4มิย52-ราชดำเนินเสวนา โครงการ “คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ”

ราชดำเนินเสวนา  โครงการ “คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ซึ่งจัดโดย สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ,ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ,สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ส.ว. กับความเป็นผู้แทนของปวงชน ”
ซึ่งมีวิทยากรเขาร่วมเสวนา ได้แก่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา ,นายสมเกียรติ   ศรลัมภ์  ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน จ.นครสวรรค์  ,นางประทีป  อึ้งทรงธรรม ฮาตะ  อดีต ส.ว.กรุงเทพ , นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา และ ดร.เจตน์  โทณวนิก  คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม  โดย นางศิริบูรณ์  ณัฐพันธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.เจตน์ โทณวณิก

“เรามี ส.ส. ไว้ทำไม ไม่ใช่มีไว้ยกมือ แล้วพูดท่านประธานที่เคารพ ถ้ามีไว้เพียงแค่นี้อย่ามีเลย ส.ส. 400 คน ถ้ามีไว้เพื่อยกมือ มีแค่ 100 คนก็พอแล้ว การมี ส.ส.ก็เพื่อให้เข้ามาทำงานบริหารราชการแผ่นดิน ด้านนิติบัญญัติ ต้องเป็นรูปธรรมว่าเข้ามามีหน้าที่กลั่นกรอง พิจารณากฎหมาย”

ดร.เจตน์ กล่าวว่า การทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ต้องแยกจากกันให้ชัดเจน เมื่อ ส.ว. เป็นองค์กรตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. ดังนั้นต้องรู้ว่าคนที่ ส.ว.จะไปตรวจสอบทำงานอะไร ถ้าไม่รู้ว่าทำอะไรก็จะไม่รู้ว่าจะตรวจสอบอะไร

“ถ้ามองไม่ออกว่าหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. คืออะไร เช่น ตรวจสอบ ส.ส. ว่าการตรากฎหมายของ ส.ส. ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่ไปตรากฎหมายซ้อนกันเข้าไปอีก ต้องเข้าไปตรวจสอบว่า ส.ส. ทำหน้าที่ควรหรือไม่ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว เป็นนิติบัญญัติทั้งคู่ อย่าทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ผมเห็นว่าบ่อยครั้งที่ ส.ว.ทำหน้าที่คานฝ่ายบริหาร ทั้งๆที่ต้องเหมือนเงาของฝ่ายบริหาร”

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ส.ว.เปลี่ยนไป จากรัฐธรรมนูญปี 2535 มาปี 2540 ปี 2549 และ ปี2550 เรามอง ส.ว.ในอีกรูปแบบซึ่งทำไมหลักการเปลี่ยนไปมา ทั้งเลือกตั้ง ทั้งแต่งตั้ง หรือทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง เพราะเหตุใดต้องอธิบายได้ถ้าไม่เช่นนั้น ก็คือเราตามใจตัวเอง ควรมองให้ออกว่า ส.ส. และ ส.วทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ว่าเอาผู้พิพากษามาคานอำนาจ แต่ต้องดุลและคานซึ่งกันและกันระหว่าง นิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ”

“ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ควรมีสภาประชาชนหรือไม่ ควรให้แต่ละอาชีพเข้ามาเลือกสรรหรือไม่ ถ้าเรามองหลักการไม่ออกก็จะเปลี่ยนไปมา ใช่หรือเปล่าว่าเราต้องเอาประชาชนเข้ามาในการเมืองทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนในประเทศจะไปอยู่ในสภา”

“ปัญหาของบ้านนนี้เมืองนี้คือผลประโยชน์ไม่ลงตัว ต่างคนต่างก็มองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ถ้าทุกคนมองผลประโยชน์ของชาติร่วมกัน ก็จะไม่มีปัญหา นี่คือที่ควรจะเป็น ต้องเป็นเช่นนี้ หากมองว่านี่คือประเทศของฉัน ประเทศของผม ท่าก็ไม่ได้มองประเทศร่วมกับทุกคนแล้ว ประเทศฉันต้องเป็นอย่างนี้ ส.ว.ต้องเป็นอย่างนี้ สมานฉันท์ก็ไม่เกิดไ

ดร.เจตน์ กล่าวว่า หลักการมี ส.ว. ควรทำหน้าที่ 3 ส่วน ได้แก่ 1.หน้าที่ของตัวเอง เช่น พิจารณาเรื่ององค์กรอิสระ ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการ โดยที่ผ่านมา ส.ว.ได้ทำหน้าที่ตรงนี้หรือไม่

2.หน้าที่ดุลและคานภายใน คือการตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. และ 3. หน้าที่ดุลและคานภายนอก กับ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร ได้ทำหน้าที่เหมาะสมหรือไม่

“การที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งบอกว่า ส.ว.ต้องมีหน้าที่อย่างนี้ อยากให้เห็น ส.ว.ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ส.ส. และ ส.ว. สังกัดพรรคเดียวกัน ทำหน้าที่คานกัน ไม่ฮั้วกัน ไม่ว่ารัฐจะเล็กหรือใหญ่ เขาถือว่า ส.ว.เป็นคนที่มีคุณภาพสูง”

ดร.เจตน์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะที่เข้าไปมีส่วนในการกลุ่นกรองร่งรัฐธรรมนูญ พบว่ามีการตั้งธงมากมายอยู่แล้ว สิ่งที่พิจารณานำเสนอก็เป็นเพียงน้ำปลา น้ำจิ้ม ที่ไม่ใส่ก็ได้ ถ้าใส่ก็อร่อย รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเช่นนั้น

“ใครเป็นคนวาง ส.ว. ให้เป็นแบบเลือกตั้งและสรรหา มีธงอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครนำเสนอใกล้ธงมากที่สุด เพราะวางธงไว้แล้วว่าต้องแต่งตั้ง เมื่อเราเสนอว่าต้องเลือกตั้ง มันก็จะมีแต่งตั้ง ทำเสมือนหนึ่งว่าไม่แข็งกร้าว เมื่อมีเลือกตั้งก็มีลากตั้งด้วย แล้วเอามาอยู่รวมกัน”

“รัฐธรรมนูญเขียนอย่างไรก็เขียนไป สุดท้ายอยู่ที่ใช้ ต่อให้เชิญเทวดาลงมาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วไปเอาอสูรกายมาใช้ก็วิบัติ แต่หากอสูรกายร่างรัฐธรรมนูญแต่เทวดามาใช้มันก็จะดี จึงอยู่ที่ว่าเวลาที่เราใช้นั้น ใช้ได้ดีหรือเปล่า”

 

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์

“ในฐานะที่เป็น ส.ว.อยู่ใน 3 แบบ คือ ส.ว.แบบแต่งตั้งชุดสุดท้ายที่สื่อมวลชนบอกว่าเป็น ส.ว.ชุดที่ดีที่สุดที่เคยมีมา แล้วก็ได้มาเป็น ส.ว.เลือกตั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นสภาทาส และเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีคนบอกว่าไม่สง่างาม ก็ทำให้ได้ความรู้สึก 3 แบบ”

ครูหยุย ให้ความเห็นว่า วุฒิสภาจะมาอย่างไรนั้น ต้องชัดว่าเข้ามาทำหน้าที่อะไร หากเข้ามาเพียงกลั่นกรองกฎหมาย ส.ว.แบบแต่งตั้งมาทำหน้าที่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย

“เฉพาะกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ต้องมี ส.ว.มาก แค่ 50 คนก็พอ เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ทำงาน แต่ถ้าออกแบบหน้าที่มากกว่านั้น ให้ถอดถอนฝ่ายบริหาร ข้าราชการระดับสูง ส.ว.แบบสรรหาจะเอาหน้าอะไรไปปลดคนที่ประชาชนเลือกมา เพราะฉะนั้นถ้ามีหน้าที่ถอดถอนคนอื่นด้วยต้องเป็น สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ในเวทีที่ใหญ่กว่า เช่นมาจากจังหวัดแล้วไปถอดถอน ส.ส.ในพื้นที่ อย่างนี้ทำได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนไว้ใช้ได้”

“ผมคิดว่า ส.ว.ต้องมาจากเลือกตั้งทั้งหมด อย่าดัดจริตเลือกตั้งครึ่งหนึ่งแต่งตั้งครึ่งหนึ่งมันไม่สง่างาม ส.วที่มาจากคนไม่กี่คนเลือกมา จะไปถอดถอนตำแหน่งที่คนเป็นแสนเลือกมาได้อย่างไร “

ครูหยุย กล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบในขั้นตอนคณะกรรมาธิการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะกรรมาธิการวุฒิสภา คือ คณะกรรมาธิการของ ส.ส. ประธานกรรมาธิการอยู่ฝั่งเดียวกับรัฐมนตรี ซึ่งจะตรวจสอบกันได้อย่างไร ทั้งๆที่มีการออกแบบกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบรัฐมนตรี เมื่อเรื่องเข้าไปกรรมาธิการจึงถูกโยนมาที่กรรมาธิการ ส.ว. ที่สอดคล้องกับกรรมาธิการ ส.ส.

“แต่จุดอ่อนในการทำหน้าที่ของกรรมาธิการ ส.ว.คือ รัฐธรรมนูญระบุให้เรื่องที่เกี่ยวกับ เด็ก เยาวชน ผู้หญิง กรรมาธิการ ส.ส. ต้องมี ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องภาคประชาชน เข้าไปเป็นกรรมาธิการ 1 ใน 3 แต่กรรมาธิการ ส.ว. นั้นเอาใครเข้าไปอยู่ในกรรมาธิการมั่วไปหมด ส.ส.เองก็มีจุดอ่อนคือเอาสมาชิกพรรคที่สอบตกไปนั่งในกรรมาธิการแล้วไม่เคยไปประชุมเลย”

“ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ในรายละเอียดขั้นตอนทางกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่างๆ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลยเมื่ออยู่ในขั้นตอนลึกๆ ประชาชนยื่นร่างกฎหมายเข้าไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก็ถูกฉีก เมื่อส่งมาที่วุฒิสภาก็หายหมด เหลือแค่ 20 เปร์เซ็นต์ ทั้งๆที่กฎหมายระบุว่าประชาชนมีสิทธิเสนอกฎหมายได้ “

“ผมเห็นด้วยที่ ส.ว.จะมีหน้าที่กำกับการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินภายใต้ข้อมูลที่ชัดเจนเป็นวิชาการ ส.ว.ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโฆษกฝ่ายค้าน การทำหน้าที่ของ ส.ว.ควรไปไกลกว่าโฆษกฝ่ายค้าน”

 

ประทีป อึ้งทรงธรรม อดีต ส.ว.

“ส.ว.กับความเป็นผู้แทนของปวงชน ตัวแทนปวงชนต้องมาจากประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่ ส.ว.จากรัฐธรรมนูญปี 2550 มองว่าเป็นตัวแทนของประชาชนได้ไม่ทั้งหมด เพราะ ส.ว.สรรหา 74 คน มาจากคน 7 คน เท่านั้น มีความอิหลักอิเหลื่อในการเป็นผู้แทนของประชาชน”

“7 คนมีอำนาจอะไรที่ไปเลือก ส.ว. 74 คน กับการให้คนทั้งประเทศเลือก ส.ว. 76 คน เป็นหลักการที่ต้องมีการแก้ไข ดิฉันคิดว่าเป็นข้อบกพร่อง ที่รัฐธรรมนูญผิดตั้งแต่ มาตราที่ 1 ของการเลือก ส.ว. รวมไปถึงมาตราที่ 3,มาตราที่ 4 และ มาตราที่ 30 ด้วย”

“ดิฉันเห็นว่า ส.ว.ที่มาจาการสรรหาก็ดู active มีสีสัน แสดงให้สังคมไทยเห็นว่า ส.ว.สรรหามีคุณภาพ แต่พออ่านในหนังสือพิมพ์ 40 ส.ว.ที่ออกมามีบทบาทต่อต้านรถเมล์เอ็นจีวี แรกๆดิฉันก็ชื่นชม พอรู้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ก็เริ่มรู้สึกว่าบทบาทหน้าที่ของท่านมีบทบาทตามที่ได้ตั้งเอาไว้หรือเปล่า เมื่อเปรียบเทียบรถเมล์เอ็นจีวี กับบีอาร์ที ซึ่งเอ็นจีวี ราคา 5 ล้านบาทต่อคัน มีค่าใช้จ่าย 2,250 บาทต่อวัน ส่วนบีอาร์ทีราคา 8.6 ล้านบาทต่อคัน ค่าใช้จ่าย 14,600 บาทต่อวัน แพงกว่ากันตั้ง 600 เปอร์เซนต์ ส.ว.ทำไมไม่ออกมาพูดเรื่องบีอาร์ที กำลังเล่นอะไร ทำให้สงสัยว่าเลือกตรวจสอบหรือเปล่า มีคนสงสัย มีคนปาหี่ให้เราดูหรือเปล่า”

นางประทีป กล่าวอีกว่า อำนาจ ส.ว. ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เปลี่ยนไปเยอะไม่เหมือนกับ ปี 2540 เช่น ในการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ ถูกลดทอนลงไปเหลือเพียงให้ความเห็นชอบหรือไม่

“ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเพียงตรายางประทับเห็นชอย ไม่มีสิทธิเลือก ตรงนี้อาจที่เป็นผู้แทนประชาชนลดลงไป”

นางประทีป ให้ความเห็นอีกว่าส.ว.สรรหามีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ เป็นอำนาจที่ล้นฟ้าขนาดนั้นหรือไม่

“บางครั้งที่ชาวบ้านเจอข้าราชการบางคนที่ใช้อำนาจไม่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถร้องเรียน ส.ส.และ ส.ว. ได้ เพราะมาตรา 266 ที่ระบุว่า ส.ส.และ ส.ว. จะแทรกแซงการทำงานของข้าราชการไม่ได้ คนที่ประชาชนเลือกเข้าไปไม่มีประโยชน์อะไร”

“ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่สง่างาม มาจากอำนาจปืน รัฐธรรมนูญมีกลิ่นอายเผด็จการมากมาย ไม่ควรมีในลักษณะนี้อกีต่อไป รัฐธรรมนูญถูกสร้างและออกแบบมาโดยอคติต่อคนจนและระบอบประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่ดึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนออกไป แต่งตั้งคนเข้าไปในองค์กรอิสระ แต่ได้ศาลเข้ามาเพียบ ทำให้คิดว่าศาลกำลังจะเข้าไปสถาปนาอะไรหรือเปล่า”

 

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

“เมื่อใดที่คนหนึ่งยึดวุฒิสภาได้ แต่งตั้ง ปปช. แต่งตั้ง กกต. ประเทศก็อยู่ในอุ้งเท้า บ้านเมืองไปไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่อยากเห็นทหารออกมา แต่บ้านเมืองมันไปไม่ได้ ประเทศถึงทางตัน ผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ แต่ไม่มีทางอื่น”

“ส.ว. จำเป็น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งนั้นได้คนดีแน่ๆ แต่เป็นคนดีของใคร เมื่อมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเป็นอย่างไรก็ได้ตัวแทนอย่างนั้น ถ้าเลือกตั้งหมด ก็เรียบร้อยเหมือนเดิม คงจะต้องเป็นอย่างนั้นอีก เขาก็คงจะกันไว้ก่อนให้มีสรรหาด้วย แต่ ส.ว.เป็นผู้แทนปวงชนต้องมีที่มายึดโยงกับประชาชน ผมคิดว่า ส.ว.ต้องมาจากเลือกตั้ง แต่มาแล้วต้องไม่ตอบแทนผู้มีพระคุณอย่างที่ผ่านมา”

“ประเทศจำเป็นต้องมีรสภาตรวจสอบ อำนาจตรวจสอบต้องมี ต้องให้อำนาจถอดถอนบุคคลไว้ที่ ส.ว. มีอำนาจแต่งตั้ง ถ่วงดุล ผ่านกฎหมาย ตรงนี้จำเป็น แต่การเลือกตั้งก็อยากให้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ผมเห็นว่า 1.ส.ว.ต้องมี 2.เลือกตั้งต้องหาตัวแบบที่ดีกว่านี้ ถ้า ส.ว. กับ ส.ส. 1คนต่อ 1 จังหวัดก็เรียบยร้อย”

“ประเทศชาติแตกแยก ทำอย่างไรเมื่อมี ส.ว.แล้วสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น การเลือกตั้ง ส.ว. อาจจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้สมัคร ได้มีเวทีแสดงวิสัยทัศน์ด้วย เพราะ ส.ว.ก็เป็นคนพูดได้ ไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ใช่ต้องติดรูปอย่างเดียว”

 

นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน และอดีต ส.ว. จ.นครสวรรค์

นายสมเกียรติ ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีปัญหา แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยน กกต.ท ก็เกิดปัญหา โดยปัญหาอยู่ทีตัวบุคคล หากใครทำผิดก็ควรจะถูกลงโทษจำคุก แต่ปรากฏว่าเราไปล้มระบบ

“ส.ว.แบบเลือกตั้งมีปัญหาการจัดการโดยพรรค ผมเห็นด้วยที่มี ส.ว.จากการเลือกตั้งทางอ้อม เพราะ ส.ส. และ ส.ว. จากการเลือกตั้ง มีที่มาจากประชาชน แต่ถามว่าเมื่อได้เป็น ส.ส.หรือ ส.ว.แล้ว ถึงเวลาใครบ้างมีความรู้สึกว่าประชาชนเลือกมา วันนี้ใครรู้สึกว่ามือของตัวเองเป็นมือของประชาชนบ้าง ผมเป็น ส.ว.มา 6 ปี มองตรงไม่อายใคร วันนี้เป็น ส.ส. ทำหน้าที่ได้กระท่อนกระแท่น ก็ก็ได้ทำงานอย่างที่เราต้องการ แต่อาจจะดีไม่ได้”

“ส.ว.ต้องมี เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบผู้บริหาร เอาเลือกตั้งทางอ้อม represent ตัวแทนที่แท้จริง เช่น ชาวนาอาจจะมี 1 ล้านคน แบ่งแล้วมี 100 อาชีพ ก็เอาตัวแทนอาชีพละ 2 คน เป้นต้น เอาแบบอเมริกา แล้วผมเชื่อว่าคนที่มาเป็น ส.ว. จะภาคภูมิใจ”

นายสมเกียรติ เชื่อว่า การเลือกตั้งทางอ้อมจะทำให้ได้ผู้กลั่นกรองที่ดี เนื่องจากการเลือกตั้งทางตรงนั้นจะถูกจัดการจากระบบพรรคการเมือง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจพื้นที่ใหญ่ทั้งจังหวัด ซึ่งต่อไปในอนาคตจะกลายเป็น ส.ว. ลักษณะไหน

ดังนั้นจึงเห็นควรว่าต้องมีการออกแบบการเลือกตั้งทางอ้อม ให้วิชาชีพเลือกตัวแทนกันเอง

“ค่อยๆดูว่า represent  จริง แต่อำนาจการปลดบุคคลไม่ควรมี ผมคิดว่าควรให้เป็นหน้าที่ศาล ส.ว.ควรกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรรมาธิการ แต่งตั้งองค์กรอิสระ ที่ไม่ใช่แค่เพียงมีหน้าที่พิจารณาเห็นชอบ เพราะไม่มีใครไม่รับรอง เลือกมาเท่าไร ส.ว.ก็รับรองทั้งหมด“