ทำความรู้จัก…กฎหมายควบคุมสื่อฉบับใหม่

ทำความรู้จัก...กฎหมายควบคุมสื่อฉบับใหม่

ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

ความเป็นมา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ ต่างมีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไมว่าจะทำงานในสื่อเอกชนหรือสื่อของรัฐ แต่ยังไม่เคยมีกฎหมายประกอบเพื่อให้การคุ้มครองดังกล่าวเป็นรูปธรรม จนกระทั่งในปี ๒๕๕๒ รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้เชิญผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจนกระทั่งไปเสร็จสิ้นในคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ ๑ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้นำร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนมาดัดแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อเพื่อกำกับดูแลกันเอง แต่เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ตกไปด้วย ก่อนจะมีการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จึงได้มีการนำร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง จนเสร็จสิ้นพร้อมนำเสนอ สปท.เพื่อรับรองในเร็วๆนี้

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

-          กำหนดให้การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนต้องไปจดแจ้งกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

-          ให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” โดยให้มีอำนาจขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนในอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและรับคำร้องอุทธรณ์ในกรณีผู้เสียหายอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากองค์กรวิชาชีพ

-          คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ ๕ คน ปลัดกระทรวง ๔ คนจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการคลัง แล้วไปเลือกกกรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๔ คน รวมเป็น ๑๓ คน

-          สภาสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจสั่งปรับองค์กรสื่อมวลชนต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของสภาฯ ในอัตราสูงสุดถึง ๑๕๐,๐๐๐ บาท

ผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

-          การให้อำนาจแก่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติในการขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงการสั่งปรับในอัตราที่สูง ทำให้มีโอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงการใช้อำนาจนี้ผ่านตัวแทนของภาครัฐและกลุ่มจัดตั้งที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพแห่งชาติ

-          เมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการใช้อำนาจในการขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพฯ ก็จะทำให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนถูกแทรกแซง ถูกข่มขู่โดยใช้กฎหมายนี้มาเล่นงานไม่ให้ทำหน้าที่เสนอข่าวได้อย่างอิสระ ประชาชนก็จะไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างเต็มที่และรอบด้าน

-          ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกรงกลัวกฎหมายนี้ ก็จะไม่กล้าทำหน้าที่ของตนอย่างมีอิสระ ทำให้กระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยไม่ต้องใช้กฎหมายได้จริงหรือ

-          ที่ผ่านมามักมีข้อวิจารณ์ว่าองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ลาภวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ฯลฯ ไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้ ทำให้สื่อมวลชนยังคงมีการละเมิดจริยธรรม แต่ข้อเท็จจริงคือ การกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย จะต้องกระทำควบคู่ไปกับการกำกับดูแลโดยสังคม ดังนั้น ในประเทศที่มีภาคประชาสังคมเข้มแข็ง การกำกับดูแลกันเองก็จะมีประสิทธิภาพ

-          สังคมไทยกำลังพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการตรวจสอบโดยผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งหมายรวมถึงการตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย ดังนั้น กระบวนการตรวจสอบกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจะเข้มข้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

-          สำหรับข้อวิจารณ์ว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่สามารถตรวจสอบองค์กรสื่อที่ไม่ได้เป็นสมาชิกได้นั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้นำเสนอกฎหมายร่างคู่ขนานที่เน้นการคุ้มครองเสรีภาพเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามกรอบจริยธรรมอย่างแท้จริง พร้อมทั้งให้มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นตามกฎหมายสามารถเข้าไปตรวจสอบจริยธรรมขององค์กรสื่อที่ไม่เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพได้ แต่ไม่มีอำนาจในการลงโทษปรับเหมือนในร่างของ สปท.

บทสรุป: ทำไมต้องคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้

-          หากมีการออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาจริง ประเทศไทยก็จะกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ย้อนยุคไปสู่การที่รัฐบาลสามารถเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้ ทั้งๆ ที่อ้างมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

-          ร่างกฎหมายนี้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่บอกว่าจะต้องออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรขึ้นมาควบคุมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเลย

-          ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เคยปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ ก็จะทำงานอยู่ในภาวะหวาดกลัวการใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ซึ่งผลเสียก็จะไปตกอยู่กับสาธารณะที่ขาดโอกาสในการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนรอบด้าน

-----------------------------------------------------------------------------------