ส่องความพร้อม “เปิดเทอม” การศึกษาไทยในยุคโควิด

​“การเรียนการสอนเมื่อโควิดระบาดระลอก 3 กระทรวงศึกษาธิการและสพฐ. ได้ประสานไปยัง กสทช.โดยนำสถานการณ์โควิดคราวก่อนมาเป็นบทเรียน”  

​จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อจากสถานการณ์โควิด-19 รอบ 3 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ไม่มีท่าทีหรือแนวโน้มว่าจะลดลง ขณะที่การเรียนการสอนยังต้องดำเนินอยู่ ถึงแม้นักเรียนจะไม่สามารถไปโรงเรียนตามปกติ  หลายประเทศได้มีมาตรการต่างๆออกมาเพื่อรองรับการเรียนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งกระทรวงศึกษาธิการยืนยันตามประกาศเดิมให้โรงเรียนพื้นที่สีแดงและสีส้มเปิดเทอมในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายนนี้

ชุลีพร​ อร่ามเนตร​  ผู้สื่อข่าวสายการศึกษา กรุงเทพธุรกิจ พูดคุยผ่านรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงการเตรียมพร้อมของโรงเรียนต่างๆในสังกัดกระทรวงศึกษาว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจแต่ละพื้นที่การศึกษาว่าโรงเรียนโรงเรียนที่พร้อมเปิดภาคเรียนประมาณ 15,951 แห่ง 

​พื้นที่สีแดงเข้ม 5 จังหวัดกระทรวงศึกษาธิการให้เรียนเฉพาะในรูปแบบออนไลน์และออนแอร์เท่านั้น ส่วนพื้นที่สีแดง 17 จังหวัด ให้เปิดอาคารสถานที่ได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อก่อน ส่วนพื้นที่สีส้ม 56 จังหวัดสามารถเรียนแบบ On-site คือเรียนที่โรงเรียนได้ แต่ทุกโรงเรียนต้องผ่านการประเมินและเข้าระบบของเว็บไซต์กรมอนามัย

ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมินนี้อยู่ประมาณ 2,800 กว่าแห่ง หรือประมาณ 99.1% ที่ผ่านการประเมิน ขณะที่เด็กทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย มีเจลล้างมือและควบคุมทุกอย่าง จัดโต๊ะเรียนให้ห่างกัน มีการสลับวันเรียน  ไม่ได้เปิดเรียน 100% เต็มเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการบริหารจัดการของโรงเรียนแต่ละแห่งด้วย

​“รูปแบบการเรียนการสอนที่ให้แต่ละพื้นที่จัดได้วางไว้ทั้งหมด 5 รูปแบบโดยในแต่ละโรงเรียนสามารถบูรณาการทั้ง 5 รูปแบบโดยสามารถจัดการเรียนการสอนได้ ไม่จำเป็นที่โรงเรียนไหนจะต้องใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง  รูปแบบดังกล่าวแต่ละโรงเรียนจะเลือกที่เหมาะสมกับโรงเรียนนั้นๆ การจัดการเรียนการสอน เมื่อโควิดระบาดระลอก 3 กระทรวงศึกษาธิการและสพฐ. ได้ประสานไปยัง กสทช. เพื่อช่วยเหลือดูแลเรื่องอินเตอร์เน็ต แก่ครูและนักเรียน รวมทั้งมีการสำรวจว่าอุปกรณ์ในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไรโดยจะช่วยเหลือมากขึ้น หากต้องเรียนออนไลน์หรือพื้นที่ไหนประสบปัญหา เรื่องของอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ โดยนำสถานการณ์โควิดคราวก่อนมาเป็นบทเรียน” 

​บางโรงเรียนคุณครูจะตั้งไลน์กรุ๊ปให้กับผู้ปกครองของแต่ละห้อง ซึ่งผู้ปกครองสามารถแจ้งว่าไม่สะดวกช่วงไหน ที่จะดูแลเด็กในระหว่างเรียน และหากพื้นที่นั้นการระบาดไม่รุนแรงคุณครูก็อาจจะไปแนะนำให้ที่บ้าน แต่หากพื้นที่ระบาดรุนแรงก็อาจจะใช้การสอนทางโซเชียลมีเดีย เพื่อสังเกตเด็กเวลาเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอน ผสมผสานกันใน 5 รูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของครูและเด็กเป็นหลัก

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการมีเว็บไซต์ “ครูพร้อม” รวบรวมเนื้อหาทุกส่วนที่สำคัญมาไว้เป็นทางเลือกให้กับครู ผู้ปกครอง นักเรียน มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการการเรียนรู้เป็นการพัฒนา ซึ่งมีโครงการที่โรงเรียนต่างๆทำเพื่อให้คุณครูได้เข้ามาดูเป็นไอเดียในการสอน ขณะที่เด็กก็สามารถเข้าไปศึกษาหาข้อมูลได้

​สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับคุณครู กระทรวงศึกษาธิการได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรแล้ว โดยเริ่มรณรงค์ตั้งแต่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการสำรวจพบว่าก่อนที่จะเปิดการเรียนการสอน 14 มิถุนายนนี้ จะมีคุณครูที่ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 3 หมื่นคน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ส่วนต่างจังหวัดพื้นที่เขตแต่ละแห่งเป็นผู้รับผิดชอบ ทำงานร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด 

​ชุลีพร บอกถึงการทำงานของผู้สื่อข่าวสายกระทรวงศึกษาธิการว่า ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยโทรศัพท์เช็คข่าว หากต้องลงพื้นที่ทุกคนก็จะสวมหน้ากากอนามัย และจะไม่ทำข่าวรวมกลุ่มกันเหมือนที่ผ่านๆมา ขณะที่กระทรวงเองก็มีระบบในเรื่องของการดูแลหากมีการแถลงข่าว  แต่ขณะนี้ถือว่ามีความเสี่ยงน้อยลงเพราะนักข่าวส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว 

​เวปไซด์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่าการปรับรูปแบบทำงานของกระทรวงศึกษาการและโรงเรียนต่างๆในสถานการณ์โควิดระลอก 3  เป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญคือการพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในระยะยาว

​ติดตามรายการ​ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation