ฟังเสียงการเสวนาวิชาการ “เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์”-27มิ.ย.59 เวลา 9.00-12.00น.

 

 

 

ฟังเสียงการเสวนา1

ฟังเสียงการเสวนา2

 

ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมนักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดการเสวนาวิชาการ “เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นสังคมให้มีกฎหมายสอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาร่วมเสวนา


โดยตัวแทนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ได้แสดงความคิดเห็นว่า พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ระบุว่าเว็บไซต์ใดที่มีข้อมูลผิดตามมาตรา14ก็จะมีความผิดตามมาตรา 16/2ไปด้วย จึงเสนอให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวดตามประเทศญี่ปุ่น,สหรัฐอเมริกา เอาไปใช้ในมาตรา 14(2) ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการตีกรอบของกฎหมายให้แคบลงอีกด้วย ทั้งนี้ประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นและจำเป็นต้องมีมาตราการในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถยื่นอุทรณ์และฟ้องร้องได้

ตัวแทนนักวิชาการด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า หากกฎหมายฉบับนี้พิจารณาแล้วเสร็จ จะถือว่ามีความปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นคือผู้พูดไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีสิทธิเสรีภาพ ผู้ฟังก็ไม่สามารถรับฟังข่าวสารอย่างมีข้อเท็จจริง พรบ.นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับสื่อในการรายงานข่าวเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนในโลกโซเชียลอีกด้วย พร้อมย้ำว่าเสรีภาพที่มีขอบเขตถือว่าไม่ใช่ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เด็ดขาด ดังนั้นกฎหมายต้องมีความชอบธรรม จึงยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนี หน่วยงานของรัฐมีอำนาจในการปิดกั้นข้อมูลความผิดอย่างชัดเจน แต่ประชาชนมีสิทธิ์ในการฟ้องเพื่อพิสูจน์เนื้อหว่าว่าผิดจริงหรือไม่ แต่ในประเทศไทยตามมาตรา20 หน่วยงานของรัฐปิดกั้นข้อมูลอย่างเดียว ประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการฟ้องร้อง

ทางด้าน พ.ต.อ.ดร.นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ ผู้กำกับสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเทศโนโลยี กล่าวว่า หากมีผู้กระทำความผิดตามพรบ.นี้ พนักงานสอบสวนต้องใช้ดุลพินิจในหลักฐานและพยานตามข้อเท็จจริง พร้อมย้ำว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นปลายเหตุ ดังนั้นประชาชนที่ใช้โลกโซเชียลจะต้องอย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ พร้อมยืนยันหากมีการร้องทุกข์จริง ตำรวจปอท. พร้องผดุงความยุติธรรมในหลักฐานและพยานตามข้อเท็จจริง

 

และท้ายสุด นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ระหว่างนี้กรรมาธิการเริ่มมีการกำชับในการบังคับใช้กฎหมาย โดยสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 14(1) ผลกระทบของมาตรานี้สอดคล้องกับการปลอมแปลงเอกสารมากกว่าการหมิ่นประมาท ขณะนี้ทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพยายามดำเนินการและทบทวนกฎหมาย พร้อมเห็นด้วยหากมีการจัดเวทีเสวนาแต่อย่าเกินกรอบของกฎหมาย และเสียงสะท้อนเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการพิจารณา ก่อนที่อีก 2เดือน การพิจารณาจะแล้วเสร็จ


โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕o มาตรา 14 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

หนังสือพิมพ์แนวหน้า-สกู๊ป พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

วันศุกร์ ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559, 06.00 น.tags : ลิดรอนสิทธิ์คุ้มครองพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์9 ปีสกู๊ปหน้า5

โลกทุกวันนี้อะไรๆ ก็เป็น “ดิจิตอล” ไปหมด ด้วยความที่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนต “ก้าวหน้าและราคาถูก” จนใครๆ ก็เข้าถึงได้ ภาครัฐในฐานะ “ผู้รักษาความสงบเรียบร้อย” จึงต้องออกกฎเกณฑ์มาควบคุมให้การใช้เทคโนโลยีเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร สำหรับประเทศไทยก็เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ใช้มาแล้ว 9 ปี ทว่าแม้กฎหมายดังกล่าวจะออกมาด้วยเจตนาดี

แต่เมื่อบังคับใช้จริง...กลับ “ผิดเพี้ยน” ไปจากเจตนารมณ์เดิม!!!

27 มิ.ย. 2559 มีการจัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ ซึ่ง ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตั้งข้อสังเกตถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ใน มาตรา 14 (1) ว่าด้วยการ “นำเข้าข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ” โดยเจตนารมณ์เดิมนั้นต้องการเอาผิดกับพวก “มิจฉาชีพออนไลน์” เช่น การทำเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาหลอกลวงผู้คนให้ส่งข้อมูลส่วนบุคคลหรือทรัพย์สินไปให้ เป็นต้น

ทว่าทุกวันนี้..ถูกนำไปใช้ในเชิง “ฟ้องหมิ่นประมาท” เป็นหลัก!!!

“มาตรา 14 (1) เจตนารมณ์ก็เพื่ออุดช่องว่างในการปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จ แต่ในกฎหมายอาญาเราจะตีความเอกสารว่าต้องเป็นวัตถุ แต่เมื่อมันกลายมาสู่ยุคดิจิตอล ฉะนั้นเพื่อตัดปัญหา ก็เลยมีนโยบายว่าจะต้องบัญญัติเรื่องการปลอมแปลงข้อมูลไหม? เพื่อเอาผิดกับคนปลอมแปลงข้อมูล ทำข้อมูลเท็จแล้วเอาไปเผยแพร่ในอินเตอร์เนต จะเห็นได้ชัดว่า
ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะเอาผิดการหมิ่นประมาทหรือใส่ความบุคคลอื่น” ผศ.สาวตรี กล่าว

นักกฎหมายจาก มธ. รายนี้ กล่าวต่อไปว่า เหตุที่ต้องระบุให้ชัดมิให้นำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปใช้ในเรื่องหมิ่นประมาทเพราะความผิดฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา “ยอมความได้” ขณะที่มาตรา 14 (1) ที่ใช้กันอยู่ขณะนี้ “ยอมความไม่ได้” ทำให้เป็นภาระต่อผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ที่ถูกสื่อมวลชนก็ดี ภาคประชาชนก็ดี “ตั้งข้อสังเกต” ความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง มักใช้วิธี “ฟ้องปิดปาก” หรือการฟ้องหมิ่นประมาทโดยไม่ประสงค์แสวงหาความเป็นธรรม แต่ต้องการทำให้คู่กรณี “พะว้าพะวง” อยู่กับการขึ้นโรงขึ้นศาล

จนไม่อาจ “ตรวจสอบ” หน่วยงานหรือองค์กรนั้นได้!!!

เช่นเดียวกับข้อเสนอของ มูลนิธิเพื่ออินเตอร์เนตและวัฒนธรรมพลเมือง ที่ระบุว่า หากจะแก้มาตรา 14 (1) ให้ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ควรระบุว่า “ผู้ใดโดยทุจริต นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษ...” เพราะเป็นถ้อยคำที่เข้าใจง่ายไม่ต้องตีความ

ตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ใช้กับเรื่องหมิ่นประมาท คือ “คดีภูเก็ตหวาน” หรือกรณี กองทัพเรือ ฟ้องหมิ่นประมาท สำนักข่าวภูเก็ตหวาน เนื่องจากเผยแพร่รายงานพิเศษจากสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) เรื่องทหารไทยรับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ โดยดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

วันที่ 1 ก.ย. 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 2161/2557 โดยในส่วนข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ศาลระบุว่า การนำข้อความจากสำนักข่าวรอยเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 
ไม่ปรากฏว่าข้อความใดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะเกิดความ
เสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน และไม่เป็นความผิดตามหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ยังกล่าวอย่างชัดเจนด้วยว่า..

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาท!!!

เพราะเป็นความผิดที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 328”!!!

แต่ที่ “น่าห่วงกว่า” คือ (ร่าง) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข (26 เม.ย. 2559) ที่เร็วๆ นี้จะเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเนต มูลนิธิเพื่ออินเตอร์เนตและวัฒนธรรมพลเมือง ตั้งข้อสังเกต อาทิ มาตรา 8 ที่เป็นการแก้ไขมาตรา 14 ของกฎหมายเดิม

โดยเพิ่มเติมคำว่า “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-ความปลอดภัยสาธารณะ” เข้าไป แต่ไม่มีนิยามชัดเจนของความมั่นคงปลอดภัยดังกล่าว จึงเสนอให้ระบุให้ชัดด้วย เช่น ใช้คำว่า “โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด” ซึ่งมุ่งเอาผิดกับผู้ที่โจมตีหรือก่อกวนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐเป็นสำคัญ

หรือ มาตรา 14 ที่เป็นการแก้ไขมาตรา 20 ว่าด้วยการ “บล็อกเว็บไซต์” ของกฎหมายเดิม โดยใน “(4)” ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มเติมคือ “ลบหรือปิดกั้นข้อมูลบนอินเตอร์เนตได้ แม้จะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม” ด้วยเหตุผลคือ “กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” ประเด็นนี้ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กล่าวว่า ในคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายฉบับนี้เองก็มีข้อถกเถียงอยู่มาก

“ขัดต่อความสงบแม้ไม่ขัดต่อกฎหมาย...หมายความว่าอย่างไร? อันนี้เป็นประเด็นที่ถกกันพอสมควร เข้าใจว่า
ในระหว่างพิจารณายังไม่เสร็จก็มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจะได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ประเด็นนี้ซึ่งมีคนห่วงใยมากที่สุด ว่าถ้าเขียนแบบนี้ในอนาคตจะไปกระทบกับการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเหมือนกัน มันจะมีบทเรียนแบบมาตรา 14 (1) หรือเปล่า? ที่ใช้ในการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาทางอินเตอร์เนต

ในส่วนของกรรมการกลั่นกรองก็มีคำถามว่าให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง อันนี้ก็อาจเป็นปัญหาที่หลายๆ คนอาจจะไม่สบายใจ ก็จะต้องมีการทบทวนว่ามันจะยังมีอยู่ไหม? ถ้าจะมีอยู่จะต้องแก้ไขอย่างไร? เพื่อให้เกิดความสบายใจที่สุดว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้ปราศจากอำนาจทางการเมืองแทรกแซง” ผอ.สพธอ. ระบุ

ซึ่งเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น “สำคัญมาก” หากดูจากนานาอารยประเทศ โดย ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยกตัวอย่างอังกฤษ ที่การแสดงความคิดเห็นต่างๆ แม้จะไปกระทบต่อชื่อเสียงของบุคคลอื่น แต่หากความคิดเห็นนั้น “เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยแท้” รัฐบาลไม่สามารถออกกฎหมายมาควบคุมได้ หรือหากเกิดการฟ้องร้องขึ้นศาลก็อาจจะไม่รับพิจารณา

เช่นเดียวกับ ผศ.สาวตรี ยกตัวอย่าง เยอรมนี ที่แม้รัฐจะมีอำนาจปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม แต่เมื่อปิดกั้นแล้วก็ต้องฟ้องต่อศาลด้วยเพื่อพิสูจน์ว่า “ที่ปิดไปสมควรจริงไหม?” หากศาลตัดสินว่าไม่สมควร ก็จะต้อง “ปลดบล็อก” 
ให้ประชาชนเข้าถึงได้ตามปกติ ต่างกับไทยที่ “ปิดแล้วปิดเลย” ไม่มีการทบทวน

“การใช้มาตรา 20 ปิดแล้วก็จบ ไม่มีใครฟ้องอะไรกันต่อ อันนี้มันก็จะเกิดการปิดไปเรื่อยๆ คุยกันเองปิดกันเองไปเรื่อยๆ ในต่างประเทศไม่เป็นแบบนี้ ปิดแล้วฟ้องแล้วมาพิสูจน์กัน มันต้องมีมาตรการแบบนี้เพื่อไม่ให้ปิดเว็บไซต์กันอย่างพร่ำเพรื่อ คือเขามีมาตรการ แต่มาตรการเขาชัด และปิดกั้นพร่ำเพรื่อไม่ได้” ผศ.สาวตรี ฝากทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ดูร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้ที่ http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext52/52708_0001.PDF

SCOOP@NAEWNA.COM

 

 

 

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2559  เวลา 9.00-12.00 น.

ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชั้น 3 ห้องอิศรา อมันตกุล

09.00 – 09.30 น.         ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

09.30 – 11.00 น.         วงเสวนาวิชาการเสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

นำเสวนาโดย

- พ.ต.อ.สมพร แดงดี รอง ผบก.ปอท.

- สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

- อาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

- จีนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท

- ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน   คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย

-อาทิตย์ สุริยะวงศ์ เจ้าหน้าที่จากไทยเน็ต เจ้าของแคมเปญบนchange.org

ผู้ดำเนินรายการ คุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

11.00 –11.40 น.        ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

11.40– 12.00 น.        สรุปการอภิปรายและปิดการเสวนา

 

หมายเหตุ **กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม