เสียงสะท้อนเวที เสวนาถอดบทเรียน เมจิกสกิน สื่อทำหน้าที่อย่างไร-ผู้บริโภคได้อะไร ?

ในเวทีเสวนาเพื่อถอดบทเรียน  “จากกรณี เมจิก สกิน ถึงการบุกค้นตลาดใหม่ดอนเมือง สื่อทำหน้าที่อย่างไร และผู้บริโภคได้อะไร” ซึ่งจัดโดย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2661  ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

มีวิทยากรที่เข้าร่วมเสวนา คือ นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ,  ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา , ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม กรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  รวมถึง ผู้แทนสื่อมวลชน  โดยมี นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ


นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำเสนอภาพรวมปัญหาจากกรณี "magic skin" เมจิก สกิน ว่านับตั้งแต่กรณีนี้ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะ มีหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้พบปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ เช่นหน่วยงานกำกับดูแลหลัก คือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ซึ่งยังใช้กฎหมายเก่าในการควบคุมดุแล เช่น พ.ร.บ. อาหาร 2522 พ.ร.บ. ยา 2510 ซึ่งมีบทลงโทษต่ำมาก ปรับไม่เกิน5,000 บาท และปัญหาการรับจดทะเบียนออนไลน์ ทำให้ขาดการตรวจสอบ การมีตัวตนของบริษัทหรือผู้ประกอบการ  และขาดการแจ้งเตือนผู้บริโภค ทั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นระยะ

“ คณะกรรมการอิสระคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้สอบถามเหตุผลที่เลือกซื้อสินค้าออนไลน์  ผลการวิจัยสอดคล้องกับกรณี เมจิก สกิน โฆษณาที่จูงใจด้วยบุคคลมีชื่อเสียง มีผลร้อยละ 30 และอีกส่วนหนึ่งคือเห็น โลโก้ ของ อย. ทำให้เชื่อว่าปลอดภัย ร้อยละ 25

ด้าน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวว่า ตั้งแต่ เมจิก สกิน ปรากฏเป็นข่าว สื่อกลับให้ความสำคัญในการนำเสนอข่าวดารามาให้ปากคำกับตำรวจ และการบุกตรวจค้นตลาดใหม่ดอนเมือง ที่มีการระบุเป็นแหล่งจำหน่ายใหญ่ จนเกิดการโต้เถียงกับผู้ดูแลตลาด คือ พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์

“ สิ่งที่สื่อมวลชนยังให้ความสำคัญน้อยมากในการนำเสนอข่าว  คือ  เล่ห์เหลี่ยมของผู้ประกอบการที่ใช้ในการหลอกลวงผู้บริโภค เช่น การใช้สถานที่ ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์การขอเปิดบริษัทผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอาง   รวมถึงนิยามของผู้เสียหายที่ยังไม่ชัดเจน  ผู้เสียหายที่เป็นผู้บริโภค เช่น ใช้แล้วหน้าเสียโฉม ออกมาร้องเรียนน้อย แต่กลุ่มที่ออกมาร้องเรียนมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มแม่ทีม ที่ถูกจูงใจให้เข้าร่วม ด้วยการชวนเชื่อว่า 90 วัน ได้เงิน 50ล้าน  ถ้าสื่อมวลชน หรือภาครัฐ ไม่คลี่สิ่งเหล่านี้ออกมา จบกรณี เมจิก สกิน ก็จะมีตัวละครใหม่ที่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก”

 

ขณะที่ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากผลิตภัณฑ์ เมจิก สกินแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ  'LYN' ที่มีผู้เสียชีวิต 11คน ภายในระยะเวลาเพียง 5  ปี แต่เมื่อย้อนตรวจสอบไปยัง รพ. ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต กลับไม่พบว่ามีการตรวจสอบหาสาเหตุของการเจ็บป่วย ว่าเกี่ยวข้องกับสารต้องห้ามหรือไม่

“แพทย์ หรือพยาบาลที่รับผู้ป่วยมา แจ้งว่าเป็นโรคหัวใจ หรืออาการจิตประสาท คือ สารต้องห้าม "ไซบูทรามีน" เมื่อกินแล้ว จะมีผลทางประสาทด้วย การรักษาจบแค่ให้ยาตามอาการ โดยไม่รู้เลยว่าเป็นผลจากการกินผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่ เราเสนอว่า ควรมีการบูรณาการตั้งแต่ในโรงพยาบาล ส่งต่อไปที่เภสัชกร เพ่อให้ติดตามอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น การแพ้ยา การเติมเต็มในส่วนนี้จะเป็นการช่วยเฝ้าระวังได้ตั้งแต่ต้น  ”

 

ขณะที่ ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จากการสำรวจการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ทุกสำนัก มี 4 ประเด็นหลัก คือ 1 ตัวสินค้า เมจิก สกิน   2 ข้อมูลสารต้องห้าม3 เล่ห์เหลี่ยมกลโกงผู้ประกอบการ 4 คนดังที่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยังมีหลายประเด็นที่ไม่ถูกนำเสนอ สิ่งที่อยากให้สื่อนำเสนอ คือข้อมูลเชิงสถิติ เช่น การร้องเรียน การจัดการปัญหา ข้อมูลของหน่วยงานราชการที่ ไม่เชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้นสื่อมวลชน สามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม ในการนำข้อมูลที่กระจัดกระจายเหล่านี้ มารวมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคและประชาชน

“อีกประเด็นที่สำคัญ คือถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องกำหนดแนวปฏิบัติการโฆษณาสินค้า เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่รับจ้างรีวิวสินค้า   ซึ่งมีตัวอย่างแล้วที่สหรัฐอเมริกา โดยคณะกรรมาธิการการค้า หรือ FTC (Federal Trade Commission) มีข้อปฏิบัติให้กับคนที่จะมารีวิวสินค้าแบรนด์ต่างๆ และหากพบว่ามีการนำเสนออย่างไม่เหมาะสม จะมีการส่งหนังสือเตือนเป็นรายบุคคลด้วย  เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำสินค้าและการให้บริการทุกอย่างในยุคนี้ คนเชื่อ บุคคลที่มีชื่อเสียง มากกว่าโฆษณาด้วยซ้ำ   ตอนนี้เราควรมีเจ้าภาพที่ออกมาจัดระเบียบในส่วนนี้  เช่นกำหนดคุณสมบัติมาเลยว่าคนที่จะรีวิว คุณต้องใช้จริง และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เข้าใจว่าสินค้าประเภทนี้ต้องใช้จริงเป็นเวลานานเท่าไหร่ จึงจะเห็นผล “ ผศ.สกุลศรี กล่าว


โดยการเสวนาครั้งนี้ มีตัวแทนสื่อมวลชน ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย เช่น นาย นนทกฤช กลมกล่อม ผู้ประกาศข่าว ช่อง MONO 29 ที่กล่าววว่า

“การแก้ไขต้องเริ่มต้นตั้งแต่จรรยาบรรณของผู้ประกอบการ หากไม่มีจรรยาบรรณแล้ว ต่อให้มีหน่วยงานควบคุมก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด ที่ผ่านมาสื่อจะถูกตำหนิว่าไม่นำเสนอข่าว ไม่ถาม ไม่ประชาสัมพันธ์  แต่อย่าลืมว่าสื่อเป็นเพียงปลายทางแล้ว ”

 


ขณะที่ นายจีระวัฒน์ สุขานนท์ ผู้สื่อข่าว สายอาชญากรรม หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ มองว่าที่ผ่านมาสื่อไม่ได้รับความร่วมมือ ในการให้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นด้านลบ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์  ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานภาครัฐมากขึ้น  ประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ประชาชน

“ ทำไมหน่วยงานภาครัฐ ไม่ทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น  ในการเผยแพร่ข้อมูลหรือประชาสัมพันธ์  ต้องให้สื่อมวลชนทำหน้าที่แทน  ยืนยันว่าที่ผ่านมาในส่วนของสื่อ ทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารอย่างเต็มที่  เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงอันตราย แต่เมื่อต้องการสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้รับความร่วมมือ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นด้านลบ ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากสามารถช่วยกันได้ จะดีกว่าให้สื่อเป็นคนขุดคุ้ยข้อมูลแต่เพียงผู้เดียว”