ฟังเสียงกิจกรรม-วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก World Press Freedom Day-๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙

 

 

 

 

 

ฟังเสียง กิจกรรมวันเสรีภาพสื่อมวลชนทั้งหมด

{mp3remote}http://www.tja.or.th/images/sound2559/590503-pressfreedomday.mp3{/mp3remote}

/////////////////////////////////////////////////////

สกู๊ป “เสรีภาพสื่อ...ประชาชนได้อะไร?”

แนวหน้าออนไลน์ วันศุกร์ ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559, 02.00 น.

 

“ชาวบำเหน็จณรงค์ กลุ่มคนรักบ้านเกิดเราตั้งผ้าป่า แต่ทหารเขาบอกว่าทำไม่ได้ ตั้งผ้าป่ามันผิดกฎหมาย ชาวบ้านก็ถามว่ามันผิดตรงไหน? เขาใช้คำว่า..ต่อสู้คัดค้าน..คือเรื่องเหมืองทองคำ มลภาวะเป็นพิษที่ชาวบ้านได้รับรู้มา แต่เขาบอกว่า..แล้วสร้างหรือยัง?..คือถ้าไม่มีการมาสร้างเราจะไปต่อสู้กับคุณไหม? จะให้สร้างก่อนแล้วให้เราค้าน ชาวบ้านไม่มีสื่อในมือ ถูกกระทำอะไรเรื่องก็เงียบ”

 

สุวรรณี ศรีสูงเนิน ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวในงานเสวนา “เสรีภาพสื่อ..ประชาชนได้อะไร?” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค. 2559 ด้วยน้ำเสียงที่สัมผัสได้ถึงความ “เจ็บปวด” ในฐานะชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งรู้สึก “คับข้องใจ” กับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้!!!

 

สืบเนื่องจากพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้รับ “ประทานบัตร” หรือใบอนุญาตการทำเหมืองแร่โปแตช เมื่อเดือน ก.พ. 2558 เนื้อที่ 9,700 ไร่ อายุประทานบัตร 25 ปี หากสร้างเสร็จจะมีกำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 56 เมกะวัตต์ (MW) ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความกังวลว่าอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพื้นที่ทำกินทางการเกษตร ทว่าชาวบ้านไม่สามารถแสดงออกใดๆ เพื่อคัดค้านได้ เพราะถูกมองว่าจะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้น  ที่น่าหดหู่ใจ..เรื่องราวเหล่านี้ “ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ” น้อยมาก!!!

 

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า วันนี้การแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็ดี การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนก็ดี ค่อนข้าง “ถูกจำกัด” ด้วยมาตรการทั้ง “ทางตรง” จากข้อกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่การชุมนุมต้องขออนุญาต และ “ทางอ้อม” ด้วยการเชิญเจ้าของสื่อบ้าง ผู้บริหารองค์กรสื่อบ้าง ไปพูดคุยเพื่อหวังให้นำเสนอข่าวไปในทาง “เป็นบวก” กับภาครัฐ

 

“ข้อทุกข์ร้อน” ของประชาชน..จึงอาจ “ถูกเบรก” ไม่นำเสนอแบบ “เจาะลึก”!!!

เพราะเกรงจะ “ขัดแย้ง” เนื่องจากกระทบต่อ “ภาพลักษณ์” ของรัฐ “ผู้มีอำนาจ”!!!

 

“วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนหรือภาคประชาชน หรือเครือข่ายแรงงานก็ไม่ต่างกัน หนึ่งคือเราจะเห็นว่าภาครัฐออกกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม ต้องมีพื้นที่ชุมนุม ต้องมีอันไหนชุมนุมได้อันไหนชุมนุมไม่ได้ ซึ่งเราก็ต้องต่อสู้ให้มีการแก้ไข แต่มันก็ยากมาก

 

หรือสื่อมวลชน ที่เราตั้งข้อสังเกตคือบรรณาธิการหรือเจ้าของสื่อต่างๆ รัฐบาลเรียกเข้าไปคุยแน่นอน เพื่อให้นำเสนอข่าวในทิศทางที่รัฐบาลต้องการ เป็นเชิงบวกของรัฐบาล แต่การนำเสนอประเด็นของประชาชน ที่มันจะไปกระทบกับการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลเองก็อาจจะให้นำเสนอในภาคประชาชนแบบมีข้อจำกัด มีเงื่อนไข อาจจะไม่ได้นำเสนออย่างเป็นไปตามสภาพปัญหาที่มันเกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ประธาน คสรท. ระบุ

 

เช่นเดียวกับ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย แสดงความเป็นห่วงการทำหน้าที่ของ “นักข่าวท้องถิ่น” เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน ประสานไปยังสำนักข่าวส่วนกลางก่อนเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ทว่าปัจจุบันนักข่าวท้องถิ่นตกอยู่ในสภาวะ “หวั่นกลัว” กฎหมายพิเศษบางข้อ จนยากที่จะ “เป็นปากเป็นเสียง” ให้กับคนเล็กคนน้อย เพื่อเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นธรรม”!!!

 

“สื่อท้องถิ่นเขาอยู่กับท้องถิ่น เห็นประเด็นปัญหามากมาย มากกว่าส่วนกลางอีก แต่กลับไม่อาจเสนอข่าวที่ให้เสียงให้ภาพทุกมุมได้ อันนี้เรื่องใหญ่ สื่อที่เป็นปัญหาและโดนกระทำมากคือสื่อท้องถิ่น สื่อท้องถิ่นเขาอยู่ในพื้นที่ รู้ว่าใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร ถ้าสื่อท้องถิ่นถูกปิดบังควบคุมเสรีภาพ นี่ยิ่งหนักใหญ่ สื่อส่วนกลางก็จะไม่ได้รับข่าวที่เชื่อมร้อยกัน

 

ผมเชื่อว่าเราก็สื่อได้เต็มที่อยู่นะ แต่ว่าเบื้องหลังมันก็เกิดความหวาดระแวง ความกลัวอะไรหลายอย่างยกตัวอย่างเช่น ม.44 อันนี้ร้ายมาก ไม่ต้องพูดถึงสื่อไม่มีเสรีภาพ ชาวบ้านยังไม่มีเสรีภาพเลย ม.44 นี่สำคัญมากของยุคปัจจุบันนี้ ผมว่าสื่อก็ยังกลัว เสรีภาพสื่อยุคนี้มันอาจจะมีแต่มันถูกซ้อนด้วยอะไรที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว ทั้งชาวบ้าน นักข่าวท้องถิ่น นักข่าวส่วนกลาง ผมว่ามีแน่กับการเกรงอะไรบางอย่างลึกๆ ถ้าใช้ ม.44 กับสื่อหรือกับชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิเสรีภาพ ปกป้องสิทธิของชุมชนอันนี้เป็นเรื่องอันตรายมาก” นิวัฒน์ ให้ความเห็น

 

จากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ท่าทีของสมาคมวิชาชีพสื่อ ทั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมกันเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2559 เรียกร้องให้รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ” อาทิ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97/2557, ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 (ข้อ 5) โดยให้กลับไปใช้กฎหมายปกติ และควรให้สื่อมวลชนได้เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแสวงหาข้อสรุปร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพราะจะเป็น “ทางออกของประเทศ” ให้ก้าวข้ามพ้น “วิกฤติความขัดแย้ง” ไปได้!!!

 

อีกด้านหนึ่ง ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฝากข้อคิดในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ว่า “อย่าเพียงแต่รายงานข่าวอย่างเดียว” แต่ต้องคิด “ตั้งข้อสังเกต-ตั้งคำถาม” ถึงประเด็นที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วยหาไม่แล้วอาจตกเป็น “เครื่องมือ” ของผู้มีอำนาจ..ในการ “สร้างภาพลักษณ์” ให้กับตนเองโดยไม่รู้ตัว!!!

 

“ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของปัญหา โดยเฉพาะการพัฒนาที่มันเชื่อมโยงกัน ผมอยากให้สื่อทำหน้าที่มากกว่าแค่การรายงานข่าว เช่น เขื่อนจีนปล่อยน้ำลงมา จีนมีบุญคุณกับเราจริงหรือไม่? หรือมันทำให้แม่น้ำโขงวิบัติหรือไม่? อย่างนี้เป็นต้น ผมคิดว่าการตั้งคำถามของสื่อมีความสำคัญมากๆ ผู้มีอำนาจพูดทีเดียวปุ๊บ รายงานไปมันก็เชื่อกันทั้งหมดถ้าเราไม่ตั้งคำถามต่อ การตั้งคำถามเพื่อให้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกเบื้องหลังเป็นสิ่งที่สำคัญ” อาจารย์ไชยณรงค์ ฝากทิ้งท้าย

 

SCOOP@NAEWNA.COM

http://www.naewna.com/scoop/214552

 

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ร่วมกับ  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก World Press Freedom Day

วันอังคารที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙  ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓

อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


*******************************************************************************************

๐๘.๐๐ น.         เดินทางพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

มอบเสื้อที่ระลึก ที่ทำเนียบรัฐบาล

 

๑๐.๐๐ น.       กล่าวไว้อาลัยแก่สื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่

วันชัย วงศ์มีชัย

นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

แถลงการณ์ร่วม เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

สุปัน รักเชื้อ

อุปนายกฝ่ายสิทธิ  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

๑๐.๑๐ น.       เสวนาเรื่อง “เสรีภาพสื่อ...ประชาชนได้อะไร?”

ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วิไลวรรณ แซ่เตีย

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

นิวัฒน์  ร้อยแก้ว

ประธานกลุ่มอนุรักษ์เชียงของ

สุวรรณี ศรีสูงเนิน

ผู้แทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ

ดำเนินรายการโดย

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

สามารถดาวโหลด โลโก้ วันเสรีภาพสื่อ(สำหรับวางไว้บนรูปตัวเองได้ที่นี้)