นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” วารสารศาสตร์รอดต้องปรับตัว

"นวัตกรรมเปลี่ยนโลก”  
วารสารศาสตร์รอดต้องปรับตัว


ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งในส่วนของ"อุตสาหกรรมสื่อ" เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ต้องปรับและเปลี่ยน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชม ผู้ฟังที่มีพฤติกรรมการเสพสื่อแตกต่างไปจากเดิม และเท่าทันเทคโนโลยี
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จัดสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์:นวัตกรรมเปลี่ยนโลก ครั้งที่15  ภายใต้แนวคิด "นวัตกรรมเปลี่ยนโลก" ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  ปาฐถกาพิเศษ หัวข้อ "นวัตกรรมเปลี่ยนโลก"ว่าหลายครั้งที่ไปพูดเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของโลก จะมีคนยกมือถามว่า อนาคตของวารสารศาสตร์เป็นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าไม่หายไป แต่โลกตอนนี้มีความปั่นป่วน เพราะเทคโนโลยี รวมถึงธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง อดีตภัยพิบัติธรรมชาติจะเกิดขึ้นต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่มาโลกวันนี้พื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม ผ่านไป 2 เดือนก็สามารถเกิดน้ำแล้งได้ ขณะเดียวกันนักวิชาการ นักวิศวกรไทย เชื่อว่าแผ่นดินไหว ไม่เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย แต่มาตอนนี้กลับมีแผ่นดินไหวที่จ.เชียงราย พิสูจน์ได้ว่าธรรมชาติเก่งกว่าคนและจะเกิดขึ้นอีก แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อใด  ดังนั้น ยิ่งเปรียบเทียบกับภูมิปัญญาของคนไทย ยิ่งเล็ก โลกทุกวันนี้ไม่เหมือนโลกที่เราเกิดขึ้นมา ถ้าทุกคนไม่คิดจะเปลี่ยน ไม่คิดจะสู้ คำว่าแพ้จะเป็นคำที่สุภาพเกินไป เราไม่เปลี่ยนแปลง อาจจะสูญพันธุ์ได้


"วันนี้ใครช้าไป 1 นาที ก็จะไม่สามารถแข่งกับโลกได้ เพราะวันนี้แข่งกันด้วยเสี้ยววินาที  เนื่องจากโลกยุคทำลายและเกิดใหม่ หรือ ยุค DISRUPTION น่ากลัวกว่าโลกสงครามเย็น เราไม่รู้ว่าใครคือศัตรู คู่แข่งตนเองคือใคร  นักวารสารศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์ ต้องแข่งด้วยคุณภาพ แข่งด้วยนวัตกรรม วันนี้คนวารสารศาสตร์จะต้องเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และต้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  ต้องไม่มีการแบ่งแยกสายวิทย์และสายศิลป์ ทุกวิชาต้องเป็นหนึ่งเดียว"อธิการบดี สจล.กล่าว


คนไทย เด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ต้องมีความขยัน มุ่งมั่น มีวินัย และมี Passion (แพชชั่น) เป้าหมายที่ชัดเจน
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่าโลกยุคนี้ คือยุคทำลายล้างที่น่ากลัวและบริสุทธิ์ใจที่สุด  เมื่อก่อนอาชีพที่มั่นคง คือ นักกฎหมาย พนักงานธนาคาร แต่ตอนนี้อาชีพเหล่านี้กลับตกงาน เพราะAI  ได้เข้ามาแทนที่  และวันนี้เด็กยุคใหม่ไม่ได้สนใจว่าเรียนมหาวิทยาลัยดัง หรือสาขาดังใด เพราะถ้าเปิดไปดูคนที่รวยที่สุดในโลก 10 อันดับแรก พวกเขาไม่ได้จบปริญญาตรี  ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดติดปริญญา ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จ รวยได้ต่อให้ไม่จบปริญญาตรี  ดังนั้นวารสารศาสตร์ ต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน และต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแพชชั่นของคนรุ่นใหม่


"วารสารศาสตร์ เป็นเสาหลักของชาติได้  เพราะอาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนคน เปลี่ยนประเทศได้  ทำให้เกิดแพชชั่นต่อคนรุ่นใหม่ให้เปลี่ยนตนเอง สู้ในโลกอนาคต โดยนักวารสารศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์ต้องกำหนดเป้าหมายของตนเอง ให้มีความชัดเจน และมุ่งมั่นที่จะทำ"ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
นอกจากคนในองค์กรสื่อ วารสารศาสตร์ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว สถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตนักวารสารศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน จะสอนแบบเดิมไม่ได้


อธิการบดี สจล. กล่าวอีกว่าถ้าเราไม่มีเงิน แต่มีปัญญา และมีความอึด เราต้องปรับตัวด้วย REINVENTION หรือการสร้างใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่สร้างคนต้องปรับตัว จับมือกับคนเก่ง เพราะตอนนี้ถ้าทำเองอาจจะไม่ทัน วันนี้เข้าสู่ยุค Sensorization  of think มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวแบบหักศอก  โดยในส่วนของคณะที่เปิดการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนจะมาจากวารสารศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ อาจารย์ในคณะสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ต้องเป็นอาจารย์ที่จบสายวิทยาศาสตร์ ด้านสื่อเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย ต้องมีอาจารย์เลือดใหม่ที่มีองค์ความรู้เหล่านี้ รวมถึงหลักสูตรต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ไว เพราะองค์ความรู้ด้านนี้มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที


“เข้าใจคนทำงานด้านสื่อว่าตอนนี้ต้องทำงานมาก อาจจะไม่มีเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้น ตอนนี้มีหลักสูตรสำเร็จรูป หรือมีนวัตกรรมสำเร็จรูปที่จะมาช่วยพัฒนาองค์กร บุคลากรควรนำมาใช้เพื่อพัฒนาองค์กรสื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม และต้องเริ่มตั้งแต่ผู้นำองค์กรในการกำหนดวิสัยทัศน์ด้านความรู้ เทคโนโลยี และจัดอบรมด้านการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาเข้ามาช่วยในการพัฒนาคน พัฒนางาน และถ้า Reskill และUpskill แล้วไม่ได้ทักษะตามที่ต้องการ บางครั้งก็ต้องเทสSkill บางทีก็ต้องเอาของเก่าทิ้งหมดและเอาของใหม่เติมเข้าไป อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าสื่อไทยเก่งในการทำงาน การย่อยข้อมูล การตีความ แต่แพชชั่นในการเปลี่ยนแปลงประเทศ การนำนวัตกรรมมาใช้ยังค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งจะโทษสื่อเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เข้าใจว่าพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคก็มีความสำคัญ การยกระดับคุณภาพของนักวารสารศาสตร์ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน โดยเฉพาะคนในองค์กรสื่อที่ต้องปรับตัวในการสร้างคน”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
นักวารสารศาสตร์ นักสื่อสารมวลชน ยังเป็นอาชีพที่อยู่รอดหากรู้จักการปรับตัว และทำเพียงเสี้ยววินาทีให้เกิดขึ้นการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจ ทำวันนี้ไม่รอไปวันข้างหน้า