คุยกันได้ ดังนั้น สื่อควรรายงานเรื่องนี้เหมือนกับปรากฏการณ์สังคมอื่นๆ โดยใช้หลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อและนำเสนอความเห็นรอบด้าน 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรายงานข้อเท็จจริงและตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่บอกว่าคนนี้พูดแบบนี้ คนนั้นพูดแบบนั้น โดยที่สื่อไม่ตรวจสอบเลยว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือที่เรียกว่าการ verification คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็เหมือนกัน ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ สถาบันตุลาการก็เหมือนๆกับทุกสถาบัน คือมีที่มาจากประชาชน ต้องตรวจสอบได้ เพราะการทำหน้าที่กระทบต่อประชาชนโดยตรง อย่างไรก็ตาม เราอยู่ในบรรยากาศที่ไม่รู้ว่ากฎหมายจะตีความอย่างไร บรรยากาศแบบนี้ไม่เอื้อให้สื่อรายงานได้อย่างตรงไปมา สื่อต้องมาขบคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่

ต่อมา นายพีรวัฒน์ กล่าวว่า สื่อต้องคำนึงสองเรื่องใหญ่ๆคือจริยธรรมและกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ สื่อเลยต้องรายงานอย่างระมัดระวัง เพราะมีกฎหมายที่ให้อำนาจ กสทช. เข้ามากำกับดูแลด้วย สื่อโทรทัศน์เลยต้องรอบคอบ ตนมองว่าการชุมนุมต่างๆเรานำเสนอข่าวได้ แต่ที่ระมัดระวังมากคือเนื้อหาหมิ่นเหม่ พาดพิงบุคคลที่สาม ดังนั้นเวลาเรารายงานวิธีการที่จะไปสู่การปฏิรูป เราจึงไม่ลงรายละเอียด ต้องยอมรับว่ามีกฎหมายบางมาตราที่ทำให้เราลงรายละเอียดไม่ได้ เป็นวัฒนธรรมของประเทศที่อยู่กับเรามายาวนาน สื่อเลยทำงานยากลำบากมาก พูดมากไปก็ไม่ได้ พูดน้อยไปก็ไม่ควร เราเลยต้องหาอะไรคือสมดุล ให้ประชาชนได้รับทราบข่าวสาร แต่เราไม่ละเมิดกฎหมาย

ต้องเข้าใจว่าวงการทีวีมีกติกาเยอะ ทั้งกฎหมาย สังคม ธุรกิจ ขณะเดียวก็กำลังโดน disruption ด้วย สื่อทีวีเผชิญมาเยอะ มาเจอปัจจัยนี้ก็หนักเข้าไปอีก เรียกว่าเป็นการเซนเซอร์ตัวเองคงไม่ได้ เรียกว่าประคับประคองให้ไปได้  ถ้าไม่มีกฎหมายบางมาตราแล้ว สื่อก็จะรายงานได้เต็มที่มากขึ้น แต่ตราบใดที่มีกฎหมายนี้อยู่ ก็รายงานบางเรื่องไม่ได้ ในสถานการณ์นี้สื่อจึงต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ หาทางให้ประชาชนรับรู้แต่ไม่ละเมิดกฎหมายข้อนั้น 

นายทัศไนย กล่าวปิดท้ายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดูเป็นเรื่องใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีการวางแนวทางว่าพฤติการณ์แบบไหนถือว่าล้มล้าง เมื่อมีการวางแนวทางมาแล้ว สังคมก็เลยตกใจ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ตนมองว่าคำวินิจฉัยนี้สื่อเอามาวิจารณ์หรือเห็นแย้งได้ ตัวข้อกฎหมายนั้นยุติไปแล้ว แต่ก็ยังนำมาวิเคราะห์ได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างวิชาการ 

ตนมองว่าถ้าเรื่องไหนมีความอ่อนไหว สื่อควรรายงานเหมือนเรื่องศาสนาความเชื่อ เรื่องใดเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาหรือความเชื่อในสังคม สื่อจะไม่ไปแตะมาก กรณีการชุมนุมนั้น สื่อสามารถรายงานไปตามสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบได้ แต่ไม่ลงรายละเอียด 

ในช่วงท้าย ผู้ดำเนินรายการได้ถามวิทยากรว่า สื่อควรรายงานเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร จึงจะอยู่ในกรอบของกฎหมายและได้ทำหน้าที่ตามวิชาชีพ 

ประเด็นนี้ดร.พรรษาสิริกล่าวว่า ที่ประชาชนเรียกร้องกับสื่อให้ทำหน้าที่ ไม่ใช่เพราะประชาชนไม่เห็นคุณค่าสื่อหรือไม่ต้องการสื่อ แต่เขาต้องการสื่อ เขายังมีความคาดหวังและเห็นประโยชน์ของสื่อ เขาเลยเรียกร้องกับสื่อ ตนเห็นใจและเข้าใจว่าสื่อต้องอยู่ในกรอบกฎหมายและวัฒนธรรม แต่สื่อก็ควรตั้งคำถามว่าทำไมกรอบเหล่านี้ทำให้สื่อเกร็งและพูดไม่ได้อย่างเต็มที่ อะไรก็ตามที่ทำให้เราไม่มีเสรีภาพ เราก็ควรตั้งคำถามกับมัน การไม่มีเสรีภาพคือเรื่องที่แปลกแล้ว กฎหมายเป็นกติกาในสังคม ตนก็เคารพกฎหมาย แต่กฎหมายก็อยู่ในระบอบประชาธิปไตย สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าสื่อมองว่ามีกฎหมายที่ทำให้ถ่ายทอดข้อเท็จจริงให้สังคมรับทราบไม่ได้ สื่อก็ควรทบทวนกับกฎหมายนั้นๆ 

หัวใจของวิชาวารสารศาสตร์คือข้อเท็จจริง สื่อควรตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทุกเรื่อง 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปฯก็เหมือนกัน สื่อต้องตรวจสอบว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นข้อกล่าวอ้าง การถกเถียงเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ครั้งเดียวจบ นี่ก็ดำเนินมา 1 ปีแล้ว ถ้ารายงานไม่ได้ ก็ไม่มีการติดตามและคลี่คลายประเด็น สื่อจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมได้อย่างไร  ดูอย่างปัญหาไฟใต้ 17 ปีเกือบ 18 ปีแล้วก็ยังคาราคาซังอยู่  

นายพีรวัฒน์แสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า ในประสบการณ์ของตน ทีวีเป็น platform ที่มีข้อจำกัดเยอะมาก ข้อจำกัดด้านกฎหมายก็ยังไม่เท่าด้านธุรกิจ แถมยังถูกจำกัดด้วยผังรายการ ถูกจำกัดด้วยเรตติ้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนดูอยากดูแบบที่เรตติ้งบอกจริงมั้ย ตอนนี้หลาย platform จึงทำหน้าที่ได้ดีกว่าทีวี ประชาชนก็เลือกเสพได้ สื่อไหนที่ทำหน้าที่ได้ดีประชาชนก็ควรเลือกติดตาม 

อย่างกรณีกสทช.เชิญไปพูดคุยเมื่อวันก่อน เขาไม่ได้เชิญนักข่าวด้วย ไม่ได้เชิญคนทำข่าว เขาเชิญผู้ถือใบอนุญาต กสทช.เขาฉลาดไงครับ เขาไม่มีอำนาจเตือนสื่อ เขาเลยไปเตือนผู้ถือใบอนุญาตแทน แม้เราจะพูดได้ว่ากฎหมายคุ้มครองการทำงานที่สุจริต แต่กฎหมายก็ไม่ได้คุ้มครองทันที 

ทุกวันนี้กองบรรณาธิการหลายเลยอยู่กับความขมขื่น ไม่ได้มีความสุขนะครับ ยกตัวอย่างข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ชุมนุม ตนขอออกข่าวซัก 9 ข้อหรือ 7 ข้อก็ยังดี อย่างน้อยก็ได้ออกข่าวบ้าง ตนกลัวจะไม่ได้ออกข่าวเลย ต้องเลือก ดีกว่านำเสนอไปข้อเรียกร้องเดียวแล้วที่เหลือไม่ได้ออกเลย ก็เหมือนกับเรื่องต่างๆในสังคม สมมติมี 100 เรื่อง บางทีเราไม่เสนอ 10 เรื่อง เพื่อที่จะนำเสนอ 90 เรื่องที่เหลือได้