สมาคมนักข่าวฯคัดค้านแนวทางการปฏิรูปสื่อของสปท.-สนช. แฉเปิดช่องให้อำนาจรัฐควบคุมสื่อ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติและหลักการประชาธิปไตย ประกาศเดินหน้าคัดค้านกฎหมายปิดปากสื่อปิดตาประชาชนให้ถึงที่สุด

(ดาวโหลดโปสเตอร์)

 

สมาคมนักข่าวฯคัดค้านแนวทางการปฏิรูปสื่อของสปท.-สนช. แฉเปิดช่องให้อำนาจรัฐควบคุมสื่อ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติและหลักการประชาธิปไตย ประกาศเดินหน้าคัดค้านกฎหมายปิดปากสื่อปิดตาประชาชนให้ถึงที่สุด

นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ที่มีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ขณะที่มีข่าวว่า คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก็มีการยกร่างพ.ร.บ.สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ร่างนี้มีหลักการและเหตุผลไปในทิศทางเดียวกัน ในการเปิดประตูให้ฝ่ายอำนาจรัฐ สามารถเข้าแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของนักข่าว-สื่อมวลชนมืออาชีพ ผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

ทั้งนี้ โดยกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและยังเปิดช่องให้มีกรรมการอื่นอีก 4 คนที่ฝ่ายอำนาจรัฐสามารถคัดสรรเข้ามาเป็นกรรมการฯ จากกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทั้งหมด 13 คน ที่จะมีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อแค่ 5 คน ขณะที่สภาดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงได้  เท่ากับเปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

นายวันชัย กล่าวว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอประกาศจุดยืนคัดค้านทุกรูปแบบให้ถึงที่สุดต่อแนวคิดดังกล่าวของสปท.และสนช. แต่สมควรมีกติกาที่บังคับกลไกให้องค์กรสื่อกำกับดูแลกันเอง ตามร่างกฎหมายฉบับที่องค์กรสื่อวิชาชีพสื่อมวลชนเสนอประกบกับร่างของ สปท. เพื่อให้สมกับที่เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน เป็นนักข่าวมืออาชีพนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ตามกรอบจริยธรรม คอยเป็นหูเป็นตาตรวจสอบประเด็นสาธารณะ ให้ผลประโยชน์สูงสุดตกแก่สังคมส่วนรวม

“ล่าสุดจากการประกาศดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น(CPI)ที่ประเทศไทยได้คะแนนและอันดับตกต่ำลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขบวนการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ทำให้นานาชาติไม่ไว้วางใจในเรื่องความโปร่งใสของไทย จึงเป็นสิ่งสปท.และสนช.ตลอดจนผู้มีอำนาจในคสช.น่าจะได้ตระหนัก”

ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯจะเดินหน้าเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายที่มีลักษณะมุ่งเข้าควบคุมแทรกแซงสื่อให้ถึงที่สุด โดยจะร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆกว่า 25 องค์กรประกาศจุดยื่นเรื่องนี้ร่วมกันในวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม เวลา 13.00 น.ที่สมาคมนักข่าวฯ โดยจะหารือร่วมกันกำหนดมาตรการเคลื่อนไหวต่างๆในเวลา 11.00 น.

 

รายชื่อองค์กรสื่อมวลชนร่วมแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ...

1. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

2. สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

3. สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

4. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

5. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

6. สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

7. สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

8. สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย

9. สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

10.สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

11. สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย

12. สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

13. สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย

14. สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

15. สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย

16. สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

17. สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

18. เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด

19. เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน

20. เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก

21. เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้

22. ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

23. ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

24. ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

25. สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย