แถลงการณ์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กรณีข้อพิพาทชายแดนและการใช้กำลังทหารระหว่างไทย-กัมพูชา

แถลงการณ์

เรื่อง ข้อห่วงใยต่อการนำเสนอข่าว และภาพข่าวของสื่อมวลชน

กรณีข้อพิพาทชายแดนและการใช้กำลังทหารระหว่างไทย-กัมพูชา

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหาร เป็นผลให้กำลังพลและพลเรือนของทั้งสองประเทศต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น เหนือสิ่งอื่นใดเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนบริเวณชายแดนของสองประเทศซึ่งไม่มีส่วน เกี่ยวข้องกับข้อพิพาท ความขัดแย้งดังกล่าว ขณะเดียวกันสื่อมวลชน ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ฯลฯ ต่างได้พยายามทำหน้าที่เกาะติดรายงานข่าวความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เนื่องเพราะเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีข้อห่วงใยต่อการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนี้

1.         ขอให้เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ฯลฯ ได้ทำหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน โดยการเสนอข่าวและภาพข่าว ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ แสวงหาหนทางการแก้ปัญหาข้อพิพาท ความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

2.         ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินนำเสนอประเด็นข่าวและภาพข่าวได้ตระหนักถึงความอ่อนไหว และให้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดต่อผลกระทบทางด้านความมั่นคง ซึ่งอาจเป็นการเปิดเผยจุดยุทธศาสตร์ หรือยุทธวิธีทางการทหารให้กับฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ตั้งใจได้

3.         ใน การนำเสนอข่าว ตลอดจนการแสดงข้อคิดเห็นใด ๆ โดยผ่านทางบทสัมภาษณ์ บทความ หรือทางอื่นใด ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ภาษา หรือการแสดงท่าทีที่เป็นการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ

4.         ขอเรียกร้องให้ผู้นำทั้งสองประเทศ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทชายแดน แสดงความจริงใจที่จะร่วมกันยุติปัญหาความขัดแย้งให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกการแก้ปัญหาที่มีอยู่ หันหน้ามาพูดคุย เจรจาเพื่อหาข้อยุติอย่างสร้างสรรค์และยึดมั่นในสันติวิธี โดยยึดผลประโยชน์และความสงบสุขของพี่น้องประชาชนสองประเทศเป็นที่ตั้ง

5.         สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ แม้เป็นการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญที่พึงกระทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิทธิของผู้อื่น อีกทั้งไม่ควรกระทำการใด ๆ ที่เป็นการยั่วยุให้ปัญหาข้อพิพาทลุกลามบานปลายมากขึ้น เนื่องเพราะสันติวิธีเท่านั้น  คือหนทางยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ขอแสดงความชื่นชมต่อการตระหนักในบทบาทหน้าที่ของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนง ในการนำเสนอข่าวและภาพข่าวด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกัน ขอให้กำลังใจแก่ทหารหาญและผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงทุกท่านที่ต่างทุ่มเทสรรพกำลังด้วยความเสียสละในการทำหน้าที่ปกปัก พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งอธิปไตยแห่งดินแดน ทำให้ประชาชนที่อยู่แนวหลังต่างรู้สึกซาบซึ้งและอุ่นใจในการทำหน้าที่สมกับเป็นรั้วของชาติอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดนี้ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ  หวังว่า ข้อพิพาทดินแดนของไทย-กัมพูชา จะสามารถหาข้อยุติได้โดยเร็ววันบนพื้นฐานของการเจรจาและสันติวิธี เพื่อให้ความสงบสุขของพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศกลับคืนมา โดยไม่ต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากผลกรรมที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น.

 

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

8 กุมภาพันธ์ 2554