สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 พ.ค.2563

 

 

สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 พ.ค.2563

 

1.เว็ปไซต์ "เนชั่นสุดสัปดาห์" รายงาน กรณีองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน Reporters sans frontieres : RSF เปิดเผยดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนประจำปี 2563 พบอันดับไทยร่วงจาก 136 เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ในอันดับ 140 ในปีนี้ จากทั้งหมด 180 ประเทศ ถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่สถานการณ์ในรัฐบาลปัจจุบัน ยังเหมือนกับช่วงเป็นรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร โดย RSF ระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของไทย มีแนวโน้มที่จะถูกตอบโต้อย่างรุนแรงผ่านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมขณะที่กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ให้อำนาจกับฝ่ายรัฐและทำให้เกิดภัยคุกคามทางออนไลน์

 

นอกจากนี้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2562 ยังมีผู้สื่อข่าวถูกตัดสินจำคุก หลังนำเสนอข่าวคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย นอกเหนือจากกรณีชาวต่างชาติทั้งจีน กัมพูชา และเวียดนาม ที่วิจารณ์รัฐบาลในบ้านเกิดแล้วหลบหนีมาอยู่ในประเทศไทย ถูกเจ้าหน้าที่จากประเทศเหล่านั้นตามเข้ามาจับกุมกลับไปประเทศต้นทางได้ สำหรับ 10 ประเทศสื่อมวลชนมีเสรีภาพสูงสุด ประกอบด้วย 1.นอร์เวย์ 2.ฟินแลนด์ 3.เดนมาร์ก 4.สวีเดน 5.เนเธอร์แลนด์ 6.จาไมกา 7.คอสตาริกา 8.สวิตเซอร์แลนด์ 9.นิวซีแลนด์ 10.โปรตุเกส

 

ขณะที่ 10 ประเทศเสรีภาพสื่อย่ำแย่สุด ประกอบด้วย 1.เกาหลีเหนือ 2.เติร์กเมนิสถาน 3.เอริเทรีย 4.จีน 5.จิบูติ 6.เวียดนาม 7.ซีเรีย 8.อิหร่าน 9.ลาว 10.คิวบา ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น พบว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่มีอันดับเสรีภาพสื่อดีที่สุดในภูมิภาคอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก ตามด้วยอินโดนีเซียที่อันดับ 119 ฟิลิปปินส์อันดับ 136 เมียนมา อันดับ 139 กัมพูชาอันดับ 144 บรูไนอันดับ 152 และสิงคโปร์อันดับ 158 ส่วนติมอร์-เลสเต ประเทศที่คาดว่า จะเข้าร่วมประชาคมอาเซียนในอนาคต มีเสรีภาพสื่ออยู่ในอันดับ 78 ของโลก

 

2.หนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์" ไดเปิดช่องทางช่วยเหลือประชาชน ด้วยการเปิด "ตลาดนัดเดลินิวส์" และรับฝากร้าน เพื่อเป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูลข่าวสารการทำมาค้าขายในยามวิกฤติ ผ่านทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เว็บไซต์เดลินิวส์ และ Dailynews Live-TH โดยผู้ประกอบการร้านค้าสามารถส่งรายละเอียดมาได้ทาง อีเมล Taladnat@dailynews.co.th ขณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถส่งข้อมูลสินค้าและฝากร้าน ภายใต้เงื่อนไขผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อได้โดยตรง และเลือกสินค้าได้ตามต้องการโดยเดลินิวส์เป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลเท่านั้น

 

3.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.) เลื่อนบังคับใช้ "พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" ออกไป 1 ปี ภายหลังรับทราบถึงความจำเป็นในการออก ร่างพระราชกฤษฎีกา ขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (พรบ.คุ้มครองข้อมูลสวนบุคคล) ในหมวด 2 การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 3 สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 5 การร้องเรียน หมวด 6 ความรับผิดทางแพ่ง หมวด 7 บทกำหนดโทษ  และความในมาตรา 95 และมาตรา 96 ออกไปอีก 1 ปี ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ

 

ขณะที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤฎีกา กำหนดหน่วยงานและกิจการ ที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2563 โดยมีบัญชีแนบท้ายบัญชีท้าย ระบุรายชื่อ 22 หน่วยงานผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล แต่ไม่อยู่ภายใต้บังคับ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย 1.หน่วยงานรัฐ 2.หน่วยงานของรัฐต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ 3.มูลนิธิ สมาคม องค์กรศาสนา และองค์กรไม่แสวงหากำไร 4.กิจการด้านเกษตรกรรม 5.กิจการด้านอุตสาหกรรม 6.กิจการด้านพาณิชยกรรม 7.กิจการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 8.กิจการด้านพลังงาน ไอน้ำ น้ำ และการกำจัดของเสีย รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้อง 9.กิจการด้านการก่อสร้าง 10.กิจการด้านการซ่อมและการบำรุงรักษา 11.กิจการด้านการคมนาคม ขนส่ง และการเก็บสินค้า 12.กิจการด้านการท่องเที่ยว 13.กิจการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และดิจิทัล 14.กิจการด้านการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย 15.กิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ 16.กิจการด้านประกอบวิชาชีพ 17.กิจการด้านการบริหารและบริการสนับสนุน 18.กิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาการ สังคมสงเคราะห์ และศิลปะ 19.กิจการด้านการศึกษา 20.กิจการด้านความบันเทิงและนันทนาการ 21.กิจการด้านการรักษาความปลอดภัย 22.กิจการในครัวเรือนและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งไม่สามารถจำแนกกิจกรรมได้อย่างชัดเจน

 

4.เว็ปไซต์ "โพสต์ทูเดย์" รายงานความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กยอมรับจากสถานการณ์โควิดระบาด ทำความสามารถตรวจสอบคอนเทนต์ลดลง มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ออกมายอมรับว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ความสามารถในการตรวจสอบความเหมาะสมของคอนเทนต์ลดลง ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนมี.ค. เฟซบุ๊กได้ตัดสินใจปลดผู้ตรวจสอบดูแลเนื้อหาของแพลตฟอร์มบางส่วน ส่งผลให้จำนวนของผู้ที่ดูแลเนื้อหาคอนเทนต์ลดลง โดยนับตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค. เฟซบุ๊กสามารถตรวจสอบเนื้อหาได้เพียง 2.3 ล้านคอนเทนต์ ซึ่งลดลง 26% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

5.เว็ปไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" รายงานข่าวโลกทวิตเตอร์ในไทยพากันฮือฮา เมื่อทวิตเตอร์ได้เปิดตัว @TwitterThailand แอคเคาท์ทวิตเตอร์ประเทศไทยอย่างเป็นทางการแบบ 2 ภาษาเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2563 พร้อมพิมพ์ข้อความว่า "สวัสดีครับ ประเทศไทย" และติดแฮชแท็ก #สวัสดีทวิตเตอร์

 

6.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานหัวข้อข่าว "ไทยทีวีสีช่อง 3 ขาดทุนตั้งแต่ไตรมาสแรก! ยอดขาดทุนมากกว่า 300 ล้าน – เหตุจากโควิด-19 ทำพิษอุตสาหกรรมสื่อไทย" โดยพบว่าบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2563 โดยตัวเลขสะท้อนสถานการณ์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2563 ออกมาว่าบริษัทฯ มีรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 1,647 ล้านบาท แบ่งรายได้เป็นรายได้จากค่าโฆษณา 1,399 ล้านบาท รายได้จากการใช้ลิขสิทธิ์ 219 ล้านบาท รายได้จากการจัดคอนเสิร์ต 6 ล้านบาท รายได้จากการขายสินค้า 10 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 10 ล้านบาท โดยมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 41 ล้านบาท

 

เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่มีงบประมาณอยู่ 1,975 ล้านบาท ก็ส่งผลให้บริษัทขาดทุนรวมอยู่ที่ 305 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายมีการลดลงร้อยละ 12.6 จากไตรมาสเดียวกันในปี 2562 โดยผลกระทบที่ทำให้รายได้ลดลงเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังซื้อของเอเจนซีและผู้บริโภคที่ลดลง อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อหลายมิติของธุรกิจในบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงคอนเสิร์ตไม่ได้ การถ่ายทำละครที่ต้องเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 

7. เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานหัวข้อ "บางกอกโพสต์ ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของปี ขาดทุนกว่า 94 ล้านบาท!" โดยบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2563 ที่ผ่านมา มีผลประกอบการขาดทุนมากถึง 94 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 109 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ที่ 79 ล้านบาท และธุรกิจรับจ้างผลิตรายการทางโทรทัศน์อยู่ที่ 10 ล้านบาท (ปัจจุบันมีบริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด และบริษัท มัชรูม กรุ๊ป จำกัดดูแลส่วนงานนี้) นอกจากนี้ยังมีรายได้ส่วนอื่น ๆ เข้ามาอีกด้วย โดยอยู่ที่ 20 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ทำให้สัดส่วนรายได้ลดลงถึงเกือบ 100 ล้าน

 

เหตุผลที่ "บางกอกโพสต์" ขาดทุนมากถึง 94 ล้านบาท ก็หลีกเลี่ยงผลกระทบจากโควิด-19 โดยบริษัทได้ระบุในคำอธิบายผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2563 ไว้ด้วยว่า “บริษัทฯ มีการปรับตัวด้านการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและแข่งขันกับคู่แข่งทางการตลาดและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

8.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานหัวข้อ "อมรินทร์ กรุ๊ป ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก ขาดทุน 20 ล้าน!" โดยอมรินทร์ กรุ๊ป ประกาศผลประกอบการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในไตรมาสที่ 1/2563 มีผลประกอบการที่ขาดทุนไป 20 ล้านบาท โดยมีรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 699.87 ล้านบาท โดยแบ่งรายได้มาจากธุรกิจโทรทัศน์ช่องอมรินทร์ ทีวี หมายเลข 34 เป็นจำนวน 271 ล้านบาท ถ้าเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 มีรายได้เพิ่มขึ้น 62 ล้านบาท ทำให้ส่วนนี้ได้กำไรอยู่ที่ 2 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจรับจัดงานและโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ มีรายได้อยู่ที่ 120 ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ 8 ล้านบาท และรายได้จากการจัดจำหน่ายหนังสือ มีรายได้อยู่ที่ 393 ล้านบาท ขาดทุนอยู่ที่ 29 ล้านบาท ทำให้เมื่อรวมกันจึงขาดทุน 20 ล้านบาท

 

9.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานหัวข้อ "เวิร์คพอยท์ยังแกร่ง โควิด-19 ทำอะไรเขาไม่ได้เลย! กำไรไตรมาสที่ 1/2563 ฟาดไป 44 ล้านบาท" โดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2563 ยังสามารถทำกำไรประจำงวดไปได้อยู่ที่ 44 ล้านบาท ซึ่งรายได้แบ่งออกเป็น รายได้จากธุรกิจโทรทัศน์อยู่ที่ 480 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 173 ล้านบาท รายได้ส่วนนี้ลดลงจากปีที่แล้วอยู่ที่ 54 ล้านบาทโดยประมาณ ในขณะที่รายได้จากธุรกิจคอนเสิร์ตและละครเวทีในไตรมาสนี้อยู่ที่ 11 ล้านบาท ขาดทุนไป 131,000 บาท จากปี 2562 ที่ได้กำไรอยู่ที่ 5 ล้านบาท และมีรายได้อยู่ที่ 15 ล้านบาท รายได้ส่วนต่อมาคือรายได้จากรับจ้างจัดงานซึ่งได้รายได้อยู่ที่ 26 ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ 6 ล้านบาท และส่วนสุดท้ายคือการขายสินค้า มีรายได้ที่รับรู้อยู่ที่ 86 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 77 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้มาจาก 1346 Hello Shop

 

10.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานหัวข้อ "เนชั่นทีวี ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ขาดทุน 18 ล้านบาท!" โดยเนชั่นทีวี ประกาศผลประกอบการประจำงวดที่ 1/2563 รอบ 3 เดือนมีรายได้รวมทั้งหมด 218 ล้านบาท ขาดทุน 22 ล้านบาท ซึ่งรายได้รวม 218 ล้านบาท แบ่งตามหมวดหมู่รายได้ออกมาเป็น รายได้จากการขายโฆษณาจากสถานีโทรทัศน์ “เนชั่นทีวี ช่อง 22” เป็นรายได้ทั้งหมด 96.84 ล้านบาท รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 96.64 ล้านบาท รายได้จากการนำเที่ยว 12.86 ล้านบาท และสุดท้ายคือรายได้จากสื่อรูปแบบใหม่ รวมทั้งหมด 4.72 ล้านบาท ทำให้มียอดขาดทุนประจำงวดอยู่ที่ 18 ล้านบาท

 

11.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานหัวข้อ "มติชน ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2563 ขาดทุนไปทั้งหมด 10 ล้านบาท" โดยบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2563 มีผลประกอบการขาดทุนประจำงวดอยู่ที่ 10.22  ล้านบาท และมีรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 155 ล้านบาท โดยรายได้หลักยังคงเป็นธุรกิจโฆษณาและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ มติชนได้รายงานเพิ่มเติมในเอกสารทางการเงิน โดยจำแนกรายได้ต่างๆ สำหรับบริษัทฯ ซึ่งประกอบไปด้วย ธุรกิจโฆษณาและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ มีรายได้อยู่ที่ 184 ล้านบาท กำไรจากส่วนงานนี้ 40 ล้านบาท รายได้ส่วนต่อมาคือการอบรมวิชาชีพ มีรายได้อยู่ที่ 2 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้นจากธุรกิจนี้ 877,000 บาท และรายได้จากการรับจ้างจัดงาน มีรายได้อยู่ที่ 1.26 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 1.25 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมไปถึงต้นทุนการให้บริการด้วย ทำให้ผลประกอบการมีการขาดทุนอยู่ที่ 10.22 ล้านบาท และเมื่อรวมกับกำไรขาดทุนจากภาษีเงินได้ ทำให้รวมกันขาดทุนมากกว่า 21.99 ล้านบาท

 

12. เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานท"เปิดผลประกอบการปี 2562 ช่อง 7 รายได้หด-กำไรหาย 200 ล้านบาท" โดยช่อง 7 ได้เปิดผลประกอบการของปี 2562 ออกมา ส่งผลทำให้ช่อง 7 กำไรหายไปมากถึง 200 ล้านบาท ซึ่งรายได้ของช่อง 7 หรือบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ประจำปี 2562 ปรากฏว่ามีรายได้หลักลดลงประมาณ 590 ล้านบาท โดยทำรายได้หลักอยู่ที่ 4,061,962,001.16 บาท จากปี 2561 ที่ทำรายได้หลักอยู่ที่ 4,651,935,328.37 บาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 4,832,284,761.14 บาท จากปี 2561 ที่ทำรายได้รวมอยู่ที่ 5,750,071,504.31 บาท ลดลงไปประมาณ 918 ล้านบาท

 

13.เว็ปไซต์ "จุดประกาย" จากกรุงเทพธุรกิจ เปิดรายงานพิเศษเรื่อง "อนาคต 'สื่อ' ท่ามกลางโควิด –19" โดยนำข้อมูลจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA วิเคราะห์อนาคตสื่อในสถานการณ์โควิด-19 ปัจจัยการปรับตัวครั้งสำคัญท่ามกลางการแข่งขัน และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์มหาชน) หรือ NIA ได้เผยว่า จากภาวะวิกฤตและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ “สื่อและสื่อมวลชน” ถือว่าเป็นตัวกลางสำคัญที่จะช่วยส่งต่อข่าวสาร รวมไปถึงข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้ โดยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ นับว่ามีผลกระทบต่อการรายงานข่าวของสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะด้านรูปแบบ เทคนิค และวิธีการนำเสนอ เนื่องจากต้องมีทั้งข้อมูลเชิงลึกทางสถิติและองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ต้องรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และเข้าใจได้ง่าย เน้นสร้างความเข้าใจมากกว่าความตระหนกให้สังคม จึงจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้เสพข่าวในยุคปัจจุบัน หนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจนคือสื่อขนาดใหญ่จะเหลือน้อยลง นายทุนจำป็นต้องอาศัยโอกาสนี้ในการลดขนาดบริษัท ลดจำนวนพนักงาน และหันมาทำสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ทุกคนจะได้เห็นสำนักข่าวออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา ในส่วนของรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 605 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ได้ 678 ล้านบาทอยู่ที่ 73 ล้านบาท

 

14.เว็ปไซต์ "positioningmag" รายงานตัวเลขสื่อโฆษณาส่อติดลบ 15-20% หนักสุดเป็นประวัติการณ์ จากวิกฤต COVID-19 ทำให้ทุกธุรกิจต่างหยุดชะงัก ทำให้สื่อโฆษณาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมีเดีย อินเทลลิเจนซ์ ได้เปิดเผยตัวเลขงบสื่อโฆษณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 มีตัวเลขลดลง 6.02% มีมูลค่า 19,892 ล้านบาท มีการคาดการณ์ว่าทั้งปี้จะมีมูลค่างบสื่อโฆษณาทั้งหมด 77,124 ล้านบาท หดลงมากถึง 15-20% จากปีก่อน โดยที่งบโฆษณาทางทีวีจะเหลือเพียงแค่ 40,000 ล้านบาท

 

15.เว็ปไซต์ "มติชนออนไลน์" ได้เปิดเผยผลประกอบการ 1/2563 โดยน.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการสำหรับงวด 3 เดือนแรกของปี 2563 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2563 ของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัทมียอดรายได้จากการขายและการให้บริการ รวม 155.41 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 28.16 ล้านบาท หรือ 15.34% มียอดต้นทุนขายและการให้บริการ 111.47 ล้านบาท ลดลง 22.40 ล้านบาท คิดเป็น 16.73%

บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการลดลง รวมถึงต้นทุนขายและการให้บริการลดลงสัมพันธ์กัน อัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 1/2563 และ 2562 เท่ากับ 28.27% และ 27.08% ตามลำดับใกล้เคียงกัน แต่ในส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ทำให้ผลประกอบการรวมสำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2563 บริษัทมีผลขาดทุนสำหรับงวดเท่ากับ 10.23 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสำหรับงวด 7.59 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่รายได้ลดลงเป็นผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ประกอบกับรัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ลดการจัดกิจกรรมต่างๆ ทำให้บริษัทไม่สามารถจัดกิจกรรมหารายได้จากการอบรมหรือสัมมนาตามปกติได้

 

16.เว็ปไซต์ "marketeeronline" ได้รายงาน "พฤติกรรมคนไทยเข้าถึงข่าวบนโลกออนไลน์อย่างไร" โดยในงาน Webinar สัมมนาออนไลน์หัวข้อ Master Advertising Sales in 2020 โดย Google และ Anymind เปิดเผยผลวิจัยของ Google ที่จับมือกับ Kantar สำรวจพฤติกรรมการรับข่าวสารออนไลน์ของคนไทยในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า 92% อ่าน/ชมข่าวออนไลน์อย่างน้อย 1 ข่าวต่อวัน เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงสุดในเอเชียแปซิฟิก และเท่ากับอินโดนีเซีย ออสเตรเลียมีอัตราการอ่าน/ชมข่าวต่ำสุดเพียง 80% ส่วนค่าเฉลี่ยเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 89% นอกจากนี้คนไทยชอบรับข่าวหลากหลายประเภท โดยเฉลี่ย 1 คนอ่านข่าวมากถึง 7.4 ประเภทด้วยกัน และเป็นความสนใจในประเภทข่าวที่มากกว่าค่าเฉลี่ยเอเชียแปซิฟิก ที่มีค่าเฉลี่ย 7.2 ประเภท โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการอ่านข่าวหลากประเภทที่สุด ด้วยค่าเฉลี่ย 7.9 ประเภท ญี่ปุ่นต่ำสุด 6.3 ประเภท

 

ทั้งนี้ ข่าวที่คนไทยให้ความสนใจสูงสุดได้แก่ 1.ข่าวในประเทศ 2.ข่าวเศรษฐกิจ 3.ข่าวการเมือง 4.ข่าวบันเทิง 5.ข่าวเทคโนโลยี และคนไทย 81% มองว่าการอ่านข่าว/ชมข่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวต่าง ๆ และ 54% เห็นความสำคัญข่าวที่กระทบต่อสังคมกับคนหมู่มาก

 

ส่วนการตัดสินใจอ่าน/ชมข่าวของคนไทย จะอ่าน/ชมข่าวจากสำนักข่าวที่รายงานข่าวที่ทันเหตุการณ์ ความเป็นกลาง ความมีชื่อเสียงของสำนักข่าว และความมีชื่อเสียงของผู้อ่านข่าว ในส่วนของการอ่านข่าวออนไลน์คนไทยยังคงนิยมอ่านข่าวจากเฟซบุ๊กเป็นหลักมากถึง 70% รองลงมาได้แก่ยูทูบ 64% ไลน์ 59% เมื่อมองไปที่ความชอบของแพลตฟอร์มในการรับข่าวสารพบว่า 76% ชอบอ่านข่าวที่เป็น Text และ รูป โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมอ่านข่าวในรูปแบบ Text และรูปในข่าวประเภทความคิดเห็น (Opinion) ถึง 56% ข่าวเศรษฐกิจ 50% ข่าวในประเทศ 49% อีก 62% ชอบชมข่าวในรูปแบบวิดีโอ ภาพเคลื่อนไหวการชมข่าวในรูปแบบวิดีโอ ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมชมข่าวที่เป็นข่าวกีฬา 46% ข่าวเทคโนโลยี 38% ข่าวสิ่งแวดล้อม 37% ส่วนช่องทางที่นิยมชมข่าวในรูปแบบวิดีโอคือ ยูทูบ และแพลตฟอร์มวิดีโอแชร์ริ่งอื่นๆ 77% โซเชียลมีเดีย 70% เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันของช่องทีวี 49%

 

17.เว็ปไซต์ "ไทยโพสต์" รายงานข่าว "โทษหนัก เมียนมาจำคุก2ปี บก.ออนไลน์แพร่ข่าวปลอมโควิด-19" โดยศาลเมียนมาพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี บรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์โทษฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ จากการรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสียชีวิตที่รัฐกะเหรี่ยง แต่กลับกลายเป็นข่าวปลอม ซึ่ง "ซอว์ เย เธ็ท" บรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์ แด พยอ (Dae Pyaw) โดนตำรวจจับกุมตัวเมื่อวันที่ 13 พ.ค.วันเดียวกับที่สำนักข่าวของเขาเผยแพร่บทความที่มีความผิดพลาด ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสียชีวิต 1 รายที่รัฐกะเหรี่ยง ทั้งนี้ ศาลไต่สวนความผิดในคดีนี้ของเขา ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินคดีที่รวดเร็วผิดปกติในเมียนมา ที่ส่วนใหญ่จะคุมขังผู้ต้องสงสัยในเรือนจำหลายเดือนก่อนศาลตัดสินคดี

 

ขณะที่ "เมียน ทูซาร์ มอ" ทนายความของบรรณาธิการผู้นี้ เผยว่า ศาลรัฐกะเหรี่ยงตัดสินจำคุกบรรณาธิการซอว์ 2 ปีจากความผิดตามกฎหมายมาตรา 505 (บี) กฎหมายมาตรานี้ของเมียนมาโดนวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ ส่วนใหญ่เอาไว้ใช้ดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหว ในข้อหาสร้างความกลัวหรือความแตกตื่นต่อสังคม โดย "พิว พิว วิน" ภรรยาของซอว์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินที่ไม่เป็นธรรมของศาล

 

18.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงาน “เครือเนชั่น-พันธมิตร” ร่วมแบ่งปันน้ำใจ ช่วยเหลือสังคมในโครงการ “ตู้เนชั่นปันน้ำใจ” มอบถุงปันสุขทุกวัน เป็นเวลา 10 วัน บรรเทาผลกระทบโควิด-19 โดยเปิดโครงการ “ตู้เนชั่นปันน้ำใจ” ขึ้นเพื่อแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมี "ฉาย บุนนาค" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในการเปิดโครงการฯ และมอบถุงยังชีพให้ประชาชน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนโดยการแบ่งปันน้ำใจไปสู่ชุมชนบริเวณใกล้เคียง

 

19.เว็ปไซต์ "คมชัดลึกออนไลน์" รายงานว่าหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 อุทิศหน้า 1 ตีพิมพ์ชื่อผู้เสียชีวิต จากไวรัสโรคโควิด-19 โดยหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับนี้ ตีพิมพ์รายชื่อของผู้เสียชีวิตจำนวน 1,000 รายในสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งพาดหัวว่า “ความสูญเสียเหลือคณานับ” โดยหนังสือพิมพ์ชี้แจงว่า “ผู้เสียชีวิตทั้ง 1,000 ราย ในรายชื่อตรงนี้สะท้อนจำนวนเพียงร้อยละ 1 ของยอดทั้งหมดเท่านั้น”

 

20.เว็ปไซต์ "marketingoops" รายงานโฆษณาในสหรัฐฯ ลดลง เพราะกลัวภาพลักษณ์แบรนด์เสีย เนื่องจากการรายงานข่าวสถานการณ์ COVID-19 โดยการสำรวจของหลายๆ สื่อกลับพบว่า หลายแบรนด์โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ๆ ตัดสินใจไม่ซื้อโฆษณาด้วยเหตุผลว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ COVID-19 สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับแบรนด์ ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหลักของแบรนด์ใหญ่ในการตัดสินใจไม่ซื้อโฆษณา ส่วนการเติบโตของโฆษณาทั่วโลกในปีนี้มีการปรับตัวลดลงราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท ตามที่บริษัทวิจัยตลาด eMarketer มีการประเมิน นอกจากนี้การเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาในประเทศจีนยังเติบโตเพียง 8.4% เอเจนซี่โฆษณาและบริษัทที่เกี่ยงข้องด้านโฆษณาพยายามชี้ให้แบรนด์เห็นว่า การไม่ลงโฆษณาด้วยเหตุผลด้านภาพลักษณ์ จะทำให้แบรนด์ไม่สามารถเข้าถึงผู้อ่านและผู้ติดตามได้ในช่วงนี้

 

21.เว็ปไซต์ "มติชน" รายงานเนชั่น แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ขาย ‘คมชัดลึก’ 70 ล้านบาท ให้เนชั่น! ‘สนธิญาณ’ ลาออก โดยเว็บไซต์ nationtv ได้เผยแพร่ข่าวว่า นางวรางคณา กัลยาณประดิษฐ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งปรเทศไทย(ตลท.)ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ อนุมัติการขายธุรกิจและเครื่องหมายการค้า “คมชัดลึก” มูลค่ารวม 70 ล้านบาท ให้ บริษัท เนชั่น บอรดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC สำหรับเงินที่ได้จากการขาย “คมชัดลึก” ดังกล่าว จะนำไปชำระหนี้ทางการค้าเพื่อลดความเสี่ยง จากการฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าหนี้การค้าที่เกี่ยวข้อง และยังช่วยให้บริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่ดีขึ้น

 

นอกจากนี้บริษัทรับทราบ NBC จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท กรีน เน็ต 1282 จำกัด (GNET)จากบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS และภาระหนี้คงค้างพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือรับสภาพหนี้ รวมเป็นมูลค่า 250 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.63 ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวยังระบุถึง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ได้ลาออกจากกรรมการ และรองประธานกรรมการคนที่ 2 มีผลตั้งแต่ 1 มิ.ย.63

 

22.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงานหัวข้อข่าว "เชือดนิ่มๆ "ทรัมป์"ลงนามคำสั่งทบทวนกฎหมายคุ้มครองโซเชียลมีเดีย" โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อสั่งการให้คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ (FCC) ดำเนินการทบทวนเนื้อหาในมาตรา 230 ของกฎหมาย "Communications Decency Act" ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยให้แพลตฟอร์มออนไลนได้รับการยกเว้นจากพันธกรณีทางกฎหมายในกรณีที่ผู้ใช้งานโพสต์ข้อความต่าง ๆ ลงบนแพลตฟอร์ม คำสั่งดังกล่าวจะให้อำนาจ FCC ในการจัดการกับบริษัทโซเชียลมีเดียที่เผยแพร่ข่าวสารที่มีเนื้อหา "หลอกลวง" และยังสามารถจัดตั้งคณะทำงานของอัยการรัฐ เพื่อทำการทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังสั่งการให้นายวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ ติดตามความคืบหน้าในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกับบริษัทโซเชียลมีเดีย

สื่อต่างประเทศระบุว่า การลงนามในคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นเนื่องจากทรัมป์ไม่พอใจการกระทำของทวิตเตอร์ ที่ขึ้นแถบข้อความเตือนเกี่ยวกับข่าวปลอมหรือ "เฟคนิวส์" ใต้ทวีตของเขาจำนวน 2 ทวีตเมื่อวันอังคารที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นมาตรการใหม่ของทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียชื่อดัง ที่ต้องการตรวจสอบและป้องกันการแพร่กระจายข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่างๆ

 

23.เว็ปไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" รายงานหัวข้อข่าว เดือดไม่เลิก นักข่าว CNN ถูกจับเหตุประท้วงผิวสีมินนิโซตา โดยนายทิม วอลซ์ ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ของสหรัฐ ออกมาขอโทษเหตุตำรวจจับนักข่าว 3 คนของ CNN ขณะออกอากาศสด พร้อมเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงจากการประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจต่อการกระทำของตำรวจต่อชาวผิวสี เป็นเหตุการณ์ตำรวจมินนิโซตาจับกุมตัวนายโอมาร์ จิมิเนซ นักข่าวซีเอ็นเอ็น ซึ่งเป็นชาวผิวสี ขณะกำลังทำข่าวการประท้วงของประชาชนในรัฐมินนิโซตา โดยไม่มีการแจ้งเหตุผล พร้อมกับใส่กุญแจมือนายจิมิเนซ และทีมงานอีก 2 ราย แต่นายจิมิเนซและทีมงานได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ภายหลังถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

 

24.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2563 ที่ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์เป็นประธาน พร้อมด้วยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนฯ ร่วมพิจารณาผลการคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แทนนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนฯ คนปัจจุบันที่กำลังจะครบวาระในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมจึงมีมติแต่งตั้ง นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนผู้จัดการกองทุนฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าผู้จัดการคนใหม่ จะเข้ารับตำแหน่ง