ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ ๔ / ๒๕๕๓-“เนื้อหาที่ควรคุยในวิกฤตความขัดแย้ง”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์   วิทยุและโทรทัศน์   เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม

ราชดำเนินเสวนา  ครั้งที่ ๔ / ๒๕๕๓ 
“เนื้อหาที่ควรคุยในวิกฤตความขัดแย้ง ”

วันพฤหัสบดี ที่ ๑ เมษายน   ๒๕๕๓      เวลา  ๑๓.๓o – ๑๕.๓o น.
ณ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ. วชิระ) กรุงเทพฯ

วิทยากร
พลเอกเอกชัย  ศรีวิลาศ
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
อดีตรองนายกรัฐมนตรี
นายไพโรจน์ พลเพชร
ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน 
นายวีระ  มุสิกพงศ์
ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ  (นปช.)

ผู้ดำเนินรายการ
นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
ที่ปรึกษาฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าว ฯ

เนื้อหาการเสวนา

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง “เนื้อหาที่ควรคุยในวิกฤตความขัดแย้ง” สมาคมนักข่าว นำเสนอที่น่าสนใจดังนี้



นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เสนอแก้วิกฤตความขัดแย้งด้วยยุทธศาสตร์ถนน 3 สาย ได้แก่ 1. แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างการเมืองแบบร่วมคิดร่วมทำ  สายที่2. คือ  แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สิน และปัญหาความยากจน แบบบูรณาการยั่งยืน และสายที่ 3. คือ แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม และสร้างความเป็นมิตรไมตรีในสังคม  
อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า การแก้วิกฤตการเมือง น่าจะมีบุคลากรทั้งจากรัฐบาลและนปช. มาร่วมทำการบ้าน จะเจอกันในรอบหรือนอกรอบก็ได้ในระดับคนทำงาน ร่วมคิดร่วมทำสรุปเนื้อหาที่พอใจร่วมกัน โดยมีกระบวนการจัดการหารือที่ดี สร้างทัศนคติ อารมณ์ มุมมองร่วมกันให้ชัดเจน ยอมรับซึ่งกันและกัน  
“คนที่พูดคุยกัน  คือ คนจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลกับนปช. เพราะประชาชนทั้งประเทศยิ่งใหญ่กว่ารัฐบาล ยิ่งใหญ่กว่านปช.”
ผมคิดว่า วิกฤตประเทศไทยวันนี้ให้กำไรกับสังคมไทย เรียนรู้ความก้าวหน้าของสังคมไทย ในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้และการจัดการบรรทัดฐานการชุมนุมสาธารณะ หรือการเรียนรู้ความคิดเห็นอันหลากหลายจากประชาชนหลายกลุ่ม

นายวีระ มุสิกพงษ์ ประธาน กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ปัญหาของประเทศวันนี้อยู่ที่การยึดอำนาจ และไม่ให้เวลาประชาชนในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง  ฉะนั้น ข้อเสนอกลุ่มนปช.หลักการก็คือ ยุบสภาคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน
“ปี 2535 ผมบอกกับท่านจำลอง (ศรีเมือง) ว่า การรบบนถนน ผมขอเป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อปี 2549 มีการยึดอำนาจอีก ผมก็ออยู่เฉยไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไม่ได้ประชาธิปไตยก็ตายไปเลย”
ต่อข้อถามว่า นปช.และรัฐบาลจะมีการเจรจากันอีกหรือไม่  นายวีระ กล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ประเทศชาติพูดคุยกันได้เสมอ แต่อย่าเอาคำพูดบนเวทีมาเป็นเนื้อหาหลักในการเจราจา เพราะไม่ฉะนั้นแล้ว การเจรจาจะจบไม่ได้
นายวีระ ยังกล่าวว่า เมื่อข้อเสนอยุบสภาภายใน 15 วัน หรือ  9 เดือน หาข้อยุติไม่ได้ ฉะนั้นคำตอบการยุบสภาก็คงไม่ใช่ 2 เวลาดังกล่าวนี้แน่ แต่จะเวลาไหน อย่างไร ก็อยู่ที่โอกาสที่จะได้ติดต่อพูดคุยกัน
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า สังคมไทยวันนี้ มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงสุด อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากในอดีตวกฤตมักจบด้วยความรุนแรง เมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่วันนี้สังคมก้าวหน้าด้วยแนวทางสันติวิธี


นายไพโรจน์ ยังกล่าวว่า  ต้องเข้าในว่าวันนี้สังคมไทยเผชิญกับวิกฤต 2 ด้านใหญ่ 1. คือ เกิดวิกฤตความชอบธรรม ต่อสถาบันทางการเมืองทุกระดับ ทั้งวิกฤตการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลที่ถูกตั้งคำถามว่า มาด้วยความชอบธรรมหรือไม่ หรือองค์กรอิสระวันนี้มีความชอบธรรมหรือเปล่า
นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตการใช้อำนาจ ว่าการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองวันนี้ใช้โดยชอบหรือไม่ และการตั้งคำถามเรื่องการใช้อำนาจ 2 มาตรฐาน ซึ่งปะทุให้เห็นอย่างชัดเจน
ส่วนวิกฤตที่ 2. คือ วิกฤตความชอบธรรมทางสังคม คือ เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การถือครองที่ดินของรัฐ ดังเห็นได้จากกรณีปัญหา เขายายเที่ยง หรือ กรณีที่ดินเขาสอยดาว  ซึ่งระบบการเมืองตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตความยากจน จนเกิดคำถามจากกลุ่มคนเสื้อแดงว่า เป็นสงครามชนชั้นหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องคิดร่วมกัน
นายไพโรจน์ เสนอว่า ระยะเวลาก่อนยุบสภาหรือหลังยุบสภา ควรมีการแก้ปัญหาหลักๆ คือ เสนอวาระด้านนิติบัญญัติร่างกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง และควรปฏิรูปการเมืองสังคมไทยอีกรอบหนึ่ง โดยการเปลี่ยนโครงสร้างที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว

พล.อ. เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เห็นด้วยกับคุยเนื้อหาที่ว่าด้วยการแก้ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจการเมือง และสังคม  ส่วนการเจรจา ไม่ควรพูดเรื่องประวัติศาสตร์ แต่ควรพูดเรื่องการแก้ปัญหาในอนาคต  และไม่นิยมความรุนแรง
“ผมเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังต้องการพูดคุยร่วมกัน เพราะการทิ้งไว้นานจนเกินไป สถานการณ์อาจผกผัน เกิดระเบิดลงอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้เกิดความบานปลายได้”  พล.อ. เอกชัย กล่าว