ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เสี่ยงละเมิด?-11 ก.พ. 58 เวลา 9.00-12.00 น.

ถกปมกฎหมายไซเบอร์เผด็จการ จี้ทบทวนเนื้อหาคุกคามสิทธิบุคคล ผอ.พัฒนาธุรกรรมฯยันเดินหน้าต่อแก้ภัยคุกคามไซเบอร์หวังสร้างเชื่อมั่น

(กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 11 ก.พ. 2558)

 

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ"พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เสี่ยงละเมิด? " วิทยากรประกอบไปด้วย นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ต และวัฒนธรรมพลเมือง มีน.ส.อศินา พรวศิน บรรณาธิการโซเชียลมีเดีย หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ทำหน้าที่ดำเนินรายการ

โดยน.ส.สฤณี กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอยู่กับชีวิตของคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่การไปทำธุรกิจกับธนาคารก็ได้มีการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหัวใจที่สำคัญควรต้องมีการคุ้มครองข้อมูลที่แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือข้อมูลส่วนตัว ที่ต้องไม่ถูกดักฟังหรือสอดแนมแบบไม่มีเหตุผลอันควรจากรัฐ นอกจากนี้สิ่งที่เป็นห่วงอีกประการเรื่องของเสถียรภาพความปลอดภัยของระบบที่อาจถูกเจาะหรือแฮก ที่เราเรียกระบบของความความปลอดภัยหรือไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ถือเป็น สิ่งที่รัฐควรวางบทบาทให้ชัดเจนว่า ได้เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเพื่อให้มีความไว้วางใจต่อกัน นอกจากนี้ควรมีมาตรฐานการวางความปลอดภัย เพื่อผู้ใช้เน็ทรับทราบถึงความเหมาะสมด้วย

"รัฐควรเล่นบทบาทผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างมีมาตรฐาน หากต้องการสร้างเศรษฐกิจดิจิตอลแล้วต้องคุ้มครองข้อมูลความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของระบบด้วย สภาพการแข่งขันเช่นกันรัฐต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูยังไม่เห็นกลไกการเข้ามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน"ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ต และวัฒนธรรมพลเมือง กล่าวและว่า

ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญในระบบรักษาความปลอดภัยหรือความมั่นคงมาก เพื่อป้องกันการโจมตีหรือการก่อการร้าย จึงมีมาตราการป้องกันตั้งศูนย์ขึ้นมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเอกชนที่เป็นการวางกลไก เพื่อป้องกันให้เกิดความปลอดภัยประชาชนได้ตระหนักถึงภัยคุกคามจากไซเบอร์ที่เนื้อหาหลักเน้นไปมุ่งรักษาความปลอดภัยของข้อมูลระบบ ไม่ได้มุ่งไปยังข้อมูลส่วนตัวแต่อย่างใด ตรงนี้ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น แล้วถ้ามาดูร่างกฎหมาย พ.ร.บ.มั่นคงทางไซเบอร์ของเราแล้ว ไม่ได้มีเรื่องของเหล่านี้ และคำนิยามของภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็ยังไม่มีเลย นอกจากนี้ยังไม่มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล หรือกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วก็ไม่มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ในการนำอำนาจไปใช้ยังมีลักษณะค่อนข้างกว้าง สิ่งเหล่านี้นำมาของข้อกังวลของภาคประชาชนต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นขอเรียกร้องให้ชะลอร่างกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ก่อน

ด้านนายก่อเขต กล่าวว่า ถ้าพิจารณาผลกระทบของ พ.ร.บ.ไซเบอร์ต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน หากไปมองการทำงานหลายเรื่องย่อมกระทบข้อมูลส่วนบุคคล ถ้ามองประเด็นนี้แล้วหลายคนคงบอกว่า ควรไปคุม เพราะไปละเมิดรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นเยอะเหลือเกิน แต่อีกด้านสังคมเรียกร้องให้สื่อตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ เชื่อว่า ถ้ามองเช่นนี้ย่อมกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อที่ต้องนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลมานำเสนออธิบายมีลักษณะเชื่อมโยงกันอย่างไร ขณะเดียวกันก็รู้สึกไม่แน่ใจนักต่อการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล แล้วทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นแหล่งข่าวในการตรวจสอบการทุจริตตรงนี้จะปลอดภัยต่อไปหรือไม่

"ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมาย ถ้ามีนักข่าวมั่นใจได้หรือไม่ว่า การโทรศัพท์ไปคุยกับแหล่งข่าว หากมีกฎหมายบังคับใช้มาบอกว่า มันเป็นเรื่องของความมั่นคงก็คงจะทำให้กระทบ ถ้ามีการตีความไปอย่างนั้น แน่นอนกฎหมายนี้บัญญัติขึ้นเน้นไปที่ความมั่นคงไซเบอร์ ถ้าไปดูเป็นห่วงกันคือมาตรา 35 (3) หลังจากมีการวิพากษ์ วิจารณ์ ได้มีการรับปากปรับแก้ หรือนิยามของความมั่นคงไม่ว่ายุคสมัยใดมันกว้างขวางมาก คงจะดีมากถ้าสามารถนิยามอย่างมีขอบเขต เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ไม่ไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัวหรือให้น้อยที่สุด ตรงนี้ควรที่จะกำหนดออกมาด้วย ผมขอย้ำว่า เรื่องความมั่นคงต้องดูให้รอบด้าน ใครมั่นคง ประเทศมั่นคง หรือผู้ที่มีอำนาจมั่นคงเท่านั้นหรือปล่าว ดังนั้นต้องมองความมั่นคงให้แตกว่า มันคืออะไร"นายก่อเขต กล่าว

นายจักร์กฤษ กล่าวว่า กฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล มีสิ่งที่น่าสนใจ คือเรื่องของผลบังคับ อำนาจการใช้กฎหมายฉบับนี้ และลักษณะพิเศษของกฎหมาย ซึ่งเวลาที่พูดถึงกฎหมายฉบับนี้เรามักจะเพ็งเล็งไปยัง คสช. หรือรัฐบาลปัจจุบัน แต่หากมีการตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ ทางรัฐบาลยุคต่อไปย่อมใช้อำนาจกฎหมายฉบับนี้ทำให้มีอำนาจมากมายมหาศาล เท่าที่ดูเนื้อหามีความโน้มเอียงไปด้านความมั่นคง เหมือนเช่น พ.ร.บ.กฎอัยการศึก, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ให้อำนาจกับรัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ จึงเป็นการให้อำนาจพิเศษหมายถึงเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความผิด สามารถใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางว่า อะไรคือความมั่นคง แล้วอะไรคือความไม่มั่นคง

"ผมคิดว่า รัฐบาลใจกว้างที่ได้ยินการพูดคุยว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเผด็จการ ได้มีการนัดหมายให้ได้พูดคุยกัน ท่านรองนายกบอกว่า กฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีเนื้อหาบางข้อที่ดูแปลกๆ ทางรัฐบาลก็ไม่ได้เห็นเป็นเรื่องเร่งด่วนจึงจะนำเอากฎหมายฉบับนี้จัดอยู่ในอันดับท้ายๆที่จะพิจารณา ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ถ้าปล่อยให้ไปจนสุดทางแล้วคงยากต่อการแก้ไข ดังนั้นอยากขอให้ได้นำกลับมาทบทวนกันใหม่" ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเรียกร้อง

ขณะที่นางสุรางคณา กล่าวว่า ต้องยอมรับกระบวนการออกกฎหมายของเราที่ดำเนินการออกมาค่อนข้างล่าช้า หากย้อนไปหลังมีรัฐบาลใหม่ได้มีการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจที่มีเรื่องอินเตอร์เน็ทแบงส์กิ้ง ที่มีการลดน้อยลง ต่อไปจะมีการเชื่อมโยงด้านดิจิตอลแบงส์กิ้งมากขึ้น เพราะจะมีการก้าวสู่เออีซี ซึ่งจะทำให้มีการยอมรับเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงมีความพยายามผลักดันให้มีการยอมรับกันในลักษณะกฎหมาย

"ดิฉันทำงานกับหลายรัฐบาลเขาไม่ให้ความสนใจกับเศรษฐกิจดิจิตอล แต่ครั้งนี้รัฐบาลให้ความสนใจกฎหมายที่ส่วนใหญ่ก็มีลักษณะไปด้านการโปรโมท แต่ด้านความมั่นคงที่สร้างความเชื่อมั่นไม่มีเลย เราที่ทำงานหลังบ้าน ถูกท้าทายหลายอย่าง เมื่อเห็นปัญหาก็ไม่สบายใจ ที่จะให้อยู่ในโครงสร้างแบบเดิมๆจึงมาทำตรงนี้ ขอบอกว่า ต้องเป็นรัฐบาลที่กล้าเท่านั้น ที่จะกล้าทำกล้าตัดสินใจจึงจะแก้ได้ เพราะเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เปราะบางเหลือเกิน เรียนว่า เราเอาแนวรูปแบบมาจากญี่ปุ่นที่เขามีกฎหมายไซเบอร์เน้นการประสานความร่วมมือเป็นหลัก" ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบุ

นางสุรางคณา กล่าวต่อว่า ปัญหาสิ่งที่กังวลคือภัยคุกคามจากไซเบอร์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่ค่อนข้างรู้สึกจริงจังกับเรื่องนี้มาก ดังนั้นจึงต้องมีกลไกสำหรับปกป้องป้องกัน เพราะเรายอมรับว่า เรื่องนี้ค่อนข้างอ่อนไหวมาก จึงทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

"กฎหมายฉบับนี้ ถ้าเป็นเรื่องของข้อมูล เนื้อหาแล้ว ดิฉันเป็น สนช.จากการดีเบตกัน ถ้าดูข้อเท็จจริงมันอยู่ด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้อยู่ฝั่งกลาโหม ถ้าเป็นการประสานความร่วมมือทุกอย่างจะง่ายขึ้น ความไว้วางใจจะมีมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่นำเสนอกันในวันนี้เราจะนำไปปรับในร่างกฎหมาย ยอมรับว่า กลัว แต่ไม่ได้หมายความว่า กลัวทหาร แต่กลัวภัยคุกคามที่เจอแทบทุกวัน ที่ไม่มีใครปฎิบัติตามแล้วไม่มีใครทำอะไรได้เลย แต่สุดท้ายเป็นข่าวเราจึงพูดได้ ตลกมากเลย ถ้าพูดถึงการคุ้มครองสิทธิของส่วนบุคคล เรื่องนี้จะมีการไปเขียนนิยามให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้คงไม่ได้เสร็จง่ายๆ คงไม่ต้องถอนกฎหมายออกมา แต่จะรับไปปรับแก้กัน แล้วรัฐก็เปิดให้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่"นางสุรางคณา ระบุ

 

 

 

ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ

พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เสี่ยงละเมิด?

จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

วันพุธที่  ๑๑  กุมภาพันธ์   ๒๕๕๘    เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.

ณ ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วิทยากรคือ

- นางสุรางคณา วายุภาพ

ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

-นายจักร์กฤษ  เพิ่มพูล

ประธาน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

-นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์

ประธาน สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

-นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล

ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ต และวัฒนธรรมพลเมือง

 

ดำเนินรายการโดย

-นางสาวอศินา พรวศิน บรรณาธิการโซเชียลมีเดีย หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

 

 

โทร.   ๐๒-๖๖๘-๙๔๒๒ / o๘๖-๐๗๔-๐๐๐๕   e – mail: tjareporter@gmail.com