จดหมายถึงประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ

องค์กรสื่อ ยื่นกมธ.สิทธิฯ วุฒิ สอบตร.ทำร้ายสื่อ

ที่รัฐสภา นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.)เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนกับสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ที่เข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการขัดขวางและคุกคามการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นำข่าวสารข้อเท็จจริงเสนอต่อประชาชน

นายตวง กล่าวว่า จะนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมกมธ.โดยเชิญสื่อมวลชนที่ถูกคุกคาม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เข้าชี้แจงด้วย เพราะเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าการชุมนุมดังกล่าวกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิใช้ มาตรา15 ของพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่บัญญัติการกำหนดรายละเอียด ข้อห้าม เช่น การปิดล้อม จับกุม และการห้ามต่างๆ รวมถึงการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า กมธ.จะตั้งอนุกรรมาธิการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจการกระทำความรุนแรงต่อสื่อและประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม โดยเบื้องต้นจะตรวจสอบการคุมคามต่อสื่อมวลชนก่อน โดยจะเชิญสื่อมวลชน ผบ.ตร. และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีให้ข้อมูล โดยประเด็นที่จะต้องมีการตรวจสอบคือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้งเตือนผู้ชุมนุมตามหลักสากลก่อนหรือไม่

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

เรื่อง  ขอให้วุฒิสภาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน

เรียน  ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา

ด้วยเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๕ ที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มองค์การพิทักษ์สยามพยายามที่จะฝ่าด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวาน เพื่อไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนกระทั่งมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมฝูงชนตามความทราบแล้วนั้น

ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ได้มีช่างภาพสื่อมวลชนอย่างน้อย ๓ ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังประทุษร้ายและจับกุมไปคุมขังไว้บนรถควบคุมผู้ต้องหา ขณะที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการขัดขวางและคุมคามการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  ตามที่มาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติรับรองไว้

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ จึงขอให้ วุฒิสภา ในฐานะองค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ฝ่ายบริหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนดังกล่าว

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

ขอแสดงความนับถือ

 

(นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี)                                                (นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์)

นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย                 นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย