Data Journalism Camp : เมือ “นักข่าว” จับมือ “Developer” การหลอมรวมของ “ข้อมูล” และ “เทคนิค” ​สู่งานข่าวข้อมูลเชิงลึก

Data Journalism Camp  : เมือ  “นักข่าว” จับมือ “Developer”

การหลอมรวมของ  “ข้อมูล” และ “เทคนิค” ​สู่งานข่าวข้อมูลเชิงลึก

……..

ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ) ร่วมืกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) กับกิจกรรม Data Journalism Camp Thailand เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ  นครริมขอบฟ้ารีสอร์ท เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

ถือเป็นภาคต่อ ขยายผลจากโครงการ​อมรมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนานักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก (Data Journalism Workshop) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมให้กับนักข่าวก่อนจะเริ่มลงมือปฏิบัติงานได้จริง

สำหรับความน่าสนใจของ Data Journalism Camp ครั้งนี้ อยู่ตรงที่เป็นครั้งแรกของการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือ ​ “นักข่าว” และ “Developer”  เพื่อเป้าหมายการผลิตชิ้นงานข่าวข้อมูลเชิงลึกสู่สาธารณะ

จากการเปิดรับสมัคร​  Data Scientist / Developer / Designer  มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมากจากหลากหลายสาขา ซึ่งรอบแรกมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกร่วมกับนักข่าวรวมประมาณ 30 คน

ช่วงเริ่มต้นเของแคมป์เป็นการพื่อปูพื้นฐานสำหรับฝั่ง Developer  โดย ดร.เอกพล เธียรถาวร ประธานชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า Data Journalism คือ การนำเสนอข่าว​ โดยมี “ข้อมูล” เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง รวมทั้งใช้​วิธีการสกัดข้อมูลแบบมีโครงสร้าง และ นำเสนอข้อมูลในเชิงประจักษ์

โดยการทำงานด้านข้อมูลนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่ Hacking/Scraping  Data Cleaning Data Mining ก่อนจะผ่านการประมวลผลและออกแบบการนำเสนอเป็น Visualization

ดร.พรรณี อมรวิพุธพนิช หัวหน้าทีมวิทยากรหลักสูตร Data Journalism ระบุว่า การทำงานด้าน Data Journalism จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง นักข่าว และ ฝ่าย Developer ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีรูปแบบการทำงานของตัวเอง และรูปแบบความถนัดที่ไม่เหมือนกัน การทำงานร่วมกันจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

รวมไปถึงการสื่อสารที่มีความแตกต่างทั้งภาษาข่าว ภาษาเทคนิค ของฝั่ง Developer  ทำให้ต้องใช้เวลาปรับจูนเข้าหากัน ​โดยหัวใจที่สำคัญในการทำงานร่วมกันคือต้อง “เปิดใจ” และ “ให้โอกาส”

ดังนั้น รูปแบบการจัดอบรมในช่วงแรกจึงเน้นหนักให้ความสำคัญกับเป็นการละลายพฤติกรรม เรียนรู้ซึ่งกันและกันรวมทั้งการสร้างความคุ้นเคย ระหว่าง นักข่าวและ Developer ผ่านกิจกรรรมที่ออกแบบโดยกลุ่มมะขามป้อม

ในแคมป์นี้ยังได้ ปรางทิพย์ ดาวเรือง นักข่าวสืบสวนสอบสวนคนเดียวของไทย ​ที่ได้มีส่วนร่วมในการทำข่าว Panama Papers มาให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาที่ไป ตลอดจนรายละเอียดการทำงาน

เริ่มตั้งแต่การได้รับข้อมูลจากคนที่ใช้ชื่อ John Doe  ซึ่งเป็นข้อมูลบริษัทนอกอาณาเขต (Offshore Company) ของสำนักกฎหมายแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในประเทศปานามา และมีสาขาอยู่ 42 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ถึง 2.6 Terabytes ถือเป็นฐานข้อมูลดิจิตอลขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การรายงานข่าวของสื่อมวลชน  มีผู้สื่อข่าว 370 คน จาก 78 ประเทศ ร่วมทำงาและเผยแพร่พร้อมกันในวันที่ 3 เม.ย. 2559

ปรางทิพย์ ระบุว่า การทำงานจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสกัดข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีทั้งภาพ ข้อความ อีเมล์  ซึ่งจะต้องตรวจสอบความถูกต้องทั้งชื่อคน ชื่อบริษัท ศัพท์กฎหมาย หากมีประเด็นก็ต้องติดต่อขอความเห็นจากผู้ถูกพาดพิง ​

อีกตัวอย่าง Data Journalism คือการทำข่าวการเลือกตั้งมาเลเซียเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 โดยนักข่าวรายงานข่าวแบบ Real Time จากจุดลงคะแนน โดยมีการระสานงานของนักข่าว ฝ่ายตรวจสอบข้อมูล กลไกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

รวมทั้งการนำเสนอข่าวครบ 50 ปี การจลาจลทางเชื้อชาติที่กัวลาลัมเปอร์ 13 พ.ค. 2512 ที่นำเสนอผ่านรูปแบบ Timeline  เพื่อให้เข้าใจง่าย ไล่เรียกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต นำมาพล็อตลงแผนที่ ​พร้อมรายละเอียดที่เกิดขึ้น โดยมีคำสัมภาษณ์ของผู้ที่เคยมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ในอดีตเข้ามาเพิ่มเติม

ถัดมาเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ Data ในประเทศไทย ในหัวข้อ แหล่งข้อมูล “ภาคสังคม” ที่นักข่าวเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เช่น ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ​ซึ่งจะระบุ สถานการณ์คนพิการและการทำงานในประเทศไทย  โดย ข้อมูลคนพิการทั้งประเทศมี 1.9 ล้านคน จำแนกเป็นคนประกอบอาชีพ  ไม่ประกอบอาชีพ และมีรายละเอียดที่สามารถสะท้อนปัญหาการจ้างงานของคนพิการและนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงต่อไปได้

คล้ายกับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้บริโภค ที่จะมีรายละเอียดต่างๆ เช่น ปัญหาอันดับหนึ่งคือหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีลักษณะโฆษณาเกินจริง แสดงสรรพคุณเท็จ ​​

ก่อนจะมาสู่ขั้นตอนสำคัญคือการจับกลุ่มระหว่างนักข่าว และ Developer เพื่อร่วมผลิตข่าว โดยเลือกจับกลุ่มตามความสนใจที่ตรงกัน เช่น ด้านการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ พร้อมวาง Action Plan ในการทำงานร่วมกัน ที่จะพัฒนาการทำงานทั้งในด้านการหาข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอข้อมูล โดยมีผู้เชี่ยวชาญ อาทิ จรัล งามวิโรจน์เจริญ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ข้อมูล บริษัท เซอร์ทิส จำกัด  และ  ผศ.ดร. วรภัทร ไพรีเกรง ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคข้อมูลมหาวิทยาลัยธรุกิจบัณฑิตย์ ร่วมให้คำแนะนำ

หลังจากนี้แต่ละกลุ่มจะแยกย้ายกันไปลงมือปฏิบัติตามแผนที่มีแผนจะต้องประชุมร่วมกันในแต่ละกลุ่ม 4 ครั้ง นับจากนี้ ก่อนจะกลับมาเสนอความคืบหน้า​อีกครั้งในช่วงกลางเดือน  ก.ค. นี้

โดย Data Journalism Camp Thailand ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จํากัด (มหาชน) บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)