มีเดียมอนิเตอร์เผยผลสำรวจภาษาข่าวหนังสือพิมพ์ ช่วงเหตุการณ์ชุมนุม พาดหัว ความนำ ภาพข่าวรุนแรง เร้าอารมณ์ ประณามการใช้ความรุนแรง -วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2552

มีเดียมอนิเตอร์เผยผลสำรวจภาษาข่าวหนังสือพิมพ์ ช่วงเหตุการณ์ชุมนุม พาดหัว ความนำ ภาพข่าวรุนแรง เร้าอารมณ์ ประณามการใช้ความรุนแรง

 

วันนี้ (3 พฤษภาคม 2552) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้มีการจัดเวทีสัมมนาสื่อ เนื่องในโอกาสวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day-3 May) โดยในงานได้มีการเสวนาทางวิชาการเรื่องสิทธิและเสรีภาพสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน

ธาม เชื้อสถาปนศิริ ในฐานะนักวิชาการประจำโครงการฯ แถลงผลการสำรวจ “ผลสำรวจการใช้ภาษาข่าวหนังสือพิมพ์ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (8-14 เมษายน 2552)” พบว่าภาษาข่าวหนังสือพิมพ์เน้นสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มนปช. มีลักษณะของการประณามและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของกลุ่มนปช.

นายธามยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “เหตุการณ์ ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา สื่อหนังสือพิมพ์ได้ทำหน้าที่รายงานข่าวสารความขัดแย้งทางการเมืองนี้อย่าง ให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อก็อาจมีข้อสงสัยและตั้งคำถามต่อ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยกันเองว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ สื่อได้มีส่วนในการใช้ภาษาข่าวที่นำไปสู่ความขัดแย้งให้มากขึ้นหรือลดลง อย่างไร โดยศึกษาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด ไทยโพสต์ และผู้จัดการรายวัน”

ผลการสำรวจพบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

 

1. กลุ่มคำที่ใช้เรียกฝ่ายการเมือง พบว่ากลุ่มคำที่ใช้เรียกแหล่งข่าวทางการเมืองมีลักษณะรุนแรง มุ่งประณาม การกระทำอันเกิดจากกลุ่มบุคคลนั้นๆ ขณะที่กลุ่มคำที่ใช้เรียกรัฐบาลกลับไม่มีการใส่สีสัน เช่น

1.1 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้แก่ แดง, ม็อบเสื้อแดง, คนเสื้อแดง, แก๊งเสื้อแดง, แดงถ่อย, นรกแดง, ม็อบถ่อย, ม็อบแดง, แดงเถื่อน, ม็อบเสื้อแดง, เสื้อแดงเถื่อน, หางแดง, แดงจัญไร, โจรแดง, สัตว์นรกเสื้อแดง, สัตว์นรก, ม็อบป่วนเมือง, ม็อบแดดเดียว, นรกป่วนกรุง, กองทัพแดงทักษิณ, แก๊งหัวครก, ม็อบธิปไตย, กองทัพเสื้อแดง, แดงจนตรอก, อัปปรีย์แก๊งค์หัวครก, แดงแห้ว เป็นต้น

1.2 กลุ่มคำที่ใช้เรียก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้แก่ นักโทษแม้ว, นักโทษชาย, นช.แม้ว, แม้ว, นักโทษหนี, แกนนำสัตว์นรก, นักโทษทักษิณ เป็นต้น

1.3 ฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ มาร์ค, อภิสิทธิ์, นายกฯ อภิสิทธิ์, โอบามาร์ค, เทพ, เทพเทือก, เทพเทือกหน่อมแน้ม, รัฐบาลหัวหมอ, ทหารขี้ขลาด เป็นต้น

1.4 คำอื่นๆ ได้แก่ อีแอบ, มือมืด, เดนนรก ‘อริสมาร’ เป็นต้น

2. กลุ่มคำที่ใช้เรียกเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ภาษาที่ใช้บรรยายมีลักษณะคล้ายการทำสงคราม การก่อความวุ่นวาย เช่น แม้วปลุกระดม, ทำสงครามประชาชน, แผนเผาเมือง, เสื้อแดงเดือด, ป่วนกรุง, ม็อบบุก, ม็อบเดือด, เผาเมือง, แดงรีบชิงตีเหล็กร้อน ปลุกฮือทั่วประเทศ, ระดมพล, เคลื่อนทัพ, ศึกแดงเดือด, สงกรานต์เลือด, ก่อการเผาบ้านเผาเมือง, จัดทัพเคลื่อนขบวน, ม็อบฮือปะทะเดือด, ประกาศความถ่อย เถื่อนไม่เกรงกลัวอาญา, โศกนาฏกรรมเมื่อม็อบเสื้อแดงจำนวนมากแสดงความป่าเถือนอย่างบ้าคลั่ง, ขีดเส้นตาย, ระดมพลคึกคักล้นหลามแต่ย่ำรุ่ง, แดงตายพรึ่บเพื่อแม้ว, เสื้อแดงเดินทัพตามแผนพระเจ้าตากสิน, ปลุกคนป่วนชาติ, เชือดนรกป่วนกรุง, จราจลไล่ฆ่านายกฯ, สงกรานต์เริงไฟ, สงครามกลางเมือง, สงกรานต์เลือดสาด, กอฉ. ดับจราจลแดง, อภิสิทธิ์รู้ทันแผนชั่ว, สำแดงสันดานเถื่อน, ตร. ปล่อยสัตว์นรกอาละวาดทั่วกรุง, พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน, แผนเผาเมือง, วันเผด็จศึก, ลูบคมอภิสิทธิ์ จู่โจมประชิดตัว, นัดรวมพลใหม่รอล้างแค้น เป็นต้น

 

3. กลุ่มคำที่ใช้บรรยายเหตุการณ์ปะทะกัน เช่น ปะทะเดือด, ไฟท่วมเมือง, สลาย-แดงคลั่งเผาเมือง!, ตร.แม้ว เอาเท้าลูบ เทพเทือก, มาร์คหวิดโดนรุมสกรัม, แดงถ่อยก่อจราจลป่วนเมือง, เหิม ยึดรถถังหน้าพารากอน, รัฐบาลปล่อยแดงเผาเมือง ชาวบ้านสุดทนลุกขึ้นสู้, “นิพนธ์” เจอสกรัมเลือดอาบ, เสื้อแดงเดือดปิดมท. ฮือล้อมรถมาร์ค, แดงโต้กลับใช้รถก๊าซขขู่! กู้ระทึก, สลด! แม้วหลอกแดงถ่อยตายแทน, ทหารลุยเสื้อแดง, ก่อจราจลเผาทั่วเมืองจี้รถแก๊สหวังบึ้ม, เชือดนรกป่วนกรุง, ยำ”นิพนธ์”ปางตาย จราจลไล่ฆ่านายกฯ เป็นต้น

4. ภาษาที่ใช้แสดงการโต้ตอบทางการเมืองของแหล่งข่าว เช่น ฟัน, จวก, อัด, สวน, ลูบคม, เหิม, จี้, คุยฟุ้ง, คุยโม้ เป็นต้น

5. ภาษาที่แสดงความน่าตื่นเต้นหวาดกลัว เช่น สุดระทึก, หนีตายอลหม่าน, ป่วนเมือง, เคลื่อนพลทะลักเมืองกรุง, บึ้มป่วนเมือง, ระดมพรรคพวก, แดงโคราช เหิม เผาโลงศพ เป็นต้น

6. กลุ่มคำที่ใช้ตัดสินและประณามการกระทำ พบมากในพาดหัวข่าว ความนำ วลี เช่น เสื้อแดงเถื่อน พาประเทศลงเหว, โพลประจานม็อบทำทุกข์ซากศพเสนอยุบสภาแก้, โพลล์ 3 สำนักตอกหน้านรกแดงป่วนกรุง, อิทธิฤทธิ์เสื้อแดงส่งผลแล้ว, อัปยศ เสื้อแดงเถื่อน, แดงเถื่อนบุกล้มอาเซียน-อัปปรีย์แก๊งค์หัวครก ลั่นไชโย-ชาติพัง! ชัยชนะอัปยศ, สื่อเทศซัดมาร์คหน่อมแน้ม, สมใจนักโทษชาย ด้ามขวานแบ่งแยกแล้ว, สำลักปชต. ขาก-ถุย สื่อ, เสื้อแดงเหิมเกริม “รัฐบาล-ตร.ทหาร” ไร้น้ำยา, แดงจัญไรมั่วนิ่ม, แม้วโผล่จ้อซีเอ็นเอ็น โถ อยากเห็นชาติสงบ เป็นต้น

7. กลุ่มคำภาษาที่สะท้อนเชิงนวนิยายพบมากในพาดหัวข่าว เช่น “เนวิน ร่ำไห้ ยันไม่ทรยศ”, “เนวินหลั่งน้ำตาพิฆาตทักษิณ หยุดก้าวล่วง”, “น้ำตางูเห่า ของเนวิน อดีตเสื้อแดงตัวพ่อ” เป็นต้น

นายธาม สรุปผลการสำรวจว่า “ภาษาข่าวหนังสือพิมพ์สะท้อนความรุนแรง โดยแสดงให้เห็นพฤติกรรมการกระทำของกลุ่มนปช. ที่ใช้ความรุนแรงตามเหตุการณ์ที่พบ มีลักษณะประณามและไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ใช้ความรุนแรง พบมากในพาดหัวข่าวหลัก ความนำ และพาดหัวข่าวรอง ขณะที่ภาษาในเนื้อหาข่าวนั้นค่อนข้างปกติ มีลักษณะบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีส่วนน้อยที่แสดงความรู้สึกลงไปในเนื้อหาข่าว”