ปีเสือดุ “ค่าครองชีพพุ่ง” ซ้ำเติมพิษโควิด

“ตั้งแต่นี้ไปจนถึงช่วงสงกรานต์ คนไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแบกรับค่าของชีพไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากต้องเผชิญกับโอมิครอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

​ประนอม บุญล้ำ ที่ปรึกษาฝ่ายข่าวและรายการเศรษฐกิจ สถานีข่าวTNN ช่อง 16 ติดตามทำข่าวกว่า 30 ปี วิเคราะห์ ในรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า

​ต้นทุนที่คนไทยจะต้องเจอในปีเสือดุ นอกจากข้าวแกง หมู ไก่ ผักที่จะแพงแล้ว ยังมีค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง และแก๊สหุงต้มก็จะขึ้นตามมาต่อเนื่องกันเมื่อราคาน้ำมันขึ้น และกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาจัดเก็บภาษีความเค็มหรือภาษีโซเดียม ดังนั้นราคาบะหมี่สำเร็จรูปก็จะไม่ใช่ 6 บาทอีกต่อไป รวมถึงอาหารปรุงรส ,ขนมขบเคี้ยว และสิ่งที่คนไทยนิยมชมชอบคือ อาหารชาบู สุกี้ ล่าสุดมีการปรับราคาขึ้นไปหลายร้าน ตามปกติใกล้เทศกาลตรุษจีนราคาอาหารมีแนวโน้ม ปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน ทุกอย่างที่ใช้ในการประกอบเทศกาลตรุษจีน ของไหว้เจ้าต่างๆ เพราะต้นทุนหลักคือค่าขนส่ง ราคาน้ำมัน , ก๊าซหุงต้ม และผสมโรงราคาหมูแพงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

​“ตั้งแต่นี้ไปจนถึงช่วงสงกรานต์ คนไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแบกรับค่าของชีพไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากต้องเผชิญกับโอมิครอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ เช่น พยายามที่จะให้เปิดร้านธงฟ้าราคาประหยัด ตอนนี้หลายกิจการปรับราคาขึ้นไปแล้ว ร้านอาหารเราไม่มีทางที่จะคุมอยู่เพราะต้นทุนขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมัน ฉะนั้นจะไม่ให้เขาขึ้นราคาก็เป็นไปไม่ได้ เวลาสินค้าเกือบทุกชนิดปรับขึ้นแล้วค่อนข้างลงยาก หลักๆในช่วง 2 ปีเนื่องมาจากผลกระทบด้านโควิด และเศรษฐกิจทำให้รายได้ครัวเรือนลดลงชัดเจนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการบริโภคและการใช้จ่ายในบ้านต้องประหยัด ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ดีมาน-ซัพพลาย อาจจะน้อยลง การผลิตก็น้อยลง”

​กรณีปัญหาหมูแพง ส่วนหนึ่งเกษตรกรเจอปัญหาต้องดูแลเรื่องโรคระบาด อีกทั้งสูญเสียสุกรเพิ่มมากขึ้น และยังมีเรื่องของต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่ใ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลืองแพงขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เพราะมีเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งผู้ประกอบการรถบรรทุก กำลังจะออกมาเคลื่อนไหวในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ เพราะแนวโน้มราคาน้ำมันมีความผันผวนขึ้นลง ฉะนั้นราคาน้ำมันดีเซล ที่กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งบอกว่าให้ตรึงไว้ที่ 20 กว่าบาทไม่เกิน 30 บาทคงทำได้ยาก

​สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือมีมาตรการมาช่วยเหลือ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ที่ชัดเจนว่าเดือนมีนาคมจะออกมาบังคับใช้ , เพิ่มร้านธงฟ้าราคาประหยัดมากขึ้น หรืออาจจะต้องมีงบพิเศษมาช่วยเหลือ ให้ค่าครองชีพเหล่านี้บรรเทาเบาบางลง จะไปคุมร้านค้ามากก็ไม่ได้ เพราะธุรกิจเพิ่งจะฟื้นตัวจากพิษโควิด หากถูกกดราคาไปอีกก็ อาจจะไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงนัก

​ในแง่ของงบประมาณแผ่นดิน เมื่อรัฐมีรายจ่ายมากขึ้นแต่รายรับน้อยลง มาตรการของรัฐใช้เงินจำนวนมากทั้งสิ้น จึงเห็นช่องทางหาเงินโดยจัดเก็บภาษีใหม่ๆมากขึ้น เช่น จัดเก็บภาษีที่ดิน , คนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อาจจะต้องโดนภาษีการซื้อขายหุ้น , ค้าขายออนไลน์ก็ต้องโดนภาษีออนไลน์ รัฐบาลก็ต้องพิจารณาดูว่าใครยังอยู่นอกระบบ สินค้าตัวไหนยังไม่ได้จัดเก็บก็จะไปเริ่มควานหา เพราะจะให้กู้เงินอย่างเดียวคงไม่ได้ อีกทั้งรัฐบาลยังความเสี่ยงในเชิงการเมือง ที่จะถูกโจมตีว่าก่อหนี้ ก็ต้องมาบริหารจัดการในเรื่องของ การจัดเก็บภาษีว่าตรงไหนยังรั่วไหล ต้องเข้าไปดูตรงจุดนั้น

​ส่วนประชาชนควรจะต้องปรับตัวโดย เลือกกิน เลือกใช้จ่าย เลือกบริโภค ในสิ่งที่คุ้มค่าสมราคา ต้องใช้ความอดทนในการใช้จ่าย ช่วยกันประคับประคองกันไปก่อน คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด จะรอความหวังจากรัฐบาลอย่างเดียวก็อาจจะล่าช้าหน่อย ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับคนรักสุขภาพกำลังออกสู่ตลาด คือ โปรตีนที่ทำมาจากพืชผัก มีรูปลักษณ์เหมือนเนื้อสัตว์แต่ทำจากพืช ซึ่งหลายบริษัทเริ่มทำมาขาย เราหาซื้อได้ตาม ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ แต่ยังไม่แพร่หลายเหมือนกับเนื้อสัตว์จริงๆ ที่ยังไม่แพร่หลายเพราะว่าคนไทยยังติดรสชาติอยู่ แต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะคนไทยลำบากมา 2 ปีแล้ว รายได้ที่ลดลงแต่ค่าแรงไม่เพิ่มอีกด้วย

ติดตามรายการ​ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5