ข่าวและ แถลงการณ์ 3 พฤษภาคม 2556 วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก-หัวข้อ เสรีภาพที่ ไม่คุกคาม

 

 

 

ฟังเสียงการแถลงการณ์และเนื้อหาการเสวนา เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม

{mp3remote}http://www.tja.or.th/images/sound2556/560503-pressfreedom.mp3{/mp3remote}

 

แถลงการณ์    3 พฤษภาคม  2556 วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

หัวข้อ เสรีภาพที่  ไม่คุกคาม

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “ วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ” เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการพื้นฐานของเสรีภาพการแสดงความเห็นนและการแสดงออก ซึ่งในปี2556 ยูเนสโกได้จัดให้มีการรณรงค์ในเรื่องความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเน้นการส่งเสริมให้สื่อมวลชนทุกแขนงสามารถเข้าถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซงและคุกคาม   เสรีภาพของสื่อมวลชน มีความสัมพันธ์กับเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกของบุคคล หากสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพ ก็ยากที่บุคคลจะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและแสดงออก  เนื่องจากบุคคลต้องใช้ในเสรีภาพดังกล่าวผ่านสื่อต่างๆ

สำหรับบรรยากาศการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนในทุกประเภท ในยุคที่สังคมไทยได้เกิดสื่อขึ้นอย่างมากมาย แต่ละฝ่ายได้เปิดดำเนินการสื่อของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน สื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างใช้สื่อเพื่อรายงานข่าว ความคิดเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง   สังคมได้ตั้งคำถามถึงการใช้เสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ว่ามีส่วนที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง ความแตกแยก ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ละเมิดกฎหมาย สิทธิ เสรีภาพของบุคคลอื่นเสียเอง  นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวหาและข้อสงสัยอีกจำนวนมาก  เช่น ความไม่เป็นกลาง, สื่อเลือกข้าง ,สื่อไม่ได้สร้างหรือเปิดพื้นที่อย่างเป็นธรรมกับความเห็นที่แตกต่างหรือบุคคลที่ถูกพาดพิง ,ข่าวที่สื่อนำมาเสนอแตกต่างกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ที่เกิดขึ้นจริง ฯลฯ ซึ่งคำถามและข้อสงสัย เหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือและความน่าไว้วางใจในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคมไทย

นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาต่อเนื่องหลายปี ก็ยังคงดำรงอยู่ ทั้ง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือง โดยแต่ละฝ่ายได้ใช้เสรีภาพเพื่อการแสดงออกถึงจุดยืนและความเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงกระทำได้ในสังคมประชาธิปไตย   แต่จากข้อเท็จจริง การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองของบุคคลหรือกลุ่มการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าในบางครั้งมีเจตนาเพื่อปลุกเร้า หรือก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดทางกฎหมายหรือเป็นลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมได้ ขาดความอดทนต่อความเห็นที่แตกต่าง  ส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นของบุคคลตกอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย สังคมมีความหวาดกลัว  และทำให้การใช้เหตุผลและปัญญาเพื่อหาทางออกร่วมกันในปัญหาสำคัญของประเทศลดน้อยลงไปด้วย

ในโอกาส วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงเรียกร้องฝ่ายต่างๆ ให้ร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพ “เสรีภาพที่ ไม่คุกคาม” ดังนี้

1.            สนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพการแสดงความเห็นและการแสดงออกของประชาชน ภายใต้ หลักการ “เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม” คือ เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกของบุคคลและสื่อมวลชนต้องมีความปลอดภัย  ปราศจากการถูกแทรกแซง คุกคาม  ในขณะเดียวกันต้องไม่ใช้เสรีภาพ ไปคุกคามการใช้เสรีภาพของบุคคลอื่น  รับฟังและอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ต้องไม่ปลุกเร้า เพราะอาจก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในคมได้

2.    ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน พึงตระหนักถึงการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ นั้นคือ  ต้องรายงานข่าวสาร ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง  ด้วยข้อมูลรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเที่ยงตรง  เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์แห่งสาธารณะ ต้องตระหนักร่วมกันว่าหากนำเสนอข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริง หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง นั้น จะนำไปสู่การให้ทางเลือกที่ผิดกับประชาชน

3.            ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมือง การรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ เสรีภาพในการแสวงหาข่าวสารและรายงานข่าวสารให้ประชาชนรับรู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องไม่ถูกขัดขวาง  การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน รวมทั้งกลุ่มการเมืองและกลุ่มอิทธิพลใดๆ  ที่สำคัญต้องร่วมกันสนับสนุนหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา46  ที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพผู้ที่เป็นสื่อมวลชนให้เป็นอิสระจากเจ้าของ ทั้งที่เป็นสื่อของรัฐและเอกชน

4.            สื่อมวลชนต้องร่วมกันเสริมสร้างบทบาทในการขับเคลื่อนหาทางออกในสังคม แสดงบทบาทนำในการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังเหตุผลที่แตกต่างหลากหลาย พร้อมร่วมกันสร้างบรรยากาศของการใช้เหตุผล  เพื่อให้สังคมไทยออกจากความขัดแย้ง ความแตกแยก ได้อย่างสันติ

5.            ขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ยุติและทบทวนการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ โดยต้องกระจายคลื่นความถี่ที่อยู่ในการครอบครองของรัฐไปสู่สาธารณะชนอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม และต้องกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาให้ใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอลสาธารณะ และโทรทัศน์ดิจิตอลเพี่อชุมชนให้ชัดเจน โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างรอบด้าน

6.            ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ชีวิตประจำวันของประชาชนถูกแวดล้อมด้วยสื่อ มีปริมาณข่าวสารจำนวนมาก  การรู้ทันสื่อ จึงมีความสำคัญ ต้องแยกความคิดเห็นออกจากข้อเท็จจริง ต้องหาข้อมูลจากสื่อหลายๆสื่อ เพื่อประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งพึงตระหนักว่า สื่อออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ หากไม่ระมัดระวังอาจมีผลกกระทบกับตัวเองและบุคคลอื่นได้

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

3 พฤษภาคม 2556

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

Thai Journalists Association and the Thai Broadcast Journalists Association made the following calls for all sides:
1. All sides must support and promote freedom of expressions by he people under the principle of “freedom without intimidation”. Individuals and the media members must be allowed to express opinions safely without interference or intimidation by anyone. But they must not intimidate freedom of others and must tolerate different opinions and must not incite violence in the sociey.
2. The media must carry out their journalistic duties with responsibility under the framework of professional ethics. Their reports must be accurate and comprehensive and must be fair to all sides so that the public will get accurate information for the benefit of the public. The media must always realise that if they present distorted or inaccurate information, it could lead to wrong choices by the people.
3. Maintaining freedom is essential under the situation of political conflicts. The people’s freedom in seeking news and information while the media’s freedom to report news for the benefit of the public must not be obstructed. Media members’ journalistic duty must not be interfered by the state power and financial power of the investors or by any political or influential group. Most of all, all sides must join force to protect the provision of Article 46 of the Constitution, which protect the journalists’ freedom against interference by the owners of the media organisations no matter whether they are private or state media agencies.
4. The media must join hands to play a role to seek solutions for the society. The media must play the leading role in providing venues for all sides to exchange information and the media must listen to different opinions and must join hands to create an atmosphere for all sides to try to settle differences with reasons so that the Thai society could exit the conflicts and rifts with peaceful means.
5. The National Broadcasting and Telecommunications Commission (NBTC) must stop distorting the intention of broadcast media reform. The broadcast frequencies must be distributed to the public with transparency and fairness. The NBTC must set criteria for approving terrestrial digital TVs licenses and digital community TV licenses cleary by taking into accounts opinions from all sectors of the society.
6. Amid conflicts in the daily life, the people are now enveloped with massive news reports so the people should know and understand the media. The people must be able to differentiate facts from opinions in the reports and must crosscheck with several media for making final decisions. The people must realise that online media is public space so if they are not careful in believing information on online media, they and others could face severe consequences.

 

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////


นายจักร์กฤษ  เพิ่มพูล    ประธาน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น


ศ. ดร. ชัยวัฒน์  สถาอานันท์  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ผศ.  วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

จักรกฤษ-วลักษณ์กมล-ชัยวัฒน์ เผยใน งานเสวนา “เสรีภาพ...ที่ไม่คุกคาม” “สื่อมวลชน” โดนคุกคาม ทั้งจาก รัฐ-กลุ่มทุน ต้องมี “จริยธรรม” ในการทำงาน

วันที่ 3 พ.ค. 56 ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมสิทธิเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก World Freedom Day ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยเปิดให้มีการเสวนาเรื่อง “เสรีภาพ...ที่ไม่คุกคาม”


นายจักรกฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุในงานเสวนาว่า เวลาที่เราพูดถึงสื่อเรามักจะถามหาเสรีภาพ เราใช้เสรีภาพกันไม่เป็นจึงเป็นเหตุให้ต้องมีสภาการหนังสือพิมพ์คอยควบคุมกำกับดูแล เมื่อก่อนสมัยรัฐบาลทหารมีการคุกคามสื่ออย่างชัดเจน คือ มีการสั่งคนไปล่ามโซ่แท่นพิมพ์ของสำนักพิมพ์ที่นำเสนอข่าวของทางรัฐบาลทหารในด้านลบ แต่พอหลังจากที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน การคุกคามก็เริ่มเปลี่ยนไปในรูปของกลุ่มทุนที่เข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน
“เมื่อก่อนพื้นที่การลงข่าวในหนังสือพิมพ์กับพื้นที่โฆษณาแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน แต่สมัยนี้เราไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้เลย ความเป็นอิสรเสรีภาพของกองบรรณาธิการก็ถูกคุกคามโดยอำนาจของกลุ่มทุนนิยม” นายจักรกฤษ กล่าว

ด้าน นางวลักษณ์กมล จ่างกมล คณะบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เสนอวิธีการการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ไม่ให้คุกคาม กระบวนการสันติภาพ ว่า 1.สื่อมวลชนควรพิจารณาถึงกรอบของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 2.สื่อมวลชนต้องเรียนรู้ถึงรากเหง้าของปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนที่จะทำข่าว 3.ความขัดแย้งไม่ได้ถูกควบคุมโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หน้าที่ของสื่อมวลชนก็ควรที่จะเปิดเวทีให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุย
“กระบวนการสันติภาพมีความอ่อนไหวและอ่อนแอมาก สื่อมวลชนควรที่จะช่วยกันประคับประคองให้กระบวนการสันติภาพเดินไปได้”
นางวลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า สมาคมนักข่าวควรจะพานักข่าวส่วนกลางลงพื้นที่ในสามจังหวัดภาคใต้ เพื่อศึกษาถึงปัญหาอย่างแท้จริง เพราะสื่อมวลชนสามารถเป็นตัวแทนทางการทูตได้

ด้าน นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า การคุกคามถือเป็นเรื่องทางจิตใจหรือจิตวิทยา มีผลต่อผู้รับสารอย่างมาก สื่อจะถูกคุกคามจากรัฐหรือกลุ่มทุนนั้นไม่แปลก เพราะสื่อวันนี้เป็นธุรกิจเยอะมาก และถ้าอยู่ในโลกของธุรกิจก็ต้อง ถูกผูก ถูกลาก ถูกดึง จากกระแสของทุนอยู่แล้ว “้เบอร์ทัลรัสเซลส์ บอกว่า เสรีภาพ เปรียบได้กับเสือ ต้องให้อยู่แต่ในกรงจะสวยงามมาก เนื่องจากเสือมีเขี้บวเล็บ เสรีภาพนั้นก็มีเขี้ยวเล็บ เพราะฉะนั้นเสรีภาพ จึงทรงพลังอย่างมาก”
นาย.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในทางทฤษฎีเสรีภาพจะต้องมี 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า เสรีภาพเชิงลบ อีกแบบคือเสรีภาพเชิงบวก เสรีภาพเชิงลบหมายความว่า มนุษย์ที่ไม่มีอุปสรรคอื่นๆมาสกัดขัดขวาง ส่วนเสรีภาพเชิงบวกหมายความว่า มนุษย์ที่มีความสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้
“ผมคิดว่าในอนาคต คนทำสื่ออยากทำสื่อแบบรายงานความจริง บวกกับรายงานความคิดเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์ของตนเองลงไปด้วย” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว