“จับชีพจรเศรษฐกิจไทย ในวันที่ไร้น้ำสงกรานต์”

“สงกรานต์กระทบแน่นอน แต่สิ่งที่จะมาช่วยบรรเทาผลกระทบท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ คือเปิดประเทศต้อนรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว การกระจายตัวของวัคซีนทำให้ทุกประเทศมีความหวัง

เทศกาลสงกรานต์ของทุกปีซึ่งเป็นวันหยุดยาว เป็นช่วงที่คนไทยมีการใช้จ่ายสูง แต่สถานการณ์โควิดทำให้ประเทศไทยซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยว จากทั้งในและต่างประเทศเป็นหลักในช่วงดังกล่าว ต้องหยุดชะงักลงเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนปีนี้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ มีมติออกมาแล้วว่าให้เดินทางข้ามจังหวัดได้แต่ห้ามสาดน้ำ ห้ามเล่นคอนเสิร์ตและปาร์ตี้โฟม  ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์  ผู้สื่อข่าวอาวุโส สายเศรษฐกิจ ประจำทำเนียบรัฐบาล กลับมองในมุมบวกโดยบอกว่า ให้คิดในแง่ดีไว้ก่อนว่าโควิด-19 ยังระบาดอยู่ แม้ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าอีกหลายประเทศ แต่ยังมีการติดเชื้อในประเทศไทยอยู่  ฉะนั้นถ้าถามว่ามติของศบค.ออกมาก็คงจะมีคนบางกลุ่มโล่งใจ โดยเฉพาะคนที่ระวังมากๆ ส่วนภาคธุรกิจอาจจะคิดว่าจังหวะช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจจะขายดี เช่น ถนนข้าวสารมีนักท่องเที่ยวมาพัก ถ้าให้มีการสาดน้ำได้ก็จะทำให้บรรยากาศครึกครื้นขึ้นธุรกิจพื้นขึ้น 

ความจริงเอกชนรับรู้กันอยู่แล้วตามข่าวที่ออกมา ว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะเสนอให้เล่นสงกรานต์แบบไทย รถน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เข้าวัด สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย เราก็กลับไปสู่วัฒนธรรมดั้งเดิม ถ้าไม่มีโควิดมาเราก็อาจจะไม่เห็นวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบนี้  ถ้ามองในแง่ดีเราควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สมมุติว่าถ้ายังให้สาดน้ำอยู่ เราจะสาดน้ำยังไงห่างกัน 2 เมตรหรือ แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่สาดแล้วคนอยู่ห่างกัน 2 เมตรแล้วไม่ประแป้ง มันเป็นกิจกรรมที่ทำคู่กัน ก็คิดเสียว่าเราต้องป้องกันให้ได้ก่อน วัคซีนฉีดให้ทั่วถึงจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก่อน แล้วหวังว่าปีหน้าจะได้กลับมาใช้ชีวิตสงกรานต์แบบปกติ

อีกมุมหนึ่งถ้ามองในแง่ร้ายที่กระทบธุรกิจ หากเป็นช่วงเทศกาลปกติจะมีเงินสะพัดประมาณ 140,000 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คำนวณตัวเลขออกมาระบุว่า ตัวเลขอาจจะหายไป 30,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 100,000 ล้านบาท  ทำให้เศรษฐกิจย่อลง 0.1 - 0.2%  สำหรับตัวที่จะมากระตุ้นท่องเที่ยวได้จริงก็คือการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ถ้าลองคำนวณดูย้อนกลับไปปี 2562 ซึ่งสถานการณ์ปกติ เป็นปีที่ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดเป็นประวัติการ มีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก คนไทยเที่ยวในประเทศกันเอง 1 ล้านล้านบาท คนต่างประเทศที่หอบเงินเข้ามาเที่ยวในเมืองไทย 2 ล้านล้านบาท แต่ต่อมาปี 2563 ทั้งคนไทยที่เที่ยวในประเทศและคนต่างประเทศที่เข้ามารวมแล้วเหลืออยู่ประมาณ 7 แสนล้านบาทเท่านั้น ปีที่แล้วคนต่างประเทศที่เข้ามาเมืองไทยทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านคน และหลังการแพร่ระบาดจนถึงสิ้นปีรวมแล้วประมาณหมื่นคนเท่านั้น
           

“ประเทศไทยนำรายได้จากท่องเที่ยวเป็นหลัก เราก็ต้องมาเตรียมการแล้วว่า ถ้าหลายประเทศฉีดวัคซีนแล้ว คนที่เป็นกลุ่มออกเดินทางเที่ยวนอกประเทศกลุ่มแรก น่าจะเป็นกลุ่มคนมีเงินเขาอึดอัดอยากออกนอกประเทศแล้ว เราก็ต้องมาดูว่าประเทศไทยจะพร้อมต้อนรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้วแบบไหน รายได้จากสงกรานต์ก็ไม่ได้เพราะหายไป 3 หมื่นล้าน แต่ถ้าเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาได้ ก็ต้องดูว่าเราพร้อมแบบไหน ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่าวัคซีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผล ต่อการฟื้นเศรษฐกิจเป็นตัวเปลี่ยนเกม เป็นตัวสร้างความมั่นใจและจุดประกายในการเดินทาง และจะเป็นตัวที่สร้างโมเมนตัมให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นและช่วยเศรษฐกิจได้ เพราะฉะนั้นคนไทยต้องปฏิบัติตัวให้ดีก่อน”

อมรรัตน์ บอกว่า เมื่อมีวัคซีนแล้วเราก็ต้องวางแผนเปิดประเทศให้ดี คนที่ฉีดวัคซีนแล้วถ้ายังต้องถูกกักตัวหากเดินทางมา เขาก็อาจจะไปประเทศอื่นที่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เลย อย่างไรก็ตามสงกรานต์กระทบแน่นอน แต่สิ่งที่จะมาช่วยบรรเทาผลกระทบการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจทั้งหมดก็คือการเปิดประเทศต้อนรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เพราะการกระจายตัวของวัคซีนทำให้ทุกประเทศมีความหวัง


ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับโลกสาธารณสุข เหมือนกับประเทศต่างๆทั่วโลก เลยแต่พอมีวัคซีนเข้ามาก็เริ่มจะเห็นแล้วว่า เราต้องทำโลกเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลมากขึ้น ซึ่งโลกเศรษฐกิจต้องอาศัยโลกสาธารณสุขหนุนนำด้วย คือ เอาวัคซินมาฉีดแล้วให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าให้ได้ แต่ก็มีอีก 3 สถานการณ์ที่ต้องคำนึงถึง เช่น 1.ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วและประเทศที่จะเดินทางมายังไทยก็ฉีดด้วย  2. ประเทศไทยฉีดแต่ประเทศที่จะเดินทางมายังไม่ได้ฉีด แล้วเราจะเอายังไง 3. ไทยและต่างประเทศยังไม่ได้ฉีดทั้งคู่             เรื่องนี้ ททท. ซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก 26 แห่งได้สำรวจออกมาแล้ว ซึ่งสำนักงานที่อยู่ในกรุงปารีสบอกว่าชาวฝรั่งเศส ที่ฉีดวัคซีนแล้วออกเดินทางเลย โดยไม่สนใจว่าประเทศปลายทางที่เขาเดินทางไปนั้นจะฉีดวัคซีนหรือไม่  แต่ขอให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งไทยก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนี้ ททท.ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ บอกว่าหากการฉีดวัคซีนเป็นไฟล์บังคับ ที่ทำให้เขาเดินทางท่องเที่ยวได้เขาก็ยินดี เรื่องนี้จึงต้องดูทั้งสองฝั่ง คือทั้งเราและเขาที่จะเดินทางมาด้วย


ติดตาม รายการ"ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation