18มิย52-ราชดำเนินเสวนา : โครงการ “ คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ”

ราชดำเนินเสวนา  :  โครงการ  “ คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ”
หัวข้อ    “ ประเด็นร้อนในรัฐธรรมนูญ ”


เมื่อวันที่ 18  มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย     จัดราชดำเนินเสวนา ในโครงการ “คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ”ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “ประเด็นร้อนในรัฐธรรมนูญ”     สมาคมนักข่าว นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจจากผู้อภิปราย ดังนี้



นายบัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ ตัว แทนฝ่ายประชาสังคม กล่าวว่า ผมเห็นว่าประเด็นร้อนในรัฐธรรมนูญ 2550 คือ มาตรา 190  ซึ่งมีปัญหาหลักๆ แต่ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทบัญญัติของมาตรา 190 แต่กลับเป็นปัญหาของการที่เราไม่ได้ทำกฎหมายประกอบ 190  ซึ่งรัฐธรรมนูญ  ก็บังคับให้ทำ แต่เราทำอย่างไม่ได้ผลักดันจริงจังให้ออกมา


ดังนั้น ปัญหาหลักที่ผ่านมา คือ เรื่องกรอบเจรจา ยกตัวอย่างเช่น  กรอบเจรจาเป็นเรื่องใหม่ แต่การเจรจาไทย-กัมพูชา  เจรจาเอฟทีเอ ระหว่างอาเซียนกับยุโรป  ก็มีการเสนอและอนุมัติไป เจ้าหน้าที่กัมพูชายืนยันเองว่าเป็นประโยชน์ .


นอกจากนี้ ปัญหาที่ติดค้างมาจนถึงวันนี้คือ อะไรคือประเภทหนังสือสัญญาที่ต้องเสนอตามมาตรา 190 วรรค 2 โดยเฉพาะ 2 เรื่องที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ มีผลผูกพันอย่างกว้างขวาง ตรงนี้คือปัญหา  ซึ่งคนร่างรัฐธรรมเองก็รู้ว่า ไม่สามารถเขียนกฏเกณฑ์ลงไปได้ชัดเจน เหมือนกับรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นว่า ต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์สาธารณะ ก็ต้องไปออกกฎหมายลูก


เช่นเดียวกัน สสร. ไปกำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 190  วรรค 5 ว่า ให้มีกฎหมายว่าด้วยขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา และยังกำหนดเป็นบทเฉพาะกาลในมาตรา 303 (3) ว่า ต้องไปทำกฎหมายประกอบ 190 ออกมาภายใน 1 ปี นับจากวันที่รัฐบาลแถลงนโยบาย คือ รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช  แถลงเมื่อ กุมภาพันธ์ 2551


ฉะนั้นกุมภาพันธ์ 2552  เราต้องมีกฎหมายออกมา แต่วันนี้ยังไม่มี     เมื่อยังไม่มี ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีประสาทพระวิหาร บวกกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอื่นๆ แต่ไม่มีกรณีที่ชัดเจน ต้องเอาเรื่อง 190 ไปยกประกอบ


ขณะนี้ จึงกลายเป็นความสับสนของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเข้าใจ แต่ไม่กล้าเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง ต้องเสนอเรื่องทั้งหมดที่จะต้องเข้าสภาว่าจะเข้าหรือไม่เข้า ส่งให้ครม.ไปว่ากันเอง  ครม.ก็ไม่มีใครกล้าเสี่ยง  ดังนั้นตอนประชุมอาเซียนที่ชะอำ มีเอกสารจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหา เพราะกว่า 2ใน 3   เมื่อเปิดดูพบว่าไม่จำเป็นต้องเข้า


ดังนั้น ข้อเสนอที่น่าจะเป็นทางออกคือ ต้องมีกฎหมายประกอบออกมาให้รอบคอบ หากข้อตกลงใดที่เราผูกพันอยู่ ไปมีผลขัดแย้ง ลดความผูกพันที่มีอยู่ อย่างนี้ถือว่ามีผลกระทบอย่างกว้างขวางชัดเจน  ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ถ้าเห็นว่ากระทบก็ส่งเข้าสภา ถ้าไม่เกี่ยวข้องไม่ขัดแย้ง ก็ไม่ต้องส่งเข้าสภา

นายธีระ สุธีวรางกูร  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตัวแทนภาควิชาการ

กล่าวว่า เอาเข้าจริงแล้ว รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้มีบางประเด็นที่ร้อน  แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร้อนทั้งฉบับ ทั้งนี้เนื่องจาก ที่มาของรัฐธรรมนูญ  ความมุ่งหมายในการเขียนรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเนื้อหาบางมาตรา เป็นบทสะท้อนว่า เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง
ยกตัวอย่าง ปัญหาในเชิงระบอบ เช่น  ที่มาของสถาบันการเมืองบางสถาบัน ซึ่งได้แก่ วุฒิสมาชิก   โดยเฉพาะในส่วนการแต่งตั้งหรือสรรหา คนที่ทำหน้าที่ในการสรรหาก็จะเห็นว่ามีองค์กรตุลาการเข้าไปเกี่ยวข้องค่อน ข้างมาก


แต่นั่นยังไม่สะท้อนปัญหาในเชิงหลักการมากเท่ากับ บทบาทของวุฒิสมาชิก ซึ่งมีอำนาจมากมาย ถ้าเทียบกับที่มา ว่ากันตรงๆก็คือ ที่มาของวุฒิสมาชิกจะสะท้อนถึงอำนาจหน้าที่ ว่าควรจะมีมากน้อยขนาดไหน


แต่ปรากฏว่า รัฐธรรมกำหนดให้วุฒิสมาชิก มีที่มาจากการสรรหาส่วนหนึ่ง โดยมีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนฝ่ายการเมือง ทำให้เกิดปัญหาในเชิงระบอบขึ้นมาว่า  สอดคล้องหรือมีเหตุผลในการยึดอำนาจนิติบัญญัติบางส่วนไว้หรือไม่  หรือยึดอำนาจการถอดถอนไว้เป็นเครื่องการทำลายล้างใครบางคนหรือเปล่า


สองคือ ปัญหาในเชิงหลักการ เช่น การสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนผ่านคณะกรรมการสรรหา  ซึ่งคณะกรรมการบางชุดที่มีหน้าที่ ในการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ที่เหนือกว่าวุฒิสภา
สามคือ ประเด็นในเชิงเทคนิค ซึ่งมาตรา 237 สะท้อนได้เป็นอย่างดี ลองสังเกตดูว่า ที่มีปัญหากันอยู่ทุกวันนี้  237 วรรค 1 พูดเรื่องการกระทำความผิด หรือฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อไหร่ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเหล่านี้   จนทำให้เกิดการทุจริตเลือกตั้ง ก็ส่งผลให้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


แต่ในขณะที่กระทำการฝ่าฝืน  กฎหมายเลือกตั้ง หรือประกาศกกต. ซึ่งอาจมีการฝ่าฝืนการประกาศเหล่านี้ ด้วยข้อเท็จจริงซึ่งมีน้ำหนักไม่เท่ากัน   บางเรื่องเล็กน้อย หรือใหญ่ แต่หาก กระบวนการฝ่าฝืน ถูกกระทำโดยกรรมการบริหารพรรค หรือถูกกระทำโดยผู้สมัครที่กรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น   ก็จะถูกขยับโดยกฎสันนิษฐานทางกฎหมายว่า ให้มีความผิดข้อหา เป็นการได้มาซึ่งอำนาจ ในการปกครองประเทศที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย


ซึ่ง จะมีผลถึงการยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค  ซึ่งเป็นเทคนิคในการเขียนกฎหมาย
แต่ผมไม่รู้ว่านี่เป็นเทคนิคในการเขียนกฎหมายหรือไม่ ผมคงไม่ตอบ   เพราะอย่างน้อยที่สุด อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีของผม  ท่านก็แถลงว่า ไม่ได้เขียนมาตรา 237 ในลักษณะที่หวังผลอะไร


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องคำนึงมากกว่านั้นคือ บางทีบทบัญญัติซึ่งเขียนเอาไว้ โดยไม่มีความมุ่งหมายอย่างนั้น  มีคนบางคนจ้องจะนำไปใช้ ในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้บังคับการให้เป็นไปตาม มาตรา 237  ตรงนี้เราต้องดูพฤติการณ์


นี่คือ ประเด็นร้อนประเด็นหลักในรัฐธรรมนูญ    ทั้งในเชิงระบอบ เชิงหลักการและเชิงเทคนิค    แต่จะมีประเด็นร้อนอย่างไร ผมเห็นว่า เราว่ายังมีทางออก  ด้วยการหันหน้าคุยกันด้วยเหตุด้วยผล  ประเด็นทางนิติศาสตร์ คุยกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง(ครับ)   ไม่ได้คุยกันด้วยอารมณ์ แต่สิ่งที่จะทำให้เป็นเรื่องร้อนแล้วจบไม่ได้ก็คือ  ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการนำรัฐธรรมนูญไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง  ต่างหาก


เช่น ถ้าเหยิบ 237 ขึ้นมา พันธมิตรฯก็อาจจะลุกขึ้นประท้วง  ร้ายไปกว่า  มาตรา 309 แตะขึ้นมา ก็อาจจะเป็นเรื่องขึ้นได้  แต่ถ้าถามว่าวันนี้เรื่องไหนร้อนกว่ากัน  ผมเห็นว่าเป็น 237 และ 309  มาตรา 237 คิดว่า คงจะมีการเสนอแน่นอน ส่วน 309 ผมได้ข่าวจากเพื่อนมาว่า มีส.ว.บางท่าน    ถกเถียงในที่ประชุมอยู่หลายครั้ง ด้วยหน้าตาที่เคร่งเครียด

นายธนิตพล ไชยนันท์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
ตัวแทนภาคการเมือง กล่าวว่า ในมุมของนักการเมือง ผมเห็นด้วยกับอ.ธีระ และอ.บัณฑูร ผมเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งก็เห็นแตกต่าง เพราะบางครั้งพวกผมก็ทำงานลำบากเหมือนกัน  เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผู้ใช้แตกต่างกันในหลากหลายสาขาอาชีพ
ทั้งนี้ ผมเห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นร้อนทั้งฉบับ ตั้งแต่เรื่องเขียนรัฐธรรมนูญ 300 กว่ามาตรา หนาเป็นปึก  แต่คำถามคือ ประชาชนส่วนใหญ่ได้อ่านรัฐธรรมนูญหรือไม่  ปัญหาก็คือ รัฐธรรมนูญเขียนยืดยาวจนเกินไป จนทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่อยากอ่าน จนทำให้ไม่รู้เรื่อง


เมื่อเขียนยาวเกินไป ถึงเวลาจะแก้ ก็อย่างที่หลายคนพูดว่าเป็นวัวพันหลัก เพราะทุกวันนี้ความแตกแย้งในสังคมมีสูงในทุกชนชั้น แบ่งสี แยกขั้ว ซึ่งความแตกแยกตรงนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งนั้น


ถามว่า ถ้าเราตัดออกมาเป็นพระราชบัญญัติจะได้หรือไม่ แล้วเขียนเฉพาะแก่นแท้ของรัฐธรรมนูญ  และใช้ได้ทั่วไป เขียนกว้างๆก็พอ ถ้าเขียนรายละเอียดเยอะจนเกินไป จนกาทางออกกันไม่ได้ ก็เพราะ วันนี้ถ้าพวกผมจะแก้ อยากถามนักวิชาการว่า ท่านกล้าจะให้นักการเมืองเป็นเจ้าภาพหรือไม่ กลัวหรือไม่ คำตอบคือ ทุกคนกลัวหมด


วันนี้ ไม่ว่าจะสีเหลืองหรือสีแดง ถ้าฝ่ายการเมืองจะแก้ ท่านไว้ใจเราหรือไม่   ไม่มีใครไว้ใจใครหรอกครับ   โดยเฉพาะมาตราเล็กๆ ทั้งๆ ที่แก่นแท้ของรัฐธรรมนูญคือ จะทำอย่างไรให้คนไทยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


แต่เมื่อใส่รายละเอียดเข้าไปมากจนเกินไป ก็แก้ไม่ได้  อีกอย่างเมื่อมีการปฏิวัติ เราก็เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้น พอมีการปฏิรูปการเมืองเราก็ล็อคฝ่ายตรงข้าม ที่สร้างปัญหาให้กับการบริหารประเทศ  มาถึงปี 2550 ก็ล็อคจนไม่สามารถขยับอะไรได้เลย
ดังนั้นวันนี้ ไม่ว่าจะมาตรา 237  หรือ มาตรา  190   หรือ มาตรา 309    ผมคิดว่าถ้าจะมีเจ้าภาพสนใจจะแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นเหล่านี้ต้องออกไปอยู่ในส่วนพระราชบัญญัติ  แต่ถ้าถามว่าวันนี้ ทางแก้คืออะไร คำตอบคือ ทุกคนที่จะมาดูเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องเข้าใจภาระหน้าที่ของผู้อื่นไม่ใช่ของตัวเอง  เช่น นักวิชาการ ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนั้นอย่างนี้   หลายเรื่องผมเห็นด้วย แต่ท่านก็ต้องเข้าใจฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะแก้ไม่ได้

นายประพันธ์ คูนมี ตัวแทนภาคพลเมือง
กล่าวว่า ผมกลับรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เย็นฉ่ำทั้งฉบับ ไม่เห็นร้อนตรงไหน   แต่นักการเมืองไม่ใช่หรือที่ทำให้บ้านเมืองทุกวันนี้วุ่นวาย   ถ้าจะคิดว่ารัฐธรรมนูญทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ผมว่า เราเอารัฐธรรมนูญมาเป็นแพะรับบาปมากเกินไป


เพราะแท้จริงแล้ว ปัญหาของบ้านเมืองเกิดจากพฤติกรรมของคน ไม่ว่าเราจะเอารัฐธรรมนูญที่ดีมาจากประเทศไหน ถ้านักการเมืองไม่เปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็คงจะไม่ได้ผล   ฉะนั้น ผมคิดว่าเรามองปัญหาแค่มุมหนึ่ง ซึ่งผมยอมรับว่าก็มีส่วนอยู่บ้าง  แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่แท้ที่จริงแล้ว ปัญหาเกิดจากพฤติกรรมนักการเมืองต่างหาก  ดังนั้น ทางแก้คือ ต้องสร้างค่านิยมให้ประชาชนมีจิตสำนึกในประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะดีกว่า

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ตัวแทนภาคพลเมือง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีส่วนในการสร้างความแตกแยกในสังคม เนื่องจากตีโจทย์ผิด เพราะเห็นว่านักการเมืองมีปัญหา ทักษิณมีปัญหา แต่ไม่ได้มองโจทย์ในภาพรวมทั้งหมด เพราะแม้จะมีข้อดีเรื่องการตรวจสอบที่เข้มแข็ง แต่ข้อเสียคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้  มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้การเมืองอ่อนแอ จนทำให้มีอำนาจนอกระบบเข้ามาทรกแซงการเมือง หรือแทรกแซงรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังเน้นการตรวจสอบในเชิงจับผิดนักการเมืองมากจนเกินไป จนไม่เอื้อต่อการแก้ไขและพัฒนาประเทศ รวมถึง ให้อำนาจฝ่ายตุลาการมากจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจะร้อนกว่าในรัฐธรรมนูญ 2550 ผมมองว่า คือประเด็น การตั้งพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะถ้าผู้ที่จะแก้รัฐธรรมนูญไม่แก้รัฐธรรมนูญตามที่
พันธมิตรฯอยากจะให้เป็น  ก็อาจจะไม่จบสิ้น เรื่องการถกเถียงกัน