ข่าวการประชุม บก. เพื่อรับฟังความเห็นเนื้อหาตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนในมาตรา 48,49 และ 50

 

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความเห็นตัวแทนบรรณาธิการและผู้บริหารสื่อ เพื่อพิจารณาเนื้อหา ตามร่างรัฐธรรมนูญ ใหม่ที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนในมาตรา  48,49  และ 50

 

นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า   หากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตามร่างที่ปรากฏในขณะนี้  จะทำให้เม็ดเงินค่าโฆษณาหายไปจากแวดวงสื่อมวลชนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี จากที่เคยมีอยู่ปีละ 1 แสนล้านบาทต่อปี เพราะภาครัฐหรือส่วนราชการไม่อาจใช้จ่ายเงินเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐได้ จนกว่ากฎหมายว่าด้วยการใช้จ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐจะร่างแล้วเสร็จแต่เนื้อหาส่วนนี้ก็ถูกร่างขึ้นมาเพราะต้องการสกัดการครอบงำสื่อโดยรัฐบาลด้วยการทุ่มซื้อโฆษณาและการใช้งบประมาณไปเพื่อการหาเสียงให้คนเองกับนักการเมือง

 

นอกจากนี้ มาตรา 49 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรวิชาชีพตามรัฐธรรมนูญ โดยมีกรอบเนื้อหา 4 อย่างคือ 1.ปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน 2.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพของสื่อ 4.คุ้มครองสวัสดิการของสื่อ โดยยังไม่มีรายละเอียดว่า เนื้อหารายละเอียดของกฎหมายจะเป็นอย่างไรแต่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแนวทางจากการกำกับดูแลกันเองเป็นการเปิดทางให้ใช้กฎหมายมาคุมสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก

 

นอกจากนี้ ตามร่างมาตรา 50 ในเรื่องคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงหลักการหลายอย่าง รวมทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นไปใต้ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของชาติและตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อวงการสื่อมวลชนและประชาชนอย่างกว้างขวาง สื่อมวลชนจึงควรจะได้ปรึกษาหารือกันเรื่องนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบ

 

นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า  มาตรา 49 นั้น จะต้องมีการออกกฎหมายลูกในขั้นตอนสุดท้าย แต่จะไม่มีอำนาจรัฐมาควบคุม เพราะองค์ประกอบที่จะไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูกนั้น กำหนดไว้ว่า จะประกอบด้วยผู้อยู่ในวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผู้แทนจากฝ่ายผู้บริโภค และภาคประชาชน รวมถึง ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

ส่วนรายได้ที่หายไปจากการโฆษณาตามมาตรา 48 นั้นไม่ได้ห้ามหน่วยงานของรัฐซื้อโฆษณาสื่อแต่ต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายลูกที่จะต้องร่างต่อไป นอกจากนี้ยังจะมีการทำกฎหมายว่าด้วยการครอบงำสื่อออกมา และปรับปรุง กฎหมายข้อมูลข่าวสาร 2540  ให้ตรงตามเจตนารมณ์เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ

 

นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการระดมความเห็นครั้งนี้ ที่ประชุม เห็นว่า ประเด็นในมาตรา 48 เรื่อง  การทำกฎหมายลูกว่าด้วยการใช้เงินรัฐซื้อโฆษณาควร เป็นไปอย่างรอบคอบ สามารถป้องกันการการใช้เงินจำนวนนี้ไปไม่ให้เกิดการครอบงำสื่อ หรือ  ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวในการโฆษณาของนักการเมือง และการใช้เงินควรไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขณะที่ มาตรา 49 ในเรื่องขอบเขตของการจัดกฎหมายว่าองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ประชุมได้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำบางส่วนให้ชัดเจนขึ้น  เช่น ให้ระบุถึงความรับผิดชอบของสื่อมวลชนโดยตรง แทนที่จะใช้ คำว่า พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพซึ่งเป็นถ้อยคำที่แคบเกินไป และให้เปลี่ยนคำว่า การคุ้มครองสวัสดิการ เป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพสื่อ เพราะเห็นว่า สื่อไม่ควรมีอภิสิทธิ์ ไม่ควรได้รับสวัสดิการเป็นพิเศษเทียบกับอาชีพอื่นในสังคม

 

นายภัทระ  กล่าวภายหลังว่า  ในวัน 20 พฤษภาคม สี่องค์กรสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะทำหนังสื่อยื่นไปถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.) เพื่อให้สปช.พิจารณาความต้องการของสื่อเพื่อนำไปแปรญัตติในรัฐธรรมนูญ   ขณะเดียวกัน  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะจัดเวทีรับฟังความเห็น ให้กับบรรดาสื่ออื่นๆ ที่สนใจเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความรอบต่อไปและทั้งนี้ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ  จะประมวลความเห็นเพื่อทำหนังสือไปยื่นต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงอีกครั้ง

 

นายภัทระ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อมวลชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงว่า ควรจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีสภาวิชาชีพแยกย่อยลงไปตามจังหวัดและภูมิภาค เพื่อให้เป็นกลไกในการป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพและสวัสดิการสื่อนั้น เป็นแนวทางที่เสมือนพยายามจะเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างสื่อมวลชนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการมาตามธรรมชาติที่เป็นจริงให้เป็นเหมือนระบบราชการ คณะกรรมาธิการฯควรจะพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ มิใช่ทำให้การแก้ไขปัญหาสื่อมวลชนกลายเป็นวิกฤตที่เพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่อีก