ข่าวราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ ๕ / ๒๕๕๓ “ไม่มีสี ไม่เลือกข้าง กับภารกิจปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์   วิทยุและโทรทัศน์   เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม


ราชดำเนินเสวนา  ครั้งที่ ๕ / ๒๕๕๓
“ไม่มีสี ไม่เลือกข้าง กับภารกิจปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน”


วันอาทิตย์ ที่ ๙ พฤษภาคม   ๒๕๕๓   เวลา  ๑๐.๐๐ – ๑๒.oo น.
ณ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ. วชิระ) กรุงเทพฯ

วิทยากร
นพ. ชาตรี เจริญชีวะกุล

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)

นพ. เพชรพงษ์ กำจรกิจการ

ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (เอราวัณ)

นพ.แท้จริง ศิริพานิช
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


นางสาวบุญยืน
ศิริธรรม

ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก


ผู้ดำเนินรายการ
นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์

รองเลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เนื้อหา
ถอดบทเรียน ไม่มีสี ไม่เลือกข้าง กับปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน
ท่ามกลางวิกฤตการชุมนุม !!

ท่ามกลางความบาดเจ็บสูญเสียของการชุมนุมทางการเมืองในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มวิชาชีพด้านการแพทย์ ถือเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการการแพทย์ทั้ง

ทางตรงและทางอ้อม  เห็นชัดที่สุดก็คือ กรณีกลุ่มผู้ชุมนุม บุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาฯ

เอาเข้าจริงแล้ว คนกลุ่มนี้รู้สึกอย่างไร กับการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางวิกฤตฉุกเฉิน ?

อาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน จัดรายการราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 5 เรื่อง “ไม่มีสี ไม่เลือกข้าง กับภารกิจปฏบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน”

สมาคมนักข่าวฯ ถอดความจริง บทเรียน และเสียงสะท้อนของแพทย์ในการปฏิบัติภารกิจกลางสนามรบ ตัวจริงเสียงจริง มาฝากคุณผู้อ่านดังนี้

นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ กรุงเทพฯ กล่าวว่า   การปฏิบัติงานของศูนย์เอราวัณ ต้องวางแผนล่วงหน้าและเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง   แต่ในการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บต้องพยายามบอกให้ผู้ชุมนุมทราบว่า ทีมแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและจริยธรรมทางการแพทย์

ส่วนการให้ข้อมูลผู้บาดเจ็บ และการช่วยเหลือในห้องฉุกเฉิน เราพยายามให้ข้อมูลสื่อมวลชนเพื่อให้ทราบข้อมูลอย่างดีที่สุด แต่บางข้อมูลก็ไม่อาจเปิดเผยได้  อาจผิดกฏหมายต้องรับโทษติดคุก 6 เดือน

นพ.เพชรพงษ์  ยังกล่าวว่า  ปัญหาของการปฏิบัติงานของทีมแพทย์คือการสื่อสารที่ค่อนข้างยากโดยเฉพาะกับผู้ชุมนุม ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินการต่อไปในอนาคตเพื่อให้มีความเข้าในซึ่งกันและกันคือ การสื่อสารที่ชัดเจนว่าเราเป็นฝ่ายแพทย์

อีกประเด็นสำคัญคือ การปฏิบัติการทางการแพทย์จริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่นำรถพยาบาลเข้าไปนำคนเจ็บออกมาอย่างที่เข้าใจกัน แต่มากกว่านั้น ทางการแพทย์ต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยมากพอสมควรในการดูแลผู้บาดเจ็บ  เนื่องจากทีมแพทย์ไม่สามารถรับผู้บาดเจ็บได้พร้อมๆกันทีละจำนวนมาก  แต่ ต้องมีการบริหารจัดการ   ซึ่งการบริหารจัดการ คือ ต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัย  เพื่อบริหารจัดการกับผู้บาดเจ็บว่าใครควรถูกนำส่งโรพยาบาลก่อนหลัง หรือใครควรได้รับการช่วยเหลือออย่างไรบ้าง

“ตราบใดที่บุคคลากรทางการแพทย์เข้าไปแล้วต้องหลบลูกกระสุน  หลบลูกระเบิด หรือหลบผู้ชุมนุม ไม่มีทางทำได้ครับ   นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกว่า ในสถานการณ์ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ จึงอยากสื่อสารให้เข้าใจ สำหรับผู้ชุมนุมไม่ว่าสีใดก็ตาม ฉะนั้นทางการแพทย์ต้องการพื้นที่มากพอสมควรในการที่จะนำผู้ป่วยออกมายังจุดใดจุดหนึ่งเพื่อบริหารจัดการ   และการช่วยเหลือ ผู้บาดเจ็บถ้าทำได้ โอกาสรอดชีวิตของผู้บาดเจ็บก็สูงขึ้น”

 

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวว่า  เป้าหมายของสถาบันคือ การช่วยเหลือชีวิตคนทุกคนในประเทศไทยให้ปลอดภัยมากที่สุด และประสานกับแนวร่วมที่เกี่ยวข้อง  เพื่อไม่ให้เกิดเหตุภัยฉุกเฉินต่างๆ  แต่ทุกอย่างอาจไม่สำเร็จหรือดี 100 % เพราะหลายครั้งมีข้อจำกัด

“ยกตัวอย่างวันที่ 10 เมษายน สถานการณ์ไม่สู้ดีก็ต้องเรียกทีมแพทย์จากต่างจังหวัดเข้ามาช่วย แต่ปรากฏว่าทางที่เราเตรียมไว้ ถนนถูกปิดโดยม็อบบ้าง โดยทหารบ้าง   ก็ต้องวางแผนแก้ปัญหากันใหม่ ถามว่าทำงานเหนื่อยมั๊ย เหนื่อยครับ บางครั้งก็ท้อครับ แต่ไม่มีถอย  ถือว่าทำให้คนไทย”

นพ.ชาตรี  กล่าวด้วยว่า สพฉ. ทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่เลือกสี  ใครที่มีใจไม่เป็นกลาง ขอให้ออกไป   อย่ามารับงานนี้ ฉะนั้นทุกทีมต้องเป็นกลาง

นพ.แท้จริง ศิริพานิช  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า   เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่จะได้ทำความเข้าใจกับสาธารณะ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะในยามฉุกเฉินหรือในยามปกติ  แต่ในอนาคตต้องมีการบริหารจัดการที่ชัดเจน  มีศูนย์ประสานงานติดต่อที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน  เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว  เพราะสิทธิมนุษย์ต้องได้รับการรักษาไม่ว่าจะในยามฉุกเฉินหรือในภาวะปกติ

บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า   ต้องชื่นชมการแพทย์ฉุกเฉินที่ทำงานอย่างเต็มที่ เพราะการเข้าถึงการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย คือ สิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์

แต่ส่วนหนึ่งสังคมต้องร่วมกันประณาม การกระทำการปิดกั้นการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เพื่อเป็นการป้อมปรามไม่ให้มีเหตุการณ์กระทำเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

“ใครก็ตามที่มาปิดกั้นการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ของคนเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นเหตุจากการชุมนุมหรือเหตุใดก็ตาม หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินทั่วไป กลุ่มคนเหล่านี้ทำการละเมิด ต่อกฎหมายขั้นพื้นฐานของประเทศ   ละเมิดรัฐธรรมนูญ

ถ้าพูดกันแรงๆ คือ เขาเหล่านี้เป็นฆาตกรทางอ้อม   กรณีปิดกั้นอาจปิดกั้นเพราะความสงสัย หรือปิดกั้นเพราะเหตุผลใดก็ตาม แต่ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุที่ปิดกั้นการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เพราะอาจทำให้ผู้บาดเจ็บเสียชีวิต  และยังเป็นการทำร้ายจิตใจญาติผู้เสียชีวิต

ฉะนั้นอาจจะต้องร่วมกันประณาม ไม่ให้เกิดเหตุอย่างนี้อีก

นพ. พิชิต ศิริวรรณ  ตัวแทนสภากาชาติไทย กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย มีเรื่องที่น่ายินดี คือ หากย้อนเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา  ระบบแพทย์การปฏิบัติการทางการแพทย์มีความเป็นระบบมากขึ้นกว่าสมัยอดีต

ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  6 ตุลา 2519 หรือ พฤษภาทมิฬ 2535    มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก   แต่การปฏิบัติการทางการแพทย์   เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บไม่เป็นระบบ

อาจเป็นเพราะหน่วยงานต้นสังกัดไม่กล้าที่จะส่ง รถพยาบาล หรือส่งทีมแพทย์ออกไป เพราะเกรงจะถูกกล่าวหาว่า เป็นการสนับสนุนผู้ชุมนุม เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

14 ตุลา ออกไปกระจัดกระจาย  ต่างคนต่างออก  หรือ 6 ตุลา เรียกว่าเป็นศูนย์เลย  ผู้บาดเจ็บในธรรมศาสตร์ มีน้ำเกลือก็ต้องให้กันเอง ไม่มีรถพยาบาล

สมัยพฤษภาปี 2535    มีเข้าไปตั้งหน่วยแพทย์บ้างที่โรงแรมรัตนโกสินทร์  แต่ไม่มีการประสานอย่างเป็นระบบ ผลสุดท้ายทีมแพทย์ก็โดนจับกุมตัว เพราะไม่มีการประสานกัน

แต่ครั้งนี้เป็นเสมือนโอกาสในวิกฤตเพราะเรามีการประสานงานกันเป็นระบบ ระหว่างทีมแพทย์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพราะถ้าไม่ประสานกันไว้ก่อน  อาจช่วยเหลือคนได้ไม่เต็มที่ ตัวผู้ปฏิบัติงานเองก็อาจไม่ปลอดภัย

นพ. พิชิต  เล่าว่า  สมัยมีการชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล ก็ประสานกันเรียบร้อยว่า ถ้ามีเหตุฉุกเฉินสลายการชุมนุม   จะทำอย่างไร  ครั้งนั้น คิดว่ามีโอกาสสูงมากในการเข้าไปสลาย  เพราะด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างเรา  ไม่เคยเกิดเลยว่าจะมีการยึดรัฐบาล  ฉะนั้นก็มองว่า จะไม่สลายได้อย่างไร     คิดว่ายังไงก็ต้องมีสลาย มีบาดเจ็บล้มตาย

เมื่อมีบทเรียนในอดีต ก็มีการประสานกับทหาร  ทหารก็ถือเป็นเอาเรื่องนี้เป็นความสำคัญลำดับแรก ๆ   ว่า การเข้าไปสลายการชุมนุมต้องคิดถึงเรื่องการบาดเจ็บล้มตายด้วย  ซึ่งเป็นมิติใหม่

เพราะแต่เดิม การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ คิดแต่เอาชนะไว้ก่อน  คิดแต่ว่าจัดการให้บ้านเมืองสงบไว้ก่อน   ให้เด็ดขาด    เรื่องบาดเจ็บ เรื่องรักษาค่อยมาว่ากัน รอจนเสียงปืนสงบซึ่งมันสายเกินไป     ก็เกิดความสูญเสีย ที่ไม่จำเป็น คนที่ไม่ควรตายก็มาตาย หรือเกิดความพิการยอดความบาดเจ็บก็จะสูงลิบ

มาครั้งนี้ ผมคิดว่า เหตุการณ์ 10 เมษายน ที่แยกคอกวัว ถ้าไม่อาสาสมัครของมูลนิธิ  ที่เขาเข้าไปในพื้นที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งผิดหลักวิชา แต่ถ้าไม่มีเขา  รับรองว่าความสูญเสียสูงกว่านี้เยอะ

ซึ่งผมคิดว่า แม้เขาจะผิดหลักวิชา แต่เขาก็เป็นฮีโร่ตัวจริง

หรืกรณีผู้ชุมนุมบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ ผมคิดว่า นี่คือการกระตุกคนในสังคมให้หันมาใส่ใจในเรื่องนี้ว่าจริงๆ การแพทย์เราถูกละเมิดมาตลอด  ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง   มีการละเมิดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ตลอด  ฉะนั้น ต่อไปนี้ ผู้ชุมไม่ว่าฝั่งไหนก็จะคิดหนัก ในการละเมิดระบบการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินอีกในอนาคต