10พค52-ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่3/2552-สิทธิเกษตรกร สิ่งที่หายไปใน พ.ร.บ. สภาเกษตรกรแห่งชาติ

ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 3/2552สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 3/2552 หัวข้อ สิทธิเกษตรกร สิ่งที่หายไปใน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2552

โดยมีวิทยากรที่มาร่วมเสวนา ได้แก่ นายประพัฒน์ ปัญญาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กส.) ,นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรประชาชน , นายเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก , อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ครูสน รูปสูง ปรานชุมนุมสหพันธ์สหกรณ์ภาคอีสาน

 

Worldแนวคิด หลักการสิทธิของเกษตรกร ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

Worldสิทธิเกษตรกร (Farmers Rights) สิ่งที่ขาดหายไปจาก ร่าง พ.ร.บ.สภาการเกษตรกรฯ

นางกิมอัง พงษ์นารายณ์

ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ จ.ชัยนาท รวมกับเครือข่ายอีก 15 จังหวัดภาคกลาง มีปัญหาเดียวกันหมดคือ ปัญหาเรื่องหนี้สิน จากเดิมที่กู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) หรือสหกรณ์ต่างๆ เริ่มจากหนี้สินเล็กน้อย คนละไม่กี่หมื่นบาท แต่เมื่อเราทำการเกษตร ยิ่งทำมากขึ้นเรื่อยๆ หนี้สินก็เริ่มทวีคูณ จากเคยกู้ 7 หมื่นบาท ก็กลายเป็น 7 แสนบาท บางคนมีหนี้สินเป็นล้านบาท

{xtypo_quote}ในชุมชนของเกษตรกรเอง เมื่อมีหนี้สินมากขึ้น ลูกหลานชาวนาก็ไม่อยากทำการเกษตร ยิ่งทำยิ่งหมดที่ทำมาหากินไปเรื่อยๆ วันนี้ลูกหลานชาวนา ไปเป็นกรรมกร ไปเป็นลูกจ้างในโรงงาน คนที่ไปทำงานจะอยู่ในช่วงอายุ 20-40 ปี เมื่อมีลูกก็จะเอามาให้ตายายเลี้ยง วันนี้สภาพของตายายที่ทำนาด้วย เลี้ยงหลานด้วย อีกทั้งโรคที่เกิดจากการทำเกษตรอยู่กับสารเคมี ไม่มีประกันใดๆทั้งสิ้น ลูกหลานที่มาอยู่กับตายาย ก็จะติดยาติดเหล้า เป็นเด็กเกเรส่วนใหญ่ เพราะตายายไม่สามารถดูแลได้{/xtypo_quote} {xtypo_quote}ตายายเองแก่เฒ่ามา ไปรักษาพยาบาลใช้บัตรทองก็จริง แต่การเดินทางไปรักษา ลูกหลานที่จะมาดูแลตายายก็ไม่มี เกษตรกรยังไม่มีหลักประกันตรงนี้เลย{/xtypo_quote}

นางกิมอัง กล่าวอีกว่า ปัญหาด้านผลผลิตมีราคาตกต่ำ หรือในหน่วยงานที่บอกว่ามีเกษตรกรเข้าไปเป็นตัวแทน ส่วนใหญ่เกษตรกรกับกรรมการจะไม่รู้จักกัน อยู่คนละทิศ ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่าเรามีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นเวลาแก้ปัญหา เกษตรกรก็ดิ้นรนแก้ปัญหากันไป ส่วนคนที่ไปนำเสนอปัญหากับหน่วยงานก็ไม่รู้จริงๆว่าปัญหาของเกษตรกรคืออะไร

{xtypo_quote}วันนี้พวกเราขึ้นศาล โดนฟ้อง ยึดทรัพย์ ไล่ที่ บางคนหลุดมือไปแล้ว ไม่มีที่ทำกินก็ต้องไปเป็นลูกจ้างในนา เป็นกรรมกรในเมืองหรือเป็นคนไร้บ้านในเมือง นี่คือปัญหาของเกษตรกรตอนนี้ ในส่วนของ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรฯ ถ้ามันเป็นกฎหมาย เกษตรกรก็ควรจะได้รับรู้ข้อมูลเยอะกว่านี้ ได้รับรู้สิทธิของตัวเองเยอะกว่านี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นด้วยกับสภาเกษตรกรฯ เรารู้ว่าเกษตรกรมีที่ยืนตรงนี้สำคัญ แต่ว่าในภารกิจของสภาฯ ถ้าเป็นผู้เสนอแนะนโยบายเกษตรให้กับรัฐบาล มันคือความเป็นความตายของเกษตรกรเหมือนๆกัน ถ้าคนที่ไปนำเสนอตรงนั้นไม่ได้เป็นคนที่รู้ถึงปัญหาจริงๆ หรือไม่ได้มาจากเกษตรกรจริงๆ มันจะเกิดผลเสีย ถ้าเป็นคนที่รู้ปัญหาแล้วเข้าไปนำเสนอก็จะเกิดผลดีกับเกษตรกร แต่วันนี้เรายังไม่แน่ใจว่าคนที่เข้าไปรู้ปัญหาจริงไหม และการรับรู้ของเกษตรกรในพื้นที่กับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ความตื่นตัวชาวบ้านยังไม่ค่อยรู้ ส่วนใหญ่จะไม่รู้ ขอให้มีการเปิดเวทีให้เกษตรกรได้รับรู้ปัญหา ได้นำเสนอ ได้มีความคิดเห็น ได้มีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.ได้จริงๆ{/xtypo_quote}

เอกชัย อิสระทะ

เราเห็นด้วยกับการมี พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ แต่ทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาพี่น้องได้จริง สิ่งที่ชัดเจนในขณะนี้คือที่ดินหลุดจากมือพี่น้องเกษตรกร มีปัญหาหนี้สิน โดยระบบของกลุ่มทุนกำลังเข้ามาคุกคามพี่น้องเกษตรกรมากขึ้น

ประเด็นที่ชัดเจนคือสิทธิเกษตรกรต้องยกขึ้นมาพูดคุย ถ้าจะต้องมีกฎหมายสักฉบับเป็นสภาเกษตรกรฯ แล้วไม่สามารถสะท้อนปัญหาเหล่านี้ไปแก้ปัญหาได้ โจทย์ที่ต้องตั้งคำถามคือเราจะมีอีกสภาไปทำไม

{xtypo_quote}โดยรวมที่เราอยากให้มีที่ยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรพูดคุยแก้ปัญหา ในทางกลับกันการออกแบบของกฎหมายฉบับร่างที่ออกมาสะท้อนการแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่ เพราะเมล็ดพันธุ์ไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกร ที่ดินหลุดมือเกือบหมดแล้วอยู่ในธนาคาร แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แล้วที่เรากำลังออกแบบกฎหมายมันแก้ปัญหานี้ได้หรือเปล่า{/xtypo_quote} {xtypo_quote}ถึงแม้ว่ากฎหมายพยายามเขียนตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ แต่ที่พบก็คือยังอยู่ในกรอบโครงสร้างของการเมืองระบบตัวแทน เรากำลังมีเกษตรกรที่เป็นตัวแทนแต่ละอำเภอแต่ละจังหวัด แล้วขึ้นมาสู่ระดับชาติ แล้วไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไร ผมฟันธงตรงๆ ไปดูกลไกการทำงานหลักเราพึ่งระบบราชการได้ไหม สังคมมีคำตอบอยู่ในมือ กลไกที่จะไปทำงานจริงเราพบว่าองค์กรที่เป็นราชการแบบที่ 3 คือราชการที่เป็นอิสระจากรัฐ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์กรแบบนี้ทำงานได้บ้าง แม้จะมีข้อจำกัดแต่ก็ถือว่าขับเคลื่อนได้บ้าง{/xtypo_quote} {xtypo_quote}พอเราดูการเขียนกฎหมาย ถ้าดูกลไกที่มา ที่เราออกแบบ การออกแบบอย่างนี้จะทำให้เราเข้าล็อคไปสู่การเมืองระบบตัวแทน ต้องมี ส.ส.ของเกษตรกร แต่ละจังหวัดเข้ามาแล้วแก้ปัญหาอะไรไม่ได้อีกหรือเปล่า มาดูกลไกทำงานแล้ว ยังติดอยู่ในกรอบระบบราชการ บทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าระบบราชการแก้ปัญหาได้ไหม ไม่ได้ ผมคิดว่าคำตอบนี้ชัดเจน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะสะท้อนสิทธิเกษตรกรเข้าสู่ปัจจัยการผลิตและเข้าถึงทรัพยากร การออกแบบกฎหมายเป็นแบบนี้ เราเลยไม่มั่นใจ กฎหมายที่กำลังจะออกแบบใหม่ต้องสามารถแก้ปัญหานี้ได้{/xtypo_quote} {xtypo_quote}ถ้าออกกฎหมายมาแล้วแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ไม่ต้องมีก็ได้ แต่ด้วยความเคารพเราอยากเห็นกฎหมายฉบับนี้ออกมา แล้วแก้ไขปัญหาเกษตรกรได้{/xtypo_quote}

อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล

วงจรการผลิตที่สร้งหนี้สินขึ้นมา วงจรการผลิตนี้ทำให้การตัดขาดระหว่างคนรุ่นปัจจุบันกับคนรุ่นอนาคตที่จะทำเกษตรกรรมหลุดไปจากวงจร โดยกลไกการพัฒนาที่ผ่านมา เป็นหัวใจใหญ่ที่กฎหมายต้องไปตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้

เรื่องของการขาดระบบสวัสดิการที่จะเข้าไปดูแลเกษตรกร ยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งเจ็บ ยิ่งล้มหายตายจากบนเกษตรอุตสาหกรรม เป็นโจทย์หนึ่งที่ถามถึงสิทธิของเกษตรกรว่าต้องแก้ตรงนี้อย่างไร ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นการถามหาในกฎหมายที่กำลังร่างกันอยู่ กฎหมายที่จะสร้างขึ้นมาจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร ในแง่ของโครงสร้างกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร

ผมอยากจะเริ่มจากสภาเกษตรกรฯ ของประเทศไต้หวัน มีเป้าหมายอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ทำอย่างไรที่จะทำให้สภาฯนี้เป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพในการผลิต ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามเกษตรทางเลือกอย่างไร 2.ทำอย่างไรให้เกษตรกรเข้ามาตกลง ว่าการผลิตล้นตลาดทำให้ไม่มีมูลค่าในการผลิต คือการทำอย่างไรที่จะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า 3.ทำอย่างไรให้กลุ่มเกษตรกรระดมทุน แล้วให้ทุนดังกล่าวมาช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ สามารถเชื่อมขยายให้กลุ่มขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดย่อมในพื้นที่สามารถมาใช้บริการตรงนี้ได้ เป็นภาพที่เกิดขึ้นในสภาเกษตรกรฯไต้หวัน

จากตัวอย่างโมเดลแบบนี้ ถ้าหากว่าเราต้องการจะแก้ปัญหาเกษตรกรของบ้านเรา จินตนาการกฎหมายที่เรากำลังจะสร้างขึ้นมาให้ไปหสู่การพูดจาต่างๆ ต้องมีอะไรบ้าง

ตอนนี้มีแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างน้อย 2 แนวทาง 1. การพูดถึงการสร้างองค์กร ซึ่งในการสร้างองค์กรก็มีพัฒนาการมาตลอด เช่นการแก้ปัญหาเกษตรกรหวังพึ่งระบบราชการ ซึ่งระบบราชการไม่สามารถแก้ปัญหาเกษตรกรตรงนี้ได้ แนวทางตอนนี้ไม่สามารถสร้างระบบประกันราคา ถ้านักการเมืองเข้ามาก็เสนอแนวทางการปลดหนี้ ตรงนี้ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งตนเองได้ คิดว่าสร้างหนี้ไปแล้วหวังให้รัฐบาลปลดหนี้ รูปแบบการแก้ปัญหาอย่างนี้ทำให้เกิดม็อบ การปิดถนน

มีความพยายามที่จะคิดตั้งกลุ่มภายใต้กฎหมายสหกรณ์ ปัญหาคือกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สะท้อนปัญหาเกษตรกรอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานคะแนน หรือเป็นหน่วยของสถาบันการเงินทางการเกษตรหรือไม่

หรือการเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา แล้วมีกฎหมาย ภายใต้กฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดการแตกกันของกลุ่มเกษตรกร การแย่งกันเข้าไปสู่ตำแหน่งที่สามารถตัดสินใจของทุน ที่เราเห็นมา ผมว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญและเป็นบทเรียนที่น่าสนใจมากๆว่า หากจะตั้งกองทุนหรือตั้งองค์กรขึ้นมา ทำอย่างไรจะไม่ให้ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แล้วมีตัวแทนของเกษตรกรเข้าไปอย่างแท้จริง

อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ คือการตั้งต้นพูดถึงสิทธิเกษตรกรก่อนที่จะพูดถึงองค์กรอย่างเดียว แล้วองค์กรนั้นไม่ได้ไปสู่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาที่ชัด

ผมคิดว่าสภาเกษตรกรของไต้หวันให้ความสำคัญกับเกษตรกรเป็นหลัก แล้วเกษตรกรที่เข้มแข็งจะมีการรวมกลุ่มสร้างองค์กรขึ้นมาได้ เราเห็นแล้วว่าการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรโดยขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรฯ มันทำให้ระบบเกษตรของเราอ่อนแออย่างไร เป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนจากภาพที่มาจากกฎหมายดังกล่าว

อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

แนวคิดว่าด้วยสิทธิเกษตรกร ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 1.การถือครองปัจจัยการผลิตอย่างมั่นคง การผลิตทางการเกษตรจำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตต่างๆเข้ามาเป็นฐานเพื่อทำการผลิต อาทิ ที่ดิน เมล็ดพันธ์ ปุ๋ย ตัวอ่อน อาหาร หรือทรัพยากรต่างๆที่เข้ามาเกื้อหนุน ให้มีการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิผล

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับเกษตรกรว่า ปัจจัยการผลิตทั้งหลายจะไม่ถูกพรากเอาไปจากเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการไร้ที่ทำกิน การเข้าไม่ถึงเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน อาหาร หรือปุ๋ยที่มีราคาแพง เกินกว่าเกษตจรกรจะเข้าถึง

2.การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะอย่างพอเพียง คือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจัยในการผลิตทางการเกษตรล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ

ทรัพยากรสาธารณะเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญให้แก่เกษตรกรผู้ด้อยโอกาสในการพัฒนา อันเนื่องมาจากการขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและขาดอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

3.การประกันความมั่นคงในผลตอบแทนที่ควรได้รับ แบ่งเป็น 2 ปัจจัย คือ 1.การประกันให้เกษตรกรมีปัจจัยการดำรงชีพโดยตรง ผ่านการสร้างความมั่นคงในปัจจัย 4 ผ่านกระบวนการประกันความมั่นคงในการครอบครองผลผลิตที่ตนเองผลิตได้ ไม่จำเป็นต้องขายออกไปเพื่อแลกเงินทั้งหมด

และ 2. การประกันให้เกษตรกรมีปัจจัยการดำรงชีพทางอ้อม ผ่านการประกันรายได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตที่เกษตรกรสร้างขึ้น ด้วยมาตรการแทรกแซงของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรักษาความมั่นคงด้านรายได้ผ่านวิธีการประกันราคาสินค้า การกำหนดปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรล่วงหน้า การรับซื้อจำนำสินค้าในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น

4.การรักษาวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตน ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาทางการผลิต การเก็บรักษาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน และสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ด้วย นโยบายหรือโครงการใดที่รัฐหรือเอกชนริเริ่มอันอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนเข้าร่วมตัดสินใจ

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

จริงๆแล้วในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นกฎหมาย หรือต้องเป็น พ.ร.บ. ผมอาจจะตั้งเป็นคณะกรรมการสภาเกษตรกรขึ้นมาก็ได้ เพื่อปฏิบัติให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกฝ่ายค้านอภิปราย หรือจะเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ แต่เมื่อได้คุยกันแล้วก็ขอให้เป็นกฎหมายสูงสุดเลย ในระดับพระราชบัญญัติ เทียบเคียงกับสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า หรือสภาอื่นๆที่เป็นวิชาชีพ ไหนจะทำแล้วก็ขอทำให้ดีเลย ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ขณะนั้น (นายสมศักดิ์ ปริศนานัทกุล) ก็ตอบตกลง และมอบหมายให้ผมเป็นประธานกรรมการยกร่าง

ที่มีคนไปยื่นต่อประธานรัฐสภาว่ากฎหมายฉบับนี้ว่าทำผิดเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ผมขออนุญาตอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 วงเล็บ 8 คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในส่วนของผลผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าการเกษตรได้รับผลประโยชน์สูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกร รวมทั้งวางแผนการเกษตรของตนเอง รัฐธรรมนูญระบุชัดเจน

ผมอยากเห็นการเขียนกฎหมายสักฉบับหนึ่ง ที่เขียนแล้ววันรุ่งขึ้นเกษตรกรหายจนหมด ในวันรุ่งขึ้นให้ยกเลิกกระทรวงเกษตรฯหมด แล้วให้เกษตรกรเป็นผู้กำหนดการเกษตรของตนอง มันเป็นโลกในอุดมคติที่อยากเห็นมาก แต่หลายคนที่คุยกันแล้วในเวทีเกษตรกรที่มากกว่าหมื่นคน โดยกฎหมายฉบับนี้ผมขออภิปรายอย่างกว้างๆ มีเจตนารมย์ 2 อย่าง

อย่างแรกคือ เป็นเวทีให้เกษตรกร เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในหมู่เกษตรกรด้วยตนเอง เราเชื่อมั่นว่าเกษตรกรในประเทศนี้ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง ทุกคนอยากเห็นเกษตรกรมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ พี่เลี้ยงทั้งหลายทำหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยง สุดท้ายเกษตรกรสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อแย่งชิงทรัพยากรด้วยตนเอง แต่ว่าก้าวแรกที่อยากเห็นคือการเปิดเวทีให้เกษตรกรได้มีโอกาสร่วมกันพิจารณา อย่างน้อยสักหนึ่งเวทีที่เกษตรกรไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์กลุ่มของตนเอง ไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องขององค์กรตนเอง เป็นเวทีสาธารณะที่มาคุยเรื่องนโยบายอย่างเดียว ซึ่งเกษตรกรทุกคนสามารถร่วมได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่อยากเห็นกฎหมายฉบับนี้ลงในรายละเอียดมากนัก ถ้าลงในรายละเอียดมากเกินไป แต่ละองค์กรก็จะมีความสนใจในเรื่องของตนเองโดยเฉพาะ จึงอยากจะเห็นในเวทีของสภาแห่งนี้ทำเรื่องนโยบาย เรื่องการรวมกลุ่ม พูดคุยเรื่องนโยบายสาธารณะด้วยตนเอง

ผมเชื่อมั่นว่าสุดท้ายถ้าเกษตรกรรวมตัวกันเข้มแข็งแล้ว สิ่งที่จะตามมาที่ทุกคนจะเห็นก็คือ สามารถต่อรองกับทุกภาคส่วนได้มากขึ้น ผมไม่เชื่อว่าการเขียนกฎหมายให้สวยสดงดงามแล้ว ทุกคนจะไปปฏิบัติตามนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือองค์กรของเกษตรกรต้องเข้มแข็ง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและเป็นเอกภาพ ขอเรียนว่าฝ่ายการเมืองต้องการจัดการทรัพยากรให้เป็นธรรมทุกภาคส่วน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่เป็นไปตามนั้น ส่วนไหนที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่า แน่นอนว่าย่อมแย่งชิงทรัพยากรได้มากกว่า ยิ่งเกษตรกรแตกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ทะเลาะกันเอง ย่อมไม่มีอำนาจต่อรองแย่งชิงทรัพยากรมาให้กลุ่มของตนเอง

ผมเชื่อมั่นว่าครั้งนี้เป็นคราวแรกที่เราอยากเห็นเกษตรกรมีเวทีของตัวเอง ที่ช่วยกันสร้างสรรค์ที่ดี สร้างอำนาจต่อรอง ที่เป็นห่วงว่ากฎหมายฉบับนี้จะเอื้อให้กับธุรกิจการเกษตร ในบทนิยามมาตรา 3 ที่ให้ความหมายของเกษตรกรรม ไม่ได้ระบุถึงธุรกิจการเกษตร ขอเรียนว่าส่วนนี้ได้เขียนป้องกันไว้แล้ว

เราพยายามปฏิบัติทุกอย่างป้องกันในสิ่งที่ทุกคนห่วงใย เราก็ไม่เชื่อว่ากฎหมายที่เราเขียนมันจะสมบูรณ์ จึงได้บอกให้ทุกท่านมาช่วยกันรับฟัง เพื่อที่จะได้มีอะไรไปต่อเติมให้ดีขึ้น ต้องเข้าใจตรงกันว่า เราไม่อยากจะสร้างสังคมอุดมคติไว้ในกฎหมาย แต่อยากจะสร้างข้อเท็จจริงให้เกษตรกรเอาไปปฏิบัติ

ครูสน รูปสูง

สภาเกษตรกรเป็นความใฝ่ฝันของพี่น้องเกษตรกรอยากได้ เราได้ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน วันนี้พวกเราเชื่อว่าถ้าเกษตรกรมีสภาเป็นของตัวเอง จะเป็นที่รวมแห่งพลังและสติปัญญา ในการต่อรองทุกด้าน

ประการที่สองคือ เป็นสภาที่นำเอาปัญหาของเกษตรกรทั้งหมดขึ้นไปสู่ระดับนโยบาย คือ คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติออกมาแล้วสามารถกำหนดชะตาของเกษตรกรได้

ประการที่สาม เราอยากเห็นสภานี้กำหนชะตากรรมของตัวเอง ชีวิตของเกษตรกร รัฐมนตรีอย่ายุ่งได้ไหม นักการเมืองอย่ายุ่งมากได้ไหม ให้ข้าพเจ้าได้กำหนเชะตากรรมของข้าพเจ้าเอง

การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสภานี้ ดึงกันไปมา พวกเราภาคเกษตรกรก็กลัวธุรกิจรายใหญ่หรือเอกชนรายใหญ่ดึงไป พยายามต่อสู้ ยาวมาก รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้สหกรณ์ต้องอิสระ ผมรู้สึกดีใจกัยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐต้องจัดตั้งสภาเกษตรกร

สิ่งที่ผมบอกว่าต่อไปนี้เกษตรกรต้องกำหนดชะตากรรมตัวเอง มันอยู่ในแผนแม่บท ต้องเขียนแผนพัฒนาการเกษตรด้วยตัวเอง ทีนี้มาตรา 30 บอกว่า ในการเขียนแผนแม่บทของสภาต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อย ถึงวันนี้มีประเด็นหนึ่งคือ มันไม่หลุดพ้นจากกระทรวงเกษตรฯ ตรงนี้ต้องแก้ ถ้าไม่แก้ก็ไม่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้หรอก ให้กระทรวงเกษตรฯทำเหมือนเดิม

ไปดูที่มาตรา 31 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ทำแผนแม่บทแล้ว ให้กระทรวงเกษตรฯ วิเคราะห์กลั่นกรอง มันก็เหมือนเดิม จะมีสภาเกษตรกรฯ ไปทำไม ผมถามว่าทำไมมันกลับมาเหมือนเดิมอีก หลังจากที่แก้แล้วว่าให้กระทรวงเกษตรฯเสนอ แต่สุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกา ดึงกลับ

กฤษฎีกา คือใคร คือผู้เป็นใหญ่ในการเขียนกฎหมายในแผ่นดินนี้ ผมเขียนกฎหมายสภาเกษตรกรออกมาเป็นงูจงอาง แต่ผ่านกฤษฎีกาออกมากลายเป็นงูไม่มีพิษ ถ้าไม่เอาก็ต้องแก้ เพราะแผนแม่บทถือว่าต้องศักดิ์สิทธิ์ เกษตรกรจะต้องกำหนดสิ่งที่ต้องการอยู่ในนี้หมด ถ้าท่ามาแก้ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะตั้งสภานี้ขึ้นมาทำไม

เดิมกฎหมายฉบับนี้ให้มีสำนักงานเป็นของตัวเอง แต่พออ่านฉบับนี้แล้วปรากฎว่ากระทรวงเกษตรฯก็เป็นของสำนักงานนี้เหมือนเดิม แล้วจะตั้งทำไม ตรงนี้เราก็แก้ได้ เขาก็จะดึงกลับไปอย่างนี้ ถ้าสำนักงานไม่ใช่ของตัวเองจะตั้งไปทำไม ถูกครอบในระบบราชการเหมือนเดิม

ทั้งนี้ ครูสน ยืนยันว่า กฎหมายสภาเกษตรกรฉบับนี้จำเป็นต้องมี แต่ต้องแก้ในสิ่งที่เป็นความต้องการของเกษตรกรให้ไปอยู่ในกฎหมาย ไม่เช่นนั้น เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงเกษตรฯ หรือระบบราชการ กฎหมายฉบับนี้ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาของเกษตรกรได้ในที่สุด