สรุปสาระงานเสวนา เรื่อง “เหตุระเบิดราชประสงค์…สื่อและสังคมได้บทเรียนอะไร”

สรุปสาระงานเสวนา เรื่อง “เหตุระเบิดราชประสงค์...สื่อและสังคมได้บทเรียนอะไร”

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 08.30-12.30 น.

ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

.........................................................

 

ดร.เอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรัตน์  ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวถึงเหตุที่มาของกิจกรรมว่า  การระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อ 17 สิงหาคม 2558 ตามมาด้วยการระเบิดที่ท่าน้ำสาทร เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหันและร้ายแรง มีเดียมอนิเตอร์ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารของสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนทั้งในช่วงหลังการระเบิดและช่วงที่จับผู้ต้องสงสัยได้ การศึกษาเพิ่งเสร็จสิ้นลง ด้วยมีหน่วยการศึกษาและประเด็นการวิเคราะห์จำนวนมาก เพื่อให้ผลการศึกษาที่โครงการและทีมงานทั้งที่ปรึกษาได้ลงทุนลงแรงไป เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะกรณีมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก แม้ไม่อยากให้เกิดก็ตาม เพราะล่าสุดก็เพิ่งเกิดในอินโดนีเซีย จึงได้หารือ 3 สมาคมวิชาชีพ คือ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ผ่านทางนายกสมาคม ซึ่งต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการของแต่ละสมาคม ได้มีมติรับเป็นองค์กรร่วมจัดกิจกรรมในวันนี้ งานเสวนา เรื่อง “เหตุระเบิดราชประสงค์...สื่อและสังคมได้บทเรียนอะไร”

 

คุณวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดการเสวนาว่า  3 สมาคมวิชาชีพเห็นความสำคัญของการศึกษาวิจัยนี้ เพราะที่ผ่านมาในแวดวงของสื่อเราเอง ไม่เพียงแต่เฉพาะเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ แต่หลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ทั้งแง่บวกและแง่ลบ หลายครั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นมีสาระสำคัญ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่สื่อถูกมองเป็นทั้งจำเลยของสังคมและเป็นอะไรหลาย ๆ อย่าง เราควรจะต้องมีการสรุปบทเรียนของเรา เพื่อที่จะต่อยอดในการพัฒนาให้มีการทำหน้าที่เพื่อเป็นไปตามความคาดหวังของสังคม

ในส่วนของเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์ ที่มีเสียงสะท้อนของสังคมต่อจริยธรรมสื่อในการนำเสนอภาพ การนำเสนอข้อมูล ที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาพที่อุจาดตา ตลอดจนความสับสนของสถานการณ์ข่าว ที่ตัวสื่อเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับข้อมูลข่าวสารและเสนอต่อโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง ทำให้สถานการณ์เพิ่มความสับสนมากยิ่งขึ้น สื่อเองก็ตระหนักในส่วนนี้ที่ว่าในภาวะตอนนั้นเกิดความสับสนของเหตุการณ์และสื่อพยายามช่วงชิงเวลาที่นำเสนอข่าว จนอาจทำได้ไม่ดีพอ เมื่อได้มาย้อนนึกในการเสวนาครั้งนี้ อาจเป็นบทเรียนสำคัญที่จะใช้เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ในลักษณะนี้ต่อไป

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ 3 สมาคม เห็นความสำคัญของการศึกษา ขณะเดียวกันแวดวงวิชาชีพ ก็มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิดกันในการทำงานที่ผ่านมา จะได้สำรวจร่วมกันเพื่อจะได้ต่อยอดจากผลการวิจัยดังกล่าว พัฒนาเป็นคู่มือในการทำหน้าที่ของพวกเรา ให้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง การแลกเปลี่ยนความคิดในครั้งนี้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ ทั้งแวดวงวิชาการและแวดวงวิชาชีพ

อ.สกุลศรี ศรีสารคาม ที่ปรึกษางานการศึกษาวิจัย โครงการมีเดียมอนิเตอร์ นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การนำเสนอของสื่อและสื่อสังคมออนไลน์ ในเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมและท่าน้ำสาทร กับเหตุการณ์จับผู้ต้องสงสัย” โดยระบุว่า การศึกษาครั้งนี้มีหน่วยการศึกษา คือ 1) สื่อออนไลน์ โดยสืบค้นจากคำสำคัญ คือ ระเบิดราชประสงค์ ศาลพระพรหมและระเบิดสาทร ได้แก่ (1) ทวิตเตอร์ (บน #Hashtag) ของ 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ คนทั่วไปบนโลกออนไลน์และองค์กรสื่อ บุคลาการขององค์กรสื่อ ระหว่างวันที่ 17-25 สิงหาคม 2558 และ 29 สิงหาคม 2558 - 5 กันยายน 2558 (2) เว็บบอร์ดพันทิป และ (3) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ จำนวน 5 ฉบับ คือ ไทยรัฐออนไลน์ เดลินิวส์ออนไลน์ ข่าวสดออนไลน์ มติชนออนไลน์และผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งคัดเลือกจากการจัดอันดับเรตติ้ง เช่นเดียวกับ 2) สื่อโทรทัศน์ดิจิตอล จำนวน 12 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 HD / ช่อง 5 / ช่อง 7 HD / MCOT HD / ไทยพีบีเอส / TNN 24 / New TV / Nation Channel / ONE / ไทยรัฐทีวี / AMARIN TV และ PPTV โดยเว็บบอร์ดพันทิป หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ศึกษาตั้งแต่วันที่ 17 ในขณะที่โทรทัศน์ติจิตอล ศึกษาในช่วงวันที่ 18-25 สิงหาคม 2558 คือหลังเหตุการณ์ระเบิด 1 วัน และ ศึกษาช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 5 กันยายน 2558 หลังจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นมือวางระเบิด

โจทย์การศึกษา คือ 1) การสื่อสารของบุคคลทั่วไปในภาวะวิกฤตบนพื้นที่สาธารณะออนไลน์เพื่อตอบสนองการรับรู้ต่อสถานการณ์ตามแนวคิดเรื่อง Sense-making 2) การนำเสนอข่าวและการกำหนดกรอบในการนำเสนอของสื่อในภาวะวิกฤต และช่วงการจับกุมคนร้ายมีลักษณะเชื่อมโยงแพลตฟอร์มอย่างไร และมีผลต่อการรับรู้ของคนในสถานการณ์อย่างไร 3) ถอดบทเรียนการรายงานข่าวจากเหตุการณ์นี้สู่การสร้างแบบแผนโมเดลในการพัฒนากระบวนการรายงานข่าวแบบมีส่วนร่วมในภาวะวิกฤตที่สื่อสามารถนำไปประยุกต์ได้

ผลการศึกษาพบประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้  1) การสื่อสารของคนทั่วไปบนสื่อออนไลน์ศึกษาทวิตเตอร์และพันทิป คนต้องการข้อมูลเป็นสำคัญในการตอบสนองความต้องการรู้ การเข้าใจสถานการณ์ ซึ่งข้อมูลหลักจะมาจากสื่อและโลกออนไลน์ ข้อมูลจะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก และโทนในการแสดงออกบนพื้นที่สาธารณะบนสื่อออนไลน์ แต่ระบบการมีส่วนร่วมและการประสานความร่วมมือระหว่าง คน/สื่อ/ เจ้าหน้าที่ยังไม่ชัดเจน จากข้อมูลสรุปเชิงปริมาณพบว่า รูปแบบการสื่อสารที่พบในช่วงนี้ ประเด็นแรกคือ ในเชิงปริมาณพบว่าทั้งทวิตเตอร์และพันทิปจะมีปริมาณความหนาแน่นในการสื่อสารมากในช่วงวันที่ 17 และ 18 สิงหาคม จากนั้นปริมาณ/จำนวนของ ทวิตและกระทู้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ลักษณะของพันทิปในขณะที่ลดลงจะมีสลับระหว่างเพิ่มขึ้นและลดลงในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ส่วนทวิตเตอร์จะลดลงไปอย่างต่อเนื่อง มิติของประเด็นในการสื่อสาร พบว่า ทวิตเตอร์ และ พันทิปมีความคล้ายคลึงกัน คือ ความหนาแน่นของประเด็นในการพูดถึงผ่านสื่อออนไลน์ทั้งสองแพลตฟอร์มจะอยู่ในวันที่ 17-18 สิงหาคมเป็นหลัก จากประเด็นก็สะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการข้อมูลของคนในแต่ละช่วงนั้นแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และ สื่อมวลชนต้องเข้าใจความต้องการข้อมูลในภาวะวิกฤต เพื่อสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม เปรียบเทียบกรณีระเบิดงานวิ่งมาราธอนที่บอสตัน สื่อออนไลน์มีบทบาทอย่างมากในการระดมข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยมีคนที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและให้ข้อมูล ทั้งมีการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมที่ให้คนมาร่วมระดมข้อมูลกัน ซึ่งช่วยได้ในเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุการณ์ แต่อาจมีการผิดพลาดจากการ Crowdsource ทำให้ระบุตัวคนร้ายผิดพลาด ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ สื่อต้องมีบทบาทในการนำเสนอ “ข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด สื่อจะต้องช่วยลดความสับสน และทำให้ความโกรธแค้นลดลง แต่แปรเปลี่ยนเป็นอารมณ์ในเชิงบวกมากขึ้น ในฐานะที่สื่อคือผู้กำกับดูแล (Regulator) และระดมข้อมูล จึงควรทำการรวบรวมข้อมูลไว้ในที่เดียวกันอย่าง Live box เพื่อป้องกันการสับสนของข้อมูล

2. การรายงานข่าว ศึกษาทวิตเตอร์ หนังสือพิมพ์ออนไลน์และโทรทัศน์ 2.1 ทวิตเตอร์ เป็นสื่อที่สำคัญในการติดตามข้อมูลข่าวสารของประชาชน ณ เวลาที่เกิดเหตุการณ์ และในสถานการณ์ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันข้อมูล 2.2 หนังสือพิมพ์ออนไลน์ พบว่า ประเด็นของการรายงานข่าวในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ 9 วันแรก มีความหลากหลายของประเด็นมากกว่าช่วงจับกุมคนร้าย โดยในช่วงแรกที่เป็นการพัฒนาเหตุการณ์ สื่อต้องตอบโจทย์การอยากรู้เพื่อเข้าใจเหตุการณ์ของคน 3 ประเด็นแรกที่สื่อนำเสนอผ่านเว็บไซต์ข่าวคือ 1 เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น เป็นการให้ข้อมูล การรายงานความคืบหน้าสถานการณ์  2 การสืบหาคนร้ายของเจ้าหน้าที่  3 ประเด็นความมั่นคง และการทำงานของรัฐบาลต่อปัญหา 2.3 โทรทัศน์ ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงมากกว่าอารมณ์ ในช่วงวันหลังเหตุการณ์ ให้ความสำคัญกับประเภทในการรายงานข่าวที่พัฒนาเป็นเชิงลึก โดยที่มีมากที่สุด ยังเป็นรายงานพิเศษและสัมภาษณ์ที่เน้นการให้ข้อมูลเป็นหลัก ส่วนประเด็นเชิงลึกที่เน้นการนำเสนอที่ให้อารมณ์ความรู้สึก ความสูญเสีย เน้นไปที่ชีวิตของคนที่ได้รับผลกระทบ เรื่องราวของคนที่เกี่ยวข้อง ประเด็นความมั่นคงการทำงานของรัฐ จะเน้นให้เห็นการทำงานอย่างแข็งขันของเจ้าหน้าทหารและตำรวจ ความรู้สึกของคนในพื้นที่ ความมั่นใจในการดูแล ทั้งนี้ รูปแบบการนำเสนอของสื่อโทรทัศน์มีความหลากหลาย ส่วนในช่วงการจับกุมคนร้าย เมื่อศึกษาการพัฒนาประเด็นในเชิงลึกจะเป็นเรื่องการพัฒนาในเชิงการให้ข้อมูลเป็นหลัก แต่จำนวนของการทำข่าวเชิงลึกไม่มากเท่ากับการต่อยอดในช่วง 9 วันแรกของเหตุการณ์ เพราะประเด็นจะเน้นอยู่แค่เพียงเรื่องของการจับกุมคนร้าย การสืบหาคนร้ายของเจ้าหน้าที่ การวิเคราะห์ อธิบายเกี่ยวกับระเบิด มาตรการการตรวจตราระวังภัย การสรุปประเด็นหลังการจับกุมคนร้าย และการเชื่อมโยงประเด็นสู่กรณีอื่นๆ (เช่น ขบวนการแรงงานอุยเกอร์)

วิเคราะห์ผลการศึกษาโดยนักวิชาการ


ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า งานการศึกษาครั้งนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะกับบรรณาธิการข่าว หรือคนที่ดูแลเรื่องของการจัดการเนื้อหา (Content Management) ในยามวิกฤตและประเด็นข่าวใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนตัวสนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้ในเรื่องของการเลือกหน่วยโดยที่ไม่ได้หยิบเอาแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งมาศึกษาเท่านั้น ถือว่าเป็นงานวิจัยที่มีความยากและความหลากหลายค่อนข้างเยอะ แต่ต้องคำนึงเรื่องสภาพความเป็นจริงของภูมิทัศน์สื่อทุกวันนี้ คือคนเสพสื่อมากกว่าแพลตฟอร์มที่ศึกษา เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ซึ่งมีการนำข้อมูลในไลน์ไปแชร์หรือรายงานข่าว เพราะฉะนั้นมันข้ามแพลตฟอร์มไปมากกว่าที่อยู่ในหน่วยศึกษา และในส่วนของการศึกษาทวิตเตอร์ที่เลือกศึกษาเฉพาะติดแฮชแท็ก ในความเป็นจริงคนทั่วไปไม่ใช้แฮชแท็กแม้กระทั่งสื่อเอง เพราะฉะนั้นเนื้อหาการเสพข่าว การไหลเวียนของข่าวทุกวันนี้มันซับซ้อนมากขึ้น เราอาจจะรู้ข่าวโดยจากคนทั่วไป ผ่านโซเซียลมีเดียมากกว่าสื่อกระแสหลัก

งานวิจัยนี้น่าสนใจตรงที่มีการศึกษาเรื่องคนเสพสื่อคุยอะไรกัน มีส่วนร่วมอะไรกัน เพราะการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในยุคนี้ สื่อจะไม่สนใจเรื่องที่ผู้เสพสื่อพูดคุยกัน ไม่ได้แล้ว สื่อต้องมอนิเตอร์อารมณ์ของผู้เสพสื่อโดยเฉพาะในยามวิกฤต ถ้าเป็นเรื่องของการตลาดคือรู้เรื่อง Instinct ของ Consumer ว่า ผู้เสพข่าวเขาอยากได้ข้อมูลอะไร ที่ผ่านมาในอดีตเวลาที่สื่อทำข่าว สื่อมักจะคิดเอาเองว่าผู้บริโภคต้องการอะไร สื่อป้อนให้เลยโดยอัตโนมัติ โดยไม่สนใจว่าผู้เสพสื่อจะรู้สึกหรืออยากได้ข้อมูลอะไร แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้แล้วเพราะโลกออนไลน์มันเรียลไทม์ (Real Time) ผู้เสพสื่อได้ข้อมูลก่อนที่สื่อนำเสนอออกไปเสียอีก โดยเฉพาะยามวิกฤต ข้อมูลที่คนต้องการ คือ ข้อเท็จจริง ยิ่งได้ข้อมูลมากเท่าไร ชัดเจนมากเท่าไร ยิ่งดี

ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลการศึกษาบอกว่ามีการอ้างอิงจากสื่อหลักซึ่งแสดงให้เห็นว่าสื่อหลักก็ยังเป็นหัวใจสำคัญของข้อมูลด้วย แม้เราจะอยู่ในโลกของสารสนเทศและโลกอินเตอร์เน็ต ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์คนหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก่อน   ในการศึกษาที่ศึกษาทั้งทวิตเตอร์และพันทิป ที่สื่อออนไลน์ทั้งสองอย่างนี้มีลักษณะที่แตกต่างกัน พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกันมาก  โดยพันทิปเป็นพื้นที่ศูนย์รวมกระทู้ของการแสดงความคิดเห็นและอารมณ์เยอะมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้ากระทู้พันทิป  เวลาอยากรู้อะไรหรือดราม่าอะไรให้ดูในพันทิป เป็นแหล่งข้อมูลและพื้นที่ทางอารมณ์  สำหรับทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ค่อนข้างเปิดมากกว่าสื่อออนไลน์อื่นๆ  การแพร่กระจายของทวิตเตอร์จะไปอย่างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับสื่อออนไลน์อื่นๆ เป็นลักษณะของการสื่อสารทางเดียว  เนื้อหาก็จะเป็นองค์กรข่าว องค์กรภาครัฐหรือองค์กรทางการเมือง  ดังนั้นการให้ข้อมูลที่เป็นทางการก็จะมาจากทวิตเตอร์

มีบทวิเคราะห์หนึ่ง อธิบายว่า ทวิตเตอร์มีอารมณ์ตื่นตระหนกมากในช่วงวันแรกซึ่งเป็นปกติของช่วงวิกฤต  แต่เมื่อมาวิเคราะห์พันทิปพบว่าการตื่นตระหนกมากกลับอยู่ในช่วงวันที่ 21 เพราะมันเป็นช่วงของการระดมการหาตัวคนร้าย  ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าทวิตเตอร์เป็นสื่อที่เป็นการสื่อสารทางเดียวที่ให้ข้อมูลทางตรงในวันที่เกิดเหตุการณ์แล้วจบ  แต่พันทิปมีลักษณะเป็นฟอรั่ม(Forum) และเป็นฟอรั่มที่น่าสนใจมากเลยว่ามันมีข้อเท็จจริงมากแค่ไหน และมีความดราม่ามากขนาดไหน ซึ่งน่าศึกษาต่อ เป็นข้อมูลดิบที่ดีมาก   อาจจะศึกษาว่าความตื่นตระหนกของคนเปลี่ยนไปตามแพลตฟอร์มหรือไม่ เพราะเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปความตื่นตระหนกไม่ได้หยุดไปตามเหตุการณ์

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์  ทั้งหมดที่มีเดียมอนิเตอร์ ศึกษาคือ 4สื่อ 3 แพลตฟอร์มและพบว่าการรายงานของสื่อเหล่านี้จะอยู่บนข้อเท็จจริง(fact base) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและเป็นความจำเป็นมาก  เพราะถ้าไปดูจรรยาบรรณของสื่อในช่วงวิกฤต สื่อจำเป็นต้องรายงานข้อเท็จจริง (fact base)อย่าเอาอารมณ์เข้ามา  อย่างเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ยังไม่มีใครอ้างอิงว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ จะมีจรรยาบรรณที่เขียนไว้เลยว่าต้องเป็นการรายงานข้อเท็จจริงไม่รายงานด้วยการระบุว่าใครเป็นผู้ทำ แต่ของเราก็มีการระบุนะว่าเป็นเชื้อชาติอะไรซึ่งจริงๆแล้วไม่สามารถทำได้ สำนักข่าวคิดเองไม่ได้ หรือแม้แต่การที่จะไปสัมภาษณ์นักวิชาการที่มีการตั้งสมมุติฐานว่าเป็นกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็เป็นเรื่องอ่อนไหว

จากการสอบถามสำนักข่าวต่างประเทศว่า ตอนเกิดเหตุระเบิดราชประสงค์  เขาทำอะไร    หลักการของเขาคือ “ความน่าเชื่อถือมาก่อนความรวดเร็ว”   ในยุคที่มีทีวีดิจิตอลกับโลกออนไลน์ ถ้าจะแข่งกันมันแข่งไม่ได้เพราะคนอยู่ในเหตุการณ์เขาสื่อสารก่อน ถ้าจะแข่งกันที่ความเร็วมันไม่มีทางชนะดังนั้น สำนักข่าวไม่ต้องแข่งที่ความเร็วขนาดนั้น ความชัดเจน ความถูกต้องต้องมาก่อน อย่างสำนักข่าวต่างประเทศ การที่เขาจะบอกว่ามีคนเสียชีวิตกี่คน เขาต้องเช็คข้อมูลแล้วเช็คข้อมูลอีกหลายแหล่งมากก่อนจะรายงาน ซึ่งนี่คือ Core Valueที่แท้จริงของสำนักข่าว  และต้องมีความระมัดระวังในการที่จะบอกว่าใครเป็นผู้กระทำ เพราะนั่นเป็นเรื่องที่อ่อนไหว

แม้ความต้องการของประชาชนจะมีมากที่ต้องการรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำ เพื่อความเชื่อมั่นต่อการใช้ชีวิตแบบปกติได้ แต่สำนักข่าวต้องไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับความต้องการเหล่านั้นเพราะมันจะทำให้เหตุการณ์นำไปสู่วิกฤตอื่นๆได้

สำหรับประเด็น Crowdsource ขอใช้เคสสึนามิที่ญี่ปุ่น  มันเป็นวิกฤตของภัยพิบัติ เขาใช้ Crowdsourceแบบไม่ต้องรีบ  อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ต่างกับการระเบิดที่ราชประสงค์  รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นระดมภาพมือถือของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แล้วเอาข้อมูลมาประมวล เขาใช้เวลาเป็นปีเพื่อการวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหาย มากที่สุดคือ การระเบิดของแก๊สจากบ้านเรือน จากนั้นก็ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้ไฟลุกลาม แล้วหาทางป้องกันเหตุนั้น

การนำเสนอของสื่อโดยเฉพาะสื่อที่เป็นองค์กร  เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ คำถามที่จะเกิดขึ้นก็คือ ใครคือผู้ที่กระทำแล้วจะเกิดเหตุการณ์อีกไหม อันเป็นเหตุที่ทำให้สื่อพยายามนำเสนอในสิ่งที่ประชาชนอยากรู้  เพราะเมื่อรู้แล้วว่าใครเป็นคนทำ รู้แล้วว่าจับได้ ก็จะทำให้คนเชื่อว่าเกิดความปลอดภัย ความมั่นคงในการดำรงชีวิต  แต่ถ้าเกิดความไม่เชื่อถือในข้อมูลที่สื่อนำเสนอ ไม่เชื่อถือในข้อมูลของเจ้าหน้าที่    ก็นำไปสู่ fail state คือคนไม่เชื่อเจ้าหน้าที่รัฐ   การเกิดเหตุระเบิดก็สะท้อนวิกฤตรัฐเช่นกัน

อีกหน้าที่ของสื่อที่น่าสนใจ คือ การรายงานเหตุการณ์ในอดีตว่า เกิดเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมาแล้วกี่ครั้งและจับตัวคนร้ายได้ไหม  แม้ครั้งนี้จะจับผู้ต้องสงสัยได้ แต่ก็ยังไม่สะท้อนความน่าเชื่อถือของรัฐเพราะเมื่อจับได้ก็ยังมีคำถามว่าเป็นการจับแพะหรือไม่

การเก็บข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้เยอะมาก มีข้อมูลเยอะมาก ข้อสนออย่างหนึ่งสำหรับการวิจัยคือ การเก็บข้อมูลโดยใช้โปรแกรม  ซึ่งเมื่อเก็บจากแฮชแท็ก จริงๆการใช้ ของคนไทยใช้ผิดหมด ใช้เป็นการขยายอารมณ์มากกว่า ซึ่งนักวิจัยต้องเข้าใจการใช้งานผู้บริโภคตรงนี้ด้วย

การเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนละสรุปข้อเสนอต่อแนวทางปฏิบัติ” โดยนักวิชาชีพสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์

คุณเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย การพูดครั้งนี้จะขอให้น้ำหนักมาที่สื่อโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ใหญ่เหตุการณ์แรกที่ท้าทาย เพราะเป็นปีแรกของสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล แล้วเกิดเหตุในใจกลางเมืองที่สะเทือนความรู้สึกของคน คิดว่าทุกสื่อ ถ้าได้มีโอกาสทบทวน มองย้อนกลับไป คงเห็นว่ามีหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ มีหลายอย่างที่อยากทำให้ดีกว่าที่เกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่ายังไม่มีคู่มือหรือแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน

ถ้ามองย้อนกลับไปเฉพาะช่วงที่เกิดเหตุการณ์ มีความสับสนค่อนข้างมาก และมีคนที่ต้องการข้อมูลไปขยายความ ไปวิเคราะห์ต่อ แม้ในยุคนี้สื่อกระแสหลักไม่ได้ผูกขาดการไหลเวียนของข้อมูลมากเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เกิดขึ้น คนที่เข้ามาดูในเว็บไซต์ หรือดูสื่อโทรทัศน์ก็เพิ่มมากขึ้น แสดงว่าคนที่เชื่อในในสื่อกระแสหลักยังมีอยู่ แม้จะไปแลกเปลี่ยนข้อมูล โต้เถียงกันในสื่อ Social Media แต่สุดท้ายก็จะกลับมาดูสื่อโทรทัศน์ ซึ่งตรงนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายโทรทัศน์ดิจิตอล เมื่ออยู่ในภาวะที่มีเหตุการณ์ที่ใหญ่ขนาดนี้ สะเทือนอารมณ์มากขนาดนี้ สิ่งที่ต้องทำจากผลการศึกษาในวันนี้มันสะท้อนให้เห็นว่ามีหลายอย่างที่สื่อไม่ได้ทำ หรือควรจะทำได้ดีกว่าที่ผ่านมา

บทเรียนจากการศึกษาครั้งนี้ต่อการทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก สะท้อนให้เห็นว่า แต่ละสื่อต้องพูดคุยกันในกอง บก. อย่างจริงจังว่าได้อะไรจากเหตุการณ์นี้ ต้องทบทวนการทำหน้าที่ของตัวเอง ต้องยอมรับความจริงว่าในการทำงานในภาวะแบบนั้น ไม่มีใครวางแผนในระยะยาวได้ เพราะเป็นการทำงานแบบวันต่อวัน หลังจากนี้จึงต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ อยู่บนพื้นฐานที่มีเหตุและผลมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาครั้งนี้ คือเรื่อง Sense-making สื่อต้องสร้าง Sense-making คือ ทำให้คนรู้เรื่อง เข้าใจที่มาที่ไป ความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้นในทางที่ควรจะเป็น ไม่เพิ่มกระแสที่ทำให้เกิดทัศนคติหรืออารมณ์รุนแรงขึ้น จนนำไปสู่ Hate Speech มากขึ้น

สุดท้ายที่อยากจะฝากคนทำสื่อ เมื่อทุกอย่างจบลงแล้ว เราเห็นหรือเชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ แต่จนถึงวันนี้ คนทำสื่อเข้าใจประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมากแค่ไหน ถ้าเป็นอุยเกอร์ จีน เชื่อมโยงถึงตุรกี เรื่องจีน อุยเกอร์ ตุรกี ทำให้ผู้ชมผู้ฟังรู้จักตุรกี อุยเกอร์ หรือจีน เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ควรจะมีข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจ รับรู้ หรือคนที่เสพสื่อมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่อยากจบก็จบโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตัวละครเหล่านี้จะมีบทบาทมากในวงการเมืองระดับประเทศต่อเนื่อง ไม่จบแค่ตรงนี้

คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การทำงานของสื่อจะใช้รูปแบบที่แตกต่างไปจากปกติด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเกิดเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ ที่เป็นช่วงหัวค่ำ การจัดสรรคนในช่วงนั้นจึงมีความยาก แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ในช่วงกลางวันที่ผู้คนกำลังทำงาน ดังนั้น ช่วงค่ำวันที่ 17 สิงหา ที่เกิดระเบิดที่ราชประสงค์บทหนักจึงตกอยู่กับสื่อออนไลน์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนไม่สามารถเข้าถึงสื่อหลักได้ ช่วงที่เกิดเหตุวิกฤตเป็นการวัดประสิทธิภาพ Performance ของทีมงานข่าวอย่างรอบด้าน เช่น การจัดสรรคน การตัดสินใจของทีมงาน การเตรียมเครื่องมือ และหากในช่วงเวลานี้สื่อไหนทำหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างดีจะสามารถช่วงชิงเรตติ้ง สามารถเพิ่มยอดติดตาม หรือยอด like ได้สูง ดังคำกล่าว “วิกฤตกลายเป็นโอกาส”

ปัจจุบันทีมนักข่าวออนไลน์ทำงานไม่ได้ต่างไปจากนักข่าวสื่อหลักนัก แต่นักข่าวออนไลน์ทำงานควบคู่ไปกับสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ซึ่งอาจเป็นทีมงานเดียวกัน เนื้อหาที่ปรากฏในข่าวออนไลน์จึงเป็นไปในแนวทางเดียวกับสื่อโทรทัศน์หลักด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ที่สื่อถูกกดกันจากประชาชนและจากสื่อด้วยกันเอง กองบรรณาธิการข่าวออนไลน์อาจต้องรอทีมข่าวหลักด้วย ภาพแรกที่ปรากฏหลังจากเหตุระเบิดจึงเป็นของคนที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุแต่ไม่ใช่จากสื่อ และข้อมูลที่มีกลับไม่สามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลที่ประชาชนอยากรู้ได้ เช่น เรื่องการปิดโรงเรียน

สื่อออนไลน์เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์

1. ทั้งสื่อออนไลน์และคนที่รับสื่อได้เรียนรู้เรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณการนำเสนอภาพในข่าวออนไลน์ เช่น การรณรงค์ไม่แชร์ภาพผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลงในสื่อออนไลน์

2. การร่วมกันรายงานข้อมูล ทุกคนร่วมกันเป็นผู้ส่งข้อมูลให้สื่อออนไลน์ ร่วมรายงานและร่วมตรวจสอบกับสื่อ ทุกฝ่ายมีการตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกัน หากมีเนื้อหาที่ผิดพลาดไป ผู้เสพสื่อจะช่วยกันรายงานเข้ามาที่สื่อ นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์เรื่องการให้เครดิตคลิปวิดีโอ ซึ่งหลังจากมีการแชร์จำนวนมากทำให้เครดิตในคลิปอาจสับสน แต่สื่อกลับไม่ถูกต่อว่าจากเจ้าของคลิป ไม่มีใครจับผิด เพราะประชาชนให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึกโหยหาข้อมูลมากกว่า และอยากจะช่วยเหลือกันมากกว่า

3. การยอมรับว่ามีความผิดพลาดในการรายงานที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ระเบิดที่ผ่านมา มีกระแสประชาชนกระหน่ำเข้ามา สื่อออนไลน์มีการแสดงความรับผิดชอบได้ทันท่วงทีหรือไม่ ถือเป็นบททดสอบที่ดี ดังนั้นหากมีการผิดพลาด สื่อจะต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือสื่อไม่ควรจะมีการผิดพลาด

4. การปรับโทน จะเห็นได้ว่าแอดมินในเพจต่างๆจะต้องเข้าใจและเลือกนำเสนออารมณ์และความรู้สึกของผู้เสพสื่อ

ถึงแม้สื่อออนไลน์จะมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมากก็จริงแต่เนื้อหาข่าวที่ออกมาจะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับสื่อหลัก เพราะเป็นสื่อเดียวกัน ถึงแม้สื่อออนไลน์อาจจะมีทีมงานหรือทรัพยากรน้อยกว่าสื่อหลัก แต่ต้องเน้นเรื่องของความถูกต้องและจรรยาบรรณที่จะต้องทำให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับสื่อวิชาชีพที่เป็นสื่อดั้งเดิม

คุณเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้อำนวยการข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV ในแง่ของคนทำงาน ค่ำวันที่เกิดระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม สถานการณ์ในห้องข่าว เป็นเหตุการณ์ที่มีความดุเดือดมาก ทุกวันนี้ สื่อทีวีอยู่ในภาวะที่ถูกท้าทายจากสังคม จากสื่อออนไลน์  ซึ่งในเหตุการณ์วันนั้นเราอยู่ท่ามกลางข้อมูลที่มากมาย  ข้อมูลมันก็เหวี่ยงจากข้อมูลที่มากมาย  บางข่าวที่เราไม่ได้รายงานเราเห็นคนอื่นรายงาน  เราก็ต้องคิดว่าช่องเราพลาด เราไม่ได้คิดว่าต้องเช็คข้อมูลก่อนรายงานนะ ปัญหาคือ เราไม่มีแนวทางในการทำงานช่วงนั้นจริงๆ เลยว่าในสถานการณ์แบบนี้เราต้องทำยังไง   และพบว่า เรามาถึงจุดที่ “ความเร็วมันฆ่าสื่อจริงๆ” มันฆ่าเราจริงๆ ความตายในสื่อมันเร็วกว่าการตายจริงๆ มันเหมือนกับเราอยู่ในสงคราม กำลังเข้าสู่สนามรบ เราเป็นแม่ทัพ  แต่เราไม่มีแนวทาง เราก็ต้องคิดว่าจะเอายังไง   เราไม่มีกติกากลาง เราไม่มั่นใจว่าถ้าเราไม่รายงานใครจะรายงานบ้าง  คือต้องยอมรับว่าการแข่งขันกันสูง ช่องไหนรายงานได้เร็ว ประชาชนก็จะมาดูช่องนั้น  แต่ความเร็วต้องมาคู่กับความถูกต้อง

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ แนวทางในการรบ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องระเบิดราชประสงค์ แต่เรื่องเด็ก เรื่องเหยื่อ ก็ต้องมีแนวทางเช่นกัน    แนวทางตอนนี้ที่จะต้องทำคือ บรรณาธิการข่าวของทุกช่องถึงเวลาที่ต้องมากำหนดกติกา แนวทางการทำงานให้ชัดเจน  แล้วต้องมาดูว่าช่องไหนที่ทำผิดธรรมนูญที่ตั้งไว้แล้วเตือนกัน เพราะไม่อย่างนั้นเราจะรบนอกรูปแบบกันหมด แล้วเรารบนอกรูปแบบมันก็พังกันหมดทุกช่อง

คุณอธิพงศ์ ลอยชื่น หัวหน้าข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์แนวหน้า กล่าวว่า แนวหน้าออนไลน์เป็นทีมเล็ก ๆ เมื่อก่อนการทำงานออนไลน์ถูกมองว่าเป็นลูกเมียน้อย แต่ปัจจุบันเราได้รับความสำคัญจากในองค์กรและในสังคม ว่ามีบทบาทในการทำงานและได้ร่วมแชร์ข้อมูลกับกองบรรณาธิการ ได้เข้าร่วมในการประชุมข่าว

ช่วงที่เกิดเหตุวันที่ 17 สิงหาคม มีเพื่อนที่ไปทำข่าวที่เซ็นทรัลเวิลด์โทรมาบอกว่าได้ยินเสียงระเบิด หลังจากเข้าไปเช็คข้อมูลใน Social Media พบว่าเป็นเรื่องจริง จึงได้บอกกับกอง บก. แล้วหลังจากนั้นทางออนไลน์จึงเริ่มนำเสนอข่าวออกไปก่อน พร้อมเช็คข้อมูลไปด้วย ซึ่งมีข้อมูลไหลใน Social Media ตลอดเวลา โดยไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องชั่งใจ เพราะ แม้ข้อมูลที่นำเสนอจะต้องตรวจสอบความถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความเร็ว ต้องหาสมดุลของทั้งสองส่วนนี้เพื่อให้เกิดความพอดี ในทีม ถ้าเกิดความผิดพลาดที่พออภัยได้ จะคุยกัน การประชุมโต๊ะข่าวมีการคุยกันทุกวัน ทุกคนอยู่ในภาวะกดดัน ในโลกออนไลน์ทุกวินาทีคือข่าว อยู่ที่ว่าจะนำประเด็นไหนมาเล่น

ความกดดันมีในเรื่องความถูกต้อง อย่างเรื่องปิดโรงเรียน แนวหน้าเกือบนำเสนอ แต่มีการเช็คข้อมูลกันไปมาพบว่าไม่ใช่ แต่ยอมรับว่าโดนตำหนิในการนำเสนอภาพศพโดยไม่ปกปิด อันนั้นยอมรับในความผิดพลาด ออนไลน์ผ่านม็อบมาหลายม็อบ รวมทั้งอุทกภัย ตอนนั้นมีคนทำงาน 4 คน แบ่งทำงาน 2 กะ กะละ 12 ชั่วโมง คอยมอนิเตอร์ข่าว แต่พอมาเจอเหตุการณ์ครั้งนี้ คนทำงานที่ยังไม่ผ่านวิกฤตการณ์ จะเกิดการเรียนรู้ เด็กรุ่นใหม่จะเกิดการเรียนรู้ หากเกิดความผิดพลาดจะถือเป็นประสบการณ์ แต่หากความผิดพลาดเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ จากเหตุการณ์นี้ เด็กในโต๊ะข่าวมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นถือเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กกลุ่มหนึ่งโตเป็นนักข่าวที่ดีขึ้น

คุณสุเมธ สมคะเน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาสื่อโดนวิพากษ์มาก และมีความผิดพลาดในเรื่องที่นำเสนอ ปัญหาในการปฏิบัติงานในวันที่เกิดเหตุระเบิด แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ปัญหาการทำงานของสื่อ และ การทำงานของภาครัฐ ซึ่งเห็นด้วยกับอาจารย์มานะว่าเราไม่มีมาตรฐานการจัดการองค์รวมของภาคสังคมที่เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ และถึงแม้ว่ารัฐจะมีนโยบายแต่การขับเคลื่อนการจัดการของรัฐมักจะมาช้าเสมอ ในขณะที่สื่อมีกรอบจริยธรรมแต่การแข่งขันเชิงตลาดทำให้ต้องเสนอข่าวโดยความรวดเร็วเป็นอันดับแรก ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ควบคุมเรา สถานการณ์บังคับให้เราต้องเลือกว่าเราจะเอาอะไร เราต้องตัดสินใจเดี๋ยวนั้น การจัดการเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่กองบรรณาธิการ แต่ต้องเป็นนโยบายภาคสังคมที่มาร่วมคุยกัน เช่น เมื่อรัฐมีมาตรการและข้อปฏิบัติแล้วเราจะทำอย่างไร ตัวอย่างเรื่องผู้บาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุขให้ศูนย์นเรนทรให้ข่าว แต่ข้อมูลระหว่างหน่วยงานกลับไม่ตรงกัน เมื่อข้อมูลมีปัญหาก็จะย้อนกลับไปที่สื่อ

คุณธีรยุตร์ สันธากร บรรณาธิการข่าว ฝ่ายการเมือง สถานีโทรทัศน์ New TV ให้ความเห็นว่า สื่อได้บทเรียนหลาย ๆ อย่างจากเหตุการณ์นี้  ณ ชั่วโมงนี้ความเร็วมันฆ่าสื่อและสื่อเองก็หลงกับความเร็ว วันนี้มีทีวีดิจิตอลจำนวนมาก ซึ่งแข่งขันกันมายมายด้วยความเร็ว ก็ต้องถามว่าเราแข่งกันที่ความเร็วหรือแข่งข้อเท็จจริง ถ้าแข่งทั้งคู่ก็คงยาก เพราะเมื่อได้ข้อมูลมาก็ต้องเช็คข้อมูลให้ถูกต้อง สิ่งสำคัญก็ต้องรีเช็คข้อมูลก่อน ไม่ใช่ได้ข่าวจากสื่อออนไลน์ก็เชื่อไปเลย ข้อมูลก็ผิดไปเลย มันเสียหาย ถ้าข้อมูลยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องทำออกรายการทีวี สิ่งแรกที่ต้องย้ำกับผู้ประกาศ คือให้ย้ำว่าข้อมูลยังไม่ยืนยันแต่มีข้อมูลมาแบบนี้  กำลังตรวจสอบอยู่  เราต้องถามว่าในการนำเสนอ เราจะเอาความสะใจหรือความถูกต้อง การตัดสินใจในช่วงเวลานั้นมันค่อนข้างลำบาก เราไม่มีเวลาเพียงพอในการไปหาข้อมูลเพื่อยืนยันเหตุการณ์ว่ามันจริงหรือไม่ สิ่งนี้สื่อต้องมานั่งคุยกันว่าเราจะแข่งขันกันที่ความเร็วแต่มีความผิดเพี้ยนในข้อเท็จจริง หรือ รอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแม้จะล่าช้าไปบ้าง

ในส่วนการรายงานข่าว รายงานสด ผู้สื่อข่าวจะเป็นนักข่าวใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ หรือเคยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งจะไม่ครอบคลุมไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน  ทุกครั้งที่รายงานข่าวจะเกิดความไม่ชัดเจนของข้อมูล การรายงานข่าวที่ล้ำเข้าไปในพื้นที่บางส่วน จะทำให้สื่อถูกมองว่าล้ำเส้น สื่อต้องมีลิมิต (limit)ในการนำเสนอข้อมูล การนำเสนอได้ลึกกว่าสื่ออื่น ๆ ก็ต้องพิจารณาด้วยว่ามีผลกระทบกับส่วนอื่น ๆ ตามมาหรือเปล่า ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่ารายงานได้ดีกว่า น่าสนใจกว่า เพื่อที่จะอัพค่าตัวในการทำงานข่าว ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่สื่อ กลายเป็นทำงานเพื่อผลตอบแทนหรือผลประโยชน์บางอย่าง การแข่งขันเราแข่งขันกันได้ แต่ต้องดูว่าเราแข่งขันอย่างไร วิธีการทำงาน หรือข้อเท็จจริงมากกว่า ถ้าผิดแล้วควรขอโทษหรือไม่ ส่วนในกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤตเช่นนี้  ภาครัฐควรมีวอร์รูม (War Room) ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ให้สถานีวิ่งหาข้อมูล ดึงคนนั้นคนนี้มาให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ นา ๆ คนละทิศคนละทาง  ไม่มีหลักฐานหรือเหตุผลอ้างอิงที่แน่นอน ทำให้ข้อมูลสับสน สังคมก็เข้าใจไปในทางที่ไม่ตรงกัน ภาครัฐควรให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะ สื่อที่อยู่ในมือมันแพร่กระจายไปเร็วมากจนไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

คุณปภากร อินทรวงศ์ บรรณาธิการบริหาร ไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า เรื่องของความเร็วกับความถูกต้อง หลายสื่อเป็นสื่อที่ประกอบการโดยหวังผลกำไร เพราะฉะนั้นความเร็วจึงจำเป็นต้องใช้อยู่ แต่ว่าจะนำเสนอความเร็วยังไง ที่ผ่านมาสื่อต้องพึ่งเรื่องของความเร็วเพราะว่าเอเจนซี่นำเรื่องของความเร็วในการรายงานข่าวไปขายโฆษณา แต่ไม่ได้เอาเรื่องของคุณภาพไปขายกับผู้ซื้อ ดังนั้นสังคมจึงได้แต่ในเรื่องของความเร็ว คือ เขาอยากได้ความเร็วก็นำเสนอไปก่อน เช่น ใช้ภาพที่ดึงดูดคน ข้อความพาดหัวที่ดึงดูดคน ประเด็นนี้ขอฝากถึงเอเจนซี่ในเรื่องของการนำความเร็วของข่าวไปขายโฆษณามากกว่าคุณภาพของข่าว

เห็นด้วยกับงานวิจัยที่เสนอให้มีการการตั้งทีมในการมอนิเตอร์เหตุการณ์ของสื่อ และจากผลการศึกษาช่วงของการจับกุมคนร้าย โดยเฉพาะในวันที่มีการจับกุมคนร้ายได้ สังคมให้ความสนใจสูง แต่ก็มีความขัดแย้งของข้อมูลสูง และมีข้อสงสัยขึ้นในวันนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีทีมที่คอยจัดการการให้ข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งในเหตุการณ์หลายๆ ครั้งเจ้าหน้าที่รัฐตอบคำถามช้า ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามและไม่เข้าใจ พอนักข่าวไปถามว่าจับแพะหรือเปล่าก็เกิดความไม่พอใจ แต่รัฐต้องย้อนกลับไปดูด้วยว่าทำไมเขาต้องถาม ที่ต้องถามเพราะมันไม่เคลียร์ เพราะฉะนั้นเรื่องของการชี้แจงเหตุผลที่มาที่ไปต่างๆ ถ้าอธิบายได้ชัดเจนได้ก่อนหน้านี้ คำถามคงไม่เกิด

และสุดท้ายมองว่าเรื่องของความเร็วยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากว่าบางครั้งเราต้องระงับหรือยับยั้งสิ่งที่มันจะไปต่อในโลกออนไลน์ไว้ก่อน เช่นมีเหตุระเบิดขึ้นทุกคนไม่เคลียร์ว่ามันเกิดอะไร การยืนยันของสื่อว่ามีการเกิดเหตุจริง แต่ยังไม่ยืนยันสาเหตุที่ชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำก่อน และการเข้าไปมีส่วนของสื่อในการช่วยระงับอารมณ์ของสังคมก็มีความจำเป็น

คุณสรายุส พุทธคุณ  บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กล่าวว่า เนื่องจากบทบาทของช่อง 5 ไม่เหมือนบทบาทของช่องอื่นๆ การเสนอข่าวของเราไม่เน้นเร็ว แต่จะเน้นในเรื่องความถูกต้องเป็นหลัก ดังนั้นถ้าจะดูข่าวในเรื่องของความถูกต้องมาดูที่ช่อง 5 ได้เลย  จึงอยากฝากการนำเสนอข้อมูลของแต่ละช่อง แม้จะมีการนำเสนอข้อมูลในเชิงลึก แต่ก็ต้องดูว่าเป็นสิ่งที่มีความถูกต้องและไม่บิดเบือน อย่างเช่น การนำเสนอที่สร้างความเสียใจ ความโกรธแค้น  สื่อต้องมีการถามกลับว่าอะไรคือความรับผิดชอบ มันจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง จึงขอยืนยันว่าสื่อต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องความถูกต้องมากกว่าเรื่องของความรวดเร็ว สำหรับช่อง 5 เราเป็นสถานีข่าวที่ไม่เคยถูกฟ้องร้องในเรื่องข่าวที่บิดเบือน ส่วนความเห็นในเรื่องเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ เห็นด้วยกับที่ประชุมที่รัฐบาลควรจะมีการตั้งวอร์รูมอย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยให้เกิดการให้ข้อมูลจากหลายทางจะยิ่งช้าและยิ่งสร้างความสับสนให้กับสังคม โดยเฉพาะขณะนี้เป็นสังคมยุคออนไลน์มีการหาข้อมูลกันเองด้วยแล้วแชร์ผิดๆ ยิ่งทำให้เกิดความสับสนกันมากขึ้นไปอีก

ดร.เอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรัตน์  ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ได้เสนอต่อวงเสวนาว่า จะนำเรื่องนี้ไปบอกต่อ สนง.กสทช. ที่จัดทำโครงการ Smart Media Smart Consumer ซึ่งมีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้คนทำข่าวมาคุย มาถอดบทเรียนร่วมกัน ให้ผู้ชมได้รับทราบ โดยหวังให้ไทยพีบีเอส เป็นผู้ Provided เวลารายการให้ โดยเฉพาะในช่วงที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว โดยให้ บ.ก. ข่าวมานั่งคุยกันว่ามีวิธีการจัดการกันอย่างไรในช่วงความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และ จะนำไปแจ้ง กสทช.ที่ดูแลเรื่องเสรีภาพ และจริยธรรมสื่อ ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และจริยธรรมสื่อ ในสถานการณ์วิกฤต เช่น กรณีระเบิดที่เกิดขึ้นว่าภาครัฐ ต้องรับรอง คุ้มครอง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะจากเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ มีการปรามการนำเสนอของสื่อหรือห้ามนำเสนอในบางประเด็น  ทั้งๆที่เวลาเกิดเหตุการณ์สำคัญ นักข่าวก็วิ่งหาข้อมูล ถ้าหน่วยงานภาครัฐไม่ออกมาเป็นแหล่งข้อมูลทันที สื่อก็ทำงานลำบาก สังคมก็ยิ่งสับสนในข้อมูล


ข้อเสนอแนะจากนักวิชาชีพและนักวิชาการ

คุณเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สิ่งที่น่ายินดีคือ เห็นตัวบุคคลที่มาดูแลการบริหารข่าวในโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นคนรุ่นใหม่ ในวงเสวนานี้ ไม่มีใครไม่ยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทุกคนยอมรับว่ามีข้อด้อยหรือความผิดพลาด ยอมรับว่าความเร็วเป็นศัตรูที่ร้ายกาจของคนทำโทรทัศน์  ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีมาก เพราะถ้าเป็นเวทีแบบนี้เมื่อ 10 ปีก่อน อย่าหวังว่าจะเห็นสื่อมวลชนวิพากษ์ตัวเอง วันนี้ทุกคนพร้อมที่จะมาศึกษาและวางแนวทางร่วมกัน หวังว่าเวทีวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น นำไปสู่การคุยกันที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ไปสู่ความร่วมมือในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ที่เกิดขึ้นแล้วคือการร่างแนวทางในการรายงานข่าวอาชญากรรม ที่พูดถึงเรื่องความเร็ว ความเหมาะสม ในการรับผิดชอบ ที่หวังว่าทีวีดิจิตอลทุกช่องจะเห็นพ้องต้องกันและยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้

สิ่งที่อยากเพิ่มเติมคือ จากเหตุการณ์โลกที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีแนวโน้มชัดเจนว่าเหตุระเบิดราชประสงค์คงไม่ใช่ความรุนแรงครั้งสุดท้ายในประเทศไทย จากนี้ไปประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าไม่ได้ ทุกสื่อต้องเตรียมตัวเพราะจะเกิดเหตุการณ์แบบครั้งนี้อีกเยอะมาก หวังว่าครั้งต่อไปจะมีความพร้อมมากขึ้น ทุกสื่อต้องถอดบทเรียน ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้จะช่วยบอกได้ว่ามีตรงไหนบ้างที่ควรปรับปรุง

ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ บริบททางการเมืองถ้าอยู่ในช่วงการเมืองภาวะปกติ วิธีการรายงานข่าวจะเป็นอย่างไร แหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าเดิมหรือสร้างความสับสนเพิ่มมากขึ้น หรือมีผู้ให้ข้อมูลที่ออกมาตอบโต้กันไปมา เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าบริบททางการเมืองจะมีผลต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในเหตุการณ์วิกฤติ คงจะเป็นประเด็นที่อยากฝากไว้

ดร.เอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรัตน์ ตั้งคำถามกับนักวิชาชีพ ถึงแหล่งข่าวของภาครัฐที่สื่อคาดหวังว่าจะเป็นผู้ให้ข้อมูลในช่วงหลังการเกิดระเบิด

คุณเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้อำนวยการข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV กล่าวว่า นอกจากสื่อจะไม่มีระบบในการตั้งรับกับเหตุการณ์แล้ว ภาครัฐยังล้มเหลวอย่างหนัก เพราะว่าสื่อก็ไปชิงตัวคนจากรัฐบาลทีละคนแล้วไม่แน่ใจว่าข้อมูลได้ถูกส่งต่อถึงบุคคลเหล่านั้นจริงไหม จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรียนรู้ว่าต้องมีคนที่สามารถตอบคำถามได้ที่ถูกมอบหมายอย่างชัดเจน  หรือมีการตั้งศูนย์เป็นวอร์รูมของรัฐบาลเพื่อเป็นศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสาร  เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับความมั่นคงของชาติ  ซึ่ง ณ วันนั้นที่มีการไปสัมภาษณ์บุคคลต่างๆที่คิดว่าเกี่ยวข้อง เขาคนนั้นรู้เรื่องแล้วหรือยัง  โดยศูนย์นี้จะแถลงข่าวทุกครึ่งชั่วโมง ทุกสื่อเอาข่าวจากตรงนี้

คุณอธิพงศ์ ลอยชื่น หัวหน้าข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์แนวหน้า กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ ๆ มีการโยงไปที่ 2 เรื่อง คือ เรื่องการเมืองและการก่อการร้าย ความสับสนใน 2 เรื่องนี้ถูกโยงไปคนละทิศละทาง จึงคิดว่า พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล น่าจะเป็นคนให้ข้อมูลมากกว่าคนอื่น ๆ

คุณปภากร อินทรวงศ์ บก.บห.ไทยรัฐ ออนไลน์ ขอยกตัวอย่างกรณีเหตุความรุนแรงที่ประเทศฝรั่งเศส มีประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกมาให้ข้อมูล โดยมีทีมจัดการข้อมูลให้ และทำให้เรื่องจบ เพราะผู้ให้ข้อมูล เป็นคนที่ใหญ่ที่สุดแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีของเราหรือภาครัฐของเรา ยังทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์ได้ไม่ดี เวลาถามโฆษกรัฐบาล คำพูดที่ออกมาก็จะเป็น Pattern ไม่ค่อยมีน้ำหนัก ถ้าคนบริหารประเทศออกมาพูดเองอย่างที่ประเทศอื่นทำ มันจะสามารถจบได้โดยที่สื่อไม่ต้องถามต่อ

คุณธีรยุตร์ สันธากร บรรณาธิการข่าวฝ่ายการเมือง สถานีโทรทัศน์ New TV เห็นด้วยกับคุณเสถียร ที่รัฐควรมีวอร์รูมเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ให้สื่อไปวิ่งหาข้อมูลกันเอง ซึ่งผู้ให้ข้อมูลแต่ละคนให้ข้อมูลไปกันคนละทิศทาง ตามสิ่งที่ตัวเองคิด ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ข้อมูลสับสน ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ถ้ารัฐบาลตั้งทีมขึ้นมาว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แถลงข่าวทุกสองชั่วโมง หลัก ๆ รัฐบาลต้องให้ข้อมูลเอง และ ให้แนวทางที่ถูกต้อง

คุณสรายุส พุทธคุณ  บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กล่าวว่า รัฐบาลมีการตั้งวอร์รูมเพื่อให้ข้อมูลที่สโมสรกองทัพบก แต่การตั้งอาจจะล่าช้า และในช่วงแรกมีเพียงช่อง 5 ที่เข้าไปทำข่าวได้ แต่ที่หลาย ๆ ท่านพูดอาจจะหมายถึงการเกิดเหตุการณ์แล้วตั้งวอร์รูมขึ้นเลย เพื่อให้ข้อมูลไม่สับสน ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยเพื่อไม่ให้การรายงานข่าวสะเปะสะปะและเกิดความสับสน โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคออนไลน์ การเข้าไปหาข้อมูลเองเสี่ยงต่อการได้ข้อมูลผิด และนำไปสู่การส่งต่อข้อมูลแบบผิด ๆ ยิ่งให้เหตุการณ์เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก

คุณวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย การศึกษาการทำงานของสื่อจากเหตุระเบิดราชประสงค์เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับแวดวงสื่อ ที่ผ่านมาสื่อได้รับเสียงสะท้อนทั้งในแง่บวกและแง่ลบ สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์จึงควรมีการนำมาพัฒนาในการทำหน้าที่ตามความคาดหวังของสังคม นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพสื่อได้สะท้อนมาว่า “ความเร็วในการทำข่าวเป็นเรื่องที่ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อ” แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเป็นความจำเป็นสำหรับการแข่งขันในธุรกิจสื่อ ที่เราต้องยอมรับความจริงว่า สื่อมีทั้งปัญหาของตนเองและปัญหาในภาคธุรกิจ  การตอบสนองต่อสิ่งที่ฝ่ายวิชาการเสนอมาก็อาจทำได้ไม่เต็มที่ และขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในช่วงเวลาที่อยู่ในช่วงของการปฏิรูปสื่อ จึงเป็นช่วงเวลาที่เรียกร้องให้สื่อต่างๆ มีการปฏิรูป สื่อเองได้ตระหนักในเรื่องเหล่านี้  เพราะการเรียกร้องให้สื่อมีกฎกติกามากขึ้น  เป็นความพยายามที่จะทำให้สื่อได้รับความน่าเชื่อถือจากสังคม แม้ว่าจะมีกติกาอยู่แล้วแต่ถูกละเลย กติกาอย่างง่ายที่สุดคือกรอบจริยธรรม  ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ถูกละเลยเพราะภาวะการณ์ “ความเร็ว” ที่หลายคนบอกมา เป็นตัวที่ใช้เรียกเรตติ้งหรือยอดไลค์ของสื่อออนไลน์ แต่มีสิ่งที่ดีคือเมื่อเกิดความผิดพลาดก็มีการยอมรับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ที่ผ่านมามีตัวอย่างการใช้ความเร็วทำให้เกิดความผิดพลาด ทั้งที่เป็นเรื่องที่มีข้อปฏิบัติทางกฎหมายบังคับใช้อยู่ อย่างเช่นเรื่องการละเมิดศพ เมื่อมีเสียงเตือนกันออกมาผ่านทางสังคมจน ทำให้มีการปฏิบัติและแก้ไข

และด้วยสถานการณ์ขณะนี้มีการเรียกร้องให้สื่อต้องปฏิรูปตัวเอง ในส่วนของสมาพันธ์สื่ออาจจะไม่บรรลุเป้าหมายและถูกมองว่าเป็น “เสือกระดาษ” เวลานี้การกำกับดูแลกันเองและเอาจริงกับเรื่องเหล่านี้ ขณะนี้มีบางสื่ออย่างเช่น ไทยพีบีเอส มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านจริยธรรมและรับเรื่องราวความเสียหายจากสื่อ องค์กรลักษณะอย่างนี้ ต่อไปแต่ละสื่อจะต้องมีการจัดตั้งขึ้นมา ถือว่าเป็นการปฏิรูปตัวเองของสื่อด้วย หรือหากเกิดสถานการณ์อย่างเหตุระเบิดราชประสงค์จะต้องมีกติกาอะไรบ้างที่ดูแลในเรื่องนี้ ส่วนกฎกติกาในเรื่องการนำเสนอข่าวสาร ถึงเวลาที่สื่อต้องทำอย่างจริงจัง ถ้าแต่ละสื่อร่วมมือกันทำจะช่วยกันแก้ปัญหาได้ และเป็นความหวังที่จะบอกกล่าวไว้ตรงนี้

คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สำหรับสมาคมสื่อออนไลน์เองยังไม่ได้มีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ที่เกิดขึ้น แต่เข้าใจว่าแต่ละสื่อจะมีการสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้บริหาร สำหรับสื่อออนไลน์ การวัดเรตติ้งจะต้องทำ ณ เวลานั้น ซึ่งทุกอย่างจะเป็นฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ที่จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่ให้ข้อมูลจำนวนมากจมลงไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ข้อเสนอในเรื่องของการรายงานข่าวในช่วงวิกฤตมี 3 ส่วน คือ

ในเรื่องการสื่อสารข้อมูลกับสังคม ภาครัฐยังสื่อสารภายใต้แนวคิวควบคุมสื่อซึ่งทำให้เกิดความสับสนของข้อมูลมากขึ้น ปัญหาสำคัญคือ ถ้ารัฐคิดว่าสามารถควบคุมการไหลเวียนของสื่อได้นั่นคือรัฐต้องไปตามปิดสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ดังนั้น การสื่อสารข้อมูลกับสังคมในภาวะวิกฤต รัฐต้องปรับมุมมองการสื่อสาร ต้องเป็นการสื่อเพื่อให้ข้อเท็จจริงต่อสังคม อาจมีการตั้งวอร์รูมเพื่อการให้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะ และรัฐจำเป็นต้องมอนิเตอร์อารมณ์ของสังคมด้วยเพราะรัฐต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีคนที่เกรียนกระโดดลงไปเล่น ปั่นข้อมูลทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น

ภาควิชาชีพ ควรมีการจัดทีมสำหรับทำงานในช่วงภาวะวิกฤต ต้องมีการฝึกซ้อม ต้องมีการ training ว่าต้องมีการบริหารจัดการอย่างไร อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่หน้าจอทีวี สื่อหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ อย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องเชื่อมโยงทุกสื่อเข้าหากันในแต่ละแพลตฟอร์ม แล้วใช้ประโยชน์ของการเป็นเรียลไทม์ที่เกิดขึ้น

เรื่องของความเร็วมีผลแต่ควรมีการทำสัญลักษณ์ร่วมกัน เช่น ธงแดง เขียว เหลือง เพื่อสื่อความหมายข้อมูลของข่าวนั้นๆ ว่าเป็นข่าวที่รอการยืนยันข้อมูล หรือเป็นข้อมูลที่ยืนยันแล้ว และควรมีการใช้ แฮชแท็กกลาง  เวลาเกิดวิกฤตอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น สมาคมวิชาชีพต่างๆ  ต้องคุยกันเพื่อกำหนดเป็นแฮชแท็กกลางขึ้น แล้วกระจายไปให้สมาชิกทุกคนทราบว่าใช้แฮชแท็กกลางนี้ เช่น น้ำท่วม กทม. ทุกคนใช้แฮชแท็กกลางร่วมกันหมดไม่ว่าสำนักข่าวไหน เพื่อประโยชน์เมื่อคนเข้ามาดูในเรื่องของความไหลเวียนของข้อมูล ข้อเท็จจริงและง่ายต่อสำนักข่าวในการมอนิเตอร์ข้อมูลที่เกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ควรทำ คือ ไม่ควรปล่อยให้กระแสไหลเวียนของโลกออนไลน์เป็นไปโดยธรรมชาติ เพราะมีพวกที่เกรียนโดยแบบธรรมชาติในโลกออนไลน์ มีอะไรมาฉันจะสวนไปอย่างนี้ ฉันจะปล่อยไปอย่างนี้ กับเกรียนโดยจัดตั้ง หมายถึงว่ามีการรวมกลุ่มกันไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมโดยเจตนาหรือไม่เจตนา โดยเฉพาะในยามวิกฤตที่เกิดขึ้นเช่นในกรณีระเบิดที่ราชประสงค์ เห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งคือมีการจัดตั้งของการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารบางเรื่องด้วยเจตนาชี้นำเพื่อทำให้สังคมเกิดความสับสน ตื่นตระหนก ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมาได้

หน้าที่ของสื่อของสื่อในยามวิกฤตอีกอย่าง คือ การตรวจสอบข้อมูล เพราะในยามวิกฤตในการรายงานข่าวแสื่อจำเป็นต้องเช็คข้อมูลให้ชัวร์ ช้ายังดีกว่าพลาด อย่าไปเน้นความเร็วจนหลงผิดไป แต่ขณะเดียวกันถ้าผิดต้องรีบแก้ไขข้อมูล

และอีกส่วนที่ต้องระวังคือการนำเสนอพยานโดยไม่เบลอหน้า การนำเสนอข้อมูลที่ควรเสนอ ไม่ควรเปิดเผย เพราะอาจส่งผล หรือเป็นอุปสรรคต่อการติดตามคดีของเจ้าหน้าที่ สื่อต้องพูดคุยกันว่าข้อมูลใดที่ไม่ควรเปิดเผย

ภาคสังคม ต้องมีการเรียนรู้เรื่องนี้ เช่นที่ผ่านมามีการเตือนกันเองในเรื่องของการแชร์ภาพศพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นพลังของสังคมในการทำหน้าที่ตรวจสอบกันเองและตรวจสอบสื่อด้วย แต่ปัญหาคือพวกเกรียนที่อ้างสื่อกระแสหลักซึ่งเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลที่ผิดๆ ออกไป จะเห็นว่ามีความซับซ้อนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีอถือว่าสื่อยังมีเครดิตอยู่

ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การถอดบทเรียนจริงๆที่ต้องเรียนรู้ก็คือ เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤต ไม่ว่าวิกฤตธรรมชาติหรือวิกฤตก่อการร้าย ภาครัฐต้องรวมศูนย์ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ    แต่ช่องทางการสื่อสารต้องไม่รวมศูนย์ แต่ต้องเข้าถึงคนฟัง คนดูให้ได้มากที่สุด  และใช้สำนักข่าวเป็นภาคี เพราะเขารอข่าวอยู่แล้ว  ดังนั้นการตอบกลับข้อมูลต่างๆของภาครัฐต้องรวมศูนย์ ต้องเช็คข้อมูลและต้องน่าเชื่อถือ

ในส่วนสื่อ ต้องเรียนรู้ ทบทวนเหตุการณ์ และสะสมข้อมูล เช่น กรุงเทพเกิดเหตุระเบิดกี่ครั้งแล้วจับได้กี่คน  เมื่อทำแล้วมันสะสมเป็นความรู้ของสำนักข่าวเองและในสังคมของผู้รับสารด้วย  อย่างเมื่อเข้าดูใน big data ก็พบว่าข้อมูลของไทยรัฐเป็นข้อมูลที่คนเห็นมากที่สุด ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าคนยังเชื่อสื่อหลักอยู่  แต่ข้อความที่ถูก retweet มากที่สุด กลายเป็นข้อความของบุคคล ตอนนี้ทุกคนรู้ว่า โลกออนไลน์เป็นโลกของความเห็น เป็นพื้นที่ของอารมณ์  แต่สำนักข่าวเป็นพื้นที่ของความรู้ ความลึกของข้อมูล ผู้บริโภคก็ต้องเรียนรู้ตรงนี้ด้วย ถ้าสำนักข่าวจะไปแข่งกับความเร็ว ความดราม่า จะแข่งยาก  ต้องถอยกลับมาที่ข้อมูล ข้อเท็จจริง  เมื่อมีข้อมูล หากเกิดเหตุระเบิดวันนี้ เวลาสำนักข่าวนำเสนอข่าว คนก็จะหันมาดูข้อมูลเชิงลึก เพราะเราเล่นกับความเร็ว ความดราม่าไม่ได้  เราเล่นกับความลึก

ส่วนโลกออนไลน์เป็นโลกของความเร็ว ที่สำนักข่าวไปเล่นตรงนั้นไม่ผิด แต่ถ้าจะเล่นเรื่องความเร็วและดราม่าเล่นยังไงเราก็จะแพ้ Influencer ที่อยู่ในโลกออนไลน์อย่างไม่มีจรรยาบรรณมาค้ำไว้

อ.สกุลศรี ศรีสารคาม ที่ปรึกษาด้านงานการศึกษาวิจัย โครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวขอบคุณผู้ร่วมวงเสวนาทุกท่านที่ร่วมระดมความคิดเห็นในวันนี้ ซึ่งหลาย ๆ อย่างจากรายงานเป็นการมองเชื่อมโยงเชื่อมต่อระหว่างแพล็ตฟอร์มในเชิงข้อมูล แต่สิ่งที่ได้จากเวทีวันนี้คือการได้เห็นข้อจำกัด มีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการศึกษาในลักษณะแบบนี้ ซึ่งจะนำมาเพิ่มเติมในบทวิเคราะห์ สุดท้ายสิ่งที่อยากจะฝากคือการศึกษาชิ้นนี้ของมีเดียมอนิเตอร์ครั้งนี้ต้องมีการต่อยอด ซึ่งมันมีรายละเอียดในแต่ละเรื่องที่ถ้าใครสนใจและเอาไปต่อยอด โดยเฉพาะองค์กรสื่อเองเอาโมเดลสุดท้ายที่เสนอไว้ ลองไปทำกับเหตุการณ์ที่ไม่วิกฤตมาก เพื่อดูว่าทีมจะจัดการกับสถานการณ์นั้นอย่างไร จะทำให้รายงานชิ้นนี้ไม่จบแค่ในวันนี้ แต่สามารถนำไปพัฒนาต่อได้ หรืออาจพัฒนาเป็นคู่มือที่ทุก ๆ คนอยากให้เกิดขึ้น

ดร.เอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวขอบคุณและแจ้งว่าโครงการมีเดียมอนิเตอร์จะปิดโครงการในช่วงเมษายนนี้  และจะส่งต่อผลการศึกษา และสาระจากวงเสวนาให้ภาคีทางภาคใต้ที่ มอ.ปัตตานี เพราะมีความเห็นตรงกันกับหลาย ๆ ความคิดที่ว่า สังคมตื่นเต้นสนใจกับระเบิดที่ราชประสงค์ในขณะที่ที่ภาคใต้มีระเบิดบ่อยครั้ง และจะนำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะไปขยายต่อ เพื่อสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด  สุดท้ายนี้ โครงการมีเดียมอนิเตอร์หวังว่า การทำงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของโครงการ  จะได้ฝากข้อมูล ความรู้ และ กลวิธีการมอนิเตอร์ไว้กับสถาบันวิชาการ รวมทั้งหน่วยงานที่พร้อม และสนใจดำเนินการต่อไป.

 

“””””””””””””””””””””””””””””””””