สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 ม.ค.2563

 

สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 ม.ค.2563

 

1.วันที่ 3 ม.ค.2563 สำนักงาน กสทช.ได้เผยแพร่ข้อมูล โครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย ปี 2562 จัดทำโดยสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม (กสทช.) ร่วมกับสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ จากพื้นที่ 5 ภูมิภาคตามเกณฑ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่จังหวัดที่ เป็นตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้จำนวน 26 จังหวัด

การสำรวจครอบคลุมพฤติกรรมการบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหว การบริโภคสื่อทางเสียง การบริโภคสื่อออนไลน์ การบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ การบริโภคสื่อในโรงภาพยนตร์ และการบริโภคสื่อกลางแจ้งและสื่อกลางแจ้งแบบเคลื่อนที่ได้ ซึ่งในบทความนี้จะวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการรับชมรายการ โทรทัศน์ของประชาชนทั่วประเทศ ที่แบ่งตามอาชีพ และกลุ่มกลุ่มช่วงอายุต่างๆของผู้ชมรายการโทรทัศน์ สำหรับพฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์ที่แบ่งแยกตามกลุ่มอาชีพนั้น ได้มีการแยกกลุ่มอาชีพไว้ทั้งหมด 8 กลุ่ม

จากผลการศึกษาพบว่า เกือบทุกกลุ่มอาชีพ ยกเว้นนักเรียนและนักศึกษา นิยมรับชมรายการโทรทัศน์ ประเภทรายการข่าวมากที่สุด รองลงมาเป็นรายการบันเทิง ประเภทละครและซีรีส์ตามมาด้วยรายการวาไรตี้

โดยที่กลุ่มที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรนิยมรับชมรายการข่าวมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่มอาชีพ โดยมี การรับชมถึง 24.6% อันดับ 2 เป็นกลุ่มผู้ไม่ได้ประกอบอาชีพ หรือกลุ่มผู้ว่างงาน 23.9% และกลุ่มผู้เกษียณอายุ นิยมรับชมรายการข่าวถึง 23%

ส่วนกลุ่มที่รับชมรายการข่าวน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งรับชม รายการข่าวเพียง 14.4% จากข้อมูลข้างต้นสามารถวิเคราะห์ได้ว่า วิชาชีพเกษตรกรจำเป็นต้องพึ่งพาข่าวสารในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะพยากรณ์อากาศ หรือข่าวทางเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อการดำรงชีพ ส่วนกลุ่มผู้ที่ว่างงาน หรือไม่ได้ประกอบ อาชีพ จำเป็นต้องหาข้อมูลข่าวสาร ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการหาช่องทางในการได้กลับเข้าสู่ระบบการทำงานอีกครั้ง ขณะที่กลุ่มผู้เกษียณอายุส่วนใหญเป็นกลุ่มที่อยู่กับบ้าน ซึ่งชอบเปิดรับข่าวสารบ้านเมืองและความเป็นไป ในสังคม

ในขณะที่กลุ่มนักเรียนหรือนักศึกษา เป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจรายการหลากหลายประเภท แต่ให้ความสนใจ รายการละคร ซีรีส์ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 17% อันดับ 2 เป็นรายการวาไรตี้ 16.5% และภาพยนตร์ 15.7% โดยสนใจรายการข่าว 14.4% อยู่ในอันดับ 4 และที่เหลือกระจายไปยังรายการสารคดี ท่องเที่ยว การ์ตูน และกีฬา หากพิจารณาตามประเภทรายการพบว่า รายการประเภทสารคดี การท่องเที่ยว สุขภาพ และการสอน ทำอาหาร จะได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มผู้เกษียณอายุมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ โดยมีความนิยมอยู่ที่ 14.6% สาเหตุประการสำคัญเนื่องจากกลุ่มผู้เกษียณอายุมีเวลาว่าง สนใจข่าวสารเรื่องสุขภาพ และมีกำลังทรัพย์เพื่อใช้ ท่องเที่ยว

ทั้งนี้ สำหรับรายการทีวีช้อปปิ้งนั้น ได้รับความสนใจจากกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนมากที่สุด (สัดส่วน 5.9%) รองลงมาเป็นกลุ่มนักเรียนหรือนักศึกษา (สัดส่วน 5.5%)

พฤติกรรมการรับชมรายการข่าว Gen G.I. ที่มีอายุตั้งแต่ 76 ปีขึ้นไป มีการเปิดรับชมรายการข่าวโทรทัศน์ 32.2% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดมากกว่า วัยอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ส่วน Baby Boomer และ GenX มีการรับชมรายการข่าวรองลงมา 26.1% และ 21% (ตามลำดับ) ในขณะที่ GenY เและ GenZ มีการเปิดรับรายการข่าวโทรทัศน์เพียง 17.8% และ 14.7% (ตามลำดับ) โดยจะเห็นได้ว่า รายการข่าวเป็นประเภทรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทุกเจเนอเรชัน ยกเว้นกลุ่ม GenZ ที่มีอายุ 23 ปีหรือต่ำกว่า ซึ่งใน GenZ มีความนิยมในประเภทรายการละครและซีรีส์สูงสุด

 

2.เว็ปไซต์ songsue.com ได้เผยแพร่ ทิศทางสื่อปี 2020 โดยในรายงานช่วงหนึ่งได้สัมภาษณ์ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ถึงแนวโน้มสื่อในปี 2020 จะเป็นอย่างไร? โดยดร.สิขเรศ ได้ให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นสื่อทีวีมาถึงขอบอ่างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะตกไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว หลังจากนี้จะค่อยๆ ไต่ขึ้นมา ทีวีก็ต้องอภิวัฒน์ตัวเองเหมือนกัน และก็ยังไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง ต้องพูดว่านวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงทีวีจะมีมากกว่านี้อีก โดยทีวีที่เรากดรีโมทอยู่จะมีไปอีกสักพักนึงอยู่แล้ว ในขณะที่ Social Media ของช่องโทรทัศน์ของบ้านเรามียอดผู้ติดตามสูงขึ้นทุกปี แต่เรายังไม่สามารถหากำไรจากตรงนั้นได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สำหรับทีวียุคต่อไปต้องบูรณาตัวเองไปสู่ OTT TV แล้วภาครัฐก็ต้องไม่นิ่งเฉยอีกต่อไปด้วย เพราะจะทำให้เราสู้กับต่างประเทศไม่ได้แน่นอน เรื่องต่อไปคือในยุคต่อไปเราก็อาจจะต้องเข้าสู่ยุค immersive experience ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการใช้ 5G ดูรายการเบสบอลของเกาหลีใต้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการบูรณาการเข้าสู่มือถือ และเข้าสู่การรับชมกีฬา ต่อไปเราต้องเข้าสู่ยุค Big data เราต้องเข้าสู่ยุควารสารศาสตร์ดิจิทัล ซึ่งมีหลายสถาบันยังไม่ได้ Upgate ตัวเองสู่การเป็น Data journalist

 

3.เว็ปไซต์ the101.world ได้รายงาน Editor’s Note 2020 : ทางรอดของสื่อยุคดิจิทัล “สื่อต้องเป็นสื่อ และกลับคืนสู่มือประชาชน” เขียนโดย "ปกป้อง จันวิทย์"ทโดยนำทิศทางนิวยอร์กไทมส์ มาร์ค ธอมป์สัน (Mark Thompson) ซีอีโอของนิวยอร์กไทม มาบอกเล่าถึงโมเดลธุรกิจของนิวยอร์กไทมส์เปลี่ยนจากการแสวงหารายได้จากโฆษณาสูงสุด มาเป็นการแสวงหาสมาชิกให้มากที่สุด ภายหลังแหล่งรายได้หลักของนิวยอร์กไทมส์ไม่ใช่การโฆษณาอีกต่อไป แต่มาจากระบบสมาชิก ล่าสุด รายได้จากระบบสมาชิกสูงกว่ารายได้จากโฆษณาอย่างขาดลอย ในระดับ 60% ต่อ 30% ของรายได้ทั้งหมด ต่างจากเมื่อปี 2011 เป็นจุดนับหนึ่งของระบบสมาชิกออนไลน์แบบจ่ายเงิน ที่รายได้จากโฆษณายังสูงถึง 50%  ยิ่งถ้านับย้อนไปไกลถึงปี 2000 นิวยอร์กไทมส์เคยพึ่งพิงรายได้จากโฆษณามากกว่า 70%

จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 ผู้อ่านในระบบสมาชิกของนิวยอร์กไทมส์มีจำนวนทั้งสิ้น 4.9 ล้านคน โดยกว่า 4 ล้านคนเป็นสมาชิกทางฝั่งดิจิทัล เรียกได้ว่า ในขณะที่รายได้จากโฆษณาฝั่งสิ่งพิมพ์ตกลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่วนรายได้จากโฆษณาฝั่งดิจิทัลก็ขึ้นลงแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ กลุ่มคนอ่านกลายเป็นฐานกำลังสำคัญที่อุ้มชูและผลักดันนิวยอร์กไทมส์ในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะรายได้จากสมาชิกดิจิทัลที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (46% ในปี 2017 และ 18% ในปี 2018)

ถึงที่สุด ทางรอดของธุรกิจสื่อในยุคดิสรัปชั่นอย่างยั่งยืน คือการกลับคืนสู่มือของคนอ่าน รับใช้ประชาชน ไม่ใช่การวิ่งหาเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ รับใช้ภาครัฐและภาคเอกชน

ในรายงานชิ้นนี้ยังบอกถึงท"มาร์ค ธอมป์สัน" ออกจากบีบีซี อังกฤษ เข้ามานำทีมบริหารนิวยอร์กไทมส์ในปี 2012 ภายใต้สถานการณ์ง่อนแง่น ยอดขายหนังสือพิมพ์ตกต่ำ รายได้สุทธิหดหาย มูลค่าหุ้นลดลง ช่วงนั้นนิวยอร์กไทมส์เป็นหนี้ระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ จนสุดท้ายต้องขาย (แล้วขอเช่าคืน) อาคารฐานบัญชาการใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2007 เพื่อระดมทุน 225 ล้านเหรียญสหรัฐไปใช้หนี้ อีกทั้งต้องกู้ยืมเงินจากคาร์ลอส สลิม (Carlos Slim) อภิมหาเศรษฐีชาวเม็กซิกัน มูลค่ากว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย จนปัจจุบันสลิมเข้ามาถือหุ้นนิวยอร์กไทมส์สูงถึง 17%

7 ปีผ่านไปหลังการทำงานหนักยกเครื่องปรับตัวครั้งใหญ่ นิวยอร์กไทมส์ก็สร้างชีวิตใหม่ในยุคดิจิทัลได้อย่างมีอนาคต มองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่เด่นชัดจากการปรับโมเดลธุรกิจ จากปี 2012 ถึงกลางปี 2019 มูลค่าหุ้นของนิวยอร์กไทมส์สูงขึ้น 300% มูลค่าของบริษัททะลุ 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ในปี 2018 บริษัทมีรายได้ 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าจุดต่ำสุดเมื่อปี 2011 ประมาณ 17% และถือเงินสดอยู่ในมือกว่า 877 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมซื้อคืนอาคารฐานบัญชาการกลับมาได้เร็วกว่ากำหนด

ในปี 2020 คาดการณ์ว่ารายได้รวมจากฝั่งดิจิทัลจะแซงหน้ารายได้รวมจากฝั่งสิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรก หลังจากที่เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 โฆษณาจากฝั่งดิจิทัลแซงหน้าฝั่งสิ่งพิมพ์เรียบร้อยแล้ว

 

4.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" มีรายงาน X-ray โบนัส “คนข่าว” ใครได้ ใครอด ถึงแม้นักวิชาการ นักการตลาดจะออกมาระบุว่า นับจากนี้อุตสาหกรรมสื่อเมืองไทย จะมีเม็ดเงินทั้งระบบไม่เกิน 1 แสนล้านบาท จากเดิมที่เคยสูงเกินกว่า 1 แสนล้านบาทต่อเนื่องหลายปี  เม็ดเงินที่ลดลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสื่อแต่ละประเภท โดยเฉพาะ “สื่อทีวี” ซึ่งเป็นสื่อหลัก ยังคงอยู่ในสภาวะที่ทรงกับทรุดต่อเนื่อง ขณะที่ “สื่อสิ่งพิมพ์” เป็นอีกสื่อที่อยู่ในช่วงขาลง  และยังไม่มีสัญญาณบวกใด ๆ ที่จะมาช่วยกระตุ้นให้เติบโต นอกเหนือจากการปรับแพลตฟอร์มสู่ “สื่อออนไลน์” ที่เติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะขยายตัว จากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่

ปัจจัยหนึ่งที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของสื่อคือ “โบนัส” และ “การปรับขึ้นเงินเดือน” ในทุกๆสิ้นปีหรือต้นปี  ซึ่งในปีนี้ก็เช่นกัน “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สำรวจผลการแจกโบนัสและการปรับขึ้นเงินเดือนของ “สื่อ” ใน 3 กลุ่มหลัก ทั้งสื่อทีวี สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์

กลุ่ม “สื่อทีวี” นอกจากช่อง 7 ที่ยังคงแจกโบนัสเฉลี่ย 0.5-1 เดือน พร้อมกับปรับขึ้นเงินเดือน ใกล้เคียงกับปีก่อน  เช่นเดียวกับ “คนข่าว MONO 29” ที่ได้เฮ เพราะรับโบนัสกันไปแล้วตั้งแต่ 0.5-1 เดือน เป็นของขวัญปีใหม่  ขณะที่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ “ไทยรัฐทีวี” ส่งสัญญาณว่าจะแจกเงินพิเศษหรือโบนัสให้กับพนักงาน หลังจากที่ทำผลงานดี ส่วนช่องที่เคยแจกโบนัสงามๆ อย่าง “เวิร์คพอยท์”  “อาร์เอส” (ช่อง  “PPTV” ตัวเลขการแจกโบนัสหรือปรับเงินเดือนยังไม่สรุป จึงต้องลุ้นต่อไป  เช่นเดียวกับ TNN ที่คาดว่าจะแจกโบนัสให้กับพนักงาน เริ่มตั้งแต่ 0.5 เดือน – 2 เดือนขึ้นอยู่กับผลประเมินจาก KPI

ส่วนช่องที่ไม่ต้องลุ้น เพราะประกาศนโยบายชัดเจนว่า “ไม่มีโบนัสและไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือน”   คือ ช่อง 3 หรือ 33HD ที่แม้จะได้รับเงินชดเชยคืนจากกสทช. เป็นเม็ดเงินกว่า  820  ล้านบาท  เช่นเดียวกับ “อสมท”  ที่ไม่แจกโบนัสให้กับพนักงานเช่นเดียวกับปีก่อน  แต่หลายคนรอลุ้นว่า อาจจะมีการปรับขึ้นเงินเดือน หลังจากที่ตัวเลขรายได้เริ่มขยับดีขึ้นเล็กน้อย

ถัดมาเป็นกลุ่ม ”สื่อสิ่งพิมพ์” แน่นอนว่า สิ่งพิมพ์ประเภทหัวสี ถูกจับตามากที่สุด โดยเฉพาะบรรดาบิ๊กๆ ในย่านวิภาวดีฯ  ซึ่งสื่อหัวเขียวอย่าง “ไทยรัฐ”  ก็ส่งสัญญาณถึงขาลงอย่างชัดเจน เมื่อส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ว่าจะไม่มีการแจกโบนัสพนักงาน จากเดิมที่เป็นเบอร์ 1 เพราะเคยโบนัส 2- 3 เดือน และก่อนหน้านี้ก็ประกาศเลย์ออฟพนักงาน เพื่อลดต้นทุน  ซึ่งกลับเป็นตัวเลขที่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเมื่อต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงาน สวนทางกลับกลุ่มไทยรัฐทีวี

ส่วน”เดลินิวส์”  ปีนี้แม้ผลประกอบการโดยรวมจะยังไม่ดีขึ้นมากนัก แต่ยังคงแจกโบนัสเป็นขวัญและกำลังใจให้กับ “คนข่าว” และทีมงานเฉลี่ย 75% ของเงินเดือนเท่ากันหมด ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนยังต้องลุ้นต่อไป ขณะที่ “เครือมติชน” ต้องลุ้นผลประกอบการว่าจะออกมาเป็นอย่างไรก่อนจะประกาศแจกโบนัส ขณะที่ในปีนี้จะยังไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนหลังจากที่ปรับขึ้นไปแล้วในปีก่อน

ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นเครือเนชั่น ที่ล่าสุดพบว่า “กรุงเทพธุรกิจ” ประกาศแจกเงินโบนัสพนักงานเต็ม 100% ของเงินเดือน  ขณะที่ “คนข่าวคมชัดลึก”  ได้รับเงินพิเศษคนละ 5,000 บาทกันถ้วนหน้า  ส่วน “ฐานเศรษฐกิจ” ยังลุ้น “ข่าวดี” ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และเตรียมฉลองใหญ่ในวาระครบรอบ 40 ปีในปีนี้ด้วยเช่นกัน ฟากเครือบางกอกโพสต์ทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ประกาศงดแจกโบนัสและปรับขึ้นเงินเดือนขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว

ขณะที่ “สื่อออนไลน์” เริ่มต้นกับสื่อออนไลน์ที่มาแรงอย่าง “ลงทุนแมน”  หลังโชว์ผลงาน ดันยอดผู้อ่านพุ่งแรงแล้ว ก็ประกาศแจกโบนัสพนักงานเกินกว่า 100% โดยเฉลี่ยกว่า 1 เดือน เช่น พนักงาน A มีฐานเงินเดือน 30,000 บาทจะได้รับโบนัสราว 35,000 บาท รวมถึงยังมีปรับฐานเงินเดือนให้พนักงานขึ้น 15% หรือราว  4,000-5,000 บาทด้วย เช่นเดียวกับ  “The Standard” และ “Marketeer” ก็ได้รับโบนัสเช่นเดียวกัน  โดยปีนี้ได้มีการแจ้งต่อพนักงานว่าจะแจกโบนัสให้พนักงานเป็นเฉลี่ย  1 – 1.5 เดือน ขึ้นอยู่กับผลการประเมินของแต่ละคน  ปีนี้จึงถือเป็นปีทองของ “คนข่าวออนไลน์” ที่รับทรัพย์กันถ้วนหน้า  แต่แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง ก็ส่งสัญญาณว่าจะต้องทำงานหนักขึ้น และนำเสนอทั้งคอนเทนต์และแพลตฟอร์มใหม่ๆ ออกมาต่อไป

 

5.เว็ปไซต์ presscouncil โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งขาติ โดย "ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ" ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รายงานเรื่อง ข่าวลวง 4.0 ความท้าทาย “สื่อ” มีเนื้อหาพูดถึงข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวปล่อย ข่าวเท็จ ข่าวจริง ข่าวมืออาชีพ ณ ห้วงเวลานี้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยก ตั้งคำถามมากมายจากกลุ่มผู้รับสาร ผู้อ่าน ผู้เสพสื่อ บนโลกออนไลน์ หรือ คำบอกเล่าของผู้คนในวงสนนทนา ที่จะเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ได้รับ สิ่งที่ได้อ่าน สิ่งที่ได้ยิน เรื่องราว ประเด็นสนทนา เนื้อหาข้อความ ภาพ คลิปเสียง คลิปวิดีโอ เนื้อหาอันไหนคือของจริง ของปลอม ที่นับวันทุกอย่างเริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขื้น

เนื้อหาที่ถูกผลิต สร้างขึ้น กระทำโดยบุคคลที่เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อ หรือสร้างโดยบุคคลสาธารณะ ผู้มีชื่อเสียง ตัวแทนกลุ่มสังคม ไปจนถึงบุคคลเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถสร้างเนื้อหาจากโปรแกรมประยุกต์ ทำการประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์ ตัดสินใจจากระบบตัวเอง สื่อสารเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นเสียง ภาพ การเคลื่อนไหวแทนมนุษย์ได้ ที่เรียกกันว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ไปจนถึงการสร้างตัวตนเสมือนจริงสื่อสารแทนมนุษย์ได้ ด้วย AI สร้างคลิปปลอม (Deep fake) เป็นบุคคลมีชื่อเสียง นักการเมือง นักธุรกิจ ให้ผู้คนในสังคมเข้าใจสับสน หลงเชื่อว่าเป็นบุคคลนั้นได้กล่าวจริง พูดจริง

ประเด็นข่าวสาร เนื้อหาเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ ในวันนี้หากผู้รับ ไม่สามารถรู้เท่าทัน ไม่สามารถจำแนก แยกวิเคราะห์ได้ อาจจะพลาดเผลอเข้าร่วมวงส่งต่อ กระจายเนื้อหาไปยังผู้อื่นในเครือข่ายสังคมโดยมิรู้ทันเกม กลายเป็นเครื่องมือ ฟันเฟืองสนับสนุนกงล้อข่าวลวง ข่าวปลอม จนส่งผลเสียต่อผู้รับ กัดกร่อนองค์ความรู้ ทัศนคติผู้คนในสังคม เกิดความสับสน หลงทาง แยกกลุ่มแตกความคิด ไปจนถึงผลเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน

เฟกนิวส์ ข่าวลวง ข่าวปลอม สื่อมวลชน ถึงเวลาแล้วควรที่จะต้องทำความเข้าใจ และจำแนกให้เท่าทันต่อเกมสงครามข่าวสาร สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้นำมาเผยแพร่ให้ความรู้กับ 7 ประเภทข่าวปลอม ได้แก่ 1. Satire or Parody เนื้อหา เสียดสี หรือ ตลกขบขัน 2. False connection โยงมั่ว สับสน จับคู่ผิด 3. Misleading ทำให้เข้าใจผิด 4. False Context ผิดที่ผิดทาง ให้เท็จ 5. Impostor มโนที่มา สร้าง กุ เรื่อง หรือ ประเด็น 6. Manipulated ปลอม ตัดต่อ สร้างความเสมือนจริง เหตุการณ์จริง 7. Fabricated มโนทุกอย่าง สร้างเรื่อง สร้างประเด็นเหมือนจะเกิดจริง เคยเกิดขึ้นแล้ว

สำหรับผู้คิดค้น ผู้สร้าง จะมาจาก คน 4 จำพวก ได้แก่ 1. กลุ่มเกรียนหรือนักเลงคีย์บอร์ด ชอบโพสต์ข้อความสร้างกระแสเพื่อความสนุกส่วนตัว 2. กลุ่มหวังเงินค่าโฆษณา โพสต์สร้างกระแสหวังยอด Follow (ติดตาม) 3. กลุ่มสร้างความเกลียดชัง จะโพสต์ข้อความ หรือ Hate speech ดูหมิ่น ยุยง ปลุกปั่น ให้ผู้คนแตกแยก สับสน 4. กลุ่มหลอกลวง สร้างข้อมูลเท็จหลอกขายสินค้า หรือ ฉ้อโกง เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรม และ ทัศนคติ แล้ว แต่ละกลุ่มนั้นต่างมีจุดแตกต่างในเชิงบริบท และเป้าหมาย ที่มุ่งหวัง จากการสร้างข่าวปลอมขึ้นมา

การพิสูจน์ เนื้อหาข่าวปลอม สื่อมวลชน กองบรรณาธิการ และผู้บริหารองค์กรสื่อ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ในการจัดทำระบบและแนวทางในการบริหารจัดการ ในการผลิตข่าว หรือ นำข่าว ปลอม นั้น มาทำให้เป็นข่าวจริง ให้ผู้คน ได้รับรู้ ว่า เรื่องไหน จริง เรื่องไหน ปลอม เรื่องไหน มีผู้เจตนา ซึ่งเป็นอีกบทบาทการทำหน้าที่ของผู้รักษาประตูแห่งข่าวสาร

วิธีการตรวจสอบ "ข่าวปลอม" ทำได้ไม่ยาก ไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแค่ปรับทักษะการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการใช้ไอที มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานข่าวให้มากขึ้น ทั้งในระดับบุคคล งานกองบรรณาธิการ ฝ่ายไอที ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ ปรับตัว ให้สามารถเชื่อมต่อ เข้าถึง ตรวจสอบ ทำงานสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันได้ ตั้งแต่ระบบการจัดเก็บข้อมูล การเรียนรู้ระบบสืบค้นออนไลน์ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างหน่วยงานสื่อ รัฐ เพื่อสนับสนุนต่อกระบวนการตรวจข้อเท็จจริงเนื้อหา ข่าวสาร ที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ในทุกแพลตฟอร์ม

วันนี้ผู้รับสาร ผู้เสพสื่อ ต่างต้องการรับรู้ ข่าวจริง หรือข่าวสารเชิงประจักษ์พิสูจน์ อยากเห็นความเป็นมืออาชีพในกระบวนการรายงานข่าวของสื่อไทยที่ทันเกมต่อสงครามข่าวสาร ยุคสื่อออนไลน์ สื่อใหม่ผลิบาน สื่อมวลชน คนหนังสือพิมพ์ ให้ความสำคัญกับทักษะในกระบวนการสื่อข่าว และรายงานข่าว ไปจนถึงการสร้างสรรค์เนื้อหาข่าว ที่เกิดคุณค่า แก่ผู้อ่านได้ทุกมิติรับ ได้เลือกรับเนื้อหาที่ควรแก่การนำไปบอกเล่า เผยแพร่สู่สาธารณะให้ผู้คนได้ตื่นรู้ ตื่นตัว กับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น หรือในอนาคตที่กำลังจะมาถึงได้มากที่สุด

 

6.เว็ปไซต์ posttoday รายงานบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล MONO29 เขย่าโครงสร้างองค์กร ปรับลดพนักงานล็อตใหญ่ 200 คน ฝ่ายบริหารงานบุคคล MONO29 ได้เรียกพนักงานฝ่ายต่างๆ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยต้องลดจำนวนคน ซึ่งปัจจุบัน ฝ่ายข่าวมีพนักงานอยู่ประมาณ 80 คน และฝ่ายอื่นๆ ที่ต้องปรับรวมถึงฝ่ายบันเทิง ฝ่ายบริการลูกค้า รวมแล้วประมาณ 200 คน ซึ่งถือว่า เป็นการปรับใหญ่ที่สุดครั้งแรกของ MONO

ขณะเดียวกันมีการตั้ง บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวคนใหม่ เบญจวรรณ สมสิน จากช่องสามแทนบรรณาธิการคนเดิมซึ่งได้ออกไปก่อนหน้านี้ราวกลางเดือนมกราคม

สำหรับโครงสร้างธุรกิจ MONO ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจสื่อ สื่อทีวี สื่อออนไลน์ บริการสมัครรับข้อมูลข่าวสาร สื่อวิทยุ และ กลุ่มธุรกิจการให้บริการคอนเทนต์ ประกอบด้วย ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจกีฬา ธุรกิจเพลง ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจเกม ธุรกิจคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ MONO รายงานผลประกอบการล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 งวด 3 เดือน รายได้สื่อโฆษณาทีวี ลดลง 32.56 ล้านบาท คิดเป็น 7.85% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ลดลง 123.40 ล้านบาท คิดเป็น 24.40% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน

เนื่องจากไตรมาส 3 มี การแข่งขันที่รุนแรง เป็นผลจากช่องในอันดับ Top 5 มีเรทติงเติบโตขึ้นมาก อีกทั้งยังมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงเงินโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าว

ขณะที่ รายได้จากการให้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประจำไตรมาส 3 อยู่ที่ 18.62 ล้านบาท ลดลง 20.37 ล้านบาท คิดเป็น 52.24% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม รายได้บริการ Monomax มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 3.62 ล้านบาท คิดเป็น 30.65% เมื่เทียบกับไตรมาสที่แล้วของปีเดียวกัน รายได้สปอนเซอร์ชิปส์ เพิ่มขึ้น 34.74 ล้านบาท คิดเป็น 228.85% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 19.08 ล้านบาท คิดเป็น 61.87% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน

สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของปี62 บริษัทฯ มี EBITDA ลดลง 30.44% และขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 86.34% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน ปัจจัยหลักเป็นผลจากรายได้การให้บริการสื่อโฆษณาลดลง

เมื่อรวม 9 เดือนของปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 384.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ขาดทุนสุทธิ 36.86 ล้านบาท โดย ราคาหุ้น MONO ปิดตลาดวันนี้ (17 ม.ค.) ปิดตลาดที่ 1.08 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3.63 แสนบาท

อนึ่งก่อนหน้านี้ นายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่าบริษัทวางแผนในช่วง 3 ปี (ปี 2563-65) โดยตั้งเป้ารายได้จะปรับขึ้นไปแตะ 5 พันล้านบาทในปี 2565 แม้ว่าในปีนี้คาดว่ารายได้จะพลาดเป้าหมาที่วางไว้ในระดับ 3.5 พันล้านบาท พร้อมทั้งคาดว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มี 1.58 พันล้านบาทภายใน 3 ปีนี้ โดยจะพลิกกลับมามีกำไรในปี 2563

ขณะที่เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รายงานว่า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนนทบุรี (สสค.นนทบุรี) ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีและผู้บริหารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อทราบว่า บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่เลขที่ 200 อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ หมู่ที่ 4 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ประกอบธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ มีนายนวมินทร์ ประสพเนตร นายซัง โด ลี นายคมศักดิ์ วัฒนาศรีโรจน์ นายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ กรรมการสองในสี่คนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท

ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนว่าบริษัทฯ จะมีการเลิกจ้างลูกจ้าง เบื้องต้น สสค.นนทบุรี ได้ติดต่อประสานกับฝ่ายบุคคลของบริษัทฯ ทราบว่าบริษัทฯ และบริษัทในเครือโมโนฯ มีการเลิกจ้างลูกจ้างจริงตามที่ปรากฏในข่าว ปัจจุบันมีการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้วประมาณ 180 คน ประกอบด้วยลูกจ้างฝ่ายข่าว ฝ่ายบันเทิง และฝ่ายบริการลูกค้า โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเงินพิเศษเพิ่มเติมแล้วแต่กรณีให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวแล้ว โดยบริษัทฯ ไม่ได้ปิดกิจการแต่อย่างใด เพียงแต่ลดจำนวนลูกจ้างลงเท่านั้น

ทั้งนี้ สสค.นนทบุรี จะดำเนินการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยจะเข้าพบผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมอีกและจะรายงานเพื่อโปรดทราบต่อไป รายละเอียดเพิ่มเติม บริษัทโมโนฯ มี ลูกจ้างบริษัทในเครือ 14 บริษัท ซึ่งตั้งอยู่อาคารจัสมิน ทั้งหมด 1200คน ปัจุบันคงเหลือลูกจ้าง ประมาณ 1,000 คน

อย่างไรก็ตาม "โมโน กรุ๊ป" ได้ออกหนังสือชี้แจง กรณีการเลิกจ้างพนักงานเครือ โมโน กรุ๊ป ในเดือน มกราคม 2563 เพื่อป้องกันการสื่อสารที่สับสนเกี่ยวกับเหตุผลที่แท้จริงในเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ ขอแจ้งทุกท่านดังนี้ บริษัทฯ ได้ตัดสินใจที่จะ (1) มุ่งเน้นธุรกิจที่ทำกำไร ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ MONO29 บริการวีดีโอออนดีมานต์ MONOMAX และการจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานคอนเสิร์ต มหกรรมเคาน์ดาวน์ปีใหม่ที่พัทยา โร้ดโชว์ตามสถานศึกษา กิจกรรมแข่งขันบาสเกตบอล และกิจกรรมการตลาดออนไลน์ (2) ปรับกระบวนการทำงานของธุรกิจออนไลน์ ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (3) หยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร หรือ ธุรกิจที่สภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป ได้แก่ สิ่งพิมพ์ ธุรกิจจองห้องพักออนไลน์ และ mobile value added services (MVAS)

บริษัทฯ จึงปรับโครงสร้างธุรกิจ และปรับกระบวนการทำงานใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการปรับลดจำนวนพนักงานในครั้งนี้ โดยการปรับลดพนักงาน ได้ผ่านกระบวนการทางทรัพยากรบุคคลและกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังควบคุมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น การใช้งบการตลาดที่แม่นยำรัดกุมยิ่งขึ้น เป็นต้น โดยรวมแล้วส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ (operation expense) ลงประมาณ 20 – 30%

เมื่อประกอบกับแผนการปรับราคาขายโฆษณาทีวีให้สูงขึ้นสอดคล้องกับเรทติ้งช่อง MONO29 ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิม prime time package ราคา 150,000 บาท เป็นราคา 300,000 บาทในปี 2563 จะส่งผลให้บริษัทฯ มีโอกาส ที่จะเริ่มกลับมามีกำไรอีกครั้ง

 

7.เว็ปไซต์ tvdigitalwatch ได้เผยแพร่การแถลงข่าวธุรกิจอาร์เอส ปี 2020 ภายใต้การนำของ “เฮียฮ้อ–สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)  เมื่อเร็วๆ นี้ ในส่วนของธุรกิจทีวีดิจิทัลช่อง 8 นั้น “เฮียฮ้อ” ได้ประกาศว่าปีนี้ ธุรกิจทีวีจะลงทุน 600 ล้านบาท กับ 3 กลุ่มคอนเทนต์หลัก ละคร ข่าว และกีฬา และคาดหวังรายได้ทั้งปี 1,250 ล้านบาท โดยนายสุรชัย เปิดเผยว่า การแข่งขันทีวีดิจิตอลปีนี้ คอนเทนต์กลยุทธ์หลักของช่อง 8 คือ ละคร ข่าว กีฬา ในพื้นที่ส่วนอื่น จะมองเป็นส่วนไปเติมเต็มแพ็คเกจ ที่ใช้ประโยชน์จากนาทีโฆษณาใน 3 ส่วนนี้เป็นหลัก ซึ่งเชื่อมั่นว่า ปีนี้ละครจะมีการเติบโตสูง ในแง่เรตติ้ง จะมีการปรับโครงสร้างหลายส่วน เพื่อให้เรตติ้งดีขึ้น โดยใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาทต่อปี

ส่วนรายการกีฬานั้น ปีนี้มีการดึงพาร์ทเนอร์ “ไทยไฟท์”เข้ามาร่วมด้วย โดยจะเริ่มเดือนกุมภาพันธ์นี้ ด้านรายการข่าว ก็จะมีการปรับทัพผู้ประกาศข่าว โดยเน้นคอนเซ็ปต์ “ข่าวช่อง 8 เข้าใจง่าย เชื่อถือได้” โดยมีทีมข่าวมืออาชีพ ในการลงพื้นที่จริง เพื่อเจาะลึกถึงข่าวที่อยู่ในความสนใจ โดยคาดว่ารายได้ของช่อง 8 ทั้งปีจะอยู่ที่ 1,250 ล้านบาท

 

8.เว็ปไซต์ "สำนักข่าวอิสรา" ออกมาเปิดเผยบทสัมภาษณ์นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 3-4 ช่อง ยื่นหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมใน 2 เรื่อง เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจกำลังจะเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ขอให้ กสทช. ช่วยเหลือค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้เผยแพร่ภาพเป็นการทั่วไป (Must Carry) เพิ่มเติม จากเดิมที่กสทช.ได้ช่วยเหลือค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะช่วยเหลือได้หรือไม่ และหากช่วยเหลือแล้วจะกลายเป็นว่า กสทช.เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมากเกินไปหรือไม่  2.ขอให้ กสทช.ปรับเปลี่ยนวิธีจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งปัจจุบันกสทช.จัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% จากรายได้ แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขอให้เปลี่ยนเป็นจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% จากกำไรได้หรือไม่ คือให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะผู้ประกอบการฯ ที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่ขาดทุนไม่ต้องเก็บ ประเด็นดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน

นายฐากร ยังเปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล MONO29 เลิกจ้างพนักงานกว่า 200 คนในช่วงที่ผ่านมา ได้สอบถามไปทางช่องโมโนแล้ว และได้คำตอบว่าสาเหตุที่ต้องเลิกจ้างพนักงาน เพราะรายได้ลดลงต่อเนื่อง และหากยังต้องรับภาระต้นทุนพนักงานที่มีมากกว่า 1,000 คน เขาบอกว่าธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ และเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ จึงได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการเอาท์ซอร์ซให้คนกลุ่มอื่นมาทำงานแทน

“น่าจะยังมีสถานการณ์เลย์ออฟพนักงานทีวีดิจิทัลแบบนี้อีก และน่าจะมีอีกอย่างน้อย 2-3 ช่อง ที่จะเกิดขึ้นอย่างนี้อีกในเร็วๆ เพราะตอนนี้มีช่องที่ประสานมายังกสทช.เพื่อขอคืนใบอนุญาตมี 2-3 ช่องแล้ว เมื่ออยากคืนใบอนุญาตให้เรา แสดงว่าเขาอยู่ไม่ไหวแล้ว และถ้าหากเขายังไม่คืนใบอนุญาต ก็น่าจะเกิดสถานการณ์เลย์ออฟพนักงาน” นายฐากรระบุ

 

9.เว็ปไซต์ "เนชั่นสุดสุปดาห์" ได้เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่  ประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง การเปิดเผยการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐให้สื่อมวลชน เพื่อประโยชน์ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2562 โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ2560 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐ ที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชนไม่ว่า เพื่อประโยชน์ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์หรือ เพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกันต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบ ตามระยะเวลาที่กำหนดและประกาศให้ประชาชนทราบ อาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 35 วรรคห้า ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 27(6) และมาตรา 5 วรรคสอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงประกาศกำหนดให้มี การเปิดเผยการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐให้สื่อมวลชน

ทั้งนี้ในราชกิจจานุเบกษา ได้ระบุความหมาย “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า (1) ส่วนราชการ (2) รัฐวิสาหกิจ (3) หน่วยงานของรัฐสภา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอัยการ (4) องค์การมหาชน (5) ทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล (6) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๗) หน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่ “สื่อมวลชน” หมายความว่า บุคคลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือบุคคล หรือคณะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตามที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระทุกประเภท ไปสู่มวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูป สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัลหรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมาย ให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป

 

10.เว็ปไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" ได้เปิดเผยบมสัมภาษณ์ "ปัทมวรรณ สถาพร" กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ ประเทศไทย สรุปภาพอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2562 มีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เติบโต 2.4% อัตราเติบโตใกล้เคียงปี 2561 เจาะลึกประเภทสื่อจะพบว่าวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ยังลดลงต่อเนื่อง ส่วนสื่อนอกบ้าน สื่อในโรงภาพยนตร์ สื่อเคลื่อนที่ สื่อภายในห้าง โตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ “สื่อดิจิทัล” ที่ไม่ต้องเซอร์ไพรส์กับตัวเลขเติบโต เพราะยังคงมีอิทธิพลและมาแรงในการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยใช้งานอินเตอร์เน็ตถึง 82% และใช้เวลากับแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ค ยูทูป ไลน์ อินสตาแกรม กูเกิล พันทิป เฉลี่ย 9 ชั่วโมง(ชม.) 38 นาที จน Global ย้ำการใช้เวลา “สูง” ส่วนปัจจัยที่เอื้อเพราะเทคโนโลยี สมาร์ทโฟนราคาต่ำลง การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และสื่อสารง่ายขึ้น ส่วนทีวียืนยันว่าเป็น "สื่อที่ไม่ตาย" แม้ 7 ช่องจอดำครบเมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ตัวเลข "จำนวน" ผู้ชมทีวีดิจิทัลไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

เข้าปี 2563 ปัจจัยบวกหายาก ปัจจัยลบอยู่ครบและอาจเพิ่มขึ้นกระทบธุรกิจ ปัทมวรรณ ยังมอง “บวก” คาดอุตสาหกรรมโฆษณาจะมีเงินสะพัด 1.25 แสนล้านบาท เติบโต 4.8% สื่อหลักเป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่ ทีวี เพราะปีนี้มีมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก 2020” จะตรึงผู้ชมได้

สื่อนอกบ้านยังขยายตัว จากจำนวนสถานีรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พื้นที่โฆษณาจึงเพิ่มตามขณะเดียวกันสื่อนอกบ้านอัพเกรดจากภาพนิ่งมาใช้เทคโนโลยี จอดิจิทัลทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด สามารถทำ Targeted ได้เจาะกลุ่มเป้าหมายแต่ละจุดมากขึ้น ที่ยังร้อนแรงไม่หยุดสำหรับสื่อดิจิทัล แต่อาจโตน้อย เพราะลูกค้าอาจโยกเงินไปยังทีวีรับโอลิมปิก มองบวกว่าอุตสาหกรรมโฆษณายังโต เพราะต้องการให้นักการตลาดตื่นเต้น ทำกิจกรรมการตลาดมากขึ้น แต่กรณีเลวร้ายสุดอุตฯอาจติดลบ"

เมื่อสื่อดิจิทัลกลายเป็น New Normal และคือตัวแปรชิงเค้กโฆษณาจากสื่อดั้งเดิม ทำให้คาดการณ์ปี 2568 ทีวีจะครองเม็ดเงินสัดส่วนต่ำกว่า 50% จาก 57% ถึงแม้เด็กรุ่นใหม่ก้าวเข้ามา แต่คนรุ่นเก่ายังอยู่ สังคมสูงวัย ทำให้ทีวียังเป็นฐานสำคัญ เป็นจอใหญ่ในบ้านที่คนยังดู

นอกจากนี้ เทรนด์ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในปี 2563 ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยี 5G เพราะจะทำให้ผู้บริโภคตอบสนองสื่อดิจิทัลได้เร็ว ง่ายขึ้น และเป็นปัจจัยทำให้กลุ่มโทรคมนาคมกลับมาใช้จ่ายเงินโฆษณาเพิ่ม จากปีที่ผ่านมา “ติดลง” 2.คอนเทนท์ท่วมท้นแต่ผู้บริโภคมีเวลาให้น้อยลง แบรนด์ต้องทำคอนเทนท์เสิร์ฟเฉพาะกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น เพื่อ “ปิดการขาย” ให้เร็ว

 

11.เว็ปไซต์ "พีพีทีวี" ได้รายงานถึงศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวัน ออกมาตรการป้องกันข่าวลวง เกี่ยวกับ ไวรัสโคโรนา หากพบการทำความผิดจะถูกควบคุมตัว 3 วัน หรือปรับ 99,976 ดอลลาร์สหรัฐฯ (3 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน) หากให้ข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น การใส่มาสก์ป้องกัน การควบคุมการติดเชื้อในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การรักษาผู้ป่วย ทำให้ทางการต้องออกมาตรการเตือนประชาชนควรใช้ความระมัดระวังและตรวจสอบความจริงของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ซึ่งอาจจะเป็นการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิด

 

12.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" เปิดเผยบทสัมภาษณ์นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ว่า ปี 2562 ถือเป็นปีที่บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC ผู้บริหาร “เนชั่นทีวี ช่อง 22” กลับมาพลิกฟื้น และมีกำไรจากการดำเนินการจริงๆ หลังจากที่มีทีมผู้บริหารใหม่เข้ามา และล่าสุดได้จ่ายโบนัสให้กับพนักงานจำนวน 1 เดือนเต็ม โดยรายได้ของ NBC มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1. โฆษณา คิดเป็นสัดส่วน 60% 2. การจัดอีเวนต์ และ 3. การผลิตรายการร่วมซึ่งรวมกันมีสัดส่วน 40% อย่างไรก็ดีบริษัทมีเป้าหมายที่จะปรับสัดส่วนรายได้ให้เป็น 50:50 ภายในปีนี้

สำหรับในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้รวม 1,358 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 31% โดยเนชั่นทีวี จะมีรายได้ 634 ล้านบาท มาจากการโฆษณา 370 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าไดเร็กต์ 45% และเอเยนซี 55% ขณะที่รายได้ที่เกิดจากหน่วยงานราชการ หรือภาครัฐเฉลี่ย 1-1.5 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาจากการเลือกซื้อตามเรตติ้งที่ดีและผ่านเอเยนซีเป็นหลัก โดยบริษัททุ่มงบกว่า 120 ล้านบาท ในการปรับปรุงอาคารและสร้างสตูดิโอใหม่ ที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมาเสริมให้การนำเสนอข่าวสารน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ส่วนที่เหลือมาจากสื่อนอกบ้านและการจัดอีเวนต์

นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจใหม่ ได้แก่ บริษัท แฮปปี้โปรดักส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (Happy) ซึ่งบริษัทเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 51% ด้วยงบลงทุน 15 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจโฮมช้อปปิ้งและอนาคตจะก้าวสู่การเป็นอี-คอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ โดยปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ราว 550 ล้านบาท และบริษัทยังใช้เงินลงทุน 3 ล้านบาท เข้าถือหุ้นบริษัท อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด ผู้ให้บริการจัดทัวร์ท่องเที่ยวในสัดส่วน 60% โดยจะเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์นี้และตั้งเป้าที่จะมีรายได้ราว 250 ล้านบาท

"วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน สังเกตได้จากงบโฆษณาที่ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นต้องหาช่องทางทำธุรกิจอื่นที่ใช้แบรนด์ คอนเทนต์ และคอมมิวนิตี เป็นโมเดลธุรกิจในการเดินไปข้างหน้า ถ้าเราหวังพึ่งพิงงบโฆษณาอย่างเดียว เราตายแน่ เพราะโฆษณาไม่โตอีกแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีคนคืนไลเซนส์ช่อง แต่ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะทุกวันนี้คนดูทีวีเปลี่ยน คนสามารถเลือกดูในเวลา ในแพลตฟอร์ม ในสถานที่ที่เขาต้องการ ถ้าเขาจะดูข่าวย้อนหลัง เขาไปดูในยูทูบก็ได้ไม่ต้องดูทีวี วันนี้ทีวียังได้งบโฆษณาเป็นตัวหลัก แต่จะถดถอยไปเรื่อยๆ แต่อาจจะในอัตราที่ช้ากว่าการลดลงของแม็กกาซีนหรือการโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะทีวีก็ยังเป็นสื่อหลัก แต่อนาคตข้างหน้าจะไม่ใช่สื่อหลัก"ฉายระบุ

 

13.เว็ปไซต์ "ยามเฝ้าจอ" รายงานสื่อใหญ่ระดับโลกจากสหราชอาณาจักรอย่าง BBC ประกาศปลดพนักงานฝ่ายข่าวหรือ BBC News จำนวน 450 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนรัดเข็มขัดให้ได้มากถึง 80 ล้านปอนด์ภายในปี 2565 โดยรายการทีวี ที่ได้รับผลกระทบจากการปลดพนักงานก็มีทั้ง Newsnight ทางช่อง BBC Two, World Update ทางช่อง BBC World Service และรวมถึงการประกาศยุติรายการ Victoria Derbyshine ทางช่อง BBC Two อีกด้วย

Fran Unsworth ผู้อำนวยการด้านข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน (Director, News & Current Affairs) ของ BBC ระบุว่าการตัดสินใจลดจำนวนพนักงานครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อก้าวข้ามจากการออกอากาศ Traditional สู่โลก Digital แบบเต็มตัว

ปัจจุบัน BBC News มีพนักงานราวๆ 6,000 คน อยู่นอก UK ประมาณ 1,700 คน และที่เหลืออีกประมาณ 4,300 คนอยู่ใน UK ซึ่งเมื่อปี 2559 BBC ตั้งเป้าลดการใช้งบให้ได้มากถึง 800 ล้านปอนด์ โดยลดการใช้งบของ BBC News ไปประมาณ 80 ล้านปอนด์ ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา BBC News ลดการใช้งบไปได้มากกว่า 40 ล้านปอนด์แล้ว ส่วนงบที่ใช้อยู่ของ BBC News หลังจากนี้จะอยู่ที่ 480 ล้านปอนด์

ส่วนทิศทางของห้องข่าวหรือ Newsroom หลังจากนี้จะเป็นรูปแบบนำเสนอแบบใช้เรื่องราวนำ (Story-led model) ซึ่งจะทำให้เห็นจำนวนสิ่งที่นำเสนอได้ชัดเจน ในขณะที่สหภาพแรงงานสื่ออย่าง Bectu (Broadcasting, Entertainment, Cinematograph and Theatre Union) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้พนักงานอยู่ภายใต้แรงกดดันมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ BBC ยังยุติบริการ Red Button ซึ่งบริการแสดงข้อความที่อัปเดตเพิ่มเติม (เช่น หัวข้อข่าว, ผลฟุตบอล หรือรายงานสภาพอากาศ เป็นต้น) ให้อ่านได้จากหน้าจอทีวี ซึ่งให้บริการครั้งแรกในปี 2542

 

14.เว็ปไซค์ "คมชัดลึก" ได้รายงานจากกรณีการระบาดของเชื้อ “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” หรือ โรคทางเดินหายใจร้ายแรง ที่เกิดจากไวรัสโคโรน่า ข้ามสปีชีส์จากค้างคาวผ่านงูเห่ามาติดเชื้อในมนุษย์ ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ โดยโรคดังกล่าวเริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 62 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกประเทศเกิดความวิตกกังวน และมีการสื่อสารหรือแจ้งข่าวไปทั่วโลก ในจำนวนนี้มีทั้งข่าวจริง และข่าวปลอม ล่าสุด Anti-Fake News Center Thailand หรือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ได้ทำการตรวจสอบข้อมูล และรวบรวมข่าวปลอมที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้แชร์ข่าวปลอมออกไปเป็นจำนวนมาก

โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย พ.ต.อ. พันธนะ นุชนารถ รอง ผบก.ภ.จ.ประจวบคีรีขันธ์ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท. นำกำลังเข้าตรวจค้นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น เลขที่ 27/101 ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ถนนสามวา แขวง/เขตมีนบุรี กทม. ซึ่งประกอบธุระกิจขายหมูกระทะเดลิเวอรี่ จากการตรวจสอบพบ น.ส.ฐิติมา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี เบื้องต้นยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข่าวไวรัสโคโรน่าที่พัทยา โดยมีข้อความระบุว่า “พัทยามีคนป่วยโคโรน่า ตาย 1 คน ทำไมต้องปิดข่าวหรอ ประชาชนจะได้ระวังตัวกัน ห่วงเศรษฐกิจมากกว่าประชาชน”

นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า กระทรวงดิจิทัลไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อติดตามผู้โพสต์ข่าวปลอมต่างๆ เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนตื่นตกใจเป็นอย่างมาก กระทรวงดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ตั้งชุดเฉพาะกิจแยกออกมา กระจายตามเป้าหมายต่าง ๆ จำนวน 10 จุด ในเคสนี้ผู้ต้องหายอมรับว่ามีการโพสต์ตอนต้นๆ แต่ได้ลบโพสต์ทิ้งแล้ว หลังมีคนแชร์ออกไปจำนวนมาก ซึ่งโพสต์ได้ไม่นานก็ลบออกไป

สำหรับข่าวปลอมที่มีการโพสต์กันในโลกออนไลน์ ประกอบไปด้วย

- ข่าวปลอม สีจิ้นผิงสั่งใช้กฏหมายสูงสุด วิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับไวรัส                - ข่าวปลอม ผู้ป่วยติดเชื่อไวรัสโคโรน่า เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ป.แพทย์ 1 นครราชสีมา                - ข่าวปลอม พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เสียชีวิตที่ภูเก็ต เพิ่มอีก 1 ราย                - ข่าวปลอม พบผู้ป่วยชาวจีนติดเชื้อไวรัสโคโรน่า รักษาตัวที่ รพ.ราชธานี จ.อยุธยา                - ข่าวปลอม พัทยาพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่า 1 ราย                - ข่าวปลอม เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สามารถติดต่อผ่านการมองตาได้                - ข่าวปลอม คลิปสุดช็อค ไวรัสโคโรน่า ทำคนล้มทั้งยืน                - ข่าวปลอม กรมควบคุมโรคยกเลิกการคัดกรองผู้โดยสารด้วยเทอร์โมสแกน                - ข่าวปลอม พนักงานการบินไทย ติดโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เป็นจำนวนมาก