ข่าวราชดำเนินเสวนา เรื่อง “โปรเจกต์น้ำ 3.5 แสนล้าน ชะลอหรือไปต่อ”

 

(ดูภาพเพิ่มเติม)

"อุเทพ"ชี้พิรุธทีโออาร์น้ำ-"ต่อตระกูล"เชื่อบ.เกาหลีฮุบโครงการใหญ่

วงเสวนาโปรเจกต์น้ำ 3.5 แสนล้านชะลอหรือไปต่อ "อุเทน"ชี้ทีโออารณ์เปิดช่องโหว่ทุจริต "ต่อตระกูล" จับตาบริษัทเกาหลีฮุบโครงการใหญ่ ขณะที่ "เสรี" เชื่อบริษัทต่างประเทศไม่กล้าเซ็นสัญญา

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศ ไทย จัดราชดำเนินเสวนา “โปรเจกต์น้ำ 3.5 แสนล้าน ชะลอหรือไปต่อ” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย โดยมี นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการระบายน้ำลงทะเล ศปภ. นายประเชิญ คนเทศ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือฝ่าภัยพิบัติคนนครปฐม และดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอาการและภัยพิบัติ ม.รังสิต เข้าร่วม ส่วนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกบอ. แจ้งว่าไม่สามารถ มาร่วมงานได้


"อุเทน"ชี้พิรุธทีโออาร์น้ำมีช่องโหว่

นายอุเทน กล่าวว่า เห็นด้วยว่าไทยมีปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ที่ควรและต้องแก้ไขอย่างถาวรและเด็ดขาด แต่ไม่เห็นในวิธีการที่จะใช้ในทีโออาร์ฉบับนี้ ซึ่งเขียนแบบเปิดและมีช่องโหว่ ที่สามารถดำเนินไปสู่กระบวนการก่อให้เกิดการทุจริตได้ และนับว่าเป็นทีโออาร์ฉบับมหากาพย์ ที่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร่างขึ้น

“ใคร เป็นคนเขียนฝันให้ประชาชน ใครที่เป็นผู้ร่าง ผู้เขียน ผู้ลงนามในทีโออาร์ฉบับนี้ ต้องแสดงตนให้ประชาชนรู้ ออกมาตอบข้อสงสัย จะได้เห็นว่าใครต้องรับผิดชอบบ้าง เพราะเป็นการเขียนแบบให้ประชาชนหลงว่าดี และเห็นดีเห็นงามด้วย”

นายอุเทน กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาในแต่ละโมดูล จะเห็นว่ากำหนดกรอบระยะในการก่อสร้างเวลาไว้ 5 ปี เท่ากัน แต่ในทางปฏิบัติจะคาดหวังได้จริงหรือไม่ว่าทุกโครงการในทุกโมดูลจะ เสร็จตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ยังมีส่วนที่ระบุว่า ในส่วนอาคารประกอบอื่นๆ เพื่อใช้ส่งน้ำในการชลประทาน การอุปโภคบริโภค และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แต่กลับลงท้ายว่า “หากมีศักยภาพและมีความจำเป็นในภายหลัง” เท่ากับว่าอาจไม่สร้างก็ได้ จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้มีการทุจริตได้ โดยไม่เป็นไปตามแผนโครงการ

“ในทุกโมดูลที่ออก พบส่วนที่ต่างกันมี 3 ข้อ คือ ปริมาณน้ำที่คาดคิด ปริมาณเงินที่ไม่รู้ว่าใช้เท่าใด เพียงแต่กำหนดให้ไม่เกินกรอบ และไม่รู้ว่าจะก่อสร้างพื้นที่ใดบ้าง เพราะแค่ให้บริษัทไปหามา นี่คือความอันตรายและน่ากลัวจากกระบวนการที่มีหลักคิดเช่นนี้ ซึ่งทราบข่าวมาว่าขณะนี้รู้กันแล้วว่าใครได้โมดูลไหนบ้าง”

นายอุเทน กล่าวถึงการยื่นฟ้องต่อยูเอ็นว่า ตนคาดหวังว่ายูเอ็นจะเห็นความสำคัญ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ซึ่งขณะนี้ ทราบว่าเอกสารได้ถึงมือคณะลูกขุนที่จะตรวจสอบและกำลังส่งคำร้องให้ ป.ช.ช.แล้ว ซึ่งในรายละเอียดมีหลายช่องที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ยังไม่เห็นชัดว่าวิธีการและกระบวนการที่จะไปถึงเป็นอย่างไร

“ผมยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านโครงการนี้ แต่ไม่เห็นด้วยในกระบวนการแบบนี้ ที่เป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน และเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เหมือนกับหลายโครงการที่เสียหาย ขาดทุนมาแล้ว ผมขอว่า ไม่ว่าใครก็ตามอย่าเอา อย่านำความน่ากลัวขู่ประชาชน เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ เท่ากับว่าท่านกำลังหลอกประชาชน คิดอะไรอย่าคิดแค่เอามัน หรือเอางบประมาณให้มากเข้าไว้” นายอุเทน กล่าว และว่า ไม่อยากใช้คำว่า คณะกรรมการ กบอ.ชุดนี้ ใช้ความคิดเรื่องอื่นๆ ไม่เป็น นอกจากใช้ความคิดเรื่องเงิน จึงอยากให้สื่อมวลชนร่วมจับตา อย่าเกรงใจรัฐบาล ให้เกรงใจประชาชน

ส่วนที่นายปลอดประสพ ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดเพิ่งคิดฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น นายอุเทน กล่าวว่า เนื่องจากตนเพิ่งได้รับทีโออาร์มาศึกษา และร่างหนังสือฟ้องร้อง ส่วนที่ถามว่ามีส่วนได้ส่วนเสียอะไรนั้น ตอบได้เลยว่าฟ้องในฐานะประชาชนเต็มขั้นที่เสียภาษี มากกว่านายปลอดประสพ ในแต่ละปีบริษัทเสียภาษี 2 ล้านกว่าบาท ฉะนั้น ผมมีสิทธิที่จะสงสัยและยื่นฟ้อง เพราะไม่อยากให้เอาเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่ายแบบเสียค่าโง่ และคุณปลอดประสพ ก็มีหน้าที่ตอบข้อสงสัยในฐานะสาธารณบุคคล


"ต่อตระกูล"คาดแบ่งเค้กโมดูลน้ำ บ.เกาหลีฮุบงานใหญ่

ขณะที่นายต่อตระกูล กล่าวว่า ฝ่ายวิศวกรรมติดตามและมีข้อเสนอมาตลอดถึงทีโออาร์โครงการที่มีขั้นตอนประหลาดที่สุด แต่มีรายละเอียดในทีโออาร์น้อยมาก โดยเฉพาะโครงการใหญ่ที่สุดในโมดูลเอ 5 การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) มีรายละเอียดประมาณ 10 หน้า ซึ่งเป็นเรื่องวัตถุประสงค์เป็นส่วนใหญ่และซ้ำกันในแทบทุกโมดูล

“ผมจัดประมูลสร้างบ้านในงบ 1 ล้านบาทยังมีเอกสารมากกว่าทีโออาร์น้ำฉบับนี้ ยิ่งในครั้งที่มีการประกาศลดเงื่อนไขก็ไม่เริ่มขั้นตอนใหม่ ไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม หากว่าด้วยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างถือว่าผิดทันที ทั้งนี้ หลายเรื่องที่รัฐบาลทำเองได้กลับโยนไปให้บริษัทรับเหมา เช่น การเวนคืนที่ดิน ที่ให้ผู้รับเหมาเข้าไปชี้พื้นที่ ทั้งที่ยังไม่ผ่านการศึกษา ผมว่าจะเจอกับชาวบ้านเป็นพันๆ คนทั่วประเทศ เรื่องนี้อยู่เกินกว่าอำนาจคณะรัฐมนตรีที่จะออกข้อกำหนดได้”

นายต่อตระกูล กล่าวถึงบริษัทญี่ปุ่นที่ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ว่า เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่เสี่ยง และอันตรายมาก จะทำได้ต้องไม่ใช่แค่มีความรู้ความสามารถและเทคนิคเท่านั้น แต่ต้องมีอย่างอื่นด้วย เช่น ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับใครบางคน จากที่ตนได้พูดคุยกับคณะกรรมการตัดสินหลายท่าน จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไปดูงานมาหลายประเทศ เป็นที่น่าติดตามว่าประเทศใดเลี้ยงหรือจ่ายเงินให้คณะดูงาน อย่าให้ซ้ำรอยกรณีทุจริตซีทีเอ็กซ์ ของบริษัทอินวิชั่นฯ ของสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับการศึกษาความคุ้มทุนและกรอบเวลาในการก่อสร้างที่อาจเกินกำหนด

“ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าบริษัทจะ ก่อสร้างได้ใน 5 ปีหรือไม่ อย่างบริษัทในประเทศญี่ปุ่น เคยมีบทเรียน เรื่องแอร์พอร์ตลิ้งค์ ที่เกินเวลากำหนดมาหลาย 2 ปี แต่ไม่เสียค่าปรับ อาจด้วยเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องในทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ญี่ปุ่นระวังมากขึ้น บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งบอกวผมว่า คนญี่ปุ่นหลายคนที่เข้ามาทำงาน เสียผู้เสียคนไปจำนวนมากจากระบบการทำงานของไทย”

นาย ต่อตระกูล กล่าวด้วยว่า คณะทำงานตรวจคัดเลือกทีโออาร์ ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ แต่กบอ.ให้ข้าราชการซีสูงๆ มาทำ ส่วนมากไม่ใช่วิศวกร จึงไม่มั่นใจว่าจะทำได้ทันเวลาหรือไม่ และเมื่อถามความเห็นจาก คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สามารถกู้มากองไว้ก่อนได้ โดยใช้ทีโออาร์เพียง 10 กว่าหน้า แต่กู้ได้ถึง 3.5 แสนล้าน เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังไม่เคยเห็น

“หน้าที่กฤษฎีกาที่ควรนั่งอยู่ข้าง นอก บอกและตรวจตราว่า กบอ.ทำงานถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่นั่งในคณะกรรมการเช่นนี้ ผมไม่รู้ว่าเป็นการพูดส่วนตัว หรือในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากโครงการนี้ทำได้โครงการอื่นๆ หลังจากนี้ก็จะทำได้หมด สำหรับความล่าช้าในขั้นตอนนี้ กบอ.ไม่สามารถอ้างว่าเป็นเพราะมีผู้ร้องเรียน ขัดขวางโครงการจำนวนมากได้ เนื่องจากที่ผ่านมา กบอ.ไม่เคยฟังการร้องเรียนใดๆ”

ใน ส่วนที่อยากให้สังคมติดตาม จับตามองที่สุด นายต่อตระกูล บอกว่า มีความสุ่มเสี่ยงมาก ที่หากโครงการดำเนินต่อไป หากมีความเสียหายเกิดขึ้น จะทำให้ผู้ร่วมงานทั้งหมดเคยเป็นคณะกรรมการจะถือว่ามีส่วนร่วมทั้งหมด ตามม.157 จะต้องโดนคณะกรรมการ ป.ป.ช.เชิญไปให้การ

“เท่าที่ทราบมีข้าราชการที่ดี แต่ต้องโดนคดีถึงขั้นจำคุก แม้ว่าไม่ได้ทุจริต แต่เป็นผู้ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยง หรือคัดค้านไม่ได้” นายต่อตระกูล กล่าว และว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะทำงานติดตาม โครงการนี้มานาน คาดว่าก่อนประกาศตัดสิน ป.ป.ช.น่าจะยื่นข้อเสนอ ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความผิด จึงอยากฝากเพื่อนข้าราชการ หรือนักวิชาการว่า หากรู้ว่ามีความสุ่มเสี่ยง ไม่ชอบมาพากล ควรทำบันทึกถึง ป.ป.ช.เป็นการส่วนตัว เพราะหากเมื่อเกิดเหตุขึ้นจะได้เป็นพยาน

นายต่อตระกูล ได้คาดการณ์ทิ้งท้ายว่า บริษัทเกาหลี จะได้งานใหญ่ๆ ส่วนงานเล็กๆ เศษที่เหลือจะเป็นของทีมไทยแลนด์ ส่วนทีมจีนจะได้ไม่มากนัก เนื่องจากระยะหลังออกมามีบทบาทมาก ทุกบริษัทคงได้แบ่งกระจายโครงการกันไป แต่ผมอยากให้จับตาดูชิ้นใหญ่ๆ อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่การยื่นทีโออาร์ครั้งสุดท้ายในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ค. 56) อาจมีบางบริษัททำไม่ทัน เอกสารไม่ครบ หรือมีการยื่นเฉลี่ยบริษัทละ 2 โมดูลเท่าๆ กัน


ภาคประชาชนวอนให้ชาวบ้านร่วมหาทางออกอย่างสันติ

ด้านนายประเชิญ กล่าวว่า คนนครปฐมรวมตัวและติดตามการวางแผนและทีโออาร์น้ำ 3.5 แสนล้านมาโดยตลอด เนื่องจากการบริหารจัดการที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับข้อมูล และเชื่อข้อมูลจากส่วนกลางไม่ได้ การเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนมีเพียงคนบางพื้นที่ได้เข้าไปร่วม แต่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เคยได้เข้าร่วมหาทางออกอย่างสันติ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการชดเชยที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในโมดูลเอ 5 การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) มีความกังวลใจถึงเส้นทางและการผันน้ำ

“ขณะนี้ประชาชนไม่รู้ว่าตนเองอยู่ตรงไหนบ้างในแผนของ กบอ.และอยากขอให้ทบทวนสิ่งก่อสร้างอ้างว่าเป็นการป้องกันเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบ เช่น คันกั้นน้ำถาวร การยกถนน และเส้นทางฟลัดเวย์ ที่อาจส่งผลกระทบมหาศาลมากกว่าบิ๊กแบ็ก” นายประเชิญ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาการตัดสินใจบริหารจัดการยังใช้อำนาจในการสั่งการ มากกว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยอ้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นผู้ถ่วงความเจริญ ทำให้ความจริงจากคนกลุ่มเหล่านี้ถูกกดทับ เป็นการเพาะบ่มความขัดแย้ง และการทุจริต ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสังคม


"เสรี"เชื่อบริษัทตปท.ไม่กล้าเซ็นสัญญา หวั่นปัญหาผูกผัน

ส่วนดร.เสรี กล่าวว่า ขณะนี้ กบอ.ยังไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดว่าจะทำอะไร อย่างไร แต่กลับจะทำสัญญา นี่คือจุดที่เสียหายอย่างใหญ่หลวง ควรหาคำตอบจากองค์กรต่างๆ ที่ศึกษา เช่น ไจก้า หรือใช้เวลา 1 ปี ในการทำโรดแมป เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งในระหว่างศึกษา ประชาชนจะได้มีส่วนร่วม และมองเห็นปัญหาต่างๆ เพื่อปรับทิศทาง จึงค่อยออกแบบและประเมินราคา

ทั้งนี้ ตนได้เสนอหลายครั้งว่า หากทำโมดูล 1 แล้ว อาจไม่ต้องทำบางโมดูล แต่ กบอ.ก็จะทำสัญญาทุกโมดูล เป็นผลมาจากไม่ได้ลงไปศึกษาประเมินโครงการทั้งหมดที่พื้นที่จริง เป็นเพียงการประเมินบวกลบคร่าวๆ จึงเป็นที่น่ากังวลว่าหากรีบนำเงินมากองไว้ จะเป็นปัญหาการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งก็คงไม่มีคำตอบ

“การที่ กบอ.รวบรัด เนื่องจากเป็นปัญหาเรื่องการเมือง ทำให้ต้องเป็นไปในรูปแบบพระราชกำหนด ฉะนั้น ในทางปฏิบัติก็ควรแก้ที่การเมือง ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบนี้ที่จะทำให้ทุก โครงการเกิดขึ้นไม่ได้ ผมเรียนว่าน้ำท่วมที่ผ่านมา เรื่องบริหารจัดการเป็นใหญ่ ไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง ดังนั้น ควรแก้ที่การบริหารจัดการก่อน ไม่ใช่ยึดความจำเป็นว่าต้องเร่ง แล้วอ้างว่าถ้าไม่ทำ หากเกิดน้ำท่วมรัฐบาลไม่รับผิดชอบ พูดอย่างนั้นไม่ถูกต้อง”

ดร.เสรี คาดการณ์ด้วยว่า ในการยื่นทีโออาร์จะเป็นไปตามกระบวนการ แต่อาจยังไม่มีการเซ็นสัญญา เนื่องจากหลายบริษัทเกรงจะเกิดปัญหาตามมาจากความไม่ชัดเจน ที่หากเซ็นสัญญาแล้วจะมีผลผูกพันทันที ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับทั้งบริษัทเอกชน และรัฐบาล กระบวนการก่อสร้างจะต้องยื้อไปเรื่อยๆ และสิ่งที่งวลในภายภาคหน้า เมื่อประเมินร่วมกับโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทเพื่อโครงสร้างการคมนาคม ที่อาจส่งผลกันได้