ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ ๘ / ๒๕๕๓“แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง”อาทิตย์ ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑o.oo – ๑๒.oo น.

 

แนวโน้ม สถานการณ์ประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง

“นครินทร์” ชี้ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลปี 40 ปฏิวัติ ปชต.ครั้งใหญ่ อำนาจไม่กระจาย มูลเหตุเกิดเหตุการณ์ พ.ค. 53

"ฐิตินันท์" ระบุ ปชต.กำลังถึงทางตัน เกิดเผด็จการพันธุ์ใหม่มากขึ้น วอน รัฐ ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

จัดกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย  ครั้งที่ ๘ / ๒๕๕๓

“แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทย  ท่ามกลางความขัดแย้ง

วันอาทิตย์ ที่ ๒๗ มิถุนายน   ๒๕๕๓      เวลา  ๑o.oo – ๑๒.oo  น.

ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ. วชิระ) กรุงเทพฯ

วิทยากร

รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์

คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.สุริชัย  หวันแก้ว

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายสุนทร ทาซ้าย

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ผู้ดำเนินรายการ

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์

ที่ปรึกษา ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าว ฯ

///////////////////////////

แนวโน้ม สถานการณ์ประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง


“นครินทร์” ชี้ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลปี 40 ปฏิวัติ ปชต.ครั้งใหญ่ อำนาจไม่กระจาย มูลเหตุเกิดเหตุการณ์ พ.ค. 53   "ฐิตินันท์" ระบุ ปชต.กำลังถึงทางตัน เกิดเผด็จการพันธุ์ใหม่มากขึ้น วอน รัฐ ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน

วันนี้(27 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 8/2553 เรื่อง “แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร มี รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.ฐิตินันท์  พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,รศ.สุริชัย  หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสุนทร  ทาซ้าย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ดำเนินรายการโดย นายประดิษฐ์  เรืองดิษฐ์ ที่ปรึกษา ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
รศ.ดร. นครินทร์  กล่าวว่า ประชาธิปไตยในมิติประวัติศาสตร์ อธิบายได้ว่า ช่วง 25 ปีแรก ประชาธิปไตยประเทศไทย เป็นรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย มีรัฐบาลกึ่งผสมผสานระหว่างพลังของสังคมและพลังคณะราษฎร มีความขัดแย้งที่สืบทอดมาจากประวัติศาสตร์การเมืองหลายๆครั้งให้เห็น อาทิ มีนายกรัฐมนตรีคู่ 2 คน รวมถึงการเนรเทศนายกรัฐมนตรีออกนอกประเทศ ก็เคยเกิดขึ้นในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกฯ เพียง 1 เดือน และอยู่นอกประเทศถึง 14 ปี  ซึ่งหลังจากนั้นในพ.ศ. 2516 ได้ก้าวเข้าสู่ยุคทหารปกครองประเทศ เป็นเผด็จการเต็มรูปที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย  โดยมีจุดพลิกผัน คือ ประเทศไทยก้าวไปสู่เป็นอำนาจแบ่งปันหลายฝ่าย  มีรัฐบาลผสมหลายพรรค
“สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ ปี 2540 ที่ส่งผลให้การเมืองไทยเป็นเช่นปัจจุบัน คือ มีการพยายามทำ รัฐบาล 2 พรรค แต่สุดท้ายเกิดเป็นพรรคเดียว เป็นอำนาจไม่กระจาย กระจุกอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และมีการเอาหลักตรวจสอบการใช้อำนาจเข้ามาด้วย เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระมากมาย ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ในการเปลี่ยนระบบการเมืองไทย”
รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนมิติทางสังคม ของคนไทยมีลักษณะพิเศษ   มีการเคลื่อนไหวมีแต่รูป ไม่มีเนื้อหาสาระ   ไม่มีรากฐานที่ยาวนาน ทำให้มีโครงสร้างการรวมกลุ่มเพื่อสาธารณะอ่อนแอ   มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่มากนัก เกิดเป็นการเมืองที่มีแต่รูป ไม่มีเนื้อหาสาระอยู่ข้างใน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องฝ่าฟันอีกมาก ในการสร้างค่านิยมใหม่ๆขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่   
“อย่างเหตุการณ์ หลัง พฤษภาคม 2553 ก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีโครงสร้างเดียวกัน แต่การต่อสู้ทางการเมือง แต่ยังเป็นฉากละครเดียวกันกับปี 2540 ในสภาพสังคมไทยมีความหลากหลาย แตกแยก ซึ่งการมองสังคมว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเพียงการจินตนาการที่เข้าใจความแตกแยกไม่ชัดเจน โดยอย่าคาดหวังว่าประเทศไทยจะศิวิไลซ์ เพราะไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยม มาก่อนโดยพื้นฐาน แต่มีแนวโน้มเป็นอำนาจนิยมเสียมากกว่า”

นายสุนทร  กล่าวว่า ประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่โต มองได้ 3 ปัญหา คือ ระยะแรก จากการเปลี่ยนแปลงปี 2475 คือ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐประหารแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอำนาจ 2. มีการเลือกตั้งมากขึ้นจนเกิดปัญหาใหม่ คือ การเมืองไทย ไม่ตอบสนองการแก้ไขปัญหา มีนักธุรกิจ สู่การเมืองมากขึ้น มีการซื้อเสียง ซื้อพรรคการเมือง และองค์กรอิสระ ถูกครอบงำจากทุกส่วน และ 3.ประชาธิปไตยไทยไม่สามารถขจัดความขัดแย้ง โดยใช้วิธีการอย่างสันติ อาจมีแนวโน้มไปถึงความรุนแรง ซึ่งหากไม่สามารถเอาชนะในสภา จะมีการลงไปเอาชนะกันข้างถนน เกิดเป็นปัญหาที่ใหญ่ระดับประเทศ
“ปัจจุบัน คนมักคิดว่า หากไม่มีการตายเกิดขึ้น การชุมนุมจะไม่ชนะ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยของประเทศมาก ซึ่งหากยังแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติไม่ได้ แผนปรองดองหรือแม้กระทั่งการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จากวัฒนธรรมคนไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จนในที่สุดก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งว่าต้องพยายามเอาการเมืองจากท้องถนนขึ้นมาต่อสู้กันบน สภาให้ได้เช่นเดิม”

ด้าน รศ.ดร.ฐิตินันท์  กล่าวว่า ขณะนี้ประชาธิปไตยกำลังถึงทางตัน จาก 1 ปี หลังสงกรานต์เลือด แสดงให้เห็นว่า มีการล้มเหลว การใช้สมานฉันท์ ไม่สามารถเกิดการสมานฉันท์ได้ และหากเลือกตั้งจะไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากกลไกมาตรการต่างๆที่เกิดขึ้น  ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) จะยังคงอยู่ต่อไป  นอกจากนั้น ยังเกิดประชาธิปไตยไทยมีความเป็นเผด็จการพันธุ์ใหม่มากขึ้น ซึ่งแม้ไม่ใช่รัฐประหาร แต่ถ้ามีการอิงกันไปด้วยดี ระหว่างรัฐบาลกับทหารจะเป็นปรากฏการณ์ความเป็นเผด็จการพันธุ์ใหม่ เป็นเผด็จการพลเรือน เลื่อนขั้น ซึ่งการแก้ไขนั้นควรที่จะต้องปล่อยนักการเมืองที่ถูกห้ามเล่นการเมืองเข้ามา ไม่ใช่นั้นกลุ่มเสื้อแดงจะไม่มีทางเลือกใหม่ มีเพียงนักการเมืองกลุ่มเก่า สนามการเลือกตั้งก็ไม่เข้มข้น
“สิ่งที่น่าเป็นห่วง จะเกิดสภาวการณ์จะเป็นไข่กับไก่มากขึ้น เหตุการณ์จะคงอยู่ต่อไป เป็นภาวะงูกินหาง ศอฉ.จะกลายเป็นอำนาจนิยม ไม่เลิกโดยง่าย แม้กระทั่งกองทัพที่เข้ามาจะไม่ถอย และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะยังขยายไปเรื่อย ซึ่งความเป็นจริงนั้น ไม่ควรจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะไปละเมิดความเป็นพลเมืองของประเทศไทย และสร้างเป็นความรู้สึกที่ไม่ดี ในความรู้สึกของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”
ขณะที่ รศ.สุริชัย กล่าวว่า วิกฤตประชาธิปไตยไทย ไม่ใช่วิกฤตระบอบเท่านั้น แต่ทุกคนรู้สึกได้ ว่าเกิดอะไรขึ้น เพียง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งกำลังมาถึงจุดที่เกิดการเกลียดชังกันและรุนแรงแบบที่คนที่ไม่รู้จักกัน สามารถฆ่ากันได้ จากประสบการณ์ของประเทศที่ไม่เคยมี ซึ่งในครั้งนี้ เกิดเป็นความรุนแรงไกลไปจนถึงต่างจังหวัดด้วย
“ประชาธิปไตยที่ลอกกันมา จากต่างประเทศ หลายฝ่ายเข้าใจว่าสำคัญที่สุด แต่การเลือกตั้งแบบตัวแทน ไม่ได้เชื่อมต่อความจำเป็นของประชาธิปไตยแบบประเทศไทย ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า เสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ และชนชั้นกลางมีบทบาททางการเมืองมาก แสดงให้เห็นว่าหมดยุคแล้วว่า จะมองสังคมไทยโดยไม่จำแนก เพราะคนที่เสียสละก็เป็นคนในสังคมไทย คนไทยมีจิตสำนึก แต่ไม่ใช่ข้อยกเว้น และหมดยุคมองวัฒนธรรมไทยแบบเหมารวม ต้องทำความเข้าใจใหม่กับสังคม ปัญหาใหญ่คือ ข้อเสนอการปรองดองแห่งชาติ การให้เรามีการปฏิรูป ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมไทยแค่ไหน มีโอกาส การใช้รัฐบาลจากกาเรลือกตั้ง การใช้เครื่องมือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นเรื่องอนาคตไม่ตายตัว ต้องเปิดกว้างให้เราคิดร่วมกัน ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ปรับท่าทีต่อสถานการณ์ กังวลว่าอนาคตจะไม่สามารถเดินต่อไปได้

รศ.สุริชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ ขอเพียงอย่ามี ความระแวง โกรธ และเกลียดกัน ขณะที่ รัฐบาลประกาศเรื่องปรองดอง ควรสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน เปิดใจร่วมคิดร่วมทำ ยังหวังพึ่งพิงเชิงเครื่องมือ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่การปฏิรูปการเมือง ต้องปฏิรูปการทำงานของรัฐบาลด้วย ในสิ่งที่เรียกว่า อำนาจนิยมถึงเวลาที่รัฐบาลต้องทบทวน และมีความรับผิดชอบต่อความสร้างความรุนแรงทางการเมือง โดยที่รัฐบาลต้องใจกว้าง ปรับปรุงการทำงานตนเอง ปฏิรูปราชการก็ต้องเร่งดำเนินการ
////////////////////