25มิย52-รัฐธรรมนูญกับทางออกของวิกฤตการเมืองไทย

ราชดำเนินเสวนา ในโครงการ "คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ" ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญกับทางออกของวิกฤตการเมืองไทย" 25 มิ.ย. 2552‏

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดราชดำเนินเสวนา ในโครงการ “คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ” ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับทางออกของวิกฤตการเมืองไทย” สมาคมนักข่าว นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจจากผู้อภิปราย ดังนี้

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเมือง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ เราพยายามแก้กฎหมาย รวมทั้งรัฐธรรมนูญให้เข้ากับบุคลิก เข้ากับคน เสมือนพยายามตัดรองเท้าให้เข้ากับเท้า จนกลายเป็นปัญหาโลกแตกในสังคมไทย

นอกจากนี้ การพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ กลายเป็นวิวาทะทางสังคมเสียมากกว่า เป็นช่วงเวลาที่คนไทยได้แสดงภูมิความรู้กัน จริงๆ คนไทยมีองค์ความรู้เรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องรัฐธรรมนูญที่ดีมาก เพียงแต่พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของคนไทยไม่สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย

ฉะนั้น เรากำลังแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐธรรมนูญเข้ากับวิถีชีวิตของเรา แต่ลืมไปว่าวิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงตลอด แต่หากคิดอีกมุมหนึ่งก็คือ ทำไมเราถึงไม่ปรับพฤติกรรมของเราให้เข้ากับกฎหมาย ให้เข้ากับรัฐธรรมนูญ ถ้าเราทำเช่นนั้นได้ ผมเชื่อว่าปัญหาก็จะน้อยลง

ผมฟันธงเลยว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวเพิ่มวิกฤตของประเทศ เพราะเรามองรัฐธรรมนูญเหมือนเป็นพระเอก เรามองว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วบ้านเมืองจะสงบ สำหรับผม ผมว่าไม่ใช่ ถ้าตั้งโจทย์เช่นนั้น บ้านเมืองอาจจะไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งรุนแรงอาจจะรุนแรงกว่าเดิมก็ได้

ฉะนั้น รัฐธรรมนูญเป็นเพียงฟันตัวเล็ก ๆเท่านั้นเอง แต่เราให้ความสำคัญมากเกินไปกว่าพฤติกรรมของคนที่เป็นประชาธิปไตย
ดังนั้น รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งใหญ่โต แต่พฤติกรรมของคนที่จะใช้ชีวิตในระบอบประชาธิปไตยต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเสียอีก


นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส. สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำถามที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ จริงๆ แล้วเราอยู่ในวิกฤตทางการเมืองจริงหรือไม่ เพราะในความเห็นผม ผมมองว่าการเมืองไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต

แต่วิกฤตการเมืองอาจจะเกิดขึ้นได้จากการบริหารแผ่นดินที่ล้มเหลว หรือ การทุจริตคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน จนประชาชนรับไม่ได้ อย่างนี้น่าจะเรียกว่าวิกฤตทางการเมือง ส่วนว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นทางออกได้จริงหรือไม่ ก็ยังมีการถกเถียงในหลายประเด็นที่ไม่จบ เช่น ปัญหามาตรา 190 แต่เท่าที่ผ่านมา ผมมองว่ายังไม่ใช่วิกฤต แต่ประเทศไทยอาจจะเสียประโยชน์ไปบ้างกับคู่เจรจา แต่ถามว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำให้เสียประโยชน์หรือไม่ คงไม่ถึงขนาดนั้น

จริงๆแล้วรัฐธรรมนูญทั้ง 2540 หรือ 2550 ดีทั้ง 2 ฉบับ เพียงแต่มีหลายมาตราและละเอียดเยอะจนเกินไป เพียงเพราะเราไม่ไว้ใจภาคการเมืองหรือภาคประชาชนมากไป

ดังนั้นผมมองว่าปัญหาของประเทศไทยที่เกิดขึ้นขณะนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่ปัญหาทางความคิดอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาทางการปฏิบัติด้วย เพราะรัฐธรรมนูญโหมดที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง กฎหมายลูกที่ออกตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ทำให้คนทะเลาะกัน เป็นเรื่องจับผิดกัน และไม่มีวันจบ เพราะจ้องจะหาเรื่องกันตลอดเวลา ดังนั้นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เรื่องหลักคือ เราจะยอมรับกติกากันมากน้อยแค่ไหนมากกว่า

นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้แทนฝ่ายพลเมือง กล่าวว่า ก่อนที่จะวิเคราะห์ปัญหาและนำไปสู่การแก้ปัญหา เราต้องทำใจเป็นกลาง ผมใส่เสื้อแดง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าข้างเสื้อแดงทั้งหมด และมองเสื้อเหลืองเป็นศัตรู เพราะหากไม่ทำใจเป็นกลาง ย่อมไม่มีทางที่จะมองปัญหาออก และไม่สามารถเสนอทางออกได้อย่างแน่นอน

ผมเห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงสำหรับการเมืองไทย แต่ปัญหาจริงๆของประเทศไทยวันนี้คือ การเผชิญกับวิกฤตสังคมจนนำไปสู่วิกฤตการเมืองและนำไปสู่ปัญหารัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ผมว่าไม่ได้แก้ที่รัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้ปัญหาสังคมซึ่งต้องพิจารณาว่าปัญหาขณะนี้ คือ ปัญหาขณะนี้คือ ปัญหาความคิดของคน 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มทุนโลภาภิวัตน์ที่ต้องการพัฒนาสังคมไทยไปข้างหน้า อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่อยากให้สังคมหยุดนิ่งถอยหลัง เป็นความขัดแย้งของ 2 แนวความคิด ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มใหญ่ของประเทศ พูดง่ายๆ คือความขัดแย้งของทุนเก่ากับทุนใหม่

นี่คือคู่ขัดแย้งหลัก เสื้อเหลืองกับเสื้อแดง เป็นเป็นหญ้าแพรกเล็ก ๆ ฉะนั้นจะแก้เหลืองแดง แก้ไม่ตกหรอก ที่ผ่านมาผู้รู้หลายคนบอกว่า ปัญหาอยู่ที่ทักษิณคนเดียว หยุดทักษิณได้ ปัญหาทุกอย่างจบ แต่ผมถามว่าทำไมทักษิณ ยุบสภา ถูกพิพากษาติดคุก หรือไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ทำไมปัญหาต่างๆ ยังไม่จบ

ดังนั้น วันนี้ต้องแก้ที่คู่ขัดแย้งหลักด้วยการเจรจา ฉะนั้นกลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องยอมรับว่าโลกต้องเปลี่ยนแปลง สังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับสังคมโลก เมื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ค่อยๆ ประคับประคองการเปลี่ยนแปลงนั้นให้เปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป

ดังนั้น เราต้องแก้ปัญหาที่สังคมก่อน จัดระบบเศรษฐกิจให้เป็นธรรม ไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างรวยสุดกับจนติดดิน ถ้าแก้ได้ตรงนี้ได้ การแก้ปัญหาการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์มติชน ตัวแทนสื่อมวลชน กล่าวว่า ผมคิดว่าสังคมไทยในช่วง 3ปีกว่าที่ผ่านมา อยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง อยู่ในภาวะกลียุค ตั้งแต่ก่อนรัฐหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากมีคนเจ็บ คนตาย จากความแตกแยกแบ่งขั้วอย่างหนักในสังคมไทย

ฉะนั้นวันนี้ ผมคิดว่า สังคมไทยติดหล่มความขัดแย้ง และอาจจะไม่จบลงง่ายๆ หากหลุดจากความขัดแย้งไม่ได้ สังคมไทยก็คงไม่ได้เดือดร้อนหรือมีปัญหาแต่เฉพาะทักษิณ พรรคการเมือง หรือเสื้อเหลืองเสื้อแดงเท่านั้น แต่คำถามคือ เศรษฐกิจที่ทรุดตัวอยู่ในขณะนี้จะฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร หรือ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะแก้ได้หรือไม่ ฉะนั้น เราจะก้าวพ้นจากหล่มของความขัดแย้งแตกแยกซึ่งกำลังเกิดกลียุคได้อย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กล่าวว่า ในฐานะคนร่างรัฐธรรมนูญว่า จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่คนที่นำไปใช้ต่างหาก เพราะคนที่จะนำรัฐธรรมนูญไปใช้ต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญให้ดีเสียก่อน เพราะถ้าไม่เข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติก็บอกว่า ไม่ได้ทำผิด ทำไมต้องถูกลงโทษ หรือ ทำไมต้องยุบพรรคกรรมการบริหารที่ไม่ได้ทำผิด แต่คำถามคือ คนที่ใช้รัฐธรรมนูญไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญให้ชัดว่า ให้นักการเมืองช่วยกันแก้ปัญหาด้วย แต่ท่านไม่ช่วยแก้ก็ต้องว่ากันไปตามกติกา เช่น ถ้าไม่ใช่มาตรา 237 แล้วจะกลับไปใช่ของเก่า ถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

เพราะฉะนั้น คนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเจตนาจะเอาผิดหรือตั้งธงเอาโทษใคร หรือไปกลั่นแกล้งใคร แต่เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่จะแก้ปัญหาบ้านเมือง ควรต้องสร้างกติกาขึ้นมา แล้วกติกาที่ถูกสร้างมาต้องแก้ในสภาพความเป็นจริง

เพียงแต่ในสังคมไทย เวลาเกิดปัญหามากๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่มีทางออก ให้นักการเมืองเขียนเอง เขาก็ไม่เขียนแบบนี้ คนที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเขาก็กล้าเขียน แต่เมื่อเขียนแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับเอาบทบัญญัติ เอาวิธีพิจารณาความ เอาไปใส่ในรัฐธรรมนูญ อย่างที่หลายคนกล่าวถึง

ฉะนั้น ผมมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาอยู่ที่คนใช้ บทบัญญัติทางกฎหมายที่รุนแรงกว่าในรัฐธรรมนูญมีหรือเปล่า มีครับ เช่น ค้ายาเสพติด ฆ่าคนตาย โทษประหารชีวิต แต่ถามว่าทำไมชาวบ้านส่วนใหญ่ ถึงไม่เดือดร้อน ก็เพราะชาวบ้านไม่มีเจตนาตั้งใจจะทำผิด

เมื่อไม่ได้ตั้งใจทำผิด บทบัญญัติต่อให้แรงอย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีผล จะมีผลก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งนักการเมืองต้องเป็นตัวอย่าง ทำผิดก็ต้องยอมรับผิด เมื่อเป็นกติกาของบ้านเมืองก็ต้องยอมรับ ยิ่งเป็นรัฐธรรมนูญ ยิ่งต้องยึดถือเป็นหลักให้บ้านเมือง แต่หากไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ แล้วมานั่งแก้รัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นอยู่ ผมคิดว่า ไม่ใช่การแก้วิกฤตปัญหา

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า วิกฤตการเมืองที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ คือ วิกฤตความขัดแย้งของชนชั้นนำที่รู้สึกว่าการเข้าสู่อำนาจของตนเองถูกกดดัน ไม่มีพื้นที่ในการใช้อำนาจ จึงทำให้เกิดปัญหาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งยังแก้ไม่ตก

ประการที่ 2 คือ วิกฤตการใช้อำนาจของรัฐไทย เพราะที่ผ่านมา รัฐไทยมีการแก้ปัญหาความเป็นธรรมในสังคมได้จริงหรือไม่ ตรงนี้เป็นวิกฤตของประชาชนโดยตรง เราเห็นประชาชนมาเรียกร้องต่อรัฐอยู่ตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนในมิติต่างๆ

ราคาพืชผลก็มีวิกฤต ปัญหาที่ดินก็เป็นวิกฤต ปัญหาหนี้สินก็มีวิกฤต เรื่องที่แปลกก็คือ เกษตรกรไทยมีหนี้สินหลายแสนล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่ง บริษัทที่ทำการเกษตรกลับรวยไม่รู้เรื่อง

ดังนั้น นี่คือความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติในสังคมไทย คำถามใหญ่คือ รัฐจะจัดการกับปัญหาเช่นนี้อย่างไร ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ประชาชนถึงลุกขึ้นมาเรียกร้องต่อสู้ เพราะอำนาจรัฐแก้ปัญหาไม่ได้ แก้ได้ไม่ดีพอ หรือบางเรื่องก็แก้ไม่ได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็พุ่งเป้าไปที่รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นตัวจัดสรรอำนาจ

ฉะนั้น ผมเสนอทางออกว่า ให้กลับมาตั้งต้นกันใหม่ มาพูดถึงเรื่องวิกฤตการเมืองสังคมไทยว่าจริงๆ แล้วปัญหาคืออะไร ตั้งโจทย์ร่วมกัน แล้วค่อยมานำมาสู่การแก้ปัญหาในวิธีต่างๆ