สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-30 พ.ย.2562

สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-30 พ.ย.2562

1.เครือเนชั่น หรือ NMG ได้รายงาน ประกาศเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาเพิ่มทุน ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยนายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเนชั่นมัลติมีเดีย จำกัด(มหาชน) ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องแจ้งเลื่อนการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่กำหนดไว้ในวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.2562 นี้ออกไป เนื่องจากได้ปรากฏอย่างชัดเจนว่ามีกลุ่มการเมือง บางกลุ่มได้เข้ามาแทรกแซง การประชุมดังกล่าว ด้วยการ ข่มขู่ ผู้ถือหุ้นบางกลุ่มของ NMG เพื่อให้คัดค้านการเพื่มทุนในครั้งนี้ ทำให้ผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม เกิดความไม่สบายใจและจะพิจารณาในเรื่องนี้ใหม่  จนอาจจะทำให้การประชุมผู้ถือหุ้นอาจจะมีบัญหา บริษัทฯ จึงมีความเห็นว่าควรจะเลื่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นออกไปก่อน เพื่อจะได้มีเวลาในการทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวมากขึ้น โดยจะใช้เวลาในการทำความเข้าใจในการทำหน้าที่ฐานะองค์กรสื่อกับนักลงทุน ต่อการพิจารณาเพิ่มทุนใน NMH เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดให้กับบริษัท

 

2.เว็ปไซค์ tcijthai.com ได้รายงาน หัวข้อ "Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt" https://www.tcijthai.com/news/2019/11/scoop/9558 ) ในสถานการณ์ของสื่อวิทยุกระจายเสียง ในไทยได้รับความนิยมลดลงตามกาลเวลา แม้ครั้งหนึ่งเคยกระเตื้องขึ้นเพราะนโยบายวิทยุชุมชน ก่อนฝ่ายมีอำนาจควบคุมเข้ม เพราะถูกนำไปใช้ทางการเมือง ยุค digital disrupt คนฟังยิ่งน้อยลง รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาลดลงมาก หลายสถานีดังประสบภาวะขาดทุน

โดยจากการสำรวจในปี 2559 พบว่าทั่วประเทศมีเครื่องรับวิทยุรวม 16,430,167 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องรับวิทยุในรถยนต์มากที่สุด 8,322,536 เครื่อง ขณะที้สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจอัตราการฟังวิทยุของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ปี 2532 2537 2546 และ 2551 พบว่ามีผู้ฟังวิทยุลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2532 ประชากรร้อยละ 56.7 ของประเทศรับฟังวิทยุเป็นประจำ จากนั้นลดลงมาเรื่อยๆ ในปี 2537 เหลือร้อยละ 43.9 ปี 2546 เหลือร้อยละ 42.8 และในปี 2551 ผู้รับฟังวิทยุเป็นประจำลดลงเหลือเพียงร้อยละ 31.1

ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการวิทยุกระจายเสียง กสทช. ทำการสำรวจในช่วงปี 2559 พบว่ามีประชากรที่ฟังวิทยุทั้งหมดประมาณ 27,669,724 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ที่รับฟังวิทยุจำแนกตามความถี่ในการรับฟัง พบว่าส่วนใหญ่รับฟังวิทยุ 1-3 ครั้งต่อเดือน มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.40 ของผู้ที่รับฟังวิทยุทั้งหมด รองมาคือการรับฟังวิทยุในช่วง 1-2 วันต่อสัปดาห์เป็นสัดส่วนร้อยละ 19.26 ทั้งนี้ทั่วประเทศมีเครื่องรับวิทยุรวม 16,430,167 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องรับวิทยุในรถยนต์มากที่สุดที่ 8,322,536 เครื่อง ตามมาด้วยเครื่องรับวิทยุในบ้าน 7,500,567 เครื่อง และเครื่องรับวิทยุที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ 607,064 เครื่อง

นอกจากนี้ ข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ FM จำนวน 40 สถานี (87.5 MHz-107.0 MHz) จากทุกช่องทาง (เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเดือน มี.ค. 2562 พบว่ามีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปรับฟังวิทยุประมาณ 10,262,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากเดือน ก.พ. 2562 ประมาณ 77,000 คน

 

3. เว็ปไซค์ tcijthai.com ยังได้รายงาน กัวข้อ Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง ? (https://www.tcijthai.com/news/2019/11/scoop/9541) โดยเป็นสถานการณ์ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ 'ดิจิทัล' ผลกระทบหนักสุดตกอยู่ที่กลุ่ม 'สื่อสิ่งพิมพ์ไทย' พบ 'หนังสือพิมพ์' ทยอยเลิกฉบับพิมพ์มุ่งสู่ออนไลน์ ด้าน 'นิตยสาร' ก็ทยอยปิดตัว ปี 2551-2561 เม็ดเงินโฆษณา 'หนังสือพิมพ์-นิตยสาร' ลดลงเรื่อยๆ -  ระหว่างปี 2555-2557 มูลค่าของบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ 'หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์' ลดลง - องค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ปรับตัวมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ 'ออนไลน์' ไม่สร้างกำไร - ช่วง 6 เดือนหลังปี 2562 'CEO กลุ่มสิ่งพิมพ์' มีความเห็นต้องลดการจ้างงาน รับผลเชิงลบจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์

นอกจากนี้พบว่า หนังสือพิมพ์’เลิกฉบับพิมพ์ มุ่งสู่ออนไลน์ 'นิตยสาร'ทยอยปิดตัว หลังเคยพุ่งสูงสุดในปี 2553 ซึ่งการเกิดขึ้นของ ‘สื่อดิจิทัล’ ส่งผลกระทบต่อสื่อเก่าอย่าง ‘สื่อสิ่งพิมพ์’ มากที่สุดโดยเฉพาะ ‘หนังสือพิมพ์’ ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทยอยเลิกพิมพ์แล้วมุ่งสู่การนำเสนอเนื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์แทน จากตัวอย่างเท่าที่รวบรวมได้ เช่น

  • ธ.ค. 2559 หนังสือพิมพ์ 'บ้านเมือง' ยุติการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ โดยฉบับสุดท้ายคือวันที่ 31 ธ.ค. 2559 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • มี.ค. 2561 หนังสือพิมพ์ 'เชียงใหม่นิวส์' ประกาศเลิกผลิต เลิกพิมพ์ และจัดจำหน่าย โดยฉบับวันที่ 5 มี.ค. 2561 เป็นฉบับสุดท้าย เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • มี.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'โพสต์ทูเดย์' [สื่อในเครือ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) หรือ POST] ได้ประกาศตัวผ่านทางเว็บไซต์ว่าจะยุติบทบาทบนหน้าหนังสือพิมพ์ในฉบับสุดท้าย ฉบับที่ 5,897 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • มี.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'M2F' หนังสือพิมพ์แจกฟรีขนาดแท็บลอยด์ (ค่าย POST เช่นเดียวกับโพสต์ทูเดย์) ก็ประกาศเลิกพิมพ์ในเดือน มี.ค. 2562 ด้วยเช่นกัน เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • พ.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'สยามกีฬา' ได้ควบรวมหนังสือพิมพ์และนิตยสารของค่ายสยามสปอร์ต ไว้ในฉบับเดียวคือ 'ฟุตบอลสยาม, มวยสยาม และสยามดารา' โดยเนื้อหาบางส่วนของฟุตบอลสยามและมวยสยาม จะนำเสนอผ่านทางออนไลน์
  • มิ.ย. 2562 หนังสือพิมพ์ 'THE NATION' หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 1 ใน 2 ฉบับที่มียอดพิมพ์มากที่สุดของไทยวางแผงฉบับสุดท้ายในวันที่ 28 มิ.ย. 2562 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว)

ขณะที่สถานการณ์ของนิตยสารก็เผชิญสถานการณ์ที่หนักหน่วงเช่นกัน โดยปี 2553 ประเทศไทยมีหัวนิตยสารในตลาด 232 ฉบับ ซึ่งเพิ่ม ขึ้นถึงร้อยละ 20 ในระยะเวลาเพียง 5 ปี แต่กระนั้นกว่าร้อยละ 29 ของนิตยสารเหล่านี้ก็ปิดกิจการลงภายใน 5 ปีด้วยเช่น เดียวกัน  ในปี 2554 มีหัวนิตยสารในตลาดเหลือเพียง 183 ฉบับ จากนั้นในปี 2560 มีนิตยสารปิดตัวนับได้ถึง 54 ฉบับ จากทั้งหมด 129 ฉบับ

ที่สำคัญข้อมูลที่ Brandbuffet รวบรวมจาก GroupM เมื่อต้นปี 2561 พบว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รายได้จากการโฆษณาของธุรกิจสื่อในไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งการลดงบโฆษณาของธุรกิจต่างๆ รวมถึงการเติบโตของสื่อออนไลน์และการเปลี่ยน แปลงของพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ที่ในอดีตเคยรุ่งเรืองเป็นสื่อใหญ่อันดับ 2 รองจากสื่อทีวี พบว่าในช่วงหลังเม็ดเงินโฆษณาหดหายลงอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2551 เม็ดเงินโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์อยู่ที่ 12,841 ล้านบาท | ปี 2552 อยู่ที่ 11,956 ล้านบาท | ปี 2553 อยู่ที่ 16,973 ล้านบาท | ปี 2554 อยู่ที่ 16,462 ล้านบาท | ปี 2555 อยู่ที่ 17,040 ล้านบาท | ปี 2556 อยู่ที่ 17,637 ล้านบาท | ปี 2557 อยู่ที่ 15,617 ล้านบาท | ปี 2558 อยู่ที่ 14,869 ล้านบาท | เมื่อเข้าสู่ปี 2559 เริ่มส่งสัญญาณลดลง การใช้สื่อประเภทนี้น้อยลงไปอยู่ที่ 11,965 ล้านบาท | กระทั่งปี 2560 ตัวเลขเงินโฆษณาหล่นไปอยู่ที่ 8,925 ล้านบาท | ส่วนข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ระบุว่าในปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาของสื่อหนังสือพิมพ์อยู่ที่ 6,100 ล้านบาท

ในรายงานครั้งนี้ยังอธิบายถึงสื่อหนังสือพิมพ์ในไทยปรับตัวสู่ออนไลน์มาตั้งแต่ยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หรือกว่า 20 ปีมาแล้ว ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ผู้จัดการ เมื่อวันอังคารที่ 20 เม.ย.2542 สำหรับประเทศไทย ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีการขยายไปยังธุรกิจสื่ออื่นนอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์มานานแล้ว ส่วนใหญ่แล้วมีเป้าหมายในการปรับองค์กรขยับไปสู่ยุคหลอมรวมสื่อ (Convergence) ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัล

แม้สื่อต่างๆ จะเริ่มก้าวสู่ออนไลน์ตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แล้ว ตัวอย่างเช่นสื่อในเครือฐานเศรษฐกิจที่มีการรายงานข่าวออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2538 (เป็นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในเครือชื่อ The Reader แต่ขาดบุคลากรที่มีความชำนาญจึงได้ปิดตัวลง) แต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธุรกิจต่างๆ ทรุดตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นลูกค้าโฆษณากลุ่มใหญ่ถึงร้อยละ 40-70 ของหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ธุรกิจโฆษณาและสื่อต่างๆ ทรุดตัวตามไปด้วย ทำให้สื่อต่างๆ ต้องลดต้นทุนค่ากระดาษ การลงมาทำช่องทางออนไลน์อย่างจริงจังจึงเกิดขึ้นในยุคนี้

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการใช้ Social Media รับข่าวสาร ตั้งแต่ต้นยุค 2010 (พ.ศ. 2553) เป็นต้นมา การเติบโตของ Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Youtube และอื่นๆ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่ออีกครั้ง วงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนตั้งแต่ปี 2556 ที่เม็ดเงินโฆษณาทยอยตกต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ต้องปรับตัวอีกครั้ง

โดยการศึกษาเรื่อง ‘การปรับตัวของสื่อนิตยสารในทศวรรษที่ 2010-2020’ ที่ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้นำองค์กรและผู้บริหารระดับบรรณาธิการของนิตยสาร 10 คน จากนิตยสารชั้นนำ 5 ฉบับ เมื่อปี 2558 พบว่านิตยสารทั้ง 5 ฉบับมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เช่น เปลี่ยนแปลงจากการพิมพ์นิตยสารอย่างเดียวมาขยายช่องทางเพิ่มขึ้นในยุคที่เป็นดิจิทัล, ปรับฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นเพื่อผู้บริโภครุ่นใหม่, มีการขยายช่องทางโดยไปทำรายการทีวี รวมทั้งการรับจัดงานกิจกรรมต่างๆ ทั้งงาน event งาน fair และงาน charity เพิ่มขึ้นเป็นต้น

 

4.เว็ปไซค์ NationTV ได้รายงานถึงถอดบทเรียน ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ "เปลี่ยน" ก่อนถูกดิสรัป โดย "3กูรู" ภายหลังวันที่ 30 ต.ค.2562 (https://www.nationtv.tv/main/content/378749037/ ) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC จัดหลักสูตร Digital Transformation for CEO เช่นเคยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้คร่ำหวอดในหลากแวดวงธุรกิจมา"ถอดบทเรียน"การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ฝ่ากระแสดิจิทัล ดีสรัปชัน

ภายในงานนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้เสวนาในหัวข้อ Media Disruption : How to Media Business Nest Move Towards Case Study : มติชน ว่า เป็นองค์กรสื่อยักษ์ใหญ่อายุ 42 ปี ต้องเผชิญการถูกดิจิทัล "ดิสรัป" แต่ธุรกิจสื่อค่อนข้างที่จะเจอศึกหนักมากทันทีที่เข้ามารับบทผู้นำองค์กรในตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ" คือปีที่ 2537-2538 เพื่อเคลื่อนธุรกิจสื่อ กลับต้องประสบภาวะการบริหารงานที่ "ขาดทุน" ต่อเนื่อง 3 ปี โดยเฉพาะปีที่ 3 ขาดทุนหนักกว่า 1 และ 2 ปีรวมกันด้วยซ้ำ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในการอ่านหนังสือพิมพ์เปลี่ยนไป จากกระดาษไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปีที่ผ่านมาคนไทยใช้เวลาอินเตอร์เน็ตเสพสื่อสังคมออนไลน์ติดท็อป 10 ของโลก และมีแนวโน้มใช้เวลาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกใช้มือถือในการหาข้อมูลแทนคอมพิวเตอร์มากขึ้น เฉลี่ย 2.9 กิกกะไบท์ (GB)ต่อเดือน แต่คนไทยเฉลี่ย 9 GB ต่อคนต่อเดือน สวนทางกับยอดขายหนังสือพิมพ์ทั่วโลกที่ลดลง โดยในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศ ที่ยอดขายเพิ่ม ได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ตามการเติบโตชนชั้นกลาง ซึ่งในอดีตปี 2550 หนังสือพิมพ์ในไทยเคยมียอดขายรวมกันสูงสุดแตะ 2.2 ล้านเล่มต่อวัน แต่ปัจจุบันแตะ 1 ล้านเล่มถือว่ายากมาก ส่วนคนที่ยังอ่านหนังสือพิมพ์ล้วนอายุ 40 ปีขึ้นไป และเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการซื้อสื่อโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ด้วย

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยปี 2557 บริษัทเริ่มปรับโครงสร้างองค์กรทยอยยกเลิกการผลิตสิ่งพิมพ์เอง ปิด 3 โรงพิมพ์ รวมถึงยุติธุรกิจสายส่ง จนต้องลดพนักงานจากทั้งเครือ 1,800 คน เหลือ 886 คน(ณ 30 ต.ค.2562) พร้อมโยกการผลิตและสายส่งไปยังบริษัทข้างนอกหรือเอาท์ซอร์สแทน

ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของมติชน ประกอบด้วย 1.ออนไลน์โดยทั้งเครือมีคอนเทนท์เสิร์ฟคนอ่านเฉลี่ย 800-1,000 ข่าวต่อวัน 2.หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ 3.การจัดอีเวนท์ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนงานมากขึ้น 4.การอบรมสัมมนา จากเดิมจัดให้กับพนักงานในเครือ แต่ปัจจุบันเปิดรับคนภายนอกด้วย และ5.การบริการด้านข้อมูลหรือดาต้า เซอร์วิส เนื่องจากทั้งเครือมีฐานข้อมูลคนอ่านนับ 10 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า อนาคตจะนำไปต่อยอดสร้างรายได้จากการขายโฆษณามากขึ้น เชื่อว่าดาต้าเซอร์วิส จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคเกิดขึ้นตลอดเวลา ล่าสุดพบว่าเทรนด์การรับชมวิดีโอมาแรง เห็นได้จากการนำเสนอข่าวบางชิ้น มีคนอ่าน 2 หมื่นวิว เมื่อทำเป็นคลิปวิดีโอ สัมภาษณ์แบบเจาะลึก พบว่ายอดการรับชมทะลุ 2 ล้านวิว มากกว่าการอ่าน 100 เท่าตัว ทำให้บริษัทเตรียมลงทุนซื้อไอโฟน 11 โปร เพื่อให้พนักงานถ่ายคลิปในการนำเสนอข่าวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเดินหน้าปรับโครงสร้างพนักงาน โดยจะลดอายุคนทำงานให้เฉลี่ยต่ำกว่า 35 ปี จาก 37 ปี

มาที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย เสวนาในหัวข้อ Do or Die : How To Win With Trasformation กล่าวว่า การทรานส์ฟอร์มหรือเปลี่ยนแปลงมีหลายระดับ ได้แก่ ระดับประชาชน องค์กร และภาครัฐ หากสังเกตการเปลี่ยนแปลงจะพบว่าภาคประชาชนมีการตื่นตัวมากสุด ตามด้วยภาคธุรกิจปรับ เช่น เครือเนชั่น มีการทรานส์ฟอร์ม ให้ความสำคัญกับดาต้าเซอร์วิสมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐของไทยยังเผชิญอุปสรรคในการทรานส์ฟอร์มหลากหลายด้าน โดยเฉพาะสิ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต่างๆดำเนินการได้ล่าช้ามักจะมาจากกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ

ทั้งนี้ อดีตการเปลี่ยนแปลงมักมองแค่การปรับองค์กรให้ทันสมัย ปรับกระบวนการทำงาน ผลิตแบบเดิมๆหรือรี-เอ็นจิเนียริ่ง แต่ต้องทำการสร้างใหม่หรือรีอินเวนท์ ไม่เช่นนั้นจะแข่งขันไม่ได้ในยุคนี้

ปิดท้ายที่นายสโรจ เลาหศิริ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด และผู้ร่วมก่อตั้ง แรบบิทส เทล ในเครือ ดิจิทัล กรุ๊ป กล่าวในหัวข้อ Media Disruption : How the Media Agency Must Move Towards Case study : Rabbit Tale ว่า 10 ปี ของการดำเนินธุรกิจดิจิทัลเอเยนซี บริษัทถูกดิจิทัลดิสรัปไม่แพ้กัน และต้องทรานส์ฟอร์มองค์กร 3 รอบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากผู้ให้บริการและพัฒนาเว็บไซต์ออนไลน์ ไปสู่บริการดิจิทัลเอเยนซีเต็มรูปแบบหรือดิจิทัล เอเยนซีฟูลเซอร์วิส แต่เมื่อยักษ์ใหญ่เอเยนซีทั่วโลกมองเห็นโอกาสธุรกิจเหมือนกัน จึงปรับตัวด้วยการขยายงานให้หลากหลาย มีพีอาร์ มีธุรกิจสื่อในมือ ทำงานตอบสนองความต้องการลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ต่างจากคู่แข่งที่ทำงานในเชิงลึก ล่าสุด เมื่อเทรนด์ดาต้าเป็นทุกสิ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ และบริษัทดาต้า ที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น เอคเซนเชอร์ ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ ฯ เข้าซื้อกิจการที่เป็นเอเยนซี บริษัทจึงปรับตัวสู่การเป็นอีโคซิสเทมรองรับการแข่งขัน

 

5.เว็ปไซค์ฐานเศรษฐกิจ ได้รายงานหัวข้อ เนชั่น กรุ๊ป แนะองค์กรเร่งปรับตัวรับ "ดิจิทัล ดิสรัปชัน" (https://www.thansettakij.com/content/business/414508) โดยนายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ  Media disruption : How the media business must move towards Case study Nation ในหลักสูตร  Digital Transformation for CEO (DTC) จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ,  ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็มเฟค จำกัด (มหาชน) ว่า วันนี้โลกดิจิทัลเข้ามา Disruption โลกธุรกิจมากมาย รวมทั้งอุตสาหกรรมสื่อที่ได้ถูก Disruption แล้วในช่วงที่ผ่านมาและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมธุรกิจมีเดียมีรายได้หลักมาจากโฆษณา

แต่ขณะนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปการหวังพึ่งรายได้ก้อนเดิมจากโฆษณาไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ต้องหาช่องทางรายได้ใหม่ๆเพิ่มเติม ให้ครบทุกช่องทาง หรือครบ 360 องศา ทั้งใน Online และ Offline เช่นเดียวกับเนชั่น กรุ๊ป ที่ทรานฟอร์มธุรกิจจากสื่อ สู่การเป็นคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ ข่าว พร้อมกับการสร้างโอกาสในการทำรายได้เพิ่มขึ้นจากช่องทางอื่นนอกจากโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากอีเวนต์ ออนกราวนด์ , เทรนนิ่ง&เอ็ดดูเคชั่น และทัวร์& เอ็กซ์พรีเรียน เป็นต้นซึ่งไม่ใช่แค่แต่องค์กรเนชั่นเท่านั้นต้องปรับตัว แต่องค์กรอื่นๆเองก็ต้องปรับตัวให้ทันโลกยุคใหม่เช่นกัน

 

6.เว็ปไซค์กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/854478) ได้รายงานว่า นายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยสถานการณ์บริษัมตั้งแต่ผู้บริหารชุดใหม่ของเนชั่น เข้ามาบริหารอย่างเต็มตัวตั้งแต่ต้นปี 2561 ผลประกอบการของเนชั่น ก็ปรับตัวดีขึ้นตลอดทั้งในแง่ของผลประกอบการที่ขาดทุนลดลง และจำนวนหนี้ที่ปรับลดลงจากงบการเงินเฉพาะกิจการล่าสุดที่เนชั่นแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์งวดไตรมาสที่ 1 สิ้นสุด 31 มี.ค.2562 ขาดทุนสุทธิ 71 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 365 ล้านบาท ขณะที่ภาระหนี้ของกลุ่มเนชั่นปรับลดลงจาก 3,233 ล้านบาทในปี 2560 เหลือเพียง 297 ล้านบาทในปัจจุบัน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 292 ล้านบาท

นายสมชาย ระบุถึงเงินที่คาดว่าจะได้รับจากการเพิ่มทุนจำนวน 813 ล้านบาท บริษัทเนชั่น จะนำไปใช้ชำระหนี้ 200 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เนชั่นกลายเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้สิน ที่เหลือจะนำไปลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจ จำนวน 455 ล้านบาท และลงทุนในทีวีเนชั่น 101 ล้านบาท ที่เหลือ 57 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับตัวเลขการเงินที่ออกมาจะเห็นว่า เนชั่นไม่ได้มีปัญหาการเงิน เราเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ และใช้หนี้เพื่อความแข็งแกร่ง การอภิปรายของนายศุภชัย จึงเป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง ทั้งผู้บริหารและพนักงานของเนชั่น ได้ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ด้วยดี

 

7.เว็ปไซค์มติชนออนไลน์ โดยทีมข่าวเศรษฐกิจได้รายงานดิสรัปชั่นทำพิษ “ทีวีดิจิทัล” กระอัก มีเสียวก๊อก2เริ่มบ่น “ไม่ไหวแล้ว” อ้อน“กสทช.”ปั๊มหัวใจอีกรอบ (https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_1758089) โดยรายงานได้อธิบายถึงคลื่น “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” โหมโจมตีธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” มาพักใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการส่งเสียงร้องโอดโอย กระทั่งรัฐบาล โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการประมูลทีวีดิจิทัล วิ่งโร่หาทางช่วยเหลืออยู่เป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังขึ้นๆ ลงๆ พร้อมกระแสถอยดีกว่ามาอีกครั้ง ภายหลัง "กสทช." เพิ่งจะจ่ายเงินชดเชยและยุติการออกอากาศไป สำหรับ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 หรือชื่อเต็มคือ มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโทรมาปรึกษา ว่าประกอบกิจการไม่ไหว แม้จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลแล้ว แต่ผลประกอบการยังขาดทุนเรื่อยๆ ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการหลายรายต้องการยุติการให้บริการ และอยากให้มีการจ่ายเงินชดเชยเหมือนกับ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตก่อนหน้านี้ เพราะเรื่องนี้คงต้องดูในข้อกฎหมายว่าจะทำได้หรือไม่ และต้องดูว่าจะสามารถใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 เดิมได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการขอคืนใบอนุญาตครั้งนี้ อยากได้เงื่อนไขเหมือนผู้ประกอบการในครั้งแรก ดังนั้นจะเสนอเรื่องไปให้อนุกรรมการเยียวยาพิจารณาก่อนว่าจะช่วยได้หรือไม่ และช่วยอย่างไร

 

8.เว็ปไซค์ brandbuffet ได้รายงานหัวข้อ เปิดพฤติกรรมคนไทย “5 GENs” เสพสื่อเก่า-ออนไลน์ เปลี่ยนไปอย่างไรในปี 2562 (https://www.brandbuffet.in.th/2019/11/thai-consumer-consumption-media-content-and-platforms-in-2019/) ภายหลังพบว่า การพัฒนาเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ทำให้เกิด “แพลตฟอร์ม” ใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกเสพคอนเทนต์ในแต่ละ “เจเนอเรชัน” ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง Ecosystem อุตสาหกรรมสื่ออย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการแข่งขันของสื่อดั้งเดิมและออนไลน์  วันนี้ “ข้อมูล” พฤติกรรมเสพสื่อของผู้บริโภคไทยเปลี่ยนไปอย่างไร จึงมีความสำคัญกับการไปต่อและอยู่รอดของอุตสาหกรรมสื่อ

เพื่อเป็นการอัพเดท “ข้อมูล” พฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมสื่อไทย ในปี 2562  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับทีมวิจัยจาก สถานบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย การสำรวจครั้งนี้อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม 2562  ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่จำนวน 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ แบ่งผู้บริโภคออกเป็น 5 เจนเนอเรชัน คือ 1.เจน จี.ไอ. อายุมากกว่า 75 ปี  2. เบบี้บูมเมอร์ อายุ 57-75 ปี  3.เจน เอ็กซ์ อายุ  42-56 ปี 4.เจน วาย อายุ 23-41 ปี และ 5.เจน แซด อายุต่ำกว่า 23 ปี  โดยพบ 10 การเปลี่ยนแปลงสำคัญของผู้บริโภคทั้ง 5 เจเนอเรชั่น

1.พฤติกรรมเสพสื่อคนไทย ใน พ.ศ.2562

ผลการสำรวจสรุปข้อมูลการบริโภคสื่อของคนไทยในสื่อ 4 ประเภท โดยเป็นการเสพสื่อ ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ สื่อทีวี สูงสุดที่สัดส่วน 85.9% แบ่งการรับชมเป็น 3 รูปแบบ คือ ดูสดตามผังรายการ 49.9%, ดูย้อนหลังและออนดีมานด์ 15.1% และดูทั้ง 2 รูปแบบ 35% ระยะเวลาดูทีวี 1-4 ชั่วโมงต่อวัน สัดส่วน 69.5% ช่วงเวลาหลักที่ดู 18.00-22.00 น. สัดส่วน 70.9% สำหรับ 3 รายการยอดนิยม ข่าว 89.8% ,ละคร/ซีรีส์ 83.5% และวาไรตี้ 78.3%

สื่อวิทยุ สัดส่วน 55.6% เป็นการฟังทั้ง F.M. A.M. มิวสิคสตรีมมิ่ง แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ฟังจากเครื่องรับวิทยุ 32.6%, ฟังเพลงออนไลน์หรือมิวสิค สตรีมมิ่ง 34.3% และฟังทั้ง 2 รูปแบบ 33.1% ระยะเวลาฟังวิทยุ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน สัดส่วน 74.4% ช่วงเวลาหลัก 6.00-12.00 น. สัดส่วน 54.1% โดย 3 รายการยอดนิยม บันเทิง 79.7% ข่าว 72.2% รายการสาระ 56.9%

สื่อสิ่งพิมพ์ สัดส่วน 51.5% เป็นการอ่านทั้งฉบับเล่มและออนไลน์ แบ่งเป็น อ่านหนังสือพิมพ์ 53.3% อ่านนิตยสาร 9% และอ่านทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร 37.3% พฤติกรรมอ่านหนังสือพิมพ์ เฉลี่ย 5-20 นาทีต่อวัน สัดส่วน 69.5% เวลาหลักที่อ่าน 6.00-12.00 น. สัดส่วน 60.5% เนื้อหาที่นิยมอ่านมากที่สุด ข่าวประจำวัน 92% คอลัมน์การเมือง 68.3% และคอลัมน์บันเทิง/ดารา 60.2% พฤติกรรมอ่านนิตยสารเฉลี่ย 15-30 นาทีต่อครั้ง สัดส่วน 50% ช่วงเวลาที่อ่าน 12.00-21.00 น. สัดส่วน 61.1% เนื้อหาที่นิยมมากที่สุด ท่องเที่ยว 79.3% บ้านและสวน 65.5% และผู้หญิงแฟชั่น 63.4%

สื่อในโรงภาพยนตร์ สัดส่วน 33.7% พฤติกรรมการรับชม เป็นโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้า 96.2% ความถี่ นานๆ ครั้ง 73.1% ช่วงเวลาที่นิยมรับชมมากสุด 13.00-20.00 น. สัดส่วน 69.2% ประเภทของภาพยนตร์ที่รับชมสูงสุด คือ แอคชั่น 62.9% ผจญภัย 49.8% และตลก 48.4% ช่องทางติดตามข่าวสาร สำนักข่าว (ทุกช่องทาง) 45.2% แชร์จากสังคมออนไลน์ 20.5% โซเชียลมีเดียของนักข่าว 16.6% แอปพลิเคชั่น/เว็บไซต์รวมข่าว 10.8% ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต 6.9%

2.เสพสื่อทีวีสูงสุด – สิ่งพิมพ์ต่ำสุด

ผลสำรวจพบว่าคนไทยมีการบริโภคสื่อทีวี มากที่สุด 85.9% รองลงมา ได้แก่ การบริโภคสื่อกลางแจ้ง (ป้ายโฆษณาต่างๆ) 84.3% สื่อวิทยุ 55.6% สื่อภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ 51.5% สื่อสิ่งพิมพ์ มีผู้บริโภคน้อยที่สุด 33.7%

สะท้อนได้ว่า คนไทยยังมีพฤติกรรม “การอ่าน” น้อยกว่าการฟังและการดูทีวี ในการเสพข้อมูลประเภท “ข่าวสาร” เห็นได้จาก ทั้งทีวีและวิทยุ มีรายการประเภท “เล่าข่าว” ที่นำข่าวจากสื่อต่างๆ มาอ่านให้ผู้ชมฟัง และเป็นรายการที่ได้รับความนิยม

3. เหลื่อมล้ำระหว่าง “เจน” และช่องว่างระหว่างวัย

พฤติกรรมการบริโภคสื่อในประเทศไทยมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มอายุ หรือ ที่เรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำระหว่างเจเนอเรชัน” (Generation Divide) และ ช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) โดย กลุ่มสูงวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป ทั้งเบบี้บูมเมอร์ และเจน จี.ไอ. ยังบริโภคสื่อดั้งเดิมค่อนข้างมาก ทั้งการดูทีวีสดโปรแกรมออกอากาศ อ่านหนังสือพิมพ์รูปแบบกระดาษขณะที่ คนรุ่นใหม่ ที่มีอายุ 41 ปี หรือน้อยกว่า ทั้งเจน วายและเจน แซด บริโภคสื่อหลากหลายช่องทางมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ส่วน เจน เอ็กซ์ อายุ 42-56 ปี เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างทั้งกลุ่มสูงวัยและคนรุ่นใหม่

4.รายได้ขยับขึ้นทุก 10,000 บาทดูทีวีออนดีมานด์เพิ่ม

จากการวิจัยพฤติกรรมผู้ชม พบว่าครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นทุก 10,000 บาท จะเข้าถึงสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ เน็ตบ้าน เพิ่มขึ้น 4.5% โดยเขตเทศบาลหรือเขตเมืองเพิ่มขึ้น 8.2% และกลุ่มเจน แซด เข้าถึงมากกว่าทุกวัย นอกจากนี้ผู้ชมยังมีพฤติกรรมดูทีวีแบบออนดีมานด์เพิ่มขึ้น 10.3% ส่วนการเข้าถึงสื่อผ่านสมาร์ทโฟน เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นทุก 10,000 บาท จะเพิ่มขึ้น 2.3% ถือว่าเป็นอัตราไม่สูงเพราะปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นจำนวนมากแล้ว ขณะที่ครัวเรือนไทยที่มีรายได้เพิ่มขึ้นทุก 10,000 บาท จะใช้อุปกรณ์โทรทัศน์แบบแอนะล็อก “ลดลง” 4.3% แต่ใช้อุปกรณ์โทรทัศน์ระบบดิจิทัล เพิ่มขึ้น 2.2% และสมาร์ททีวี เพิ่มขึ้น 1.5% จากพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์รับชมสื่อและรายได้ครัวเรือนไทย ถือว่าการรับชมโทรทัศน์ และอุปกรณ์โทรทัศน์แบบแอนะล็อก เป็น “สินค้าด้อยค่าทางเศรษฐศาสตร์” คือ เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นจะบริโภคลดลง

5. “สูงวัย” ดูทีวีผ่าน “เคเบิล/ทีวีดาวเทียม”

ช่องทางการดู “ทีวี” ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในแต่ละเจน ก็แตกต่างกัน โดยกลุ่มสูงวัย ทั้ง เจน จี.ไอ. และเบบี้บูมเมอร์ ดูทีวีผ่านแพลตฟอร์ม เคเบิลและทีวีดาวเทียมสูงสุด เช่นเดียวกับ เจน เอ็กซ์ และเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าช่องทางทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ซึ่งน่าจะมาจากสาเหตุที่ครัวเรือนไทยติดตั้งเคเบิลและจานดาวเทียมอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่ระบบทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ต้องติดตั้งอุปกรณ์กล่องและเสารับสัญญาณเพิ่มเติม และสัญญาณในบางพื้นที่ไม่ชัดเทาเคเบิลและทีวีดาวเทียม

พฤติกรรมกลุ่มสูงวัย ยังติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักข่าว ทั้งผ่านหนังสือพิมพ์ รายการทีวี รายการวิทยุ และเว็บไซต์ ของสำนักข่าวต่างๆ มากที่สุด และสัดส่วนของการติดตามข่าวสารจากสำนักข่าวดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงตามช่วงวัยที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่ฟังเพลงออนไลน์ หรือมิวสิคสตรีมมิ่ง และรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ “น้อยมาก” กลุ่มสูงวัย มีสัดส่วนอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษเท่านั้นในอัตราสูง เจน จี.ไอ. อยู่ที่ 75% และเบบี้บูมเมอร์ 65.3%

6. คนรุ่นใหม่ตามข่าว “สื่อโซเชียล”

สำหรับ คนรุ่นใหม่ นิยมติดตามข้อมูลข่าวสารจากการแชร์ของเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด รองลงมา คือ ติดตามจากบัญชีผู้ใช้ของนักข่าวบนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม โดย เจน วายและเจน แซด เสพคอนเทนต์ทีวี ผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีวีดิจิทัลภาคดิน หรือเคเบิล/ทีวีดาวเทียม กลุ่มนี้นิยมฟังเพลงออนไลน์ หรือ มิวสิคสตรีมมิ่ง รวมทั้งรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ในสัดส่วนที่สูงมาก ในส่วนของ สื่อสิ่งพิมพ์ พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่หันไปบริโภคหนังสือพิมพ์ในรูปแบบออนไลน์มากกว่า โดยกลุ่มเจน แซด มีสัดส่วนอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์เท่านั้น (ไม่อ่านในรูปแบบกระดาษ) 43.9% และ ส่วนเจน วาย อยู่ที่ 31.5%

7. หนังสือพิมพ์ถูก Disrupt มากสุด

“หนังสือพิมพ์” ถือเป็นสื่อที่ถูก Digital Disruption มากที่สุด โดยผู้บริโภคหันไปอ่านสื่อออนไลน์แทนการอ่านสื่อในรูปแบบกระดาษมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเจนวายและแซด ที่มีการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษ

8. ผู้บริโภคทุกวัยไม่มี Loyalty กับทุกสื่อ

ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ ไม่มีรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ที่บริโภคเป็นประจำ สะท้อนให้เห็นว่าความภักดี (Loyalty) ของผู้บริโภคในสื่อประเภทต่างๆ ลดลง โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับ “เนื้อหา” ที่ต้องการเสพมากกว่าแบรนด์แต่ละสื่อ และเลือกบริโภครายการประเภทที่ตนสนใจเท่านั้น

9. ครัวเรือนรายได้สูงเชื่อโฆษณาออนไลน์

ครัวเรือนที่มีรายได้สูง มีการเข้าถึงสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (เน็ตบ้าน) มากกว่า มีแนวโน้มเชื่อถือโฆษณาจากสื่อออนไลน์มากขึ้น และเชื่อโฆษณาจากสื่อทีวีน้อยลง นอกจากนี้กลุ่มที่มีการศึกษาสูงและมีรายได้สูง มีสัดส่วนดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีแนวโน้มดูรายการย้อนหลังแบบออนดีมานด์มากขึ้น ปัจจัยการดูทีวีย้อนหลัง มาจากเหตุผล “ติดธุระ” ไม่สามารถดูตามผังรายการได้ และ “โฆษณา” ไม่ได้ส่งผลให้ผู้ชมหลีกเลี่ยงการดูรายการย้อนหลัง

10. “สังคมสูงวัย” อีก 10 ปี คนไทย 50% ยังดู “ทีวี”

ต้องถือว่า “ทีวี” ยังมีโอกาสไปต่อ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้คนสูงอายุ ยังบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ ดังนั้น “ทีวี” และสื่อเก่าอื่นๆ ยังไม่ลดลงอย่างรวดเร็วนัก คาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรไทย 50% ซึ่งก็คือกลุ่มสูงวัย ยังมีแนวโน้มดูทีวีสดตามผังรายการอยู่

 

9.เว็ปไซค์ พีพีทีวีเอชดี ได้รายงานหัวข้อ เปิดพฤติกรรมบริโภคสื่อ คาดสื่อดั้งเดิมอยู่ได้ถึง 10 ปีข้างหน้า (https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/114216) ภายหลังเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2562 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย พบว่า ในบรรดาสื่อทุกประเภท คนไทยมีการบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหว มากที่สุด โดยมีผู้รับชมร้อยละ 85.9 รองลงมา ได้แก่ การบริโภคสื่อกลางแจ้ง (ป้ายโฆษณาต่างๆ) ซึ่งมีผู้พบเห็นสื่อประเภทดังกล่าวร้อยละ 84.3 สำหรับสื่อทางเสียง และสื่อภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มีผู้บริโภคร้อยละ 55.6 และร้อยละ 51.5 ตามลำดับ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อที่มีผู้บริโภคน้อยที่สุด โดยมีผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์เพียงร้อยละ 33.7 เท่านั้น

โดยพฤติกรรมการบริโภคสื่อในประเทศไทย กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป (กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ.) ยังบริโภคสื่อในรูปแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก อาทิ การรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการ และการอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษ ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 41 ปี หรือน้อยกว่า (กลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด) มีการบริโภคสื่อหลากหลายช่องทางมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคสื่อออนไลน์ สำหรับกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ (ช่วงอายุ 42-56 ปี) เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างทั้งสองกลุ่มข้างต้น ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่าง

ขณะที่ในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่บริโภคเป็นประจำ ซึ่งในทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความซื่อสัตย์ (Loyalty) ของผู้บริโภคในสื่อประเภทต่าง ๆ ลดน้อยลง โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ต้องการมากกว่าแบรนด์ และเลือกบริโภครายการประเภทที่ตนสนใจเท่านั้น

จากการศึกษาโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติ พบว่า ปัจจัยด้านรายได้และระดับการศึกษา มีผลต่อความแตกต่างของพฤติกรรมการบริโภคสื่อ โดยรายได้เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างในการเข้าถึงสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ (ในที่พักอาศัย) ครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มเชื่อถือโฆษณาจากสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่เชื่อถือโฆษณาจากสื่อโทรทัศน์น้อยลง นอกจากนี้ กลุ่มที่มีการศึกษาสูงและมีรายได้สูงมีสัดส่วนการรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านอินเทอร์เน็ตสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีแนวโน้มรับชมรายการย้อนหลัง/ตามความต้องการ (On-demand) มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้ สื่อหนังสือพิมพ์ถือเป็นสื่อที่สะท้อนสถานการณ์ Digital Disruption มากที่สุด โดยผู้บริโภคหันไปอ่านสื่อออนไลน์แทนการอ่านสื่อในรูปแบบกระดาษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด ที่มีการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประชากรอายุน้อยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคสื่อผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ในขณะที่ประชากรสูงวัยยังคงบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต โดยใช้ Cohort Study พบว่า การลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมไม่ลดลงอย่างรวดเร็วนัก ประชากรสูงอายุของไทยจะยังคงมีความต้องการรับสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ กล่าวคือ อีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรยังมีแนวโน้มรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการอยู่

 

10.เว็ปไซค์กรุงเทพธุรกิจ ได้เผยแพร่เนื้อหาหัวข้อ ถอดรหัส 'ดิจิทัลดิสรัปชั่น' กูรู แนะ 'ปรับตัว' ก่อนธุรกิจสูญพันธุ์ (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/856081) ภายหลังหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) จัดหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2562 โดยศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดมุมมองในหัวข้อ “Surviving in the world of disruption” ว่า โลกปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง หากไม่คิดปรับตัว หรือเปลี่ยนอะไรเลย ย่อมมีโอกาสแพ้หรือสูญพันธุ์ โดยวันนี้เข้าสู่ยุคที่แข่งขันกันเป็นหลักวินาที ผู้บริโภคไม่ชอบที่จะอดทนรอ คำว่า “ค่อยเป็นค่อยไป” ต้องถูกลบออกไปจากพจนานุกรมของการทำธุรกิจ

เขากล่าวว่า ยุคนี้มีความน่ากลัวอย่างที่เราไม่เคยจินตนาการมาก่อน มากกว่ายุคของสงครามเย็น หรือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งไม่ทราบแน่ชัดว่าใครที่ศัตรูที่แท้จริง ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) เข้ามามีอิทธิพล สั่นคลอนอาชีพของคน ไม่ว่าจะเป็น นักการเงิน ด้วยระบบที่มีความแม่นยำ ไม่มีอคติ หรือแม้แต่นักกฎหมายเห็นได้จากเจพีมอร์แกนที่เริ่มมีแนวคิดลดจำนวนบุคลากรเพื่อลดต้นทุนและนำระบบคอมพิวเตอร์รวมถึงเอไอเข้ามาทำงานแทน

อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์พบด้วยว่า ปัญหาที่น่ากังวลของประเทศไทยคือ “ขาดแคลนบุคลากร” และไม่ทราบกำลังคนที่มีอยู่อย่างแท้จริง ขณะนี้เผชิญปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ อีกทางหนึ่งพฤติกรรมเด็กยุคใหม่เปลี่ยนไป เมื่อจบการศึกษาอาจไม่ต้องการทำงานที่ตรงกับสาขาที่เรียน มุ่งที่จะมีกิจการเป็นของตนเอง ไม่ใช่วันที่การอาบน้ำร้อนมาก่อน หรือการมีประสบการณ์มากว่า 50 ปี จะสามารถนำมาใช้ได้

สำหรับการปรับตัวต้องทำด้วยการ “REINVENTION” หรือการสร้างใหม่ ถ้าอยากเก่งต้องคบกันคนที่เก่งกว่า มีแนวคิดที่ก้าวข้ามกำแพงที่เคยถูกจำกัดไว้

“เอไอแทบจะทำทุกอย่างแทนมนุษย์ได้ ในทุกอาชีพ ก้าวสู่ยุคซูเปอร์อินทิลิเจนท์ซึ่งเรียนรู้ได้จากโมบายดีไวซ์ เข้าสู่ยุค “Sensorization of Things” เป็นยุคที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามามีอิทธิพล ราคาถูกลงและจับต้องได้มากกว่าเดิม ขณะเดียวกันทุกอย่างต้องสมาร์ท”

เขาแนะว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับตัวสู้ การผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าสิ่งที่ต้องโฟกัสอย่างมากคือการศึกษา สาธารณะสุข ต้องยืนให้ได้ด้วยตนเอง พึ่งพาตนเอง เปลี่ยนประเทศจากผู้ซื้อผู้บริโภคไปเป็นผู้สร้างผู้ผลิต และที่สำคัญการมีแรงบันดาลใจหรือบุคคลต้นแบบที่ดีจะทำให้การดำเนินชีวิตของเด็กยุคใหม่เดินไปในทิศทางที่ดี

10.เว็ปไซค์ฐานเศรษฐกิจ ได้รายงานเอ็กชเรย์ 10 อาชีพเสี่ยง แนะต้องติดตามปี 2563 เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องเตรียมความพร้อมรับมือการถูกดิจิทัลดิสรัปชั่น (https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/415697) โดยนายธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปี2563 เป็นปีที่น่าจับตามองเนื่องจากทุกธุรกิจ ทุกอาชีพต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการถูกดิจิทัลดิสรัปชั่น (digital disruption) และถ้าประมวลภาพคร่าวๆจะพบว่าขณะนี้มีอย่างน้อยที่มองเห็นชัดเจนมีประมาณ 10 อาชีพที่กระทบแน่นอน  คือ 1.กลุ่มธุรกิจสื่อที่เป็นเอกสาร  จากที่มีคนจำนวนมากไม่ใช้เอกสาร 2. กลุ่มสื่อสารมวลชนทุกแขนง วิทยุ นิตยสาร โทรทัศน์ เนื่องจากประชาชนมีช่องทางใหม่ในการติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะสื่อที่ไม่ปรับตัว  3.กลุ่มโปรดักต์ที่ตกยุค เช่น  CD , CVD หรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ล้อไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ 4. อาชีพที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน ที่จะมีพนักงานจำนวนมากตกงาน เพราะธุรกรรมทางการเงินสามารถทำจากโทรศัพท์มือถือได้ด้วยตัวเอง 5.อาชีพประกันภัย 6.อาชีพขายตรง ที่สามารถปรับตัวหันหน้าไปสู่การขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ และมีคลิปแนะนำสินค้าได้เอง  7.ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป ที่เคยใช้ชิ้นส่วนจำนวนมากจะหายไป ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะตกงานมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการหันหน้าเข้าสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งในรถยนต์ 1 คันเคยใช้ชิ้นส่วนนับหมื่นๆชิ้นต่อคัน ก็จะเหลือใช้ชิ้นส่วนประกอบเพียงไม่กี่รายการ  8.งานเคาน์เตอร์เซอร์วิส จะหายไป เพราะจะผ่านกลไกดิจิตอลแทน  9.อาชีพนักการศึกษาในสาขาที่นักศึกษาเรียนน้อยลง ทำให้อาจารย์ที่เคยสอนในบางสาขาตกงานเพราะเด็กไม่เรียนในบางสาขาแล้ว 10.อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จะหายไปจำนวนหนึ่ง เพราะเด็กเกิดใหม่มีน้อยลง มีคนโสดมากขึ้น