22พย52-อภิสิทธิ์ ติดกับดัก ฮุนเซ็น ธุรกิจไทยเคว้ง

 

ราชดำเนินเสวนา /วันอาทิตย์วันที่ 22 พ.ย.52
อภิสิทธิ์ ติดกับดัก ฮุนเซ็น  ธุรกิจไทยเคว้ง
ถึงเวลา ..ก้าวข้ามทักษิณ เลิกปลุกกระแสชาตินิยม

…………………….

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสถาบันอิศราและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดราชดำเนินเสวนาเรื่อง “รู้เขารู้เรา พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง? ” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมถกในประเด็นร้อน ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา ที่ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังถล้ำลึกไปมาก  ประกอบด้วย รศ.ดร.สุเนตร  ชุติธรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,สุณัย   ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch  และศิโรฒน์  คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

@ รากแห่งปัญหา ไม่ใช่แค่ บิ๊กจิ๋ว -ทักษิณ

รศ.ดร.สุเนตร   ชุติธรานนท์ เปิดเวที ด้วยการชี้ชวนให้ย้อนกลับไปดูเหตุแห่งปัญหาว่าเกิดจากอะไรกันแน่กับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกัมพูชา จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นการวางเกมของคุณทักษิณ ในการเข้าไปรับตำแหน่งนำมาซึ่งความระหองระแหงของทั้งสองประเทศหรือเปล่า หรือบางคนก็บอกว่าไม่ใช่น่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการเรื่องเขาพระวิหาร
โดยส่วนตัวมองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องของกรอบของความคิดของผู้นำ และดูเหมือนว่าเหตุของความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานหลังเขมรขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหาร
คำถามต่อไปคือ ใครเป็นต้นตอของสาเหตุตรงนี้เป็นคำถามที่เราไม่ค่อยได้ตั้งกัน นั่นคือ ทำไมประเด็นเรื่องกัมพูชาถูกหยิบขึ้นมาเล่นในช่วงนี้ ทั้งทักษิณ และรัฐบาลชุดปัจจุบันต่างหยิบขึ้นมาเล่น ในขณะที่ฮุนเซ็นก็กระโดดเข้ามาร่วมวง
“การดึงประเด็นความขัดแย้งไทยกัมพูชาไม่ใช่เรื่องใหม่ กรณีเผาสถานทูตในกัมพูชาก็เป็นประเด็นทางการเมือง นั่นหมายความว่าความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชามีมิติอีกมิติหนึ่งซึ่งสำคัญมาก นั่นคือมิติของภาคประชาชน เป็นมิติที่มีการปลูกฝังกันมาช้านาน
ซึ่งพอเกิดความขัดแย้ง บุคคลที่ถูกพูดถึงจะย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา เช่น พระยาละแวก เป็นความรู้สึกของสังคมที่พร้อมผลักดันไปกับภาครัฐ เป็นมิติที่เรามองข้ามไป ดังนั้น กรณีกัมพูชาจึงเป็นมิติที่มีใครปลุกขึ้นมาก็มีกระแสตอบรับ”
รศ.ดร.สุเนตร บอกต่อไปว่า ถ้าไม่มีกระแสรับจากภาคประชาชน ความขัดแย้งไทยกับกัมพูชาอาจไม่มีความหมายอะไรมากนัก ภาพตรงนี้เกิดจากการที่เรามักมองข้ามความสำคัญ โดยเฉพาะปีกของความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อกัมพูชาที่ค่อนข้างรุนแรง
ทัศนคติของภาคประชาชนที่มีต่อกัมพูชามีประเด็นทางประวัติศาสตร์และการเมืองที่ซ้อนทับกันอย่างต่อเนื่องไม่ได้ขาดตอน มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่ง เราต้องยอมรับว่าเราไม่เคยมองพม่าว่าต่ำต้อยกว่าเรา แต่เรามองเขมรในฐานะที่แตกต่างจากไทย

@  ไทยมองเพื่อนบ้านต่ำต้อยเป็นแค่ลูกไล่

ในอดีตมีนักวิชาการท่านหนึ่งเคยใช้คำว่า เขมรเหมือนลูกไล่ของไทย ซึ่งในทางจิตวิทยาก็ดี ทางภูมิหลังก็ดี ล้วนมีความสลับซับซ้อนที่ฝั่งรากในมโนสำนึกของคนไทยอย่างมาก ดังนั้น พอมีจังหวะเวลาที่จะปลุกกระแสเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรืออะไรก็ตาม ก็สามารถทำได้ง่ายเพราะมีเชื้อรอประทุอยู่แล้ว
ในขณะที่เขมรเองก็มีประเด็น สารพัดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขมขืนที่เขามีอยู่แล้วการจะหาแพะสักตัวในการรับผิดชอบ ไทยก็มีส่วน เหตุเหล่านี้จึงปลุกขึ้น เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่
และนี่คือประเด็นแรกสุดที่เราต้องนึกถึง คือความรู้สึกของประชาคมของทั้งสองประเทศ

@ ฮุนเซ็น เล่นเกมนี้ มีแต่ได้กับได้

ประเด็นที่สอง ฮุนเซ็นได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้
รศ.ดร.สุเนตร อธิบายต่อด้วยการตั้งคำถามว่า ใครเคยเห็นธงของประเทศไหนที่มีสถานที่โบราณอยู่ในธงชาติบ้าง แต่กัมพูชานำเขาพระวิหารไปไว้ในธง เรื่องเขาพระวิหารจึงเป็นวาระแห่งชาติของเขามาตั้งแต่เบื้องต้น
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายกับสถานะที่คนที่คุมทุกอย่างในประเทศหมดแล้วจะก้าวล่วงจากสถานะของผู้ปกครองประเทศในหน้าประวัติศาสตร์มาเป็นรัฐบุรุษในยุคปัจจุบัน
การกลับไปเล่นประเด็นเขาพระวิหาร เป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับการก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบุรุษ
การเดินเกมของฮุนเซ็นในวันนี้อาจจะไม่ได้เป็นมาตรฐานสากลที่เรารู้สึก แต่ในเขมรรู้สึกได้ว่า เขานับว่าสามารถขึ้นมาท้าทายแล้วทำสิ่งหนึ่งที่ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์กัมพูชาได้
ทุกครั้งที่เราพูดถึงกัมพูชา เราจะพูดถึงในฐานะลูกไล่ ถ้าหือขึ้นมาฉันจะไปจัดการ หากกัมพูชามีปัญหาอะไร เราก็จะทำตัวเป็นพี่เบิ้มเข้าไปดูแลเขา ตรงนี้ก็เป็นปมที่บอกว่าไทยมีฐานะสูงกว่า

@ ครั้งแรกที่ ผู้นำไทยต้องวิ่งไปหาเขมร
ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำไทยมีความขัดแย้งกัน แล้วก็วิ่งไปหากัมพูชา ด้วยมูลเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้นำกัมพูชาเกิดคำถามเช่นเดียวกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย คนระดับพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กับทักษิณ  ชินวัตรถึงเดินไปหาเขา เหตุการณ์ต่างๆมันกลับตาละปัด
ตรงนี้นี่แหละจึงเป็นจุดที่ฮุนเซ็นนำมาขับเน้นความเป็นรัฐบุรุษขึ้นมา ส่วนนานาชาติจะมองอย่างไร กติกาสากลแม้จะมีอยู่แต่ไม่เคยเห็นมีอะไรสำคัญกว่าผลประโยชน์
ท้ายที่สุดทางผลจะออกมาเป็นอย่างไร หลังจากทักษิณออกไปจากเขมรเกมทางการเมืองค่อนข้างจะพลิก รัฐบาลไทยกลับกลายเป็นฝ่ายตั้งรับและเป็นฝ่ายแก้เกม เหมือนกำลังเข้าไปติดกับดัก
ฉะนั้น จากตรงนี้ไปต้องคิดว่าประเทศไทยจะจัดการกับตัวเองและความสัมพันธ์กับกัมพูชาอย่างไร

@ ถึงเวลามองเขมรในโลกแห่งความเป็นจริง
ดร.สุเนตร แนะว่า เราจำเป็นต้องมองกัมพูชาในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะแรงกดทับที่ไทยเคยอัดลงไปโดยบอกว่ามีมาตรการมากมายในการจัดการกับกัมพูชา วันนี้แรงอัดเหล่านี้มันสะท้อนกลับมาที่ไทย เพราะ กัมพูชาในปัจจุบัน บนพื้นฐานของผลประโยชน์ที่กัมพูชาจะมีร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ เช่น เวียดนาม อินโดจีน หรือแม้แต่ฝรั่งเศส  ทำให้กัมพูชามีคนที่อยู่เบื้องหลังมากมายหลายชาติ
ตรงจุดนี้สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องรีบปรับความสัมพันธ์กับกัมพูชา  
ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุด กรณีของคุณทักษิณ
ซึ่งจริงๆ แล้วความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เคยเสนอไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าเราต้องก้าวข้ามคุณทักษิณไปให้ได้ไม่เช่นนั้นเราลำบาก
ถ้าวันนี้รัฐบาลไทยบอกว่า ต่อจากนี้คุณทักษิณไม่ได้มีความหมายในความรู้สึก นึกคิดกับรัฐบาลแล้วให้ความสำคัญเรื่องอื่นๆ ไม่เอาคุณทักษิณมาเป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นใครจะไปตั้งคุณทักษิณเป็นอะไร ไม่ได้มีความหมายโดยสิ้นเชิงกับการบริหารประเทศของไทย

@  ปลดล็อกได้ ต้องเลิกบ้าศักดิ์ศรี
จากจุดนี้การที่กัมพูชาจะตั้งทักษิณเป็นอะไรอีก 100 ตำแหน่งก็จะไม่ได้เป็นเหตุให้เราทำลายความสัมพันธ์กับกัมพูชา
และเมื่อประเทศไทยไม่ยินดียินร้ายกับเหตุการณ์ตรงนี้ก็ไม่มีเหตุอะไรที่ต้องไปกดดันกัมพูชาที่ถอนคุณทักษิณออกจากตำแหน่ง
“ผมคิดว่าการดำเนินการตรงนี้ไม่ได้ทำให้รัฐบาลเสียหน้าเกินไป เพราะประเทศไทยไม่ได้เอาประเด็นนี้มาเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าคิดได้อย่างนี้ก็จะช่วยปลดล็อกการทำงานในหลายๆ ส่วนได้”  รศ.ดร.สุเนตร ทิ้งท้าย

@ เขมร ใต้จักรวรรดินิยมไทยจริงหรือ  ?

ศิโรฒน์  คล้ามไพบูลย์  นำเสนอมุมมองไทย-กัมพูชาในมุมของนักรัฐศาสตร์  โดยพยายามฉายภาพความขัดแย้งของ 2 ประเทศภายใต้เงาอาณานิคมและจักรวรรดินิยมสยามซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมองเห็นได้
ศิโรฒน์ บอกว่า ที่ผ่านมาเวลาสื่อมวลชนพูดถึงเรื่องไทย-เขมร มักจะพูดโดยเอาเขาพระวิหารเป็นศูนย์กลาง
ในคำสัมภาษณ์ของฮุนเซ็นที่คนไทยเป็นเดือดเป็นแค้นมาก  คือ บทบาทของไทยในการเข้าไปแทรกแซงกิจการของกัมพูชา นั่นคือการเข้าไปสนับสนุนเขมรแดงอย่างลับๆ เป็นเวลาหลายปี เป็นการสนับสนุนระบอบการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรเรือนล้าน  
สิ่งที่ฮุนเซ็นไม่ได้พูดคือ เรื่องที่ไทยให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพในไทยสมัยสงครามอินโดจีน ซึ่งนั่นหมายถึงการเป็นลูกสมุนของสหรัฐฯในการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่เพียงแต่เอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิดตามหมู่บ้านต่างๆ แต่ยังมีการปล่อยสารพิเศษที่เรียกว่า “ฝนเหลือง”ลงในลาว กัมพูชาทำให้พลเรือนบริสุทธิ์ตายนับไม่ถ้วน
นอกจากนั้น เมื่อครั้งที่ฮุนเซ็นร่วมมือกับเวียดนามไล่เขมรแดงออกจากพนมเปญ ไทยก็เข้าไปโอบอุ้มเขมรแดงให้เข้าไปอยู่ในรัฐบาลผสม แล้วช่วยหาที่นั่งในสหประชาชาติ ประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองของเขมรเป็นชาติที่แทรกแซงการบริหารประเทศเขาตลอดเวลา
ทั้งหมดที่ชี้ให้เห็นรอยแผลในประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นปกติสุขกับเขมรได้ เช่นเดียวกับเขมรไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับไทยที่ปกติสุขได้

@   เลิกพูดถึงความขัดแย้งในอดีต

ศิโรฒน์  บอกว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว ขั้นตอนเบื้องต้นในการยุติการสร้างสนามรบด้วยลัทธิคลั่งชาติของกลุ่มการเมืองภายในประเทศ คือจะต้องล้มเลิกการมองว่าเขมรอยู่ใต้จักรวรรดิ์นิยม
เพราะการที่เรามองว่าเขมรไม่ได้มีอธิปไตยเป็นของตัวเอง และจะต้องฟังไทยให้มาก เมื่อเขมรไม่ฟังเรา  เราก็เป็นเดือดเป็นแค้นเหลือเกิน ซึ่งจริงๆ แล้วเขมรจะตั้งใครเป็นที่ปรึกษาก็เรื่องของเขา เพราะคุณทักษิณก็เป็นที่ปรึกษาให้กับหลายประเทศ แต่พอเขมรตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษา ไทยกลับมีปัญหาโวยวายขึ้นมา
ในที่สุดแล้วเรื่องไทยกับเขมร เราอาจจะต้องตั้งคำถาม คือ ความสามารถของชาตินิยมในสภาพแวดล้อมแบบใหม่  เพราะทุกประเทศในโลกใบนี้มีปัญหาเยอะแยะไปหมด  การลดความขัดแย้งในอดีตทำได้ คือ เลิกพูดถึงความขัดแย้งในอดีต แล้วพูดถึงการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน เช่น สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า คือการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน
วันนี้ เรื่องเขาพระวิหารทำให้สนามการค้าเป็นสนามรบ ทำให้การค้าเป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เป็นการนำแนวคิดชาตินิยมมามองสถานการณ์ใหม่ วันนี้เราต้องยอมรับว่า ศาลโลกได้ตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของเขมรครึ่งศตวรรษแล้ว
การสร้างวาทกรรมที่บอกว่า เขาพระวิหารเป็นของเขมร  ส่วนการเป็นมรดกโลกไทยต้องร่วมด้วย เพราะแผ่นดินใต้เขาพระวิหารเป็นของไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตถ้าไทยถูกในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ ทำไมไทยถึงเลือกที่จะเจรจากับเขมรโดยตรงแทนที่จะใช้กลไกของศาลระหว่างประเทศ

@  รัฐบาลต้องพูดเรื่องเขาพระวิหารให้น้อยลง
ศิโรฒน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อก่อนคนไทยจะวิจารณ์เขมร คือ ฮุนเซ็นสร้างกระแสชาตินิยมกลบปัญหาในเขมร แต่ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ)ก็ใช้กระแสชาตินิยมกลับปัญหาต่างๆ เหมือนกัน
วันนี้รัฐบาลจะต้องพูดเรื่องเขาพระวิหารให้น้อยลงหรือเลิกพูด เพราะมีประเทศอื่นๆที่มีปัญหาแนวชายแดนแต่ก็ไม่ได้จบอย่างที่ประเด็นไทยทำกับเขมร เราควรหยุดนำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
เพราะในที่สุดเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีของไทยต่อเขมร เป็นยุทธวิธีในการไล่ล่าคุณทักษิณ โดยไม่คำนึงถึงการใช้ชาตินิยมว่าอันตรายแค่ไหน เพราะถึงจุดหนึ่งมันคุมไม่ได้ ลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้ต้องหยุดใช้ เพราะมิเช่นนั้นจะเกิดคำถามว่า มันจำเป็นหรือเปล่ากับการไล่ล่าคุณทักษิณโดยเอาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นเดิมพัน
วันนี้เป็นไปได้ไหมว่าจะชะลอความรุนแรงระหว่างไทยกับเขมร
คำตอบคือเป็นไปได้ ข้อแรก คือ ต้องเข้าใจว่า ไทยไม่ใช่พี่ใหญ่ของเขมรอีกต่อไป เพราะไทยคือตัวละครเล็กๆ ในภูมิภาคนี้ เรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจวันนี้มีปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นเยอะ
ข้อที่สอง ต้องคิดว่าการเมืองไม่ใช่วาระหลักในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ยังมีมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ข้อสาม รัฐบาลจะต้องเลิกคิดเรื่องการเมืองของประเทศ ต้องคำนึงถึงชีวิตของคนและความเป็นอยู่ของคนในแนวชายแดนให้มากขึ้น ไม่มีใครมองว่าการปลุกชาตินิยมทำร้ายคนไทยในเขมรได้พอๆ กับการทำร้ายคนเขมรในแนวชายแดนของประเทศไทยเลย
การเอาชีวิตของคนสองฝั่งมาเป็นตัวประกันไม่ควรจะเกิดขึ้น
นี่คือ 3 เรื่องที่ประเทศไทยน่าจะทำ คือ ไทยไม่ใช่ตัวแสดงหลักในภูมิภาคนี้ สองอย่ากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเอาความไม่พอใจระหว่างคุณทักษิณเป็นธงนำ และสุดท้ายคือการกำหนดยุทธศาสตร์ไทยกับเขมร ควรคิดถึงชีวิตของคนธรรมดาทั้งคนไทยในเขมรและคนเขมรไทยไปพร้อมๆกัน

@  เข้าทาง ฮุนเซ็น ว่าที่รัฐบุรุษคนใหม่
สุณัย  ผาสุก ในฐานะนักสังเกตการณ์การเลือกตั้งในการกัมพูชามาหลายต่อหลายครั้ง และได้เข้าไปศึกษาถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชา โดยนำข้อเสนอข้อคิดในเรื่องนี้ล้อกับประเด็นรู้เขารู้เราว่า จริงๆ แล้วตัวเราเองเราไม่รู้เลยว่าเราทำอะไร ทำให้กระแสสังคมถูกปั่นโดยการชี้นำของชนชั้นนำทางการเมืองจนนำไปสู่การเผชิญหน้า เพราะเราไม่มองเพื่อนบ้านว่าเท่าเทียมกับเราเลย
ถ้าถามต่อว่าวันนี้เรารู้จักกัมพูชาไหม ต้องยอมรับว่าคนไทยยังเชื่อเรื่องราวในอดีต ซึ่งประเด็นเรื่องนี้สะท้อนมาชัดเจนมากๆ  ทุกคนชาตินิยมเหมือนกันหมด พวกเขาเห็นพ้องว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา เขาจึงมีการรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้
ซึ่งหากมองในเค้าโครงวัฒนธรรมกัมพูชา ไทยเป็นผู้ร้ายในเรื่องนี้ เรื่องเขาพระวิหารกัมพูชาเป็นผู้ชนะ ไทยเป็นผู้แพ้แต่ไทยเป็นองุ่นเปรี้ยว จะเห็นว่า พอเราจุดประเด็นเรื่องเขาพระวิหารขึ้นมา กัมพูชาจึงรับลูก เพราะเขาคือพระเอก
ประการต่อมา ฮุนเซ็นเป็นคนเช่นไร สุนัย บอกว่า  ฮุนเซ็น กำลังต้องการก้าวขึ้นเป็นรัฐบุรุษ ต่อจากเจ้านโรดม สีหนุ พยายามปิดเกมทางประวัติศาสตร์ที่ว่ากัมพูชาเป็นลูกไล่ และการจบประวัติศาสตร์ของเขมรแดง
ในช่วงที่ไทยสนับสนุนเขมรแดง ประเทศไทยไม่เคยคิดเลยว่าตรงนั้นเป็นการสนับสนุนมาตรกรทำให้คนเขมรเสียชีวิตเป็นล้านๆ คน มาวันนี้ฮุนเซ็นสั่งให้มีการจัดการกับผู้นำเขมรแดงที่ฆ่าคนเขมรในอดีตเพื่อปิดปมประวัติศาสตร์ตรงนี้
ในอดีตประเทศไทยเคยเข้าไปสนับสนุนว่าใครจะขึ้นจะลงในกัมพูชา แต่วันนี้ผู้นำของไทยกลับต้องไปพึ่งเขมร คะแนนชาตินิยมที่รัฐบาลได้มาจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องระยะสั้น เพราะตอนนี้ทักษิณเดินทางออกไปจากเขมรแล้วแต่ประเทศไทยยังมีนายศิวรักษ์  ชุติพงษ์ วิศวกรหนุ่มติดคุกอยู่ และยังมีประเด็นของบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิสเซส จำกัด หรือแคทส์ (CATS) บริษัทเดินอากาศซึ่งเป็นลูกของสามารถในเขมรที่ยังวิกฤตอยู่  
จะเห็นว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกรัฐบาลฉุดคะแนนชาตินิยมได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นภาระที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเร่งสะสาง เป็นภาวะขาลงของการสร้างกระแสชาตินิยม ถ้ายิ่งเล่นเกมต่อไปก็จะมีแต่เสียคะแนน

@ จับตาการเลือกตั้งครั้งใหม่

สุณัย  วิเคราะห์ว่า ฮุนเซ็นจะต้องจบเกมนี้ในฐานะผู้ชนะ เพราะหากดูสถานะของฮุนเซน ณ วันนี้ ต้องยอมรับว่าฮุนเซ็นเป็นผู้นำที่อยู่ในอำนาจนานที่สุดในอาเซียนแต่อภิสิทธิเพิ่งเข้ามาเป็นผู้นำประเทศยังไม่ถึงปี ฉะนั้นฮุนเซ็นผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า ชั้นเชิงจึงต่างกันเยอะ มาตรการในการจัดการเรื่องต่างๆกับประเทศไทย กับคนไทย จึงเป็นเพียงการสั่งสอนให้รู้ว่าใครเก๋าส์กว่าใคร
วันนี้ การจะไปบอกว่าให้รัฐบาลเขมรปล่อยตัววิศวกรไทยแบบดื้อๆ คงเป็นไปไม่ได้เพราะถือว่าเป็นการแทรกแซงอธิปไตยของกัมพูชา คนไทยคงทำได้เพียงการตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องความโปร่งใส เรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วส่งทนายความไปดูแลเรื่องคดีความ
เรื่องยึดบริษัท CATS  ก็มีความซับซ้อนเพราะตรงนี้เป็นกระเป๋าเงินกระเป๋าใหม่ของฮุนเซนในการเลือกตั้งครั้งใหม่
“เรามักจะมองว่า ความตึงเครียดครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะมูลค่าการค้านิดเดียวแต่ไม่ได้นึกถึงชีวิตคนตามแนวชายแดนว่าเขาได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งวัดเป็นมูลค่าเหมือนสินค้าข้ามแดนไม่ได้”

@ นักธุรกิจไทยจะถูกบี้ อย่างหนัก

สุณัย สะท้อนเสียงคนชายขอบให้ฟัง  พร้อมบอกต่อไปว่า ขอเน้นว่า เรื่องนี่ไม่ใช่อุบัติเหตุแต่เป็นเจตนาให้เกิดขึ้น ทำไมคุณทักษิณเลือกกัมพูชา เพราะมีโจทย์ในใจของทั้งสองฝ่ายในเรื่องเขาพระวิหาร จึงเอาตัวเองเข้ามาในสมการตัวนี้ วันนี้คุณทักษิณออกจากเรื่องนี้แล้ว คุณทักษิณก็เปิดเกมใหม่ ในขณะที่บริษัท CATS กำลังจะถูกยึด เสื้อแดงก็เคลื่อนกำลัง รัฐบาลจะจัดการอย่างไร  
วันนี้ถ้าเราฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาให้เท่ากับก่อนเกิดเรื่องทักษิณก็เก่งแล้ว เพราะตอนนี้กัมพูชากำลังจะดำเนินการเลือกตั้ง ฮุนเซนจะต้องโหนกระแสว่าเตะก้นมหาอำนาจ
การแสวงหาเงินเข้ากระเป๋าเพื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง จะทำให้ฮุนเซนบี้นักลงทุนไทยมากขึ้น ยิ่งเราตกหลุมมากเท่าไหร่ก็จะมีแต่เสียกับเสีย ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักกัมพูชาให้ดีกว่านี้จึงจะแก้เกมของกัมพูชาได้
............................