การเลือกตั้งพม่า: ผลกระทบต่อ ประเทศไทยและอาเซียน

 

 

 

 

 

ข่าวเผยแพร่

เลือกตั้งพม่า ทหารนอนมา ปัญหาการเมืองไม่จบ ไทยเจอศึกหนัก ส่วนอาเซียนอ้าแขนรับ

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2553 เวลา 10.00 นาฬิกา ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีป้า ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาสื่อมวลชนเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปพม่าและผลกระทบต่อประเทศไทยและอาเซียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่ามาร่วมเสวนา4 ท่านด้วยกัน ได้แก่ ดร. หม่อง ซาร์นี นักวิจัยแลกเปลี่ยนและนักวิชาการเรื่องพม่าของสถาบันเพื่อความมั่นคงและการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ คณะเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยลอนดอน นาย จอ ซวา โม บรรณาธิการบริหารนิตยสารอิรวะดี นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ บรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์ข่าวสด และนำายกวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

วิทยากรทั้ง 4 ท่านมีความเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งทั่วไปของพม่าซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน ศกนี้ จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปรองดองชาติตามแนวทางที่รัฐบาลทหารพม่าได้วางไว้ แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมากว่า40 ปี โดยที่อำนาจเบ็ดเสร็จจะยังคงอยู่ที่ทหาร เพียงแต่เปลี่ยนจากเครื่องแบบทหารมาเป็นพลเรือน ภายใต้การปกครองระบอบทหารที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ (Constitutional Military System) นั่นเอง

“พรรค Union for Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งเป็นร่างทรงของกลุ่มอำนาจทหารของพลเอก ตัน ฉ่วย ผู้นำพม่าคนปัจจุบัน จะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นอย่างแน่นอน ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆเช่น National Unity Party (NUP) ของกลุ่มอดีตนายกรัฐมนตรีอูนุ หรือพรรคที่แยกตัวจากพรรคNLD อาจได้คะแนนเสียงเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรพอเป็นไม้ประดับ แต่จะไม่มากพอที่จะคานอำนาจของฝ่ายทหาร” ดร.ซาร์นีกล่าว

ดร.ซาร์นีกล่าวต่อไปว่า การปรองดองแห่งชาติและสันติภาพคงไม่เกิดขึ้นตามแนวทางพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เจ็ดขั้นตอนที่รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบันได้วางไว้ ทั้งนี้เพราะทหารพม่าไม่ใช่ทหารอาชีพ แต่ถูกหล่อหลอมโดยปรัชญาการต่อสู้ในแบบกองกำลังปลดปล่อยประเทศ ผู้นำทหารพม่าถือว่าการปรองดองเท่ากับยอมรับกับข้าศึกว่าผิด คนที่คัดค้านคือศัตรู ดังนั้นคงไม่ต้องคิดเลยว่า ส.ส.ในสภาฯจะกล้าแสดงการคัดค้านฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ แม้ในยุคหนึ่งที่พม่ามีระบบรัฐสภา ฝ่ายค้านบางคนยังไม่กล้าลุกไปเข้าห้องน้ำ

นอกจากนี้เขากล่าวว่า ระบอบเผด็จการทหารของพม่าเป็นการสืบทอดระบอบศักดินาที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพม่ามาเป็นเวลาหลายศตวรรษ การเลือกตั้งฯจึงเป็นการทำให้ ทหารซึ่งมีกำลังพลอยู่ประมาณ 500,000 คนและใหญ่ที่สุดรองจากกำลังพลของประเทศเวียดนาม รวมทั้งทหารผ่านศึกและครอบครัว กลายเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ส่วนประชาชนที่เหลือเป็นพลเมืองชั้นสอง เท่ากับเป็นการสืบสานระบบศักดินาในอดีตนั่นเอง

นายเกียรติชัยกล่าวว่าสื่อมวลชนควรจับตาดูว่า พรรค National League for Democracy (NLD)ของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ และชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่ปฏิเสธแผนการสร้างประชาธิปไตยของรัฐบาลทหารพม่า จะแก้เกมอย่างไร กลุ่มฝ่ายต่อต้านที่เคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศและประชาคมโลกจะวางท่าทีอย่างไรต่อผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เสียงสนับสนุนพรรคNLD ซึ่งได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 จะยังแรงพอที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นไปตามคาดหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเสรี และบริสุทธิ์ยุติธรรมตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ และหากการเลือกตั้งไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจการเมือง กลุ่มอำนาจทหารจะเกิดขัดแย้งกันเอง หรือขัดผลประโยชน์การค้าชายแดนหรือไม่ เมื่อพลเอกตัน ฉ่วย เสียชีวิตลง

ด้านนายจอ ซวา โมกล่าวว่า รัฐบาลพม่าจะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนการเลือกตั้งในปี 2533เด็ดขาด โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมการถ่ายโอนอำนาจไว้เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่การกำจัดศัตรูทางการเมืองคนสำคัญโดยการจับเข้าคุก รวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน รวมทั้งนางออง ซาน ซู จี การร่างรัฐธรรมนูญที่ยังเอื้อประโยชน์ต่อการคงอำนาจเบ็ดเสร็จของทหาร การให้คณะรัฐมนตรียกแผงลาออกไปตั้งพรรคUSDP และระดมสมาชิกพรรคได้ถึง 25 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27 ล้านคน ทั้งยังบังคับให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนพวกที่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว ก็ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะมีประวัติติดคุก นอกจากนี้กฎหมายเลือกตั้งที่ประกาศออกมาอย่างกระชั้นก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือน ก็สร้างความยุ่งยากให้พรรคการเมืองเล็กๆหรือผู้สมัครอิสระ ทำให้ขาดคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง หรือไม่อาจหาเสียงได้อย่างเสรี

เขากล่าวต่อไปว่าด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ถูกจำกัดอย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องจากสื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นของรัฐ สื่อสิ่งพิมพ์ของเอกชนซึ่งมีกว่า 200 ฉบับก็ถูกควบคุมการเสนอข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างหนัก ที่ผ่านมาก็ไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวเพราะข่าวทุกชิ้นต้องผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข่าวของรัฐก่อนตีพิมพ์ทุกครั้ง นอกจากนี้ กฎหมายสื่อมวลของพม่ามีบทลงโทษที่รุนแรงมากจนทำให้สื่อมวลชนในประเทศไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เลย ส่วนสื่อมวลชนพม่าพลัดถิ่นเช่น Irawaddy, Democratic Voice of Burma และ Mizzima ซึ่งมีบทบาทสูงในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับพม่าให้คนในพม่าและชาวโลกทราบ ต่างก็ต้องประสบข้อจำกัดในเรื่องการสื่อสารกับคนข้างในโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

นายกวี กล่าวว่า สื่อมวลชนไทยควรให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งพม่ามากกว่านี้และไม่ควรพึ่งแต่ข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว เพราะแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการคาดการณ์กันไว้แล้วว่า จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสำคัญในพม่า แต่การที่พม่าไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยโดยเฉพาะปัญหาความมั่นคงและปัญหาสังคมอย่างแน่นอน

“สื่อมวลชนไทยควรให้ความสนใจต่อนโยบายของรัฐบาลไทยต่อพม่าภายหลังการเลือกตั้งมากยิ่งขั้น ที่ผ่านมาไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อพม่า ซึ่งถือเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง จนส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงของมนุษย์ เช่นปัญหายาเสพย์ติด พลังงานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และผู้อพยพและแรงงานชาวพม่าในประเทศไทย”นายกวีกล่าว

เขากล่าวอีกว่านโยบายของไทยต่อพม่าจะต้องเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นไทยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ส่วนพม่าจะไม่เปลี่ยนนโยบายกับไทยและจะยังคงใช้ความได้เปรียบทางทรัพยากรธรรมชาติเป็นเครื่องมือต่อรองกับไทยและนานาประเทศที่พร้อมจะเข้าไปทำธุรกิจในพม่าภายหลังการเลือกตั้ง

“ประเทศไทยยังจะต้องเจอกับปัญหาใหญ่ที่ตามมาอีกมากในการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า เรื่องที่สำคัญคือ โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของพม่าซึ่งถูกสื่อมวลชนนอกประเทศเปิดโปงแต่พม่าปฏิเสธว่าเป็นการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการแพทย์ ฝ่ายความมั่นคงของไทยต้องให้ความสำคัญ และทำความเข้าใจว่าทำไมพม่าจึงมีแนวคิดเช่นนี้อยู่ และเลิกคิดว่าพม่าไม่มีศักยภาพพอที่จะทำได้เสียที”

สำหรับหลายฝ่ายที่เห็นว่าการเลือกตั้งที่มีข้อบกพร่อง ไม่มีเสียดีกว่านั้น นายกวีเห็นว่า ประเทศอาเซียนจะคิดกลับกัน เพราะแม้แต่การเลือกตั้งที่ว่าเลวร้ายที่สุดอย่างในซูดานและอิหร่านก็ยังได้รับการรับรองจากนานาประเทศ

เขามองว่า อาเซียนจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยจะให้การรับรองการเลือกตั้งพม่าในครั้งนี้ อาเซียนต้องการหาทางลงให้พม่า เพื่อให้การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558 เป็นไปอย่างราบรื่น โดยที่การเลือกตั้งพม่าจะทำให้ปัญหาการเมืองและสิทธิมนุษยชนในพม่าซึ่งเป็นหนามยอกอกของอาเซียนมาตลอดตกไปในที่สุด

“อย่างน้อยพม่าก็ได้เข้าสู่ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยรูปแบบผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่ได้ต่างไปจากประเทศอาเซียนอื่นๆที่ผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”เขากล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่โทรศัพท์ 02 2435579 หรือ อีเมล seap@seapa.org

 

 

ขอเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมการเสวนาสื่อมวลชนเรื่อง

การเลือกตั้งพม่า: ผลกระทบต่อ ประเทศไทยและอาเซียน

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2553  เวลา 09.30-12.30 น.
ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสมาคมนัก ข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ร่วมกับเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ หรือ ซีป้า
สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์

9.00 น.          ลงทะเบียน

9.30 น.          เปิดการเสวนาโต๊ะ กลม โดย ผู้แทนของซีป้า
9.40 น.          การเลือกตั้งพม่า กับอนาคตทางการเมืองของประเทศและปัญหา สิทธิมนุษยชน
โดย     Dr. Muang  Zarni นักวิชาการประจำสถาบัน  ISIS ผู้แทน นิตยสาร Irrawaddy และ

10.45 น.        แลกเปลี่ยน ความคิดเห็น

11.15 น.        พักรับประทานอาหารว่าง

11.30 น.        การเลือกตั้งพม่า: ผลกระทบต่อประเทศไทย และอาเซียน
โดย     คุณเกียรติชัย    พงษ์พาณิชย์   บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ข่าวสด
คุณกวี จงกิจถาวร                  บรรณาธิการ อาวุโส หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น

12.30 น.        แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสื่อมวลชนไทยกับการทำข่าวการเลือก ตั้งพม่าในสถานการณ์ที่มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร
13.00 น.        รับประทานอาหารกลางวัน

หมายเหตุ 1. มีล่ามแปล   2. รายละเอียดโทร. 02-668-9422