21พค52-ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน”

ราชดำเนินเสวนา 5

สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ,ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ,ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัด โครงการ “คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ” หัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน” วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา

โดยวิทยากรที่เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ,นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ ,ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข พรรคเพื่อไทย ,อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย นักสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ,นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และ นายศิริชัย ไม้งาม ตัวแทนจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทั้งนี้ วิทยากร ได้ร่วมให้ความเห็นในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน” มีสาระที่น่าสนใจดังนี้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล

นายชินวรณ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าจากวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สถานการณ์ปัจจุบัน ได้ตอกย้ำว่าสังคมเรากำลังวิกฤตรุนแรงเพิ่มขึ้น จากเดิมที่สังคมสมานฉันท์ เอื้ออาทร ปรองดอง วันนี้ความแตกต่างทางสังคมค่อนข้างสูง และรุนแรงยิ่งขึ้น

“วิกฤตเศรษฐกิจ แม้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงจากบ้านเรา แต่ก็กระทบโดยตรงกับเรา ประเทศไทยต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อจัดสรร ฟื้นฟู พัฒนาประเทศ แน่นอนว่าย่อมกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนวิกฤตการเมือง ในชีวิตของการเป็นนักการเมืองของผมกว่า 20 ปี วิกฤตครั้งนี้เป็นความแตกต่างทางความคิดสูง แบ่งฝ่ายชัดเจน แม้แต่นสภาเองก็ค่อนข้างรุนแรงมากเป็นพิเศษกระทบกับกระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน และเศรษฐกิจของเรา”

ประธานวิปรัฐบาล ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัจจัยสำคัญปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ แต่วิกฤตครั้งนี้มาจากหลายส่วน และเกิดเป็นวิกฤตเสริมต่อเนื่อง

“2-3 ปีที่ผ่านมาชัดว่าวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยให้เกิดวิกฤตอย่างไร 2-3 ปีรัฐธรรมนูญเป็นตัวเร่งให้เกิดวิฤตทางการเมือง เกิดการแตกต่างทางความคิดทางการเมือง สังคมหลายส่วนคิดแก้ไขกติกาพื้นฐานให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัวเอง จึงทำให้เกิดปัญหา”

“รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช คิดแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนๆเดียว ทุกคนรู้ว่าหากแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ เกิดปัญหาแน่นอน เพราะเมื่อไรที่เอาโจทย์รัฐธรรมนูญมาตอบสนองปัญหาให้นักการเมืองอย่างเดียว ต้องมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่เห็นด้วย”

“ปัจจุบันแม้ไม่ได้เริ่มต้นแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนักการเมืองอย่างเดียว หลายคนบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ได้สร้างความคิดให้คนในสังคม บางคนก็บอกว่ารัฐบาลขุดหลมฝังตัวเอง ผมคิดว่าทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับทุกปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตการเมือง รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ถึง 2550 พบความจริงว่า ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการทำใหเกิดวิกฤต นักการเมืองและคนต่างหากทำให้เกิดวิกฤต”

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ในความคิดของฝ่ายที่สนับสนุนจะบอกว่าเป็นการต่อยอดจาก รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาก ป้องกันการแทรกแซง ให้อำนาจตุลาการ และผ่านการลงประชามติ ในขณะที่ปัญหาคือ อีกฝ่ายมองว่ามาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถทำให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิด 2 มาตรฐาน

“กระบวนการใช้รัฐธรรมนูญมาถึงว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีข้อเรียกร้องในสภาว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องนิรโทษกรรม ออกกฎหมายปรองดองแห่งชาติ ให้สังคมไทยหยุดความขัดแย้ง ผมคิดว่าอย่างน้อยก็เป็นการเปิดพื้นที่สภา เปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น ทำให้นำปัญหาที่บางส่วนเป็นข้อเรียกร้องเข้ามาสู่สภา”

“แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขวิกฤต ทั้งหมดด้วยหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่แน่นอน เราต้องเริ่มต้นตั้งคำถามโจทย์ใหญ่ทางการเมืองให้ถูกต้อง ผมคิดว่าถ้าตั้งไม่ถูกแก้รัฐธรรมนูญแล้วอาจเพิ่มวิกฤต”

“ผมให้ความสำคัญกับอนุกรรมการสมานฉันท์ และอนุกรรมการปฏิรูปทางการเมือง ทำหน้าที่ค้นหาคำถามที่เป็นโจทย์ใหญ่ให้ตรง แสวงหาว่านี่คือต้นเหตุปัญหาที่แท้จริง เราควรแสวงหาเครือข่ายที่เป็นภาคีต่างๆที่จะร่วมพูดคุย หาแนวทางเจรจาสมานฉันท์ เปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งได้เจรจาทั้งในทางลับและบนโต๊ะ”

ทั้งนี้ นายชินวรณ์ ยังกล่าวอีกว่า การทำสมัชชาสมานฉันท์ ได้ตกผลึกทางความคิดแล้วว่า ในอนาคตจะให้คณะกรรมการไปฟังความคิดเห็นประชาชน ทั้งทางวิทยุ หรือไปสู่ภูมิภาค เพื่อเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง โดยจะให้สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปร่วมรับฟังด้วย

“เราจะสร้างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์โดยเอาข้อแข็ง ข้อดีของรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาทำให้สอดคล้องกับบริบทสังคมการเมือง เศรษฐกิจ ปัจจุบัน วิกฤตปัญหาไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญเท่านั้น ต้องค้นหากรอบว่าเราต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง ไปสู่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และผมยังคิดว่า นักการเมืองต้องเสียประโยชน์บ้าง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริง”

 

ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข พรรคเพื่อไทย

ดร.พีรพันธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องให้นักการเมืองลดวิวาทะ ลดการใส่ร้ายป้ายสี เอาเรื่องเท็จมากล่าวหาซึ่งกันและกัน อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการเปิดใจ

“รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองอย่างไร ช่วงที่ผมอยู่พรรคไทยรักไทย เราทำหนังสือรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้หลายสิ่งในนั้นมันจริง เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา ชาวบ้านเห็นว่าไม่เป็นธรรม ประชาชนที่เลือกตั้งถาม ส.ส.ที่เคยอยู่ขั้วรัฐบาลเก่า แล้วย้ายข้างเลือกขั้วที่เป็นรัฐบาลใหม่ ส.ส.หลายคนถูกถาม ส.ส.เข้าพื้นที่ยากมาก ประชาชนถามว่าไปเลือกอีกฝ่ายมาเป็นรัฐบาลได้อย่างไร เพราะตอนที่เขาเลือกต้องการให้เป็นอย่างนี้ แต่กลับไปทำอีกอย่างหนึ่ง ประชาชนรู้สึกว่าหักหลังเขา”

“ถูกกฎหมายแต่ไม่เป็นธรรม ตรงนี้มันสะสมอยู่ รัฐธรรมนูญปี 2550 ทุกคนอยากออกจากรัฐประหาร เมื่อจะมีเลือกตั้งก็เอาไว้ก่อน เพื่อจะได้แก้ไขรัฐธรรมนู อย่างน้อยมีคนไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นความก้าวหน้ามากๆ”

ดร.พีรพันธ์ วิเคราะห์ว่า มี 2 ประเด็นที่ประชาชนเห็นได้จากการที่มีรัฐบาลปัจจุบันคือ 1. เรื่อง 2 มาตรฐาน  คือฝั่งหนึ่งทำได้ ฝั่งหนึ่งทำแล้วผิด หลายเรื่องสะสมเรื่อยๆ ประเทศไทยไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องใหญ่มาก และ 2. คืออมาตยาธิปไตย คืออะไร เห็นการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองโดยวิธีที่ไม่ใช้รัฐสภาโดยตรง

“รัฐธรรมนูญปี 2550 เห็นว่ามาจากทหาร มีการใส่เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าอยาพ้นวิกฤต ต้องเริ่มที่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเห็นว่า ควรแก้ มาตรา 237 ยุบพรรค มาตรา 265-266 การทำหน้าที่ ส.ส. มตรา 309 และ มาตรา 190 ให้การทำงานของรัฐบาลเข้มแข็ง ถ้าทุกเรื่องต้องเข้าสภาก็คงไม่ทัน”

“ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าอย่างน้อยปี 2550 ก็เป็นผลผลิตของเผด็จการ หมวด 1และ หมวด 2 เรายังคงไว้ แต่หมวดการเมือง เขาเขียนไว้ให้ภาคการเมืองอ่อนแอ ไปไม่ได้ ต้องแก้ไขตรงนี้ ให้มีกติกาที่พอเป็นไปได้ แล้วคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้มีการเลือกตั้ง หลังจากนั้นให้สภาแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ผมคิดว่าอย่างน้อยต้องเลือกตั้ง 2 ครั้ง จึงจะปลดเผด็จการที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญออกไปได้”

ทั้งนี้ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย เสนอว่า ขอให้รัฐบาลทุกรัฐบาลต่อจากนี้ ส่งเสริม civil society จริงๆให้เข้มแข็งมากขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันจัดสรร ต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยสื่อ ต้องเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น

“ผมว่าทางออกมี เพราะมนุษย์มีเหตุผล ให้สังคมเปิด ประชาชนรวมตัวกัน ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนวิทยุชุมชน เปิดให้สังคมเข้ามาถกเถียง แล้วเราจะไม่กลับมาพูดเรื่องวิกฤตรัฐธรรมนูญอีก”

 

อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย นักสิทธิมนุษยชน

“ผมเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ต้นเหตุวิกฤตการเมืองประการเดียว”

อ.จรัล กล่าวว่า การรณรงค์ให้ประชาชน vote no ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2549ที่ผ่านมานั้น ได้คะแนนเสียง 10 ล้านเสียง ในขณะที่ การรณรงค์ของ คมช. ได้ 14 ล้านเสวียงนั้น ถือว่าเป็นการชนะทางการเมือง

“เราถือว่าเราชนะ แม้ว่าโดยตัวเลขเห็นชอบ 14 ล้านเสียงจะชนะ ในฐานะที่อยู่ใน แนวร่วมประชาธิปไตยชับไล่เผด็จการ (นปก.) จนเปลี่ยนเป็น นปช. เราวางยุทธศาสตร์คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรมนูญ ปี 2550 หรือ คปพร. เราเชื่อว่าพรรคพลังประชาชนสุดท้ายแล้วจะไม่เดินหน้า เพราะ นายสมัคร พูดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ 3 เดือนก่อนหมดวาระ เป็นทีท่าที่ไม่เอาจริง การแก้รัฐธรรมนูญคราวนี้ ผมว่าแก้ยากมาก เพราะคนเขียนและคนสนับสนุนไม่เอาแน่ สว.สรรห ไม่เอาแน่ ถ้าจะให้สำเร็จได้ต้องมีการเคลื่อนไหวใหญ่ของมวลชน”

“เราไปหาประชาชน ขอรายชื่อ 5 หมื่นคน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร. ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อพันธมิตรฯจัดชุมนุมเดินขบวน 25 พฤษภาคม 2551 ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าพลังประชาชนถอยสุดซอยเลย ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญของพวกผมก็ยังอยู่ในสภา 7 เดือนแล้ว อยากให้สภาเร่งมาพิจารณา”

“รัฐสภาต้องเคารพสิทธิประชาชน ให้เกียรติ ให้ความสำคัญของประชาชน วิกฤตการเมืองเริ่มเกิดมาจากรัฐบาลนายสมัคร ประกาศแก้รัฐธรรมนูญ เริ่มมีคนลุกขึ้นมาต่อต้าน ผมคิดว่าลึกๆเป็นข้ออ้าง จริงๆแล้วต้องการไล่รัฐบาลสมัคร วิกฤตแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มตั้งแต่นั้นรัฐธรรมนูญไม่ใช่ต้นเหตุอย่างน้อยไม่ใช่ประเด็นหลักประการเดียว”

อ.จรัล กล่าวอีกว่า 3 ปีที่ผ่านมา แรกเริ่มนั้นเป็นวิกฤตรัฐบาลทักษิณ วิกฤตระหว่างคนที่เอากับคนที่ไม่เอาทักษิณ แล้วยกระดับเมื่อ 19 กันยายน 2549 เกิดเป็นวิกฤตประชาธิปไตยขึ้นมา มีคนส่วนหนึ่งเริ่มไม่เชื่อประชาธิปไตย ไม่เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

“วิกฤตการเมืองไทย เป็นวิกฤตไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย วิกฤตขัดแย้งทางอุดมการณ์ของคนสองกลุ่ม แม้ว่าเราจะกลับบ้านกันแล้ว แต่การต่อสู้ยังมีอยู่ในทุกปริมณฑล ขยายตัวดุเดือดมากขึ้น รัฐธรรมนูญปี 2550 มาเพิ่มเติมทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ ยกระดับขึ้น โดยตัวมันเองไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญอะไร มันถูกใช้เป็นเครื่องมือ ที่กล่าวถึงรัฐธรรมนูญสวมานฉันท์ โดยทฤษฎีรัฐธรรมนูญที่ดีต้องทำให้ทุกคนมีที่ทางในรัฐ รัฐธรรมนูญรับรองอำนาจของคนทุกกลุ่มสังคม และรัฐบาลรับรองสิทธิเสรีภาพ”

“สังคมไม่เคยแตกแยกกว้างขวาง ลึกซึ้งทั้วประเทศ เมื่อ 14 ตุลา สังคมแบ่งแยกเป็นขวาซ้าย คราวนี้ลึก เป็นวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย แล้วไม่มีทางแก้ได้ เพราะลึก และจะกลายเป็นรากฐานของวิกฤตอื่นๆ”

อ.จรัล กล่าวอกีว่า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ วิกฤตทางปัญญา เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ปัญญาเท่าที่ควร มีแนวโน้มเชื่อเหมือนกัน ไม่ได้ใช้ปัญญาวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ใช้จุดยืน

“ผลเสียหายร้ายแรงคือคนในสังคมไทยไม่ได้ใช้ปัญญา ปัจจุบันคนไทยใช้ปัญญาน้อยที่สุด เป็นวิกฤตที่ร้ายแรงกว่าวิกฤตการเมือง ผมพยากรณ์เลยว่า อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้กันไม่ได้ และจะมีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง”

 

นายศิริชัย ไม้งาม ตัวแทนกลุ่มพันธมิตรฯ

“ผมเคารพความคิดเห็นของคนที่ต่อสู้เพื่อสังคม การชุมนุมคือเครื่องมือ การชุมนุมมีคุณค่าหรือไม่อยู่กับผลของการต่อสู้”

นายศิริชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ตอนนั้นคิดว่าดีที่สุด แต่นักการเมืองคนหนึ่งพยายามหลบหลีก มีเล่ห์เหลี่ยม จากการไม่ให้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“รัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนไว้ว่า ครบ 5 ปีสามารถเอาแก้ไขได้ มีความพยายามที่จะแก้ไข แต่สุดท้ายแก้ไขไม่ได้ เพราะนักการเมืองไม่แก้ ผมไม่เคยศรัทธาต่อระบบเผด็จการทหาร การต่อสู้ภายในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ เราไม่เคยเลือกข้าง แต่ถ้ากระทบกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือ การเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เราทำ”

“รัฐธรรมนูญปีออกมาพอรับได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้ประเทศเดินหน้า เมื่อประกาศใช้ผมได้เห็นว่าปี 2540 ก็มาจากนักการเมืองพยายามแก้ไข ชิงความได้เปรียบ ใช้ฐานอำนาจทางการเมือง สังคมเริ่มสงสัยตั้งแต่การขายหุ้นเทมาเส็ก”

“ผมเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ต่อต้านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 และ มาตรา 237 ผมคิดว่าถ้าการเมืองเคารพ ไม่ทุจริตการเลือกตั้ง พรรคจะถูกยุบไหม ถ้าเคารพการเมืองจะเดินไปข้างหน้า”

นายศิริชัย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านระบบรัฐสภานั้น ยังไม่เห็นว่าสามารถเกิดความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ เพราะเมื่อเริ่มต้นนักการเมืองก็พูดเรื่องพรรค พูดเรื่องการกลับมาสู่อำนาจ ทั้งๆที่หากเสียสละ อีกเพียงแค่ปีกว่า ก็จะได้กลับมาอยู่แล้ว

“เสียดายภาคประชาชนน่าจะเข้มแข็งเพื่อดูแลปัญหาบ้านเมือง อย่างไรก็ตามผมคิดว่าถ้าเราสู้กันไปอย่างนี้ เชื่อว่าสักวันจะประสานกันได้ เมื่อเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมาก็อาจจะทำให้เรากลับมาประสานกัน ทั้งนี้ จริยธรรม คุณธรรม นักการเมืองสำคัญที่สุด จะแก้รัฐธรรมนูญกี่ฉบับ หากนักการเมืองฉกฉวย หาช่องทางเข้าสู่นาจ ขาดจริยธรรม คุณธรรม สร้างปัญหาให้บ้านเมืองจนเป็นวันนี้ที่สาหัสมาก ต้องแก้คอร์รัปชั่น เพราะการแก้รัฐธรรมนูญแทบจะไม่แตะอะไรเลย”

 

นายไพโรจน์ พลเพชร  ประธาน (กป.อพช.)

“ท่ามกลางความแตกต่าง สังคมไทยอยู่ในการจัดการความขัดแย้งทางความเห็น ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เป็นบททดสอบของสังคมไทย เมื่อเราก้าวพ้นได้ เมื่อนั้นจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้ก้าวไปไกล”

นายไพโรจน์ ให้ความเห็นว่า ประชาธิปไตยคือการยอมรับความแตกต่างได้หรือไม่ และต้องไม่กำจัดความแตกต่างนั้นออกไป

“เราเจอวิกฤตอะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเราเจอ 3 ด้าน คือ 1. ความชอบธรรมในอำนาจ ทั้งรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลถูกท้าทายเรื่องความชอบธรรม ทักษิณบอกว่ามาจากเสียงข้างมาก แต่วิธีการใช้อำนาจชอบธรรมหรือไม่ เช่นเดียวกับรัฐบาลปัจจุบัน ที่ถูกตั้งคำถามว่ามีที่มาไม่ชอบธรรม”

นายไพโรจน์ กล่าวว่า สถาบันในการใช้อำนาจทุกสถาบัน เช่น สถาบันศาล ถูกตั้งคำถามว่ามีความชอบธรรมในการใช้อำนาจหรือไม่ แม้แต่สภา ,ส.ส.,หรือ สว. ที่มาและอำนาจถูกตั้งคำถาม ความชอบธรรมของทุกสถาบันตอนนี้ถูกตั้งคำถาม เป็นวิกฤตที่ถูกตรวจสอบทุกสถาบัน

“ความชอบธรรมของอำนาจในสังคมไทยทุกสถาบันถูกตั้งคำถามและตรวจสอบ เรายังหาความลงตัวซึ่งกันและกันไม่ได้”

ข้อที่ 2 ของนายไพโรจน์ คือ ปัญหาที่เผชิญหน้า เนื่องจาก 40-50 ปีที่ผ่านมา ยังคงเหมือนเดิม เพราะยังมีการตั้งคำถามเรื่องที่ดิน หนี้สิน สวัสดิการสังคม ราคาพืชผล ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเดิมๆ

“วิกฤตปัญหาแบบนี้ ยังดำรงอยู่เหมือนเดิม การใช้อำนาจที่เป็นอยู่ได้ตอบสนองปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึง การใช้ทรัพยากรยังเหมือนเดิม การเขถึงสวัสดิการของสังคมที่รัฐมีหน้าที่สนับสนุน ทั้งหมดเป็นการใช้อำนาจรัฐไปในทางไหน เพื่อใคร”

และปัญหาที่ 3 คือ คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงอำนาจในการใช้นโยบายสาธารณะ

ซึ่งทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมานั้น นายไพโรจน์ สรุปว่า เป็นการทำให้คนเข้าสู่ความขัดแย้ง

“การชุมนุมในรัฐบาลทักษิณ มีปีละ 2,200 ครั้ง และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นอาการของสังคมที่เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างที่เป็นอยู่ คือวิกฤตอำนาจในสังคมไทย แล้วแก้ด้วยรัฐธรรมได้หรือไม่ เชื่อมโยงรัฐธรรมนูญอย่างไร”

“รัฐธรรมนูญอย่างน้อยเป็นตัวก่อตั้งพื้นที่ต่างๆให้ฝ่ายต่างๆได้ใช้อำนาจ พื้นที่อำนาจเหล่านี้มีการต่อสู้แย่งชิงกัน รัฐธรรมนูญปี 2540 กับ 2550 ต่างกันตรงนี้”

นายไพโรจน์ อธิบายว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เน้นตรวจสอบอำนาจรัฐ สร้างอำนาจความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหารมีประสิทธิภาพ แต่ ปี 2550 เน้นรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ ให้อำนาจนิติบัญญัติมีดุลยภาพ

“รัฐธรรมนูญเป็นตัวให้กำเนิดอำนาจของฝ่ายต่างๆ พื้นที่การใช้อำนาจอยู่นอกรัฐธรรมนูญได้ อยู่บนถนนก็ได้ หน้าหนังสือพิมพ์ก็ได้ ปัจจุบันทุกคนใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ รักษา ขยายอำนาจ รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่ง เป็นตัวกำหนดแผนที่อำนาจเท่านั้น ความไม่เท่าเทียมทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถต่อกรกับอำนาจต่างๆได้”

“ผมอยากให้ความสำคัญกับวิกฤตความเกลียดชัง ครั้งนี้มีมาก และผลิตความเกลียดชังทุกวัน ใช้ความเห็นความเชื่อ ให้เป็นความจริง โดยใช้สื่อเป็นตัวกลางวิกฤตของฝ่ายต่างๆคืออะไร ตรงกันหรือเปล่า เรามีวุฒิภาวะจัดการกับวิกฤตอย่างไร จะคลี่คลายจากตรงไหน รัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งนั้นไหม ถ้าเป็น จะเปิดทางให้ฝ่ายต่างๆได้พูดคุยกันหรือเปล่า ได้ข้อเสนอแล้วเดินตามข้อเสนออย่างไร ประชาชน และรัฐสภาจะมีบทบาทอย่างไร กระบวนการแก้ไขปัญหาสำคัญมากๆ”

ทั้งนี้ นายไพโรจน์ สรุปว่า ปัจจุบันวิกฤตไม่ได้อยู่ในสภา ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ในสังคมไทย