สมาคมนักข่าวฯ จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้-ส่งต่อวาทกรรมสร้างความขัดแย้ง

สมาคมนักข่าวฯ จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้-ส่งต่อวาทกรรมสร้างความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงานเสวนาวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ภายใต้หัวข้อ เสรีภาพ...บนความรับผิดชอบ หยุดวาทกรรมความขัดแย้ง ได้รับเกียรติจากวิทยากรมากมาย ประกอบด้วยนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศไทย นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านไอที ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายพิภพ พานิชภักดิ์ นักสื่อสารมวลชนอิสระ ดำเนินรายการโดย นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เสรีภาพที่เกินขอบเขต ละเมิดสิทธิ์ ตัดต่อภาพ

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กล่าวว่า ในเรื่องของ Hate Speech ถ้าดูจากสถิติที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงที่เราใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นจะเห็นว่า Hate Speech มีปริมาณมากขึ้น ผมเคยทำการสำรวจในส่วนของข้อมูลส่วนตัวในการดูแลเรื่องเกี่ยวกับคดีความ พบว่า ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2550 ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมดูแลในเรื่องของการใส่ความบุคคลอื่น หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ปรากฏว่าในส่วนคดีความจนถึงปัจจุบัน มีมากกว่า 10,000 คดี ที่กองบังคับการตำรวจต่างๆ ส่วนที่มีการแจ้งความเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีการสะสาง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่องของ Hate Speech ที่มีการเขียนผ่านสื่อต่างๆ อันดับ 1 คือ Facebook  อันดับ 2 คือ Twitter  และ Instagram ตามมา แนวโน้มในแง่ของ Hate Speech จะเรียกได้ว่าค่อนข้างจะแย่มาก

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เรื่องของการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ไม่ใช่ในกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพที่ควรมี การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล มีการใส่ความ มีการตัดต่อภาพต่างๆ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวว่า ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันจะไปเพียงด้านเดียว โดยเฉพาะตั้งแต่ที่มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้จนถึงปีพ.ศ.2549 มีสถิติในการละเมิดไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการละเมิดมากกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่าในส่วนต่างๆ นั้นเกิดจากการใช้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีส่วนช่วย

นักวิชาการด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์บอกว่า จากการวิเคราะห์พบว่าเหตุที่หลังจากมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นและมีคดีความเกี่ยวกับ Hate Speech มากขึ้น เนื่องจากว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทุกประเภท ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ใช่ลักษณะเช่นนั้น แม้แต่ในต่างประเทศหรือประเทศสหรัฐอเมริกาเองที่มีการคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างมาก และมีหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เข้มที่สุดก็ยังมีข้อยกเว้นในเรื่องของFighting Word หรือ การใช้ถ้อยคำที่ขัดแย้งกัน หรือการแสดงความคิดเห็นที่ขัดต่อหลักความมั่นคงของประเทศ

นายไพบูลย์กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เรื่องของ Hate Speech มีปัญหามากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันแนวโน้มในการฟ้องร้องสูงมากขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา บวกกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะ มาตรา 14(1) มีการใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งบทลงโทษของการใช้มาตรา 14(1) นั้นเป็นความผิดอาญาที่ยอมความไม่ได้ ซึ่งความแตกต่างระหว่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับกฎหมายหมิ่นประมาท คือ กฎหมายหมิ่นประมาทจะมีข้อยกเว้นในเรื่องของการติชมในเชิงสาธารณะชน หรือในแง่ที่สามารถติชมได้ ตามมาตรา 369 แต่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ หากพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นการตัดต่อและบิดเบือนความจริงก็จะมีปัญหาในเรื่องคดีความ  ซึ่งการใช้กฎหมายฉบับนี้ยังคงมีปัญหาค่อนข้างมาก

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 ที่มองว่า Hate Speech มีค่อนข้างมากคือ ความเชื่อของผู้ใช้ Facebook Twitter ซึ่งหากตั้งชื่อเป็นผู้อื่น หรือใช้อีเมล์ในการว่ากล่าวตักเตือน จะทำให้ไม่สามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดได้ นี่คือความเชื่อที่ผิด เพราะในปัจจุบันเราสามารถตรวจสอบย้อนหลังไปถึงผู้ใช้ ทั้ง Facebook และ twitter ได้เพียงแค่ติดเงื่อนไขในการตรวจสอบ 2 จุด คือ 1.จำนวนบุคลาการที่รู้เกี่ยวกับทางด้านไอทีและกฎหมายมีค่อนข้างน้อย เพราะรู้เพียง Hate Speech ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และ Hate Speechที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง 2.การติดตามตัวผู้ใช้ Hate Speech นั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ทำให้ผู้ใช้ต่างใช้ Hate Speech มากขึ้น เช่น จากเดิมที่ บุคคล ก.ไก่ ก็อาจเพิ่มเติมข้อมูลเข้ามา ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถตรวจสอบผ่าน IP Address ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยเช็คจากตัว Mobile Operator ผู้ที่ให้บริการและตรวจสอบได้ในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบผ่าน Facebook Twiiter แต่อย่างใด หากมีการกระจายเรื่องนี้ออกไป การใช้ Hate Speech อาจลดลง เพราะมีการทำพยานหลักฐานไว้ มีคนเห็นเป็นจำนวนมาก เช่น ถ้าผมต้องการด่าใคร ไปใช้ Hate Speech บนอินเทอร์เน็ต ไปเปิด Id นายปากมาก@hotmail.com แล้วเข้าไปตั้งเพจด่าคนต่างๆ วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งหมายมาที่บ้านว่ามี IP Address มาจากเครื่องที่บ้านของคุณ ปฏิกิริยาของคนที่ได้รับหมายก็กลัวว่าจะติดคุกเลยมาเล่าให้ฟัง เพราะคิดว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงเข้าใจว่าการคิดว่าไม่สามารถตรวจสอบได้จึงทำให้เกิดความฮึกเหิมขึ้น

 

ยิ่งมีกฎหมายควบคุมยิ่งรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นคือ แฟนบอลของแมนยู-ลิเวอร์พูล  เกิดเชียร์ทีมตัวเองแล้วเกิดออกนอกลู่นอกทาง บางทีก็ก้าวล่วงไปถึงสถาบัน ซึ่งไม่น่าเกี่ยวกันเลย แต่เพราะเมื่อเราเชียร์แล้วก็เกิดการแสดงความคิดเห็น ทำให้มีการดึงเรื่องการเมืองเข้ามาจนวนไปสู่เรื่องนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจเจอก็สามารถตามตัวตนได้จริง

นายไพบูลย์กล่าวว่า ปัญหาหลักของ Hate Speech อันแรกคือ เจ้าหน้าที่ของเราไม่สามารถปราบปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความเชื่อที่ว่าสื่ออินเทอร์เน็ต เมื่อมี Social Media หาข้อมูลในการดำเนินคดีเกี่ยวกับบุคคลต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถทำได้ และมาตรการทางกฎหมายไม่สามารถใช้ได้อย่างแท้จริง เพราะก่อนพ.ศ.2550 ที่จะมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ก็มีลักษณะของ Hate Speech แต่ความรุนแรงไม่มากเท่าไหร่ แต่เมื่อมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่ากับว่ามีกฎหมายเข้ามาควบคุม แต่ทำไมความรุนแรงของคดีกลับมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบางครั้งในการด่าทอ หรือการแสดงความคิดเห็นบางส่วนจะไม่เข้าตัวกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทำให้เราไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามารวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ในการดำเนินคดีได้

นายไพบูลย์กล่าวว่า และสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็พยายามบิดเบือนและใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่กลับไปใช้กับฐานความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทำให้ปัญหาในการปรับใช้กฎหมายนั้นมีเพิ่มมากขึ้น ส่วนวิธีแก้ไขในส่วนของกฎหมายนั้นควรมีมากขึ้น แต่หากต้องการแก้ไขจริงๆ ในต่างประเทศ Hate Speech เองไม่สามารถแก้ไขได้โดยกฎหมายอย่างเดียว ต้องมีในส่วนของกฎกติกาในส่วนของการควบคุมดูแลในแต่ละองค์กรด้วย ในประเทศออสเตรเลีย หรืออังกฤษก็มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง Hate Speech ที่น่าสนใจ คือ ทุกบุคคลที่มีส่วนดูแลเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตต่างมีส่วนในการดูแลเรื่อง Hate Speech โดยที่กฎหมายเป็นแค่เส้นบางๆ ในการแก้ไข ในกรณีที่ภาคเอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเผยแพร่ข้อมูลไม่สามารถไปกระทำได้แล้ว ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้ผลมากในการช่วยลด Hate Speech มากกว่า ในกรณีของเมืองไทยที่นำกฎหมายเข้ามามีส่วนอย่างสุดโต่ง ซึ่งบางรัฐบาลเคยมีแนวคิดที่จะแก้ไขเรื่อง Hate Speech โดยแก้กฎหมายให้มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ในอดีตเราปราบปรามโดยการจับตัว แต่การจัดการทางอินเทอร์เน็ตนั้นเผยแพร่อย่างรวดเร็วมักออกมาข่มขู่อย่างรุนแรง เช่น ในกรณีของ Line เป็นมาตรการที่ใช้ดาบปักปลาดาวจะทำให้ส่วนที่ตัดนั้นขยายออกไป เมื่อมองในแง่ของไทยในเรื่องการใช้ Hate Speech นั้นยังใช้อย่างไม่ถูกต้อง แทนที่จะแก้ไขให้ลดลงแต่เป็นการเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น”

นายไพบูลย์กล่าวว่า โดยหลักกฎหมายจริงๆ ถ้าถามว่ามีการคุ้มครอง Hate Speech ที่เฉพาะ Hate Speech ตรงๆ หรือไม่ คำตอบคือ ไม่มี แต่อาจจะมีบางส่วนของ Hate Speech ที่สอดคล้องในส่วนของเป็นกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทอยู่บ้าง เป็นกฎหมายคอมพิวเตอร์บ้าง ในเรื่องการบิดเบือนข้อมูลที่เป็นท็จ แต่ส่วนตัวมองว่าในปัญหาที่มีอยู่ ถ้าถามว่าเราจะรับมือยังไง คงต้องหาวิธีการแก้ไข ในฐานะที่เป็นสื่อก็พยายามที่จะลดทอนบทบาทในเรื่องของการให้ Information หรือว่า Source คำว่าสื่อที่ผมหมายถึง หมายความว่า ในแง่ที่เราไม่ได้ดูเรื่องวิทยุโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว หมายความว่าทุกๆ สื่อ โดยเฉพาะ ในส่วนของ Social Media เขาบอกว่ามีผลค่อนข้างเยอะมากในการเร่งกระแสอะไรต่างๆ อย่างเรื่องกระแส ผมเองจากประสบการณ์ส่วนตัว แค่เราไปทวีตธรรมดา ไปแตะแฟนคลับเกาหลี เป็นกรณีที่บอกว่า ถ้าบอกว่ามีการทวีตว่าจะมีการแจกรางวัลให้กับคนที่ทุ่มโหวตให้ศิลปินคนนี้ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่นั้นเอง ปรากฏว่าทวีตผมไม่เคยเยอะขนาดนี้เลยนะครับ มีคน Retweet ไปสามพันกว่า แล้วก็เพจเข้ามาด่าเยอะแยะเต็มไปหมด

มาตรการทางกฎหกฎหมายไม่เพียงพอ

นายไพบูลย์กล่าวว่า อย่างนั้นก็ต้องบอกว่าสื่อ Social Media เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าวูบวาบค่อนข้างเยอะนะครับ ถ้าจะแก้ไขจะต้องช่วยกันอย่างไร ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเรื่องของการ Hate Speech เรื่องของการแก้ไข  กลไกในการแก้ไขเรื่อง Hate Speechนั้น กฎหมายกับมาตรการทางเทคนิคมันใช้ไม่ได้แล้วในโลกปัจจุบัน มันเป็นแค่มาตรการอย่างหนึ่งในการช่วยเหลือเยียวยาเท่านั้นเองครับ เพราะกฎหมายมันมีปัญหา คือว่าโดยหลักแล้วมันใช้ได้แค่ในประเทศไท คนที่อยู่นอกประเทศ เราไม่สามารถบังคับใช้ได้ เขาบอกว่าผมด่าคนอื่นจากต่างประเทศผมผิดตรงไหน งั้นในแง่การที่จะไปจับกุมดำเนินคดีในกรณีที่ไร้พรมแดน อย่างอินเตอร์เน็ต ในความคิดเป็นเรื่องยาก อันที่สอง มาตรการทางเทคนิคมันคืออะไรครับ? มาตรการที่ประเทศเราชอบใช้กันมากทั้งเรื่อง Hate Speech คือการปิดบล็อค การใช้โค้ด ก็คือการเอาตัวโค้ดต่างๆ ที่เขียนด้วยคอมพิวเตอร์ที่เป็นรูปแบบ HTML หรือว่า Wordpress (รูปแบบหนึ่งของการเขียนเว็บ) มาเป็นเหมือนโค้ดในการบังคับพฤติกรรมของคน แล้วประเทศเราก็ชอบมากการเปลืองงบฯ 4-5 ร้อยล้านบาท หรือพันล้านบาทต่อปี ในการบล็อกข้อความที่เราคิดว่ามันเป็นการ Hate Speech แล้วก็เป็นข้อความที่ขัดต่อความมั่นคง อย่างนั้นในยุคปัจจุบันปี 2557 กฎหมายกับมาตรการบล็อค หรือมาตรการเทคนิคมันใช้การไม่ได้ มันเพียงแค่เยียวยากับช่วยในระดับหนึ่ง โดยการแก้ไขปัญหาที่ได้ผล ในแต่ละวิธีที่บอกที่ผมเกริ่นก็คือ ผู้ที่มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องหรือควบคุมใช้ส่วนของการให้ข้อมูลข่าวสาร กับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต้องเข้ามีบทบาทให้มากขึ้น และส่วนหนึ่งที่สำคัญคือกฎหมายที่ออกมามันต้องดูเรื่องของช่องว่างระหว่างวัยของวัยรุ่นและคนแก่ (Source Generation) ฉะนั้นเมื่อเราร่างกฎหมายอาญา กฎหมายลักษณะผัวเมีย อำแดง อะไรต่างๆ ในยุคปัจจุบันถ้าเทียบอย่างเห็นได้ชัด บริบทของ Hate Speech มันต้องเปลี่ยนแปลงไปว่า อย่างที่บอกว่าวิธีการแก้ ก็คือ สื่อมวลชนควรเป็นหน่วยงานที่ควรลดบทบาทในเรื่องของ Hate Speech ให้มากขึ้น ในส่วนของ Mobile Operator ต้องตระหนักว่าเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำ

นายไพบูลย์กล่าวว่า ในสมัยก่อน เมื่อเกิด Hate Speech แล้วมีการฟ้องร้องกัน ทุกอย่างจะจบลงที่ศาล แต่ในปัจจุบัน Hate Speech ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะถูกตัดสินอย่างไร ต่างฝ่ายก็ไม่ยอมรับในกติกา เพราะฉะนั้นองค์กรสุดท้ายที่จะช่วยแก้ปัญหา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนนั้น ก็คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งนิติบัญญัติและบริหารไม่ต้องพูดถึงเพราะบริหาร จนเราหาทางออกไม่ได้ แต่ตุลาการเมื่อมีคำตัดสินออกมา กลับถูกต่อต้านโดยกลุ่มที่เป็น Hate Speech อย่างนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ จากที่เมื่อก่อนเคยยอมรับกัน ก็กลายเป็นว่าแอนตี้ มีมาตรการต่างๆ ในการเขียนข้อความออกมาเพิ่มเติม

 

วาทกรรมสร้างความขัดแย้งเกิดได้จากหลายสาเหตุ “ชาติพันธุ์ เพศสภาพ”

ด้านนายพิภพ พานิชภักดิ์ ระบุว่า เสรีภาพนั้นต้องตามด้วยเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งตนเองมองว่าทักษะในการแยกแยะเรื่องของ Hate Speech เป็นเรื่องสำคัญมากพอสมควร ระหว่างคำพูดที่สร้างความเกลียดชังให้เกิดการกำหนดภาพลักษณ์ในเชิงเหมารวม ควรถูกแยกออกจากคำหาบทั่วไป เนื่องจากสังคมยังต้องเปิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งวาจาสร้างความเกลียดชังไม่เพียงแค่ในประเด็นการเมือง แต่ยังมีเรื่องของชาติพันธ์ เมื่อเราพูดถึง Hate Speech อาจมองเพียงด้านการเมือง ซึ่งเรามีชนชาติที่หลากหลาย แต่ในการพูดถึงข่าวชาวพม่า หรือโรฮิงญา สื่อมวลชนยังใช้ภาษาสร้างความเกลียดชังได้ค่อนข้างรวดเร็ว และยังมีเรื่องของเพศสภาพ เช่น กรณีสงกรานต์ในการพูดถึงเพศที่สามว่าเป็นเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างน่าเกลียดน่าชัง ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธแค้น ดังนั้นการเลือกมุมภาพ การประกอบร้อยต่อ ก็สามารถสร้างความเกลียดชังได้ แม้เราไม่พอใจก็ต้องอยู่ในสิทธิของการแสดงที่จะไม่กระตุ้นความเกลียดชังอย่างไม่มีทางออก ไม่ใช่ว่าตัดต่อเพื่อให้เป็นเรื่องขบขัน หรือสร้างความเกลียดชัง แต่เป็นการตัดต่อให้บางคนดูเป็นเทพ บางคนดูเป็นมาร  ในสื่อวิทยุโทรทัศน์นั้นมีลักษณะเฉพาะคือ สร้างโดยการจัดเรียง เวลาจัดเรียงนั้นมีรายงานที่สุภาพแต่อาจสร้างความเกลียดชังได้ เช่น เรื่องชาติพันธ์ ไม่มีชาติใดที่มีอุปนิสัยดี หรือแย่ไปหมด จึงสรุปได้ว่า อย่ามองเรื่องของ Hate Speech เป็นเพียงเรื่องของการเมือง ภูมิภาคเรายังมีเรื่องในท้องถิ่น ม็อบเองก็ไม่ใช่ม็อบการเมือง ยังมีเรื่องม็อบท้องถิ่น เราจะพูดถึงเขาอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เนื่องจากเสรีภาพของเรามีขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจ

“ในฐานะสื่อ ผมคิดว่าคงไม่มีใครเรียกร้องให้เราพูดจาภาษาดอกไม้ว่าตรงนั้นมันไม่ใช่ ผมคิดว่าความจริงคือสิ่งที่ถูกเรียกร้องอยู่เสมอ อย่างเช่นว่าต้องเชิญคนนี้มาพูดรายงาน แต่เขามีท่าทางการพูดเชิง Hate Speech เราควรจะเซ็นเซอร์ไหม ผมว่าเราไม่ควรพูดถึงประเด็นนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ให้พูดนะครับ แต่ถ้าเชิญมา ท่านอาจจะต้อมีช่วงนำเสนอโปรไฟล์ที่มาที่ไปของทัศนแบบนี้ว่ามาจากไหน เป็นต้น สิ่งที่เราคุยกันคือ สื่อเองเราทำงานอยู่กับข้อมูลข่าวสาร โดยการนำเสนอข้อมูลวาทกรรมทั้งชุดโดยไม่ผ่านการกรองเลยนะครับ คราวนี้ในอนาคตมันมีเรื่องการเชื่อมต่อกับสื่อออนไลน์ และสื่อต่างๆ ก็นำสื่อออนไลน์มาใช้ ซึ่งผมคิดว่านักข่าวควรมีทักษะซึ่งหลายคนก็มีอยู่แล้ว แต่ทักษะที่ควรต้องมีเลยคือ ทักษะในการสังเกตวาทกรรมความเกลียดชัง มันอาจจะมาแบบสุภาพ แต่เต็มไปด้วยความเกลียด ท่านต้องช่วยกันรื้อ ผมเชื่อว่าเราทำได้และเป็นหน้าที่ของเรา อย่าไปติดกับสัญญลักษณ์ที่เป็นคำพูด ต้องดูที่เนื้อหา สังเคราะห์ กลั่นกรอง แยกแยะ ความบิดเบือนกับความจริง เพราะอย่างไรก็ตามไม่มีใครที่ไม่เป็นมนุษย์หรอกครับ แล้วก็ถูกลดทอนให้หมดความเป็นมนุษย์ครับ”นายพิภพ กล่าว

 

สังคมต้องกดกริ่งเตือนไม่ให้ล้ำเส้นจนมองคนไม่ใช่คน

ขณะที่นายสุนัย ผาสุก ให้ความเห็นว่า เรื่องของ Hate Speech มีลักษณะการแบ่งเขาแบ่งเรา มีเป้าหมายว่าเกลียดใครและรักใคร เมื่อแยกกันแล้วจะต้องบูชาด้านหนึ่ง และผลิตซ้ำ เช่น การพูดปากต่อปาก การสื่อสารกันในครอบครัว และการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายความเกลียดชังต่างๆ นี้ด้วย เพราะการเกิด Hate Speech ไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน มันต้องมีการผลิตซ้ำ พอถึงจุดๆ หนึ่งการแบ่งเขา แบ่งเราก็ถึงจุดที่หนักหน่วงมากขึ้น อย่างเบาก็คือมองว่าเป็นคนที่ด้อยกว่า ทั้งในเรื่องของชาติพันธ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ คนโง่ไม่มีการศึกษา พวกตัวเหม็น หนักไปกว่านั้นความเป็นคนก็เริ่มหายไปกลายเป็นสัตว์ ภาษาบ้านๆ ก็คือ เป็นควาย ควายสารพัดสี

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ เอาคำว่าแมลงสาปมาใช้ เช่น เป็นบนเว็บเพจที่ไม่ชอบพรรคการเมืองพรรคนี้ก็เรียกว่าอาณาจักรไบก้อน ไม่ชอบควายแดง เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส ยิ่งกว่านั้นคือตอนนี้เป็นเรื่องน่ากังวลถ้าเรามองย้อนหลับไป การที่บอกว่าคนเราไม่ใช่มนุษย์จนถึงขั้นเกิดความรุนแรงนั้น Hate Speech อาจเป็นภัยอย่างมาก ยกตัวอย่างต่างประเทศที่เค้าให้เสรีภาพในการแสดงออกจะมองว่าอย่างไร Hate Speech ก็เป็นการแสดงออกด้านหนึ่ง แต่รัฐควรจะเริ่มจับตามอง อาจมีการเข้ามาพิจารณาคดีเป็นรายๆ ไป เนื่องจากผลที่มาจากความรุนแรงอาจมาจากการใช้ Hate Speech ต่างๆ ประเทศไทยที่เห็นได้ชัดคือ ยุคของ14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ การบอกว่านักศึกษาที่มาสู้เพี่อประชาธิปไตยกับเผด็จการทางทหาร ในสมัยนั้นไม่ใช่คนไทย เป็นคนเวียดนามและคอมมิวนิสต์ โดยผู้นำในยุคนั้นออกมาให้สัมภาษณ์พาดหัวหนังสือพิมพ์หน้า 1 ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้หรือเปล่า”

นายสุนัยกล่าวว่า ทั้งนี้ยังมีเรื่องที่น่าสลดใจที่มีการใช้ความรุนแรงต่อคนที่ถูกว่าเป็นพวกเขา ไม่ใช่พวกเรา พวกเขาคือพวกนักศึกษาที่ออกสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่แย่กว่านั้นคือกล่าวว่าพวกนั้นไม่ใช่คนไทยแต่เป็นญวน เป็นการใส่ข้อมูลเท็จเข้ามาเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ เมื่อคนเหล่านี้ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ก็มีภาพถ่ายคนยืนร้องเชียร์แสดงความดีใจกับการแขวนคอแล้วมีเด็กเล็กๆ ยืนปรบมืออยู่ใต้ศพ ยิ้มร่าอย่างดีใจ นั่นคือการลดทอนเพียงบอกว่าไม่ใช่คนไทย นั่นคือวาทกรรมไม่ใช่คนไทยที่ผ่านมาในยุค 14 และ 6ตุลาฯ ในขณะนี้ก็บอกว่าเป็นควายสารพัดสี เป็นแมลงสาป แต่ตอนนี้เรื่องเหล่านั้นดูเบาไปเมื่อคนไทยลดทอนความเป็นมนุษย์จนถึงขั้นบอกว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่คน แต่เป็นขยะ ตัวการที่เสริมรับกับความเป็นขยะ คือคำว่าขจัด แล้วขจัดแค่ไหน คือการขจัดให้สิ้นไปจากแผ่นดิน ซึ่งคำในภาษาอังกฤษเราใช้คำว่า Exterminate

นายสุนัยกล่าวว่า คำนี้ถูกใช้กับกรณีของชาวยิวในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการที่เขมรแดงตั้งเป้าที่จะล้างเผ่าพันธุ์ในขณะนั้น ซึ่งทั้งสองกรณีมีการตายเป็นล้านทั้งคู่ นี่คือความสุดโต่งในสภาพของสังคมไทยที่ไม่น่าชื่อว่าเรามาได้ไกลขนาดนี้ ซึ่งตอนนี้เรามาถึงรูปแบบการเป็น Hate Speech ที่มีการผลิตซ้ำ และมีการปลูกฝังความคิดกันอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบของการยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงนั้น แม้บุคคลที่เกี่ยวข้องจะบอกว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่หากย้อนไปดูตั้งแต่ต้นจะพบว่า ประการแรกมีคำว่า “ขจัด และต้องขจัดให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดิน” ประการที่สอง“ขยะบางประเภทนั้นเป็นขยะพิษ ไม่ใช่วิธีพูดคุยตักเตือนให้เขาปรับปรุงพฤติกรรมโดยวิธีกลไกของรัฐ แต่เป็นขยะที่ต้องจัดการด้วยวิธีพิเศษ ต้องเอาวิธีทางกฎหมายทางการเมืองออกไป มันมีนัยยะที่น่ากังวลอย่างมากอยู่ในเรื่องของสังคมไทย บทบาทของสื่อในส่วนนี้ยังดีที่พยายามเบรก แต่อีกด้านหนึ่งคือสื่อกระพือกระแสให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่จะได้ผลกว่า ถ้าสื่อตำหนิติเตียนพฤติกรรมเช่นนี้ว่าล้ำเส้น ว่าการแสดงออกด้านสถาบันนั้นเป็นเรื่องดี แต่การมองอีกฝ่ายว่าเป็นขยะนั้นผมมองว่าล้ำเส้นเกินไป สื่อสามารถควบคุมได้ และไม่เป็นการกล่าวหาเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาทำนั้นยังไม่มีผลให้เห็น

นายสุนัย ระบุว่า หากย้อนประสบการณ์ตั้งแต่ 6ตุลาฯ ในสังคมไทยที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเทียบเคียงกับประสบการณ์ประเทศอื่นๆ ทั้งพม่า และกัมพูชา จะพบว่ามีเรื่องของชาติพันธุ์ ใกล้เคียงกับไทยมากที่สุดคือ เรื่องของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องของคำว่า “แขก” ว่าเป็นแขกกบฏ ไม่นานมานี้ที่สื่อเริ่มให้ความสนใจ สื่อของรัฐบางแห่งพูดถึงกรณีมุสลิมในภาคใต้ว่าเป็นแขก เราควรจะทำความเข้าใจว่า พูดอย่างไรเรื่องการยอมรับการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง เพื่อไม่ให้ตกหลุมของ Hate Speech และความรุนแรง หรือกรณีโรฮิงญาที่เข้ามาในไทยก็ถูกหวาดระแวงว่าเป็นแขก อาจไปเข้าพวกกับมุสลิมอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่เข้าใจว่ามุสลิมในภาคใต้นั้นมีความคิดความอ่านอย่างไร ต้องการอะไร จึงไม่ให้สิทธิ์ในการลี้ภัย ซึ่งหากเราต้องการลดความรุนแรงลงก็ควรลด Hate Speech ลง หยุดการผลิตซ้ำ กรณีในรัฐยะไข่ ชาวโรฮิงญา ถูกไล่ไปในค่ายกักกัน ซึ่งในกรณีของพม่านั้นเป็นตัวอย่างที่เทียบเคียงได้ว่า เมื่อเราจะตกหลุมไปมากกว่านี้หรือไม่ หรือจะโยนเชือกให้ดึงขึ้นมา เพราะในขณะนี้น้ำมันก็ราดมาแล้ว เกรงว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตอาจกลายเป็นเรื่องเล็กไป เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นยังเป็นคนเพียงแต่ไม่ใช่คนไทย แต่ขณะนี้คนเหล่านั้นไม่ใช่คนแต่เป็นขยะ เพราะฉะนั้นมันมีตัวอย่างที่เทียบเคียงได้แล้ว สื่อสามารถเอาตัวอย่างเหล่านี้มาเป็นข้อพิจารณาประกอบได้

“ถ้าเกิดมี Hate Speech ผมกลัวว่าระดับขอความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะเป็นระดับความรุนแรงที่เรามองเหตุการณ์ยุคเดือนตุลากลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เพราะในยุคนั้น คนที่ถูกมองว่าต่างก็ยังเป็นคน เพียงแต่ว่าไม่ใช่คนไทย เป็นต่างชาติมีอุดมการณ์ทางความคิดทางการเมืองต่างไป แต่รอบนี้คนที่เห็นต่างเขาถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ถึงขั้นที่เป็นขยะเลยนะครับ เวลาเรากวาดบ้านเราเคยคิดไหมว่า เดี๋ยวขยะมันจะเจ็บกวาดเบาๆ มันไม่มีใช่ไหมครับ เราก็ใส่เต็มที่เพื่อให้เกิดความสะอาด เครื่องดูดฝุ่นก็อาจเต็มที่ เพราะฉะนั้นวาทกรรมนี้ต้องเบรก” นายสุนัย กล่าว

นายสุนัย กล่าวว่า วิธีที่รับมือกับ Hate Speech ที่ดีและได้ผลยั่งยืน ก็คือการสร้าง และปลูกจิตสำนึก การกล่อมเกลาทางสังคม ในเรื่องที่ว่าไม่ว่าคนจะเห็นต่างกันมากแค่ไหน ทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนกัน ทำให้คนทุกคนเป็นคนเท่ากัน ถ้าสามารถปลูกฝังค่านิยมแบบนี้ได้ การเคารพความแตกต่าง  ความหลากหลาย การอยู่ร่วมกันแบบพหุนิยม และความเป็นอารยะ อย่างไรก็ตามทุกคนต้องมีที่ยืนในสังคมไม่ว่าจะเห็นต่างกันมากแค่ไหน และการตระหนักวันนี้ เป็นบทบาทที่สื่อทำได้ดี ในการเล่นซ้ำ เพราะ Hate Speech ก็เกิดจากการเล่นซ้ำๆ บิดเบือนซ้ำๆ ดังนั้ สื่อควรจะผลิตเนื้อหาที่มีความเคารพความเป็นมนุษย์ วาทกรรมในการเคารพความแตกต่างหลากหลาย และการนำเสนอความจริง ซึ่งบางทีความจริงอาจจะไม่สวยงามแต่เราก็ต้องนำเสนอมัน เพื่อทำให้เห็นว่ามันมีปัญหา

นายสุนัยกล่าวว่า บทบาทของสื่อในฐานะวันเสรีภาพสื่อ จะเป็นหน่วยหนึ่งในสังคมที่คอยเบรกกระแสวาทกรรมการเกลียดชังที่มันก่อตัวขึ้น และปลูกฝังให้เด็กๆ มีภูมิคุ้มกันในสังคม ว่าในอนาคต Hate Speech อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่มันจะไม่มีผลหรือมีพลังเหมือนอย่างเดือนตุลา หรืออย่างเหตุการณ์ที่เราเผชิญกันในปันจุบัน โดยกลุ่มคนเหล่านี้เองก็จะยังคงมีอยู่ แต่ภายภาคหน้าพวกเขาไม่มีพลังในการเข้าสู่กระแสหลัก และเราก็ไม่จำเป็นต้องกำจัดพวกเขาหรือทำให้เขาหมดไป แต่ต้องทำให้สิ่งที่พวกเขาเสนอรนั้น ไม่กลางเป็นเรื่องสำคัญ เป็นฝืนหรือเชื้อเพลิง นี่คือหน้าที่ของสื่อที่ต้องสร้างสื่อชวนตระหนักรู้ สร้างความสัมพันธ์ในสังคมที่มันมีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ให้มีขึ้นมา

 

สื่อต้องสร้างสมดุล ไม่ผลิตตามอารมณ์

ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ ระบุว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของนักวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องของ Hate Speech ในสื่อ โดยส่วนตัวก็จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่ทำเกี่ยวกับ Hate Speech ก่อนที่สังคมไทยะมาตื่นตระหนกกับเรื่อง Hate Speech จนถึงปัจจุบันนี้ แต่อยากจะชี้แจง ประเด็นแรก คืออยากให้ทุกท่านทราบว่าจริงๆ แล้วคำว่า Hate Speech ต่างจากการหมิ่นประมาท คือการหมิ่นประมาท จะมีกฎหมายรองรับการหมิ่นประมาทอยู่แล้ว ใครคุกคามเรา ด่าทอเรา เราสามารถฟ้องกลับได้โดยมีกฎหมายหมิ่นประมาทที่รองรับ แต่สำหรับ Hate Speech นั้นไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ Hate Speech จะเป็นลักษณะของการเหมารวม โดนอยู่บนฐานของบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ เพศสภาพ หรือว่าศาสนา ในส่วนของคนไทยที่เราค้นพบในงานวิจัยก็ คือ อุดมการณ์ทางการเมือง ที่สามารถแบ่งระดับของความรุนแรงของเนื้อหาที่อยู่ในสื่อ โดยพบว่าความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น มีหน่วยงาน, องค์กร หรือตัวบุคคลที่ทำหารจัดตั้ง ในการตอกย้ำความต่าง และความเกลียดชังอย่างเป็นรูปอธรรม ในขณะที่ประเด็นอื่นๆ ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรที่จัดตั้งขนาดนั้น

ผศ.พิจิตรากล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าระดับความรุนแรงของความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมือง มีระดับความรุนแรงที่สูงสุด แม้จะเป็นระดับที่ไม่ถึงขั้นทำให้เกิดฆ่ากัน หรือเกิดความรุนแรงระดับกายภาพ แต่มีความพยายามที่จะไม่ให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคม คือคนกลุ่มไหนที่ต่างจากเรา ไม่ควรมีพื้นที่อยู่ใกล้กับเรา หรือมีพื้นที่อยู่ร่วมกัน

อ.จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวตอ่ว่า สิ่งที่เราทำในสื่อสิ่งพิมพ์ จริงๆ แล้ว Hate Speech ในเมืองไทยมีกันเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ เพศสภาพ ศาสนา หรือว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ในสื่อสิ่งพิมพ์ที่เราเจอส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง ชาติพันธุ์ เพศสภาพ และอุดมการณ์ทางการเมืองค่อนข้างเยอะ แต่ในอินเตอร์เน็ตจะมีเรื่องศาสนาเข้ามาด้วย ในส่วนของชาติพันธุ์ ก็เป็นเรื่องที่พบในเมืองไทย เพราะว่าเมืองไทยเรามีการโปรโมต ในเรื่องของชาตินิยมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่เราค้นพบในเรื่องของชาติพันธุ์และเชื้อชาติ  จะต้องมองว่านอกจากปัญหาของมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้แล้ว งานวิจัยลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานพม่าอยู่เป็นจำนวนมาก แล้วในนั้นต้องบอกว่าสื่อมวลชนไม่ต้องกระตุ้นเลยด้วยสภาพของการดำรงของคนในพื้นที่ ที่รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามนั้น แค่ปากต่อปากของชาวบ้านก็สามารถเป็น Hate Speech ที่สร้างความขุ่นข้องหมองใจให้เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว

ผศ.พิจิตรากล่าวว่า เราค้นพบจากงานวิจัยสำหรับ Hate Speech ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ประเด็นหนึ่งเลยที่เราเจอ นอกจากว่าประเด็นทางการเมืองที่ถูกกระตุ้นสูงที่สุดแล้ว อันหนึ่งที่เราพบเจอก็คือ Hate Speech ในเมืองไทยจะทำงานได้ดี หากว่าเรามีการอุปโลกน์ว่าคนที่เรารักอยู่ฝั่งเราด้วย คือมันมาพร้อมกับความรัก ความเกลียดมาพร้อมกับความรัก ซึ่งตรงนี้เองเราค้นพบว่าฝั่งหนึ่งก็จะมีการอุปโลกน์คนที่ตัวเองรักหรือเชิดชู อีกฝั่งหนึ่งก็ทำเช่นกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย เวลาเรารักใคร ชอบใคร อะไรต่างๆ มันอยู่บนฐานของตัวบุคคล เพราะฉะนั้นเมื่อตัวบุคคลที่เรารักถูกแตะต้อง ดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม ซึ่งเชื่อมโยงมายังกลุ่มที่ตนเองสังกัดอยู่ด้วย แน่นอนว่า Hate Speech จะทำงานได้ดี นี่คือสิ่งที่เราได้ค้นพบ

ผศ.พิจิตรากล่าวว่า การสร้างข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในสังคมไทย มักอยู่บนฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผล ซึ่งสื่อมวลชนอาจจะต้องช่วยกันจับตามองพอสมควร เพราะเมื่อพบว่า Hate Speech ที่ถูกเสนอในสื่อสิ่งพิมพ์ได้ถูกผลิตออกไป แต่เมื่อมาอยู่ในแพลตฟอร์มสื่อดิจิตอลในปัจจุบัน จะมีการหลอมรวมสื่อ ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ถูกผลิตซ้ำอยู่ในอินเตอร์เน็ต หรือมีการโพสต์ภาพ หรือตัดต่อภาพบนสื่ออินเตอร์เน็ต บางครั้งถูกนำไปเป็นแหล่งข่าวให้กับสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่มีการผลิตซ้ำแล้วก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยส่วนตัว มองว่าสำนักข่าวที่ดำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณ และทำงานในหน้าที่อย่างเที่ยงตรงมีความสำคัญมาก เพราะสื่อเหล่านี้คือแหล่งข้อมูลเพื่อมาอ้างอิงว่า Hate Speech ที่เกิดขึ้นคือภาพมายาที่คนบางกลุ่มต้องการยัดเยียดเข้ามาใส่ในความคิดผู้อื่น

ผศ.พิจิตรากล่าวต่อว่า แต่ขณะนี้ถ้ามีการด่ากันว่าเจ๊ก ซึ่งเราเองก็เป็นลูกครึ่งจีนอยู่แล้ว ก็จะไม่รู้สึกอะไร แต่ว่าถ้าเป็นสมัยก่อนก็อาจจะรู้สึก เพราะฉะนั้น Hate Speech จึงสับเปลี่ยนไปตามสังคม ในยุโรปเองเคยผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาแล้ว ดังนั้นเขาจึงมีความหวาดกลัวและรู้ว่าสื่อมีการกระตุ้นเรา Hate Speech มีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ได้ Hate Speech ดำรงอยู่ในสังคม และไม่ยอมให้เกิดขึ้นในสื่อ กลับกันในอเมริกาค่อนข้างมีเสรีภาพตรงนี้ แต่ในขณะเดียวกันพอเรามาวิเคราะห์ในส่วนของสังคมอเมริกา ถึงแม้ว่ากฎรัฐธรรมนูญข้อแรกจะสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร คุณอาจจะแสดงออกซึ่ง Hate Speech ได้ บางกลุ่มไม่ชอบกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ชอบคนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง หากแต่ว่าพอเรามาดูจริงๆ ในบริบทการทำงานของพวกบริษัท กฎระเบียบในองค์กร หรือว่าในมหาวิทยาลัยกลับมีกฎระเบียบที่ป้องกัน Hate Speech จำนวนมาก คือในระดับรัฐธรรมนูญบอกว่าคุณมีเสรีภาพได้ ดังนั้น

“ถ้าจะเอา Hate Speech มาใช้กับเมืองไทย จึงจำเป็นที่จะต้องมาสร้างสมดุลกับเสรีภาพของการสื่อสารด้วย และทำอย่างไรไม่ให้ Hate Speech เป็นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วก็ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุจลพินิจในการกำกับดูแลสื่อ อันนี้ก็จะกลายเป็นดาบสองคมที่อาจจะมาทำลายเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อก็เป็นได้” ผศ.พิจิตรากล่าว

ผศ.พิจิตรากล่าวว่า จากงานวิจัยเราพยายามมองหาวิธีป้องกัน Hate Speech เนื่องจากว่าชิ้นงานของงานวิจัยจะแบ่งงานเป็นสื่อไป ถ้าสื่อสิ่งพิมพ์ จะค่อนข้างเปิดเสรี เพราะสื่อสิ่งพิมพ์เติบโตมาพร้อมกับเสรีภาพในการแสดงออก กล่าวคือองค์กรสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์มีลักษณะที่สามารถดูแลตนเองได้ ในขณะที่สื่อวิทยุโทรทัศน์มีผลกระทบค่อนค้างมากกับวิธีคิดของคน นักวิจัยในฝั่งของสื่อวิทยุโทรทัศน์ จึงได้ออกมาตรการในการกำกับดูแลตัวเองให้เกิดขึ้น สำหรับสื่ออินเตอร์เน็ตเองก็จะมีจะมีข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะใช้กำกับดูแลHate Speech ด้วยเช่นกัน

ผศ.พิจิตรา กล่าวว่า การดูแล Hate Speech ไม่ให้เกิดในสังคมไทย สื่ออาจจะต้องช่วยบอกว่า Hate Speech เป็นสิ่งที่ผิด สิ่งหนึ่งที่สื่อมวลชนสามารถทำได้เลย โดยที่ไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ คือ การพยายามทำข่าว หรือทำเนื้อหารายการ ที่ยกย่องคนกลุ่มนี้ คือไม่ต้องยกย่องมากแต่ว่าพยายามดึงเขาให้มีความเป็นมนุษย์เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ คุณทำรายงานพิเศษอย่างไรก็ได้ที่นำเสนอภาพของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นคนมุสลิม ซึ่งโดน Hate Speech กระหน่ำ ในปัจจุบันนี้ให้เขามีความเป็นมนุษย์ สร้างบทสัมภาษณ์ สร้างเรื่องราวของคนๆ นั้น ให้คนทั่วประเทศไทยได้เห็นว่าคนๆ นี้ ก็คือคน อันนี้คือสิ่งที่สื่อมวลชนทำได้เลย โดยที่ Hate Speech ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ออกสื่อ หรือออกเนื้อหาเพียงครั้งเดียว แล้วมันเกิด Hate Speech เลย แต่มันต้องทำไปเรื่อยๆ  มีการส่งสารที่เป็น Hate Speech ไปเรื่อยๆ แล้วก็เกิดเหตุการณ์ ที่เรียกว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว” หรือ “ฟางเส้นสุดท้าย” มันสามารถยกระดับให้ Hate Speech เป็น Hate Crime  หรือ อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังได้

 

สื่ออาชีพต้องปฏิเสธวาทกรรมสร้างความขัดแย้ง

ผศ.พิจิตรากล่าวต่อว่า หากย้อนกลับมาในส่วนที่เป็นข้อเสนอมองว่า สื่อสามารถทำสกู๊ป หรือรายงาน หรืออะไรก็ตาม ยกคนกลุ่มนั้นที่กำลังตกเป็นเป้าหมายของ Hate Speech ให้มีความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นในสายตาคนด้วยกัน ตรงนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คุณอาจจำเป็นต้องผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อตอกย้ำ Message เหล่านี้ เพื่อที่จะสู้กับ Hate Speech ที่ตอนนี้กำลังมีกลุ่มก้อนทางการเมืองเล่นกันค่อยข้างรุนแรงอยู่พอสมควร สำหรับตอนนี้เราเข้าสู่ในส่วนของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ก็เลยอยากจะบอกนิดนึงว่า ถึงแม้ว่าสื่อมวลชนจะมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพทุกอย่างมันตามมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ตอนนี้เราอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่มันฟรีมาก หลายคนสามารถผลิตสื่อได้ คนที่ไม่ได้เป็นนักข่าว Professional (ผู้เชี่ยวชาญ) ไม่ได้ถูกเทรนมาก็สามารถเป็นนักข่าวได้ หรือว่าผลิตสื่อได้ ตรงนี้เองค่ะถือว่าเป็นโอกาส แต่ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ยังต้องการเรียกร้องผู้ที่มีประสบการณ์ และผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อที่เป็นตัวจริง มายืนหยัดเพื่อที่จะบอกว่าตนเองปฏิเสธ Hate Speech เพราะว่าถ้าเกิดคุณดูแล้ว ถ้าสังคมไหนเป็นสังคมที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล สังคมนั้นไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยค่ะ ไม่สามารถเรียกตนเองว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยได้ ถ้าสังคมไหนเป็นสังคมที่มี Hate Speech เกิดขึ้น คุณพยายามอ้างว่าคุณแสดงออก Hate Speech เหล่านั้น ว่าคุณอยู่บนโลกที่มีเสรีภาพ คุณอยู่บนโลกประชาธิปไตย คุณแสดงออกอะไรก็ได้ แต่ต้องถามว่า Message หรือว่าเนื้อหาที่คุณแสดงออกเป็นเนื้อหาที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่หรือเปล่า? ถ้าเป็นเนื้อหาที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นั่นหมายความว่าคุณกำลังใช้เสรีภาพตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อทำลายประชาธิปไตยอยู่ค่ะ นั่นคือคุณกำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ ซึ่งการเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ศักดิ์เสรีความเป็นมนุษย์แล้วก็การดำรงอยู่ของมนุษย์สำคัญที่สุด

 

สร้างสมดุล ไม่ลดทอนเสรีภาพและบทบาทการตรวจสอบ

ผศ.พิจิตรากล่าวว่า เราควรระมัดระวังมากๆ เพราะสื่อมวลชนควรมีเสรีภาพอยู่แล้ว เราต้องรักษาสมดุลของ Hate Speech ของนักข่าว ทำอย่างไรไม่ให้ลดทอนเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของนักข่าว ซึ่งตัวนักข่าวเองก็ต้องมีบทบาทในการตรวจสบผู้ที่มีอำนาจ ไม่ใช่ว่าเราระวัง Hate Speech แล้ว ไปลดทอนเสรีภาพของสื่อเอง ซึ่งตรงนี้เองเป็นเส้นบางๆ ที่แบ่งไว้ เราควรที่จะต้องทีความระมัดระวัง สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์แล้วควรจะมีเสรีภาพ และต้องมีการตรวจสอบกันเองในเรื่องของ Hate Speech เพราะผลกระทบในเรื่องวิธีคิดของคน แน่นอนว่าสื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นแหล่งข่าวที่สำคัญ แต่ด้วยเทคโนโลยีมันไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น ยกเว้นสื่อสิ่งพิมพ์ถูกผลิตซ้ำในอินเทอร์เน็ตเราก็ต้องระมัดระวัง

ผศ.พิจิตรากล่าวว่า ส่วนสื่อวิทยุโทรทัศน์ เราไม่ควรให้เสรีภาพมากขนาดนั้น เพราะต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบค่อนข้างมาก เพราะมีการใช้ทรัพยากรของสังคม นั่นคือคลื่นความถี่ในการทำงาน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเรื่อง Hate Speech ค่อนข้างมาก ส่วนตัวเห็นว่าฟรีทีวีไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะพวกเขามีความเป็น Conservative ระมัดระวังตัวค่อนข้างมากในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่ทางฝั่งสื่อที่อยู่ในช่องจานดาวเทียม เรื่องนี้จะไม่โทษนักข่าวด้วยกัน เพราะว่าในหลายๆ รายการนั้นไม่ได้เกิดจากนักข่าวเข้ามาทำข่าว ซึ่งหลายๆ รายการก็ได้ผลิต Hate Speech เป็นจำนวนมาก เคยเจอตัวต่อตัวขนาดอยู่ต่อหน้า กสทช.ก็ยังบอกว่าเขาจงรักภักดี แต่หลังจากนั้น Hate Speech มาเต็ม จะอ้างในส่วนของความจงรักภักดี หรืออ้างในหลักประชาธิปไตย อะไรก็แล้วแต่ แล้วเป็นผลิตHate Speech ต่อจากนั้น ก็ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปแล้ว

“ถ้าสื่อจะช่วยในการลด Hate Speech ทั้งหมด นอกจากจะตรวจสอบกันเองแล้ว สื่องยังต้องผลิตรายการที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้กับบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายของ Hate Speech อันนึงที่จะเสริมก็คือ สามารถเล่นกับอารมณ์ขันได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะใช้กับบริบทของสังคมไทยได้หรือไม่ ซึ่งต้องถามตัวผู้ผลิตสื่อเอง เพราะผู้ผลิดก็น่าจะรู้จักคุ้นเคยกับผู้รับสารในเมืองไทยว่ามีพฤติกรรมอย่างไร” ผศ.พิจิตรา กล่าว

ผศ.พิจิตรา ระบุว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สื่อสามารถช่วยลด Hate Speech ได้หรือไม่ในสังคมไทย ก็คือรายการในญี่ปุ่นจะมีความต่างจากรายการไทยก็คือ เขาจะไม่มีความเร่งรีบเหมือนในไทยที่ตับภาพฉับๆ ส่วนหนึ่งที่เขามีคือการ Informative ที่เน้นการให้ข้อมูลแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างเรื่องถั่วงอกถึงขั้นมีงานวิจัย ว่าถั่วงอกทำอะไรได้บ้างนอกจากประโยชน์แล้ว ไปถึงห้องแล็บโรงานสามารถเอารถไปวางบนถั่วงอก เมื่อถั่วงอกโตก็สามารถยกรถได้ คือทุกอย่างอยู่บนฐานข้อมูลข่าวสาร ที่เป็น Informative มากๆ และด้วยสาเหตุนี้เองก็ทำให้คนเสพสื่อจะมีพื้นฐานอยู่บนเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในสังคม เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้รายการในไทย นำเสนอข้อมูลไม่ต้องเร็วมาก และไม่จำกัดอยู่ในเฉพาะรายการข่าว ทุกรายการ ที่อยู่บนฐานให้ข้อมูลและความเป็นเหตุเป็นผลให้กับคนในสังคม ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่ทีวีดิจิตอลจำนวน 24 ช่องจะอาศัยช่วงที่คนงงจุดยืนว่าจะดูช่องไหนดี ตอนนี้เรามีช่องทางในการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา แต่จะเป็นการแข่งขันเรื่องคุณภาพ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยตัวหนึ่งที่จะทำให้เราผลิตรายการที่แตกต่างและหลากหลายบนฐานของเหตุผล

/////////////