ข่าวราชดำเนินเสวนา “ถอดบทเรียนการพูดคุยสันติภาพ รัฐไทยกับบีอาร์เอ็น (BRN)”

{mp3remote}http://www.tja.or.th/images/sound2556/560410-rajdamnern-seminar.mp3{/mp3remote}

 

“ปณิธาน”ชี้รัฐถอยเจรจาBRNไม่ได้นานาชาติกำลังจับตาไทย

“ปณิธาน”ชี้รัฐถอยเจรจาBRNไม่ได้นานาชาติกำลังจับตาไทย แนะดึงอาเซียนร่วมเป็นกลาง รองเลขาศอ.บต.มั่นใจมาถูกทาง ยกผลสำรวจทัศนคติชาวบ้านหนุนเจรจา ด้านอดีตเลขาสมช.ห่วงกลุ่มหัวรุนแรงก่อเหตุ แย่งซีนบีอาร์เอ็น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา “ถอดบทเรียนการพูดคุยสันติภาพ รัฐไทยกับบีอาร์เอ็น (BRN)” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องเจรจาปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ถกแนวทางเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้เกิดเหตุรุนแรงที่มุ่งเป้าไปที่ข้าราชการระดับสูง-นักการเมืองท้องถิ่น

นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรัฐบาลนายก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า การเจรจามีมาตลอด และหลักของการเจรจาต้องชัด นั่นคือ 1.ต้องมาจากฝ่ายนโยบาย การเมือง ผู้นำศาสนาประเด็นนี้ต้องขอชมเชยรัฐบาลที่ส่งสัญญาณชัดเจน แต่ต้องทำงานอย่างเป็นเอกภาพ 2.ต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายปฏิบัติการที่ระหว่างการพูดคุยนี้เราควรจะเห็นการจัดระบบใหม่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ที่ต้องทำงานในทิศทางเดียวกัน จะปล่อยรัฐบาลเดินหน้าอย่างเดียวไม่ได้ กอ.รมน.ต้องปรับระบบรักษาความปลอดใหม่ใหม่ เพราะเมื่อมีการพูดคุยก็เป็นไปได้ว่าจะมีการก่อเหตุ และเจ้าหน้าที่ได้กลายเป็นเป้า

ส่วนประเด็นที่ 3.ต้องมีการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ภาคเอกชน สมาชิกพรรคฝ่ายค้านในพื้นที่เพราะพลังของคนในพื้นที่ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่รัฐบาลที่อาจมีการผลัดเปลี่ยนตามวาระ นอกจากนี้ในตัวผู้นำเองต้องแสดงวุฒิภาวะสั่งการทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติจะมัวแต่พะวงอยู่แค่ตารางเวลาว่าจะลงพื้นที่วันใดบ้างคงไม่ได้  ทั้งนี้ตัวกลางการพูดคุยคือมาเลเซีย แม้จะมีคำถามเรื่องความเป็นกลางแต่ต้องยอมรับว่ามาเลเซียมีปัจจัยสำคัญคือมีความคุ้นเคยที่จะทำให้การผลักดันให้กลุ่มต่างๆเข้ามาพูดคุย และก้าวข้ามความกลัว

เสนอดึงประเทศอาเซียนอื่นเพิ่ม

“เมื่อเดินหน้าแล้วจะถอยไม่ได้ ตอนนี้เราเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองแล้ว เปลี่ยนจากรับมาเป็นรุก ต้องถือว่าได้เปรียบ ดังนั้น ต้องตั้งหลักให้ดี และให้เป้าหมายของการเจรจานั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอน คือเริ่มจากขั้นตอนการวางอาวุธ ขั้นตอนการยุติอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และสุดท้ายคือการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในพื้นที่ในโครงสร้างใหม่ กฎหมายใหม่ และเมื่อมีการพูดคุยเจรจาแล้วไม่ควรจะถอย เพราะนานาชาติกำลังจับตาประเทศไทย แต่หากมีอุปสรรค เช่น พื้นที่เจรจาคือประเทศมาเลเซียกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนประเทศเจรจาใหม่ พร้อมไปกับทบทวนแนวทางว่าพอจะมีอะไรยืดหยุ่นเพื่อเกิดประโยชน์ได้บ้าง ให้สถานการณ์เดินไปข้างหน้าได้"นายปณิธาน กล่าวว่า

ขณะที่ปัจจัยการเมืองภายในประเทศมาเลเซียนั้น คงต้องรอให้มาเลเซียเลือกตั้งจบแล้วดูท่าทีใหม่ เพราะขณะนี้กระบวนการพูดคุยได้เดินแล้ว และรัฐก็ควรจะดึงประเทศอื่นๆ มาพูดคุยมากขึ้น เริ่มที่ในกลุ่มอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่พร้อมจะช่วยเหลือในงานวิชาการ หรือยังอาจดึงนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่ยังมีบทบาทและประสานงานเข้ามาร่วมทำงานด้วย

“เอกชัย”เหน็บคณะเจรจายังไร้แผน


พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ปัจจัยด้านภาคประชาสังคมมีความสำคัญมาก และต้องทำคู่ขนานไป จากการที่เปิดเวทีรับฟังประชาชนมาพบว่าปัจจัยสำคัญที่สร้างความไม่พอใจกับประชาชนคือความไม่เป็นธรรม มีหลายคดีที่ชาวบ้านยังเคลือบแคลงใจ ล่าช้า ทั้งนี้การพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับบีอาร์เอ็นตนทราบมาว่า การพูดคุยกันยังไม่มีแบบแผน บางคนรู้ว่าต้องไปคุยแค่12ชั่วโมงเท่านั้น ซ้ำบางคนถูกบังคับมาลงนาม เพราะถูกทางมาเลยเซียบังคับ

อดีตสมช.ห่วงกลุ่มอื่นก่อเหตุรุนแรงแย่งซีนบีอาร์เอ็น

นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพูดคุย การพูดคุยเป็นช่องทางที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่วิธีการที่เป็นอยู่ยังมีคำถามและอาจไม่ถูกต้อง เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบเท่าที่เคยถูกพูดถึงมีเยอะมาก ประมาณ9-12กลุ่ม ซึ่งเมื่อรัฐเลือกที่จะไปเจรจากับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจจะสร้างความไม่พอใจกับกลุ่มอื่น จนต้องแสดงตัวออกมา หรือหากกลุ่มที่เจรจาอยู่ในคือตัวจริงก็ต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดถึง ไม่สามารถสั่งการไปที่แนวปฏิบัติได้ ดังนั้นตนจึงเชื่อว่าการเจรจาพูดคุยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน

นายถวิล กล่าวว่า ปัจจัยที่รัฐบาลต้องพึงระวังคืออย่ายกระดับไปสู่ประเด็นสากล และต้องไม่ลืมว่านโยบายด้านความมั่นคงที่จะแก้ปัญหาประชาชนมีตั้งเยอะ อย่าไปให้ความสำคัญกับการคุยกับกลุ่มก่อเหตุอย่างเดียว เพราะไม่ได้หมายความว่ากลุ่มดังกล่าวคือตัวแทนของภาคประชาชนจริง อย่าให้ราคากับกลุ่มก่อเหตุมากกว่าภาคประชาชน นอกจากนี้อย่าไปชี้นำหรือบงการ กดดัน กระบวนการพูดคุย  ขณะที่รัฐบางเองก็ไม่ควรเน้นการประชาสัมพันธ์ การตลาดระหว่างการพูดคุยที่มากเกินไป

อยากเห็นอาเซียนร่วมตัวกลาง

นายมาร์ค ตามไท ผู้อำนวยการสร้างสันติภาพต้นปันรัก จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การพูดคุยเกี่ยวกับสันติภาพคงไม่มีทฤษฎีตายตัว แต่เป็นปัญญาเชิงปฏิบัติ ได้มาจากการปฏิบัติควบคู่ไป ตนเชื่อว่าขบวนการปัตตานีไม่ได้มาพูดคุยแค่การลดความรุนแรง แต่มองถึงโครงสร้างการปกครอง ดังนั้นแม้จะเอาความยุติธรรมมาพูดอ้างจริง แต่หัวข้อที่สำคัญคือต้องการปรับโครงสร้างการเมืองการปกครองโดยที่ไมได้หมายถึงการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนการพูดคุย เพราะเมื่อพูดคุยเรื่องที่อยู่ในใจก็ไม่เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ตนขอเสนอว่าในกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่าใช้คำว่าล้มเหลวเมื่อพบกับอุปสรรค แต่ต้องคิดอย่างสร้างสรรค์อาทิ ในกรณีของประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้ประสานงานอาจเล่นบทบาทเต็มที่ไม่ได้ ไม่ได้สร้างความมั่นใจ ก็อาจมีรูปแบบใช้นวัตกรรม ให้ประเทศอื่นในอาเซียนมาร่วมด้วย มากกว่าจะมีมาเลเซียเป็นองค์กรเดียว

ศอ.บต.ยกผลสำรวจชาวบ้านหนุน เชื่อแนวโน้มดีขึ้น

นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า อย่าไปมองเฉพาะกับดักความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ลึกไปกว่าความรุนแรง ซึ่งคือความขัดแย้ง และที่ลืมไม่ได้เลยคือประชาชนเพราะไม่ว่ารัฐบาลหรือบีอาร์เอ็นถ้าประชาชนไม่สนับสนุนก็จะอยู่ไม่ได้ ตนเชื่อมั่นว่ากระบวนการที่ทำอยู่สร้างความน่าพอใจระดับหนึ่ง อาทิ ผลการสำรวจทัศนคติของประชาชน โดยสุ่มตัวอย่างผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และประชาชนในระดับตำบลพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ4อำเภอในจังหวัดสงขลา จำนวน 1,870คนพบว่า ประชาชนร้อยละ 67.17 ให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ ในฐานะช่องทางหนึ่ง โดยเมื่อดูคะแนนเฉลี่ยการประเมินได้รับคะแนน 5.16 ซึ่งสะท้อนว่า “ผ่านเกณฑ์” ระดับปานกลาง อย่างไรก็ตามก็ยอมรับว่ามีปัจจัยความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนอยู่บางส่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น

นายปิยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการเจรจากับผู้นำในหลายระดับ ทั้งระดับใหญ่และในส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อที่จะรับฟัง จนนำไปสู่แผนการปฏิบัติขั้นตอนเป็นรูปธรรม เช่น การปลดล็อคแบล็คลิสต์กับประชาชนที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้อง การสร้างความเชื่อถือศรัทธาให้คิดว่าการเจรจาแก้ปัญหาได้จริง การยอมรับฟังฝ่ายตรงข้าม

ภาพกิจกรรม