ครบ 1 ปี โควิดในไทย จากโรคอุบัติใหม่สู่การระบาดรอบสอง

1 ปีจากนี้ต้องโฟกัสเรื่องวัคซีน หน้ากากอนามัย-รักษาระยะห่าง-เจลล้างมือยังสำคัญ ชี้ โควิด-19 เริ่มจากพฤติกรรมของตัวเรา บานปลายกระทบเศรษฐกิจ

“ที่อโคจรมันก็เป็นพฤติกรรมของเรา ไม่ใช่ว่าเขาคุมไม่ดี แต่โรคนี้เป็นเรื่องที่เริ่มจากตัวเรา จะเห็นได้ว่าเราไปนั่งในบ่อนพนันนานๆ ไปสถานบันเทิง กินข้าวเปิดหน้ากาก ก็เป็นสิ่งที่ติดได้ แต่สิ่งที่เขากังวลก็คือว่าถ้าติดในร้านอาหารก็จะแพร่กระจายกันต่อไป นี่คือสาเหตุที่ทำให้ทำไมถึงต้องมีการควบคุมเวลาการปิด-เปิดของร้านอาหาร หรือทำไมให้ประกอบรายการร้านอาหาร ต้องสวมหน้ากากอนามัยมากขึ้นมีการเช็คอินไทยชนะและหมอชนะ นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ แต่สิ่งที่คนไทยยังคงต้องเรียนรู้ต่อไปก็คือตอนนี้วัคซีนยังมาไม่ถึง และมีความเป็นไปได้ที่จะมาในปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่เมื่อวัคซีนมาแล้วไม่ได้หมายความว่า โรคนี้จะหายไปอย่างแน่นอนฉันพลันทันใด เพราะการฉีดวัคซีนถ้าจะให้ป้องกันโรคได้จะต้องฉีด 70% ของประชากรในประเทศนั้นๆ”

นี้คือมุมมองของ สิรีธร พัฒน์ตระกูลชัย ผู้สื่อข่าว ประจำกระทรวงสาธารณสุข สำนักข่าวไทย ซึ่งเกาะติดความเคลื่อนไหว ด้านสาธารณสุขมากว่า 18 ปี ให้ความเห็นถึงมุมมอง ของสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมาครบ 1 ปี 

ในขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งตัวเลขไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง เมื่อหันมาดูประเทศไทยที่ตัวเลขล่าสุด ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นโรคอุบัติใหม่สู่การระบาดรอบสอง ได้ครบ 1 ปีเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา

หนึ่งปีที่ผ่านมาเรามีความรู้เรื่องโรคมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันแม้ว่าเราจะพยายามยังไงก็ตาม แต่โรคนี้ก็กระทบกับภาวะเศรษฐกิจ  ตอนแรกเรามีการล็อคดาวน์ประเทศ ต่อมาเราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายสถานการณ์  เน้นย้ำให้ทุกคนต้องมีพฤติกรรม สวมหน้ากากอย่าการ์ดตก และอย่าไปในที่ที่อโคจร  และการกินอาหารปรุงสุก ยังเป็นสิ่งที่ป้องกันโรคได้ดี แต่ในเรื่องของ Package จริงหรือหีบห่อก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะมีข่าวว่ามีการติดทางพัสดุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง แม้โรคนี้เป็นเรื่องใหม่อยู่กับเรามาระยะหนึ่ง ที่ทุกคนป้องกันได้ในระดับหนึ่ง แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียดตามมา

สิรีธร ยังแย้มให้ฟังว่า ขณะนี้เท่าที่ฟังคุณหมอคิดว่าเมื่อไปถึงช่วงตรุษจีน อาจจะไม่ต้องเข้มเพราะสถานการณ์อาจจะเบาบางลงแล้ว และเราก็อาจจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ  แต่วัคซีนที่ทุกคนใฝ่ฝันหากมีโอกาสนำเข้ามายังประเทศไทย อันดับแรกคือต้องให้คนที่ทำงานเสี่ยงกับโรคนี้ก่อน คือ บุคลากรทางการแพทย์หรือบุคคลหน้าด่านที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโรคนี้

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาในเรื่องของการรักษา เราก็มีการปรับเปลี่ยนเชิงรุกมากขึ้น จากเดิมที่เมื่อป่วยแล้วถึงได้เข้าโรงพยาบาล มีการกักตัวในสถานที่ที่จัดไว้ให้ และมีการจ่ายยา ขณะเดียวกันการรักษา ก็ก่อนหน้านี้ตรวจเฉพาะคนที่เสี่ยง แต่ตอนนี้ในพื้นที่บางมีการค้นหาผู้ป่วยและนำตัวมารักษา  และเมื่อไม่มีการเดินทางโรคนี้ก็หยุด  

 สิรีธร ทิ้งท้ายด้วยว่า ฐานะคนเฝ้าดูติดตามตามข่าว ความรู้สึกว่าโรคนี้เราคงต้องเรียนรู้และปัญหาแต่ละอย่างก็จากค่อยๆคลี่คลายลงไปทีละสเต็ป และต่อไปจะต้องโฟกัสที่เรื่องของการให้วัคซีน  ส่วนหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง ใช้เจลล้างมือก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ

กองบรรณาธิการเวบไซต์สมาคมฯ เห็นว่าคงต้องกลับมาลุ้นตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทย ว่าจะกลับมาเป็นศูนย์ได้อีกเมื่อไหร่ และจะได้รับคำชมจากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ( WHO) ถึงการจัดการด้านสาธารณสุขของไทยอีกครั้งในเวทีโลกหรือไม่

ติดตามรายการ #ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5  MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #โควิด19

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย #สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation