12มิย52-ราชดำเนินเสวนา “รัฐธรรมนูญมาตรา 190: ปัญหาที่มีอยู่จริง หรือเพียงเกมส์การเมือง?”

ราชดำเนินเสวนา “รัฐธรรมนูญมาตรา 190: ปัญหาที่มีอยู่จริง หรือเพียงเกมส์การเมือง?”
จัดโดย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

วันศุกร์ที่  12  มิถุนายน  2552      เวลา 13.00 –  16.00  น.
ณ ห้องประชุมชั้น 3  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ถนนสามเสน
----------------------------------------------------------------------------------------------

ผศ.ดร. จันทจิรา  เอี่ยมมยุรา  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
รัชดา  ธนาดิเรก            พรรคประชาธิปัติย์
อุบล อยู่หว้า     เครือข่ายประชาชน
วีรชัย พลาศรัย*    อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ดำเนินรายการ
อมรรัตน์  มหิทธิรุกข์

ราชดำเนิน ม.190
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ,มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) จัดราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญมาตรา 190: ปัญหาที่มีอยู่จริง หรือเพียงเกมส์การเมือง?”


โดยมี นายอรรณพ บุราณเศรษฐ ผู้อำนวยการกองสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ,นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายประชาชน ,นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน .ดร.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และ รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร


นายอรรณพ บุราณเศรษฐ ผอ.กองสนธิสัญญาและกฎหมาย
เดิมรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 คือ มาตรา 186 ในประชาพิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2549 เล่มสีเหลือง เมื่อเราได้เล่มสีเหลืองมาเราคิดไว้อยู่แล้วว่ามาตรานี้จะต้องมีปัญหาตามมาในอนาคต ในขณะที่ภาคส่วนอื่น เป็นห่วงจริยธรรมนักการเมือง ต้องมีการยุบพรรค ไปเน้น สิทธิประชาชนอยู่ไหน ต้องมี แต่เราในฐานะผู้ปฏิบัติคิดอยู่มาตราเดียว แล้วได้ทำหนังสือไปเตือนรัฐบาล สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แนบไปประมาณ 10 ฉบับ

“คือเรียนนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ก็เงียบ ไม่ฟัง เอาไปแก้นิดเดียวตัดคำว่าอย่างร้ายแรงเป็นอย่างกว้างขวาง ในที่สุดก็กลายเป็นมาตรา 190 ในปัจจุบันนี้ ในที่สุดสิ่งที่เราคาดไว้มันก็ตามมา มีอยู่มาตราเดียวที่ทำให้แย่เลย จะว่าเป็นการตีความจะเป็นเกมการเมือง ในทางปฏิบัติที่จะดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศติดขัดไปหมด จนถึงปัจจุบัน”

“ในอาเซียนเวลาเราไปที่ไหนเราใช้ฉันทามติ ก็คือต้องเห็นพ้องด้วยกันหมด เรากันอย่างนี้มานานแล้ว 40 ปี ปรากฏว่าระยะหลังสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เป็นต้นมา เวลาอาเซียนเขาจะทำฉันทามติ เขาบอกว่ายอมแล้ว ยอมประเทศไทย เว้นชื่อประเทศไทยไว้ ไทยไม่ลงก็ไม่เป็นไร เขาทำไปก่อนก็แล้วกัน ตรงนี้ไทยก็ไปลงนามกับเขาไม่ได้ รัฐมนตรีก็ไม่กล้าเดินทางไปเพราะกลัวติดมาตรา190 ว่าต้องขอสภาหรือเปล่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอันนี้ต้องขอ ขอตรงไหน อะไร รัฐมนตรีเดินทางไปแล้วเพื่อไปลงนาม แต่ก็ไม่ลงนาม เพราะต้องเข้าสภาก่อน ไปแล้ว เห็นด้วยแล้ว ไม่ขัดข้อง แต่ไม่ลงนาม”

นายอรรณพ กล่าวว่า ในแง่ของผู้ปฏิบัติเอง ทางคณะรัฐมนตรี ทางรัฐสภา ตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมัคร เป็นต้นมา โดยผลของมาตรา 190 ตามเจตนารมย์แล้ว อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก  จะมากหรือน้อยก็ไม่เป็นไร หลักการดี แต่บัญญัตขั้นตอน ทำให้การปฏิบัติมีความยากลำบาก

“มาตรา 190 วรรค 2 เป็นปัญหาที่สุด เพิ่มหนังสือประเภทใหม่เข้ามาอีก 2 ประเภท เดิมมี 3 ประเภทในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เรื่องกระทบเขตแดนทางบก กระทบเขตแดนทางทะเล และต้องออกกฎหมายให้การณ์เป็นไปตามสนธิสัญญา หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง หรือมีผลกระทบการค้าการลงทุน หรืองบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ อันนี้ความหมายไม่ชัดเจนว่าคืออะไร ผมก็อยากจะรู้ เพราะว่าเป็นผู้ปฏิบัติก็อยากจะรู้ เมื่อไปอ่านความเห็นของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ก็ปรากฏว่าเขาหมายถึง FTA นี่เรื่องใหญ่เลย เพราะในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหรือก่อนหน้านั้น เอาอำนาจนั้นไปทำความตกลงกันไว้ แล้ววางหลักเกณฑ์ว่า FTA ทำไปเถอะ แล้วจะไม่มีการแก้กฎหมาย หมายความว่าเวลาไปเจรจา ข้อนี้ต้องแก้กฎหมายก็ไม่เอา ตัดออก เมื่อไม่ต้องแก้กฎหมายมันก็ไม่เข้ามาตรา 224 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็ไม่ต้องเข้าสภา ไม่กระทบทางบก ทางทะเล ไม่ต้องแก้กฎหมาย ไม่ต้องเข้าสภา ตรงนี้ภาคประชาชน เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเขาไม่รู้เรื่อง”

“ขอเรียนตามตรงว่าในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศเรา ไม่ต้องมีข้อตกลงอะไรมาก ไม่ค่อยมี ที่จะมีมากๆก็คือกระทรวงพาณิชย์ การค้าทั้งหลาย กระทรวงกลาโหม สาธารณสุข ของเราไม่ต้องไปตกลงอะไร เราอยู่ตรงกลาง ไปประสาน เขาเป็นเจ้าของการตกลงทั้งนั้น แล้วต้องมาชี้แจงว่ากระทบเศรษฐกิจสังคมหรือเปล่า”

“ปัญหานี้มาถึงรัฐบาลสุรยุทธ์ ซึ่งถามว่ามันหมายถึงอะไรกระทรวงการต่างประเทศ เราจะไปรู้ได้อย่างไร เราไม่ได้ร่าง ค้านไปก็ไม่ได้ฟัง เราจะไปรู้ได้อย่างไร ครม.ก็เลยมีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 บอกว่า ครม.ก็ไม่รู้ ให้ใช้วิธีเดิมไปก่อน หมายความว่าให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องที่เสนอความตกลงไว้ มาบอก ครม. ว่ามันกระทบเศรษฐกิจสังคมอย่างกว้างขวางหรือเปล่า เจ้าของเรื่องต้องบอกให้ได้ ถ้าบอกไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ แล้วถามกระทรวงสาธารณสุขว่าไง กระทรวงต่างประเทศว่าอย่างไร แล้วเอาเสียงส่วนใหญ่ตัดสิน นี่คือมติ ครม. บางเรื่องก็เข้าสภา บางเรื่องก็ไม่เข้าสภา ก็พอจะไปได้ เพราะว่ายังใหม่ด้วยกันทั้งหมด”

“ต่อมาก็มีปรากฏการณ์เขาพระวิหาร 8 กรกฎาคม 2551 มีตัวเล่นเพิ่มอีกคือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นหนังสือสัญญาหรือเปล่า คำพิพากษายิ่งไปเติมความสนุกสนาน ความสับสนเข้าไปในมาตรา 190 อีก โดยวินิจฉัย 2 ประเด็น คือเป็นหนังสือสัญญา คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเราต้องนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติ แต่กว้างมาก เช่น จะดูว่าหนังสือสัญญาใดกระทบเขตแดนท่านเพียงแต่นั่งลงแล้วคิดไตร่ตรองว่าสัญญานี้อาจจะกระทบกับเขตแดน นั่นคือกระทบเขตแดนแล้ว ยิ่งทำให้กว้างออกไปอีก”

ผอ.กองสนธิสัญญา สรุปว่า กระทรวงการต่างประเทศจึงกลายเป็นผู้มีหน้าที่เอามาตรา 190 มาร้อยเรียงให้เป็นระบบเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างไม่ติดขัด ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นผู้ร่าง และเมื่อร่างเข้าไปให้พิจารณาแล้วก็ไม่ฟัง จึงทำให้เป็นประเด็นที่หนักใจในการทำงานอย่างยิ่ง   


นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ในฐานะกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในการปฎิบัติตามมาตรา 190 เป็นเพราะไม่มีกฎหมาย

“ตัวที่กระทบจริงๆคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมอย่างกว้างขวาง และผลผูกพัน เราเห็นว่าถ้าไปทำความตกลงแล้วมีผลกระทบร้ายแรง จะทำไปทำไม ไม่ควรทำ เราเคยมีรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขให้เข้ารัฐสภาไว้แล้ว จากบทบาทที่ FTA Watch เข้าไปยื่นหนังสือ เข้าไปตอนแปรญัตติ ได้รับรู้มาตลอด เห็นว่า สสร. ตั้งใจ 4 เรื่องคือ เพิ่มอำนาจให้คณะต่อรอง การทำกรอบเจรจา การเพิ่มความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสภานิติบัญญัติกับภาคประชาสังคม สสร.เห็นปัญหาว่าการถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติกับบริหารไม่สมดุลกันจึงให้ภาคประชาชนเข้าไปถ่วงดุลอีกทางหนึ่ง มาตรานี้ต้องการเข้ามารับมือกับโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมเข้ามา ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลก่อนหน้านั้นทำความตกลงอย่างนี้เยอะมาก แล้วเราจะรับมืออย่างไร นี่คือเจตนาเมื่อดูจากสาระเหล่านี้”

นายบัณฑูร ให้ความเห็นว่า มาตรา 190 มีปัญหาจริง ตรงที่ไม่มีกฎหมายออกมาทำให้มาตรา 190 ชัดเจน

“ถ้ามีการเจรจากับ EU แล้ว EU เรียกร้องว่าให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรจากเดิม 20 ปี เป็นอีก 5 ปี ชดเชยเวลาที่ล่าช้าไป คณะเจรจาสามารถอ้างได้เลยว่ากรอบการเจรจาที่สภาอนุมัติ ไม่สามารถทำได้ เพราะจะเกินเลยเวลาไประหว่างเจ้าของสิทธิกับผู้บริโภค นี่คือประโยชน์ของกรอบเจรจาซึ่งวันนี้กระทรวงพาณิชย์ก็ยืนอยู่บนพื้นฐานนี้ แล้ววันนี้ก็เข้าใจกันแล้วว่ากรอบการเจรจาหน้าตาเป็นแบบนี้”

“ต่อมา ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางคืออะไร ผู้ร่างเข้าใจปัญหานี้ว่าไม่สามารถเขียนได้ จึงกำหนดให้มีกรอบในการเขียนหนังสือสัญญา บังคับค่อนข้างชัดเจนว่าให้ทำกฎหมายดังกล่าวออกมาให้ได้ภายใน 1 ปีนับจากวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา เพราะฉะนั้น เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2552 เราควรจะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่านัยสำคัญคืออะไร ผลกระทบอย่างกว้างขวางคืออะไร ปัญหาก็คือว่าตอนนี้กฎหมายประกอบมาตรา 190 ไม่ได้ออกมาตามเวลาที่กำหนด แล้วคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในกรณีเขาพระวิหารซึ่งออกมาค่อนข้างกว้าง กับจังหวะความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่เวลานี้ ก็ต้องการแก้รัฐธรรมนูญปี 50ในมาตราอื่นๆ แต่ไม่สามารถหาเหตุผลในรัฐธรรมนูญปี 50 ขึ้นมาได้ ก็เลยเอามาตรา 190 ขึ้นมาตีว่านี่คือปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 50”

“วันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวกับหนังสือสัญญาโยนทั้งหมดไปให้ ครม. พิจารณาว่าเรื่องใดควรเข้าสภา ไม่เข้าสภา โดย ครม.ก็ไม่ตัดสินใจโดยโยนเรื่องทั้งหมดให้สภาตัดสินใจ ผมอยู่ในบอร์ดของเทคโนโลยีอวกาศ เห็นหนังสือบันทึกความเข้าใจของเทคโนโลยีอวกาศ เกี่ยวกับการใช้รีโมต censing จากสหรัฐทำกับจีน กับเกาหลี ทั้งหมดนี้เข้าสภา ทั้งที่ไม่น่าจะต้องเข้า ในความเห็นผมเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 190 วรรค 2 ไม่ได้กระทบความมั่นคง นี่เป็นปัญหาจากการที่เราไม่มีกฎหมายประกอบ เป็น panic จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งทางการเมือง ในสภาเองก็ยังพูดกันว่าส่งเรื่องทั้งหมดมาให้สภา เพื่อให้สภารู้สึกว่านี่เป็นภาระมากเกินไป และจำเป็นต้องกลับไปแก้ไขมาตรา 190 ผมคิดว่าปัญหาเรื่องกรอบเจรจาวันนี้ได้ผ่านตรงนั้นไปแล้ว ปัญหาตอนนี้อย่างเดียวคืออะไรคือกฎอะไรคือหนังสือสัญญาที่เข้าเกณฑ์ ที่มีนัยสำคัญเป็นผลผูกพัน ทั้งหมดนี้สามารถตอบได้ถ้าเรามีกฎหมายประกอบ มาตรา 190 ออกมา”


ดร.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์

“การแก้รัฐธรรมนูญ 2550 จะกลับไปที่เจตนารมย์ที่ต้องการถ่วงดุลอำนาจรัฐบาล นิติบัญญัติ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่”

“ถ้าถามว่ามาตรา 190 มีปัญหาหรือเปล่า ดิฉันยอมรับว่ามีแน่นอน แล้วต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือเปล่า นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อมีปัญหาแล้วต้องแก้เฉพาะมาตรา 190 หรือเปล่า ดิฉันคิดว่ายังไม่จำเป็น ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรา 190 ต้องแก้เพราะมีความสับสน ไม่ชัดเจน ว่าหนังสือสัญญาใด คืออะไร หรือว่าในวรรคที่ 2 ที่กำหนดว่ามีผลกระทบอย่างกว้างขวางอย่างมีนัยสำคัญ แค่ไหนคือกว้างขวาง แค่ไหนคือนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้คือความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในมาตรา 190”

“แต่ถ้าอ่านไปให้ครบทุกมาตรา ในวรรค 5 ที่กำหนดให้มีการออกกฎหมายลูก พรบ.กำหนดขั้นตอนการทำหนังสือสัญญา แต่ ณ วันนี้เรายังไม่มี จึงต้องถามต่อไปอีกว่ หลายๆคนที่ต้องการให้แก้ 190 ได้มาร่วมกันคิดหาแนวทางร่วมกันว่ากฎหมายลูกที่จะออกมาจะสร้างความชัดเจนได้มากน้อยอย่างไร ไม่มีใครพูด จะมีกี่คนที่ได้เห็นร่างขอ ครม.ที่เข้าสู่สภา ได้เห็นร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ร่างของFTA ได้เห็นร่างของ TDRI แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าถ้าเรามีกฎหมายลูกออกมาแล้วจะมีความชัดเจน แล้วสามารถแก้ไขความสับสนในมาตรา 190 ได้”

“แต่ถ้าจะถามว่ามีปัญหาไหม แน่นอนในฝ่ายข้าราชการวันนี้เขาก็ไม่กล้าตัดสินใจ เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง ในส่วนของสภามีปัญหาไหม เป็นอย่างมากเพราะรัฐธรรมนูญมีเจตนารมย์อยากให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ถ่วงดุล ให้เสนอความคิดเห็นต่อข้าราชการ ต่อ ครม. จะทำได้อย่างไร ในเมื่อ ยกตัวอย่างวันที่ 26-27 มกราคม ที่ผ่านมานี้ นิติบัญญัติต้องพิจารณาเอกสารถึง 38 หนังสือสัญญา ยกมือกัน 38 ครั้ง เอกสารที่ให้ ส.ส.ทบทวนมีหลายพันหน้า จากเดือนมกราคมถึงปัจจุบัน มี 60 หนังสือสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ใช้เวลาส่งเอกสารกว่าจะมาถึง ส.ส. และ ส.ว. ไม่ถึงสัปดาห์ เทวดาก็อ่านได้ไม่หมด ก็เลยไม่มีใครเก่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง ก็เท่ากับว่ารัฐสภามีหน้าที่แค่ยกมือ ฝ่ายค้านก็ค้านกันไป ฝ่านรัฐบาลก็มีหน้าที่จะไปรวบรวมคนให้ครบ ส.ว.ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของท่าน ที่จะให้ตรวจสอบ ถ่วงดุล เสนอแนะ มันไม่เกิดขึ้นไ

“แต่ถามว่านั่นคือปัญหาของตัวรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ดิฉันก็ต้องตอบว่ามันไม่ใช่ เพราะวรรค 5 ให้กำหนดขั้นตอนการจัดทำหนังสือสัญญาเรายังไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้มันชัดเจน อยากให้นิติบัญญัติเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ตรวจสอบถ่วงดุล เกิดความโปร่งใส ให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนในการแสดงความคิดเห็น ก็ต้องมีขั้นตอนให้ชัดเจน”

ส.ส.รัชดา ให้ความเห็นว่า ควรมีการแยกประเภทว่าหนังสือสัญญาใดเข้าข่าย แล้วหน่วยงานใดควรจะทำประชาพิจารณ์ มีการทำวิจัย ต้องเผยแพร่ข้อมูลด้วยวิธีใด หน่วยงานใดต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบศึกษาวิจัย มาตรา 303 ก็ระบุว่าให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคม หัวข้อเหล่านี้ต้องมีเจ้าภาพและความชัดเจน

“เมื่อมี พ.ร.บ.ขึ้นมาแล้วจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้หรือเปล่า ปัญหา ณ วันนี้ เกิดขึ้นเพราะไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ เราต้องสร้างความชัดเจนทางปฏิบัติ แล้วใครเป็นผู้ตัดสิน ใครเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการสร้างความชัดเจนนั้น แม้ว่ามีกฎหมายลูกออกมาแล้ว แต่ยังให้ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของ ครม. และกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ตัดสินใจว่าเอกสารสัญญานี้ต้องเสนอเข้าสภา สัญญาลักษณะนี้ต้องทำการวิจัย ดิฉันคิดว่าก็ยังไม่บรรลุเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญเท่าที่ควร ในกรรมาธิการต่างประเทศเรามีการคุยกันนานแล้วว่าควรให้หน่วยงานใดเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นกรมาธิการร่วมระหว่างวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ควรเป็นกรรมาธิการถาวร เป็นกลไกในการขับเคลื่อน แล้วสามารถแยกเป็นอนุกรรมาธิการ เชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องในหนังสือสัญญาเข้ามาร่วมได้ เอาภาคธุรกิจ ประชาสังคม ที่จะได้รับผลกระทบตรงนี้เข้ามาเป็นอนุกรรมาธิการ ซึ่งจะดีกว่ายกภาระทุกอย่างไปให้กับ ครม. และหน่วยงานราชการ”

ดร.รัชดา สรุปว่า มาตรา 190 ยังไม่เป็นปัญหาเพราะว่ายังมีวรรค 5 แล้วเสนอแนะว่าทางออกคือต้องมีกฎหมายลูกมารองรับ แล้วต้องมีกลไกที่จะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจว่าเอกสารสัญญาใดที่เข้าประเภทไหน


นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายภาคประชาชน
“คือเมื่อคนหนึ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส. แล้วได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี มีอำนาจตัดสินใจในนามประเทศ แล้วตัดสินใจแล้วเซ็น การตัดสินใจของคุณกระทบถึงคนในประเทศที่ต้องเสียอาชีพ เสียวิถีชวิตวัฒนธรรม ควรทำไหม”

“บนสำนึกประชาธิปไตยแบบเห็นหัวประชาชน ไม่ควรทำ จะมีตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญหรือไม่มีมันก็ไม่ควรทำ แต่ประเทศเราทำ มีนักการเมืองที่ตัดสินใจแบบนี้มาแล้ว”

นายอุบล สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงว่า การเซ็นสัญญาตกลงกับต่างชาติทำให้เกษตรกรในประเทศไทยได้รับผลกระทบจนต้องสูญเสียอาชีพ เช่น ปลูกกระเทียม และเลี้ยงโคนม

“มีการเชิญชวนว่าถ้าคนจีนกินทุเรียนคนละลูก เราจะไม่มีแผ่นดินจะปลูกไปขาย ผ่านมาหลายปีแล้วปรากฏความจริงที่คิดว่าจะได้ ไปเน่าในเรือก็มี ไปเน่าคาเรือเข้าประเทศไม่เด้ด้วยมาตราการกีดกันของจีน ตรวจพบสารเคมีเอาไปบดทิ้งก็มี ทั้งเงื่อนไขของผู้ส่งออก เช่น สวนผลไม้ต้องได้รับการยอมรับจากรัฐ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรไม่เคยรับรองสวนผลไม้ ไม่เคยมีระบบของรัฐที่ต้องไปรับรองสวนมะม่วง นี่เป็นเงื่อนไขของจีน โดยที่ข้อมูลที่เล่าให้ประชาชนฟังก็ไม่จริงทั้งหมด”

จากเงื่อนไขดังกล่าว ไปสู่อาชีพอื่นๆนั้น นายอุบลเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ อาชีพการเลียงโคนมจะหมดไปจากประเทศไทยแน่นอน